Tags:
Node Thumbnail

ความเดิมตอนที่ 1: อธิบายปัญหาการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz ของ TRUE และ DPC

ปัญหาการสิ้นสุดสัมปทาน 1800MHz มีองค์กรที่มีส่วนได้เสียโดยตรง 4 ฝ่าย ซึ่งแต่ละฝ่ายก็มีจุดยืนต่อปัญหาแตกต่างกันไป บทความตอนที่สองนี้จะมาย้อนดูว่าข้อเสนอของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไรบ้าง ส่วนวิธีไหนจะเวิร์คไม่เวิร์ค สมเหตุสมผลหรือไม่ ก็ขึ้นกับผู้อ่านจะตัดสินครับ

  • เจ้าของสัญญาสัมปทานเดิม CAT Telecom และต้นสังกัดคือกระทรวงไอซีที
  • เอกชนรายแรก True Move
  • เอกชนรายที่สอง AIS ในฐานะเจ้าของ DPC
  • กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแล (ซึ่ง กสทช. ก็มีความเห็นแตกเป็นหลายฝ่ายอีก)

    Disclaimer: สถานะของผมถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาด้วย โดยผมได้รับแต่งตั้งจาก กสทช. เป็น "อนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุโทรคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital PCN 1800" (อนุ 1800 ชุดแรกที่ไม่ได้ทำงานต่อแล้ว) ไม่ได้เขียนในฐานะผู้สังเกตการณ์จากภายนอก อย่างไรก็ตาม ความเห็นและมุมมองของผมเป็นอิสระจาก กสทช. ครับ

(1) มุมมองและข้อเสนอของ CAT

CAT ในฐานะเจ้าของสัญญาสัมปทานเดิม มีรายได้จากเอกชนทั้งสองราย (True/DPC) ปีหนึ่งเป็นหลักหมื่นล้านบาท และ CAT เองก็เคยมีสถานะเป็น “เจ้าของคลื่น” (สมัยก่อนมี กสทช.) ดังนั้นการที่ กสทช. จะดึงคลื่นกลับไป CAT ซึ่งเสียประโยชน์จากเรื่องนี้โดยตรงก็ย่อมไม่เห็นด้วยแน่นอน

ท่าทีอย่างเป็นทางการของ CAT ช่วงต้นปีนี้ (ก.พ. 56) คือ ตีความกฎหมายว่าหลังหมดอายุสัมปทานแล้ว คลื่นไม่กลับไปที่ กสทช. (ไทยรัฐ) แต่กลับมาที่ CAT โดยอ้างเหตุผลเรื่องการดูแลลูกค้าเก่า แต่ CAT จะเป็นผู้ให้บริการเองโดยตรง ไม่ผ่านสัญญาสัมปทานแบบปัจจุบัน

หมายเหตุ: ความเห็นทางกฎหมายของ อ.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อประเด็นเรื่องคลื่นกลับคืนไปที่ CAT คือ “ไม่ได้” (อ้างอิงบทความเก่าใน Blognone ปัญหาทางกฎหมายกรณีการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 1800 MHz)

แผนการของ CAT ที่ยื่นต่อ กสทช. คือ

  • คลื่นส่วนของ True Move จะขอใช้งานต่ออีก 12 ปี (อ่านไม่ผิดครับ) ถึงปี 2568 ตามใบอนุญาตประกอบกิจการของ CAT ที่ยังเหลืออยู่ (ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม เป็นคนละส่วนกับสิทธิการใช้คลื่น)
  • คลื่นส่วนของ DPC จะขอใช้งานต่ออีก 3 ปี จนถึงปี 2559

เหตุที่ CAT อ้างว่าต้องการใช้คลื่น True Move นานกว่าคือลูกค้าเยอะกว่า (17 ล้านเลขหมาย) ในขณะที่ DPC ปัจจุบันมีลูกค้าประมาณ 80,000 รายเท่านั้น (ไทยโพสต์)

อย่างไรก็ตาม CAT ก็เตรียมทางออกกรณีที่ไม่ได้คลื่นคืนคือ อาจโอนย้ายลูกค้า True Move ไปใช้คลื่น 850MHz (My) แทน

ความคืบหน้าล่าสุดของฝั่ง CAT เมื่อเร็วๆ นี้คือ รมว.ไอซีที น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ในฐานะผู้กำกับดูแล CAT ได้เข้าพบ พล.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. เพื่อหารืออย่างไม่เป็นทางการในเรื่องนี้ โดย CAT ดูยอมอ่อนตามแนวทางของ กสทช. เสียงข้างมากที่จะขยายเวลาใช้คลื่นอีก 1 ปี (ไทยรัฐ, ผู้จัดการ)

(2) มุมมองและข้อเสนอของ AIS/DPC

DPC ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ AIS ให้บริการ GSM1800 โดยเน้นไปที่ลูกค้าองค์กรที่อยากได้โปรโมชันโทรศัพท์ด้วยเสียง (voice) ในราคาถูก ปัจจุบันตัวเลขลูกค้าของ GSM1800 มีประมาณ 80,000 ราย และหลักๆ แล้ว AIS ใช้คลื่น 1800MHz ในการโรมมิ่งช่วยขยายความแออัดของ GSM900/GSM Advance มากกว่า

แผนการของ DPC ตามที่ปรากฎในข่าวคือ DPC ต้องการโอนลูกค้าไปให้ CAT ทั้งหมด รายได้ทั้งหมดจะเข้า CAT และ DPC จะรับจ้างดูแลระบบให้ CAT โดยทำสัญญาจ้างเป็นรายปี เชื่อว่าลูกค้าที่ค้างอยู่ในระบบจะโอนได้ภายใน 1 ปี (ประชาชาติ)

นายวิเชียร เมฆตระการ ซีอีโอ AIS ในฐานะบอร์ด DPC ให้สัมภาษณ์หลังหารือกับ กสทช. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2556 ว่าเบื้องต้น DPC เองเห็นด้วยในหลักการของกทค.ที่มีมติออกร่างประกาศ กสทช.ดังกล่าว แต่ต้องการให้ กทค. ออกมาตรการเยียวยาผู้บริโภค ไม่ใช่เยียวยาผู้ประกอบการ (กรุงเทพธุรกิจ)

ทั้งนี้ มีข้อเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดกทค.คือ ต้องการให้กำหนดวันเวลาที่ชัดเจนในการสิ้นสุดระยะเวลาเยียวยา ซึ่งกรอบการเยียวยา การต่ออายุการใช้คลื่นควรมีระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี หรือไม่เกินวันที่ 30 ก.ย.2557 ขณะที่การประมูลคลื่น 1800 เพื่อนำมาทำประมูล 4G และขั้นตอนประมูล ควรเสร็จให้ทันปี 2557

"เอไอเอสยืนยันมาตลอดว่ามีความประสงค์จะเข้าประมูลคลื่น 1800 หรือ 4จี และยอมรับว่า คลื่น3จี ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ที่เอไอเอสประมูลได้เกือบไม่เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว"

AIS ยังแสดงท่าทีว่าต้องการความชัดเจนจาก กสทช. ในการประมูลคลื่นชุดอื่นๆ โดย AIS เสนอให้รีบประมูลคลื่น 900MHz (หมดสัญญาปี 58) ด้วย ซึ่งตรงกับท่าทีของ dtac ที่อยากให้รีบประมูลคลื่น 1800MHz ของตัวเอง (หมดปี 61) ก่อนหมดอายุสัมปทานเช่นกัน (ไทยรัฐ)

(3) มุมมองและข้อเสนอของ True

กลุ่ม True ถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดสัมปทาน เพราะมีลูกค้าตกค้างในระบบสัมปทานเดิมเป็นจำนวนมาก (ตัวเลขที่อยู่ในข่าวคือ 16-17 ล้านราย)

ปัจจุบัน True มีบริการมือถือที่แตกต่างกันถึง 3 ระบบคือ

  • TrueMove ดั้งเดิมภายใต้สัมปทาน 1800MHz เน้นบริการ 2G
  • TrueMove H คลื่น 850MHz ที่มาจากการซื้อ Hutch ไม่ได้อยู่ในระบบสัมปทาน แต่เป็นสัญญาเช่าโครงข่าย-ทำการตลาดกับ CAT
  • TrueMove H คลื่น 2100MHz ที่มาจากการประมูลปี 2555

ทางออกที่ True เคยเสนอเมื่อปี 2555 คือขอย้ายลูกค้าจาก TrueMove 1800MHz ไปยัง TrueMove H 850MHz (ประชาชาติ)

ช่วงต้นปี 2556 กลุ่ม True ยืนยันว่าพร้อมจะประมูลคลื่น 1800MHz ส่วนการดูแลลูกค้าพร้อมจะทำตามเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด (ไทยโพสต์)

เมื่อ กสทช. ประกาศแนวทางต่ออายุ 1 ปี เดือนมีนาคม 2556 นายศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอของ True ก็ประกาศว่ามีความพร้อมดำเนินการ และสัญญาว่าจะทำให้ลูกค้าใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง (ไทยรัฐ)

เดือนพฤษภาคม 2556 นายศุภชัย ให้สัมภาษณ์ว่าพร้อมดำเนินตามประกาศของ กสทช. และให้บริการลูกค้าที่ค้างอยู่ในระบบบนคลื่น 1800MHz ต่อ ส่วนลูกค้าทรูที่ค้างอยู่ในระบบราว 16 ล้านราย เห็นว่าควรอยู่ในความดูแลของทรู ไม่ใช่ กสท เนื่องจากกฎหมายบอกว่าลูกค้ามีสิทธิ์เลือกผู้ให้บริการ และลูกค้ากลุ่มนี้ก็เลือกทรูเป็นผู้ให้บริการ

นายศุภชัยยังแสดงความมั่นใจว่าจะชนะประมูล โดยบอกว่าการประมูลจะไม่ดุเดือดเท่ารอบ 2100MHz เพราะเชื่อว่า dtac จะไม่เข้าประมูล (กรุงเทพธุรกิจ)

เดือนมิถุนายน 2556 นายศุภชัย ให้สัมภาษณ์หลัง กสทช. เรียกเอกชนมาหารือว่า ต้องการให้ระยะเวลาการเยียวยานานมากกว่า 1 ปี เพราะบริษัทไม่มีสิทธิ์ไปดึงลูกค้าที่ค้างอยู่ใน True Move ออกมา (กรุงเทพธุรกิจ)

(4) ท่าทีของ กสทช.

ก่อนอื่นต้องบอกว่า กสทช. เป็นองค์กรใหญ่ แยกโครงสร้างคร่าวๆ คือ

  • บอร์ดชุดใหญ่ 11 คน แบ่งเป็นประธาน 1 คน บอร์ดโทรคมนาคม 5 คน (กทค.) บอร์ดโทรทัศน์ 5 คน (กสท.)
  • สำนักงาน กสทช.
  • คณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดที่เกี่ยวข้องกับปัญหาคลื่น 1800MHz มี 2 ชุด ได้แก่
    • คณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุโทรคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital PCN 1800" (หรือ คณะอนุ 1800 ชุดแรก ผมอยู่ในชุดนี้นะครับ)
    • คณะอนุกรรมการเตรียมการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ (หรือ คณะอนุกรรมการ 1800 ชุดที่สอง) มี ดร. เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค. เป็นประธานชุด และมี กทค. ทั้ง 5 คนร่วมเป็นอนุกรรมการด้วย

ความเห็นของบอร์ดแต่ละคน แต่ละกลุ่ม รวมถึงอนุกรรมการแต่ละชุดก็แตกต่างกันไป แยกย่อยได้ดังนี้

(4.1) ข้อเสนอของ คณะอนุ 1800 ชุดแรก

คณะอนุกรรมการชุดนี้ได้รับแต่งตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 และประชุมทั้งหมด 9 ครั้งระหว่างเดือนสิงหาคม 2555 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 แล้วทำรายงานส่งให้ กสทช.

ข้อเสนอของคณะอนุฯ ชุดนี้คือ

  • กสทช. ขยายระยะเวลาคืนคลื่นไม่ได้แน่นอน ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ ที่ปรึกษากฎหมาย กสทช. ก่อนหน้านี้
  • ควรจัดการประมูลโดยเร็วที่สุด
  • ถ้าประมูลไม่ทัน ให้โอนลูกค้าเก่าไปยัง CAT โดยให้ CAT ใช้คลื่น 850MHz ให้บริการ หรือถ้ามีปัญหาเรื่องอุปกรณ์ของลูกค้าไม่รองรับคลื่น 850MHz ก็อาจใช้คลื่นสำรองช่วง 1800MHz ที่ CAT มอบให้ dtac ได้ (CAT ต้องเจรจากับ dtac เอง)
  • ก่อนหมดสัญญาสัมปทาน ต้องเร่งโอนย้ายลูกค้าเก่าออกให้เร็วที่สุด โดยผู้ให้บริการทุกรายต้องแจ้งลูกค้าทราบโดยเร็ว ลูกค้าสามารถย้ายค่ายได้ตามความสมัครใจ และขยายระบบโอนเลขหมาย Number Port/MNP ให้รองรับการโอนย้ายจำนวนมากขึ้น
  • เพิ่มเติม: ข่าวในประชาชาติธุรกิจ พ.ย. 55, ข่าวในประชาชาติธุรกิจ ก.พ. 56

รายละเอียดดูได้จากเอกสารนำเสนอของ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) อนุกรรมการชุดเดียวกัน ที่นำเสนอในเวทีรับฟังความเห็น “ทางออกผู้บริโภค กรณีซิมดับ จากการหมดอายุสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 HHz” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 (ไทยรัฐ)

(4.2) ข้อเสนอของ คณะอนุ 1800 ชุดที่สอง

ที่ประชุม กทค. วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 เห็นชอบให้ตั้ง “คณะอนุกรรมการเตรียมการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์” ประกอบด้วย กทค.5 คน และ เลขาธิการ กสทช. นายแก้วสรร อติโพธิ ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา ดร.สงขลา วิชัยขัทคะ นายเชิดชัย ขันธ์นะภา นายนิมิตร์ เทียนอุดม นายชัยศักดิ์ อังค์สุวรรณ นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. (ประชาชาติ, ประชาชาติ, ข่าวเก่า Blognone)

คณะอนุ 1800 ชุดที่สองยังมี คณะทำงานย่อยอีก 2 คณะ

  • "คณะทำงานเยียวยาผลกระทบอันเกิดจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานมือถือของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) ที่สัญญาจะสิ้นสุดในวันที่ 15 ก.ย.2556" มีนายสงขลา วิชัยขัทคะ เป็นประธาน
  • "คณะทำงานการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้าใจแนวทางการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์" โดยมีนายแก้วสรร อติโพธิ เป็นประธาน

คณะอนุ 1800 เสนอแนวทางการแก้ปัญหาสัมปทาน 1800MHz โดยออก ร่างประกาศ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตหรือสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ... ซึ่งจะจัดงานรับฟังความคิดเห็นสาธารณะวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ (กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐ)

ตัวร่างประกาศ (เว็บไซต์ กสทช.)

เอกสารแนะนำที่มาที่ไปของร่างประกาศ

ประเด็นสำคัญของร่างประกาศฉบับนี้

  • ใช้กับกรณีสิ้นสุดสัญญาสัมปทานเป็นการทั่วไป (หมายถึงว่าใช้กับกรณีสิ้นสุดสัมปทานครั้งต่อๆ ไปของ AIS/dtac ด้วย ไม่จำกัดเฉพาะครั้งนี้)
  • “ผู้ให้บริการ” สามารถให้บริการต่อไปเป็นการชั่วคราว ไม่เกิน 1 ปีหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้บริการ
  • ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 90 วัน ผู้ให้บริการต้องจัดทำแผนคุ้มครองผู้ใช้บริการ เสนอต่อ กสทช.
    ระหว่างการให้บริการชั่วคราว 1 ปี
  • ผู้ให้บริการไม่มีสิทธิรับผู้ใช้บริการรายใหม่ โดยต้องรักษาคุณภาพการให้บริการ, ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการสิ้นระยะเวลาคุ้มครองชั่วคราว, เร่งรัดโอนย้ายผู้ใช้บริการ
  • ต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตโทรคมนาคม และจัดสรรรายได้เข้ากองทุน กสทช. เท่ากับผู้รับใบอนุญาตตามปกติ (เท่ากับผู้รับใบอนุญาต 3G 2100MHz)

(4.3) แผนการของ กสทช. ในการจัดประมูลคลื่น 1800MHz

ท่าทีของ กสทช. เรื่องกำหนดเวลาการประมูลคลื่น 1800MHz ก็เปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง

  • ธันวาคม 2555 พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ให้สัมภาษณ์ว่า “เดือนตุลาคม 2556” (ไทยรัฐ)
  • มีนาคม 2556 พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ให้สัมภาษณ์ว่า “ปลายปี 2557” (ประชาชาติ)
  • พฤษภาคม 2556 พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ให้สัมภาษณ์ว่า “ไตรมาส 3 ปี 2557” (ประชาชาติ)

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ได้อธิบายเรื่องปัญหาความล่าช้าของการจัดประมูล 1800MHz ว่า กสทช. เริ่มปฎิบัติหน้าที่เดือนตุลาคม 2554 แต่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำแผนแม่บทต่างๆ ซึ่งกว่าจะเสร็จก็เดือนเมษายน 2555 บวกกับการประมูล 3G 2100MHz ถูกคัดค้านเยอะทำให้งานล่าช้า และคลื่น 1800MHz เองก็มีรายละเอียดทางกฎหมายมากจึงต้องใช้เวลา (ฐานเศรษฐกิจ)

(4.4) เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อประกาศ ต่ออายุของ กสทช.

แนวทางการออกประกาศเพื่อต่ออายุการให้บริการอีก 1 ปี มีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย

กสทช. เสียงข้างน้อย

กสทช. เสียงข้างน้อยคือ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ให้สัมภาษณ์ว่าไม่เห็นชอบร่างประกาศฉบับข้างต้นใน 3 ประเด็น (ไทยรัฐ)

  • ยังไม่ชัดเจนว่า กสทช. มีฐานอำนาจทางกฎหมายในการต่อสัญญาสัมปทานลักษณะนี้หรือไม่
  • กทค. มีเวลาเตรียม 2 ปีนับจากวันที่รับตำแหน่ง แต่ทำไมไม่เคยเสนอวิธีการแก้ปัญหาก่อนหน้านี้
  • ยังไม่เห็นแนวทางการชดเชยให้ผู้บริโภคอย่างชัดเจน

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ให้สัมภาษณ์ในรายการ คมชัดลึก

ในทางกฎหมาย กสทช.ต้องเรียกคืนสัมปทานกับบริษัทที่ทำอยู่ทันทีเมื่อหมดสัญญา แน่นอนไม่มีใครอยากเห็นซิมดับ แต่อยากจะติงว่า ที่ผ่านมาทำไม กสทช.ไม่เตรียมการประมูลตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ไม่ใช่มาถึงตอนนี้กลับมาขอเวลาอีก 1 ปี ทั้งนี้ หาก กสทช.จัดประมูลไปก่อนหน้านี้คงไม่ต้องสุ่มเสี่ยงกับการผิดกฎหมายในการยืดระยะเวลาอีก 1 ปี โดยที่ผ่านมา 2 ปี กสทช.อ้างนู้นอ้างนี่ว่าไม่มั่นใจในอำนาจจัดประมูลได้หรือไม่ แต่พอมาตอนนี้กลับมาพูดอย่างเต็มปากอย่างมั่นใจว่า มีอำนาจเพียงพอในการยืดเวลาให้เอกชนต่อไปอีก 1 ปี

คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน

คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เป็นกลุ่ม NGO ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ออกมาคัดค้านร่างประกาศฉบับดังกล่าว โดยให้เหตุผลดังนี้ (ฐานเศรษฐกิจ)

แนวทางดังกล่าวมีความสุ่มเสี่ยงที่เป็นการทำผิดกฎหมายตามมาตรา 45 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2553 เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า การนำคลื่นความถี่ไปใช้นั้นจะทำได้โดยวิธีการประมูลเท่านั้น อีกทั้งการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานไม่ใช่เรื่องฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุ แต่เป็นปัญหาที่ทราบล่วงหน้า และถูกเขียนไว้ในแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมตั้งแต่ปี 2555 รวมทั้งคณะอนุกรรมการอย่างน้อย 2 ชุด ซึ่ง กทค.เป็นผู้แต่งตั้งต่างได้เสนอความเห็นเพื่อให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ โดยวิธีการจัดการประมูลคลื่น และการเตรียมการโอนย้ายลูกค้า แต่กลับไม่ได้รับการพิจารณาจากบอร์ด กทค.

"ทุกฝ่ายได้เร่งรัดให้รีบดำเนินการมาไม่น้อยกว่า 1 ปี แต่เมื่อเหลือเวลาอีก 60 วัน จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน คือวันที่ 15 กันยายนนี้ กทค. กลับออกร่างประกาศคุ้มครองดังกล่าว โดยเอาผู้ใช้บริการคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ เป็นตัวประกัน จากปัญหาซิมดับ ซึ่งเราไม่ต้องการให้เกิดปัญหาซิมดับสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภค แต่ไม่ต้องการเห็น กทค. ใช้วิธีการที่ผิดกฎหมาย" นางสาวสารี กล่าว

นางสาวสารีกล่าวต่อไปว่า มาตรการคุ้มครองชั่วคราวแม้จะดูมีจุดมุ่งหมายที่ถูกต้อง แต่วิธีการซึ่งเสมือนเป็นการอนุญาตให้บริษัท ทรูมูฟฯ และ บริษัท ดีพีซีฯ ได้ใช้คลื่นความถี่ต่อไปโดยไม่ต้องประมูลนั้นนอกจากจะขัดต่อกฎหมายแล้ว ตลอดระยะเวลาอีก 1 ปี นี้บริษัททั้ง 2 ยังไม่ต้องจ่ายค่าประมูลคลื่นความถี่ และในร่างประกาศยังอนุญาตให้บริษัทจ่ายเงินเข้ากองทุนน้อยลง

นักวิชาการ

นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะนักวิจัยประจำโครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBCT Policy Watch) ให้ความเห็นว่า ไม่สามารถทำได้ หากพิจารณาในทางกฎหมาย เพราะถือเป็นการละเมิดเจตนารมย์ของกฎหมายที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานสู่ระบบใบอนุญาต เพื่อความโปร่งใส (ไทยรัฐ)

กทค. รู้ล่วงหน้าว่าอายุสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายนปีนี้ ในขณะที่ กทค. รับตำแหน่งปี 54 มีเวลาเตรียมตัวตั้งคณะทำงานฯ แต่เหตุใดจึงไม่ดำเนินการ หรืออย่างน้อยก็ตั้งแต่แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาในต้นเดือนเมษายน 2555 ขณะเดียวกันยังเสนอทางเลือกอื่ๆ เพิ่มเติม เช่น ตั้งคณะทำงานฯ เตรียมความพร้อม ควบคู่ไปกับการแจ้งข่าวสารให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูล ขยายขีดความสามารถในการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย (mobile number portability) รวมทั้งจัดให้มีการประมูลก่อนสิ้นสุดอายุสัญญา 6 เดือน ปัญหาซิมดับก็จะไม่เกิดขึ้น และไม่ต้องขยายสัมปทาน ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ทรูมูฟ และดีพีซี มากกว่าผู้บริโภค

สำนักงานอัยการสูงสุด

ศ.เข็มชัย ชุติวงศ์ สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุด แสดงความเห็นว่า ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่มีข้อใดที่อนุญาตให้สามารถขยายเวลาให้บริการต่อได้เมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุด เนื่องจาก พ.ร.บ. องค์กรฯ พ.ศ. 2553 กำหนดระยะเวลาคืนคลื่นความถี่ที่ชัดเจนอยู่แล้วตามแผนแม่บทฯ ที่กำหนดให้คืนคลื่นเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ตามเจตนารมณ์ของการตรา พ.ร.บ. องค์กรฯ พ.ศ. 2553 นั้นมีความชัดเจนว่า ต้องการให้คลื่นความถี่เปลี่ยนจากการเป็นสมบัติชาติมาเป็นสมบัติสาธารณะ โดยมี กสทช. เป็นผู้จัดการ จึงต้องการให้คลื่นความถี่ที่หมดพันธะได้รับการส่งคืนมายัง กสทช. (ฐานเศรษฐกิจ)

(4.5) กสทช. เสียงข้างมาก ตอบเสียงวิจารณ์

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช.ด้านกฎหมายชี้แจงว่า (ฐานเศรษฐกิจ)

มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามร่างประกาศฯเป็นการกำกับดูแลเพื่อให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดการให้บริการโทรคมนาคม จึงไม่ใช่การจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ที่จะต้องทำโดยวิธีประมูลคลื่นความถี่ตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และมิใช่เป็นการขยายอายุสัมปทาน เนื่องจากเมื่อสัมปทานสิ้นสุดคลื่นความถี่จะต้องตกมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกสทช. เพื่อรอการจัดสรรตามกฎหมายต่อไป

การออกประกาศกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการนั้นมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง โดยมาตรการคุ้มครองนี้กำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ให้บริการรับผู้ขอใช้บริการใหม่ รวมทั้งจะต้องเร่งรัดการโอนย้ายผู้ใช้บริการให้เสร็จสิ้นภายในช่วงเวลาคุ้มครอง ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจน คือ ไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่สัมปทานสิ้นสุด ทั้งนี้ทั้งสำนักงาน กสทช.และคณะทำงานฯยืนยันว่ามีฐานอำนาจในการออกประกาศชัดเจนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯพ.ศ.2553 นอกจากนี้ยังเป็นไปตามหลักกฎหมายปกครองที่ต้องทำให้การให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นบริการสาธารณะมีความต่อเนื่องของการให้บริการ

“มีการเสนอเรื่องนี้เข้ามาทั้งในชั้นของคณะอนุกรรมการเตรียมการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz กทค.และกสทช. ซึ่งได้ถกเรื่องนี้กันหลายครั้ง เนื่องจากมีบอร์ด กทค.ท่านหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการออกประกาศกำหนดมาตรการเยียวยาเป็นการทั่วไป โดยต้องการให้พิจารณาเป็นรายกรณีไป และเห็นว่าควรส่งร่างประกาศฯที่คณะทำงานฯยกร่างไปให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย กสทช.พิจารณาให้ความเห็นก่อน แต่ กทค.ส่วนใหญ่เห็นว่า กทค.มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องดำเนินการโดยใช้มาตรการต่างๆเพื่อป้องกันมิให้เกิดกรณีซิมดับ และเห็นสอดคล้องตามที่คณะทำงานฯเสนอว่า กสทช.มีฐานอำนาจทางกฎหมายในการออกมาตรการคุ้มครอง โดยผมซึ่งอยู่ในฝ่ายเสียงข้างมากเห็นว่ามีฐานอำนาจตามกฎหมายรองรับชัดเจน เนื่องจากหน้าที่ของ กสทช.ตามรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ได้มีเฉพาะในส่วนการจัดสรรคลื่นความถี่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงหน้าที่ในการกำกับการประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน นอกจากนี้คลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ การดำเนินการใดๆก็ต้องทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งสอดคล้องกับบทเฉพาะกาลมาตรา 83 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดว่า ในการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต กสทช.จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ซึ่งหมายความว่า กสทช.มีหน้าที่ที่จะต้องออกมาตรการคุ้มครองเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซิมดับ และป้องกันผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะเพื่อให้บริการสาธารณะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง"

"นอกจากนี้ในการชี้แจงต่อที่ประชุม กสทช. ท่านอาจารย์แก้วสรร อติโพธิ ในฐานะอนุกรรมการเตรียมการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz และหัวหน้าคณะทำงานการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้าใจแนวทางการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ก็ได้เข้าชี้แจงสนับสนุนแนวทางการออกประกาศฯเพื่อป้องกันซิมดับ พร้อมตอบข้อซักถามโดยละเอียด ซึ่งบอร์ด กทค.คนหนึ่งที่เห็นแตกต่างจากมติของ กทค. แต่ที่ประชุม กทค.ไม่เห็นด้วย ก็ได้รับการเปิดโอกาสให้หยิบยกเอาประเด็นที่ที่ประชุม กทค.มีมติจนได้ข้อยุติไปแล้วมาอภิปรายซ้ำอีกครั้ง แต่เมื่อได้รับฟังเหตุผลทั้งฝ่ายที่สนับสนุนร่างฯและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างฯแล้วที่ประชุม กสทช. ก็มีมติเห็นชอบกับหลักการของประกาศฯ และมอบให้สำนักงาน กสทช.นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป”

ข้อมูลเพิ่มเติม

ข้อมูลอื่นๆ สำหรับความเห็นของ กสทช. ที่แตกออกเป็น 2 แนวทาง

เทปรายการคมชัดลึก เรื่องสัมปทาน 1800MHz

[ตอนที่ 3] สัมภาษณ์ กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ถึงปัญหาสิ้นสุดสัมปทานคลื่น 1800MHz

Get latest news from Blognone

Comments

By: hisoft
ContributorWindows PhoneWindows
on 20 July 2013 - 15:44 #599609
hisoft's picture

กทค.5 คน => กทค. 5 คน

ชั่วคราว, เร่งรัดโอนย้ายผู้ใช้บริการ => ชั่วคราว และเร่งรัดโอนย้ายผู้ใช้บริการ

แล้วเอกสาร ตัวร่างประกาศ (เว็บไซต์ กสทช.) กับ เอกสารแนะนำที่มาที่ไปของร่างประกาศ ไม่แสดงผลทั้งคู่ครับ

By: mk
FounderAndroid
on 20 July 2013 - 17:03 #599631 Reply to:599609
mk's picture

ของผมแสดงผลไม่มีปัญหาอะไรนะครับ

By: hisoft
ContributorWindows PhoneWindows
on 20 July 2013 - 22:17 #599726 Reply to:599631
hisoft's picture

No Description

No Description

เปลี่ยนมาสามเน็ตแล้วครับ กระทั่งลิงค์ต้นฉบับยังเปิดไม่ได้เลย

By: mr_tawan
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 20 July 2013 - 23:51 #599756 Reply to:599726
mr_tawan's picture

ลองเปลี่ยน Browser ดูหรือยังครับ ?


  • 9tawan.net บล็อกส่วนตัวฮับ
By: hisoft
ContributorWindows PhoneWindows
on 21 July 2013 - 01:05 #599773 Reply to:599756
hisoft's picture

เปิดในโทรศัพท์ เปิดขึ้นข้อผิดพลาดแต่กดปิดอ่านได้ครับ - -"

By: mr_tawan
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 21 July 2013 - 02:21 #599805 Reply to:599773
mr_tawan's picture

สรุปว่าเป็น IE Bug ละกัน (ไฟล์ไปโลดครับ)


  • 9tawan.net บล็อกส่วนตัวฮับ
By: pd2002 on 20 July 2013 - 17:07 #599635 Reply to:599609

ผมเห็นเอกสารครบถ้วนครับ

By: illusion
ContributorAndroid
on 20 July 2013 - 17:25 #599643 Reply to:599609
illusion's picture

ผมอ่านใน Firefox mobile (android) ก็เห็นเอกสารครบถ้วนนะครับ

By: เดวิลแมน on 28 July 2013 - 12:19 #602707 Reply to:599609

ใช้ Firefox 22 บนวิน 7 เป็นเหมือนกันครับ

By: toandthen
WriterMEconomics
on 20 July 2013 - 16:12 #599614
toandthen's picture

คลิปวีดีโอนี้ คนชื่อแก้วสรร อติโพธินี่ น่ารำคาญมาก


@TonsTweetings

By: pd2002 on 20 July 2013 - 17:07 #599633 Reply to:599614

+1

By: roongroj
iPhoneAndroidRed HatSUSE
on 20 July 2013 - 21:04 #599707 Reply to:599614
roongroj's picture

+1 ผมก็เช่นกัน หมด ...ศรัทธา @ เคยมีมาเลยครับ

By: BLiNDiNG
AndroidUbuntuWindowsIn Love
on 21 July 2013 - 02:44 #599810 Reply to:599614
BLiNDiNG's picture

.......ไม่ฟังใครสักคำเลยแฮะ เวลาประชุมคุยงานนี่คนอื่นคง/facepalm กันเหนื่อยเลย

By: trufa
ContributorWindows PhoneAndroidWindows
on 20 July 2013 - 18:17 #599652
trufa's picture

ถามคุณ mk ว่าทำไมต้องมีอนุกรรมการ 1800 สองชุดหละครับ

ชุดแรกทำงานบกพร่องอะไรเหรอถึงต้องมีชุดสอง

ทำงานล่าช้า (ประชุมตั้ง 7 เดือน) หรือมติอนุฯ ไม่สบอารมณ์กรรมการชุดใหญ่......


Happiness only real when shared.

By: mk
FounderAndroid
on 20 July 2013 - 18:24 #599656 Reply to:599652
mk's picture

ไม่ทราบครับ หลังจากส่งรายงานแล้ว ทางประธานชุดก็ไม่ได้เรียกประชุมอีก และผมก็เห็นข่าวการตั้งชุดที่สองตามหน้าสื่อเหมือนคนอื่นๆ ทั่วไปครับ

By: trufa
ContributorWindows PhoneAndroidWindows
on 20 July 2013 - 19:13 #599679
trufa's picture

อ่านแล้วรู้สึกมีอะไรลึก ๆ ที่พูดไม่ได้อยู่เพียบเลยนะครับ
(ที่แถลง ๆ กันนี่ เดาว่าหลังฉากคงเละกับเป็นเด็กแย่งเค้กแหงเลย)

มีคำถามหน่อยครับว่า ตามสัมปทาน 1800 ที่กำลังจะหมดลง ผมเข้าใจว่า

คลื่น 1800 ต้องคืน กสทช (ตามกฎหมายที่มอบอำนาจให้จัดสรรคลื่น)
เสาเครือข่าย ต้องให้ CAT (ตามสัญญาสัมปทานเดิม)
ลูกค้า ต้องให้ CAT ดูแล (ตามสัญญาสัมปทานเดิม)

แต่ทำไมอ่านไปอ่านมา ดูเหมือน กสทช จะมีสิทธิ์เข้าไปจัดการเสาเครือข่ายกับลูกค้าด้วย?
True กับ AIS มีสิทธิ์อะไรที่จะเบี้ยวไม่โอนเสากับลูกค้าให้ CAT อะครับ


Happiness only real when shared.

By: iamfalan
iPhoneAndroidWindows
on 20 July 2013 - 20:10 #599696 Reply to:599679

ผมว่าเขียนแบบนี้ดีแล้วครับ
เพราะเป็นการสรุปจากข้อเท็จจริงจากหน้าสื่อ และเอกสาร
ไม่ใช่ "ข้อมูลวงใน" ที่เราไม่อาจรู้ได้ว่า จริงหรือไม่

ส่วนตัวผมเชื่อว่าเป็นการดึงเกมของเอกชน ที่ไม่ต้องการเสียลูกค้าจำนวนมาก โดยการอ้างว่าปกป้องลูกค้าจากการซิมดับ
เพราะถ้าเอาตามข้อเสนอของอนุฯ คือปล่อยให้ลูกค้าเลือกย้ายได้เอง ลูกค้าจะมีทางเลือก 3-4 ทาง
ถ้าใช้วิธีปัจจุบัน คือค่อยๆ ให้คนย้ายมาคลื่นใหม่ ก็จะการันตีว่ากลุ่มลูกค้าอยู่กับตัวเองแน่ๆ
ดีกว่า ปล่อยให้คนย้ายด้วยความจำเป็น (กลัวซิมดับ) แม่ว่าวิธีนี้จะช้ากว่ามากก็ตาม
ซึ่งแม้จะไม่มีทางย้ายได้ทั้งหมด แต่ก็ได้เยอะกว่าปล่อยซิมดับแน่นอน

By: iammeng
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 23 July 2013 - 11:11 #600483 Reply to:599696
iammeng's picture

จริงๆที่มีผลกระทบมากๆจะเป็น CAT กับ True ครับ เพราะจำนวณเลขหมายนี่ 16-17 ล้านเยอะมาก เทียบกับ DPC แค่ 8 หมื่น ส่วนวิธีการ ปกติก็จะมีการประชาสัมพันธ์บอกกล่าวลูกค้าให้ย้ายเรื่อยๆ โดยมีระยะเวลา 1 ปีที่เหลือนี่ครับ

By: iamfalan
iPhoneAndroidWindows
on 23 July 2013 - 15:22 #600601 Reply to:600483

การประชาสัมพันธ์ให้ย้าย ในระหว่างสัญญา คือการให้ย้ายโดยเอาโปรโมชั่นใหม่มาล่อครับ แต่ลูกค้ายังไม่จำเป็นต้องย้าย ก็ยังมีเวลาเพิ่ม offer ทีหลังได้ครับ
ส่วนถ้าปล่อยให้ซิมดับ กรณีนี้ ลูกค้าจะอยู่ในภาวะจำยอมต้องย้าย ดังนั้นจึงอาจจะไปที่ไหนก็ได้

อีกอย่าง ผมไม่ได้บอกสักคำว่า กระทบ DPC นี่ครับ

ผมมองว่า มันไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปยืดเวลาให้ เพราะเวลาเตรียมตัวก็มีมาตั้งนาน ก็โอนลูกค้ามา CAT แล้วประกาศออกไป แล้วไปขยายช่องทาง MNP ตามแบบที่อนุเสนอก็ได้
ไม่งั้นไอ้คลื่นนี่ จะเอาไปทำอย่างอื่นก็ไม่ได้ มัวแต่ยืดเวลาไปมาเนี่ยแหละ

แล้วคิดเหรอครับ ว่าหมด 1 ปี แล้วจะไม่ยืดอีก

By: komsanw
iPhoneWindows PhoneAndroidRed Hat
on 20 July 2013 - 23:02 #599741
komsanw's picture

CAT สู้ๆ 555

By: iammeng
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 23 July 2013 - 11:08 #600479 Reply to:599741
iammeng's picture

แหม ไปเชียร์เขาอีก ไม่ต้องประมูลกันละ ให้ CAT ไปหมดเลย!!

By: itpcc
ContributoriPhoneRed HatUbuntu
on 21 July 2013 - 00:35 #599771
itpcc's picture

ผมว่าเปลี่ยนจาก

<iframe src="https://docs.google.com/file/d/0B9ClrsPTb4n0TjR5YXc1OVljcmc/preview" width="640" height="800"></iframe>'

เป็น
width="100%" ดีกว่านะครับ
เพราะขนาดย่อพรีวิวหน้าแล้ว ก็ยังอ่านเอกสารลำบาก


บล็อกส่วนตัวที่อัพเดตตามอารมณ์และความขยัน :P

By: Perl
ContributoriPhoneUbuntu
on 22 July 2013 - 13:25 #600159
Perl's picture

ข้อเสนอคณะ กทค ชุดสองมันช่างเหมาะสมกับวัฒนธรรมแบบไทยๆ ซะจริง

By: Virusfowl
ContributorAndroidSymbianWindows
on 24 July 2013 - 16:00 #601095
  • กสทช.อ้างนู้นอ้างนี่ว่าไม่มั่นใจในอำนาจจัดประมูลได้หรือไม่ << นู่น/โน่น
  • quote ของนิด้า ขณะเดียวกันยังเสนอทางเลือกอื่ๆ เพิ่มเติม เช่น << อื่นๆ ตก น ไปครับ

โดยบอกว่าการประมูลจะไม่ดุเดือดเท่ารอบ 2100MHz

ดุเดือด!!! (เหรอ?)


@ Virusfowl

I'm not a dev. not yet a user.

By: เดวิลแมน on 28 July 2013 - 12:18 #602706 Reply to:601095

นั่นสิ นอนกันมาแบบสบายๆ เลย