ศาลประเทศเคนย่านัดวันไต่สวนคดีระหว่าง Meta และบริษัท Sama ซึ่งเป็นบริษัท outsource ผู้ดูแลและคัดกรองเนื้อหาบน Facebook หลังถูกอดีตพนักงานยื่นฟ้องเรื่องการเอารัดเอาเปรียบและละเมิดสิทธิแรงงาน โดยจะไต่สวนในวันที่ 25 ตุลาคมนี้
Daniel Motaung ชาวเคนย่าที่เป็นอดีตพนักงานของบริษัท Sama ได้ยื่นฟ้องทั้งบริษัทและบริษัท Meta ภายหลังจากที่ออกจากบริษัท
มีรายงานว่า Motaung เป็นผู้นำพนักงานราว 100 คนในการยื่นคำร้องต่อบริษัทเพื่อเรียกร้องให้พนักงานมีสภาพการทำงานที่ดีขึ้น Motaung อ้างว่าเขาและพนักงานคนอื่น ๆ ในบริษัทต้องทำงานภายใต้สิ่งแวดล้อมที่กดดันทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต ต้องคัดกรองเนื้อหาที่มีความรุนแรง เนื้อหาทางเพศ และเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย รวมถึงต้องทำงานมากสุดถึง 9 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ พนักงานยังมีปัญหาเรื่องการขาดประกันสุขภาพตามสัญญาจ้างและไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่ดีได้ บริษัทยังละเมิดสิทธิในการรวมตัวกันของพนักงานเพื่อเรียกร้องสิทธิที่ควรจะได้ด้วย ทนายความของ Motaung ยังกล่าวว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการค้ามนุษย์
ภาพจาก Shutterstock
ในคำฟ้องระบุว่า Sama และ Meta ได้ละเมิดกฎหมายเคนย่าเรื่องการจ่ายค่าแรงที่ไม่ยุติธรรม อคติต่อเชื้อชาติ การทรมานด้านร่างกายและการขาดสวัสดิเพื่อการรักษาสภาพจิตใจที่เพียงพอ ทั้งยังละเมิดเสรีภาพในการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะ Meta (สมัย Facebook) เคยถูกแฉ และถูกฟ้องร้อง ลักษณะคล้ายๆ กันมาแล้ว
Motaung ยื่นคำฟ้องเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายให้ตัวเอง อดีตพนักงานและพนักงานปัจจุบันของบริษัท Sama และเรียกร้องให้ศาลออกคำสั่งให้บริษัท Meta ปฏิบัติต่อพนักงานจากบริษัท outsource เหมือนกับที่ปฏิบัติต่อพนักงานใน Meta ในเรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการ รวมถึงบริษัทปกป้องสิทธิของพนักงานและตรวจสอบการดำเนินการของบริษัท Sama ด้วย
ก่อนหน้านี้ ทนายความของ Meta ก็ได้ยื่นคำร้องให้ศาลยกฟ้องคดีโดยโต้แย้งว่าบริษัทไม่ได้จดทะเบียนในประเทศเคนย่า แต่ผู้พิพากษายังคงให้มีการไต่สวนในเดือนตุลาคมนี้