The Wall Street Journal ได้จัดทำรายงานพิเศษเผยถึงปัจจัยหนึ่งแห่งความสำเร็จของแอปเปิลช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นั่นคือร้านค้า Apple Store ซึ่งหากจะว่าไปแล้ว แนวคิดของการสร้างร้านค้าปลีกในอาคารแล้วให้ลูกค้าเข้าไปเดินเลือกซื้อสินค้าของแอปเปิลนั้น ก็ออกจะขัดกับภาพลักษณ์ความทันสมัยของสินค้าของแอปเปิลอยู่เหมือนกัน โดย WSJ ได้เก็บข้อมูลของร้านค้า Apple Store ทั้งจากคู่มือฝึกอบรม และการสัมภาษณ์พนักงานทั้งอดีตและปัจจุบันของร้าน จึงพบว่าแอปเปิลได้ออกแบบและจัดการรายละเอียดต่างๆ เอาไว้ในน่าสนใจทีเดียว
เรื่องของคน
เบื้องต้นนั้นพนักงานของ Apple Store ทุกคนถูกสั่งห้ามสนทนากับลูกค้าในเรื่องข่าวลือเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ผู้เชี่ยวชาญก็ห้ามพูดคุยในรายละเอียดทางเทคนิคที่ยังไม่มีการเปิดเผย และโทษสูงสุดของการเอาข่าวลือไปเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตคือไล่ออกสถานเดียว
บรรดาพนักงานฝ่ายขายจะถูกกำกับด้วยเป้าหมายที่ต่างจากพนักงานขายทั่วไปสักหน่อย กล่าวคือไม่เน้นยอดขาย แต่เน้นว่าต้องช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้สำเร็จ ซึ่งคู่มือของพวกเขาก็ระบุไว้ว่า "งานของคุณคือการค้นหาความต้องการของลูกค้าให้เจอ บางอย่างพวกเขาก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องการมัน" บรรดาพนักงานขายที่ Apple Store จึงไม่มีเป้ายอดขาย และก็ไม่มีคอมมิชชั่นจากการขายเช่นกัน แต่อาจมีการกำหนดยอดขายของบริการเสริมที่ขายพ่วงมากับสินค้าเป็นระยะๆ
คู่มือการทำงานยังลงรายละเอียดถึงแนวทางการสนทนากับลูกค้าไว้ อาทิ พยายามเป็นผู้ฟังและโต้ตอบกับลูกค้าเท่าที่จำเป็น หลีกเลี่ยงใช้คำลอยๆ อย่าง "อ๋อครับ" หรือ "เข้าใจครับ" กรณีที่ลูกค้าออกเสียงชื่อผลิตภัณฑ์ผิดไปก็ห้ามบอกลูกค้าว่าออกเสียงผิด ถ้าเป็นพนักงานที่นั่งอยู่ Genius Bar ก็ต้องระมัดระวังการใช้คำพูดมากขึ้นไปอีก เช่นกรณีที่พนักงานแก้ปัญหาให้ลูกค้าไม่ได้ ก็ให้หลีกเลี่ยงคำพูดเชิงลบเช่น "โชคไม่ดีเลยที่..." เป็น "ปรากฏว่า..." แทน
คู่มือการทำงานหน้าหนึ่งกำหนดแนวทางการทำงานเอาไว้บนตัวย่อ APPLE ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังใช้อยู่ไว้ว่า
ตัวอย่างหน้าหนึ่งของคู่มือการทำงานในการรับมือกับลูกค้าขี้โมโห
ในการคัดคนเข้ามาทำงานใน Apple Store นั้นจะต้องผ่านการสัมภาษณ์สองรอบ ซึ่งมีการถามเพื่อวัดทั้งภาวะผู้นำและทักษะการแก้ปัญหา หลังรับเข้าทำงานแล้วพนักงานใหม่จะเข้าสู่การฝึกอบรมพื้นฐานและเริ่มศึกษางานจากพื้นที่ขาย โดยพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้สนทนากับลูกค้าจนกว่าจะผ่านการประเมินซึ่งใช้เวลาหลายสัปดาห์ จากนั้นพนักงานสามารถขอทดสอบเพื่อเลื่อนขั้นไปเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ Genius Bar โดยจะเป็นการทดสอบเชิงลึกมากยิ่งขึ้น บางครั้งการทดสอบก็เป็นเรื่องทักษะภาษาด้วย เพื่อให้พนักงานคนนั้นๆ สามารถไปทำงานยังสาขาต่างประเทศได้ด้วย
จุดแข็งในการฝึกอบรมของ Apple Store ที่แตกต่างจากร้านค้าอื่นๆ คือพนักงานในร้านนั้นส่วนใหญ่จะเป็นแฟนของผลิตภัณฑ์แอปเปิลอยู่แล้ว พวกเขาจึงมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สินค้าใหม่ คุณสมบัติใหม่ ทำให้การฝึกอบรมเป็นไปได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากกว่าที่อื่น อีกทั้งจำนวนสินค้าของแอปเปิลก็อยู่ในหลักร้อย ซึ่งไม่สร้างภาระในการจดจำรายละเอียดให้กับพนักงานมากเท่ากับร้านค้าประเภทเดียวกันที่อาจมีจำนวนสินค้าสูงถึงหลักพัน
แต่ปัญหาก็มีเช่นกัน ค่าจ้างที่พนักงานได้รับนั้นอยู่ที่ $9 - $15 ต่อชั่วโมงสำหรับพนักงานขาย และอาจสูงถึง $30 ต่อชั่วโมงสำหรับพนักงาน Genius Bar ซึ่งเทียบกับคู่แข่งแล้วไม่ได้เป็นค่าจ้างที่สูงกว่าแต่อย่างใด และเมื่อ Apple Store มีสาขาที่เพิ่มขึ้นมากโดยตอนนี้มี 326 สาขาแล้ว ก็ทำให้การควบคุมคุณภาพของพนักงานด้อยลงไปตามธรรมชาติ นอกจากนี้ Apple Store ยังขาดแรงจูงใจต่อพนักงาน เพราะพนักงานไม่น้อยก็คาดหวังว่าพวกเขาจะได้ต่อยอดเข้าไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมามีคนสมหวังน้อยมาก
บรรยากาศในร้าน
การสร้างบรรยากาศใน Apple Store นั้นไม่ได้ยึดติดกับรูปแบบตายตัว แต่ให้ออกแบบภายในของร้านโดยเน้นความกลมกลืนกับลักษณะสถานที่เป็นสำคัญ การจัดวางสินค้าก็ให้เน้นไปในแง่การใช้งานของมันมากกว่าที่จะแบ่งพื้นที่ตามหมวดหมู่ของสินค้า จัดวางสินค้าที่ขายดีที่สุดก็ให้วางไว้ด้านหน้าของร้าน มีการจัดมุมสำหรับเด็กให้ทดลองใช้สินค้าของแอปเปิลโดยลงซอฟท์แวร์สำหรับเด็กเอาไว้ การจัดพื้นที่ดังกล่าววางไว้บนแนวคิดว่า Apple Store ไม่ได้เน้นว่าเราขายอะไร แต่เน้นว่าลูกค้าจะได้สินค้าเหล่านั้นไปทำอะไร
การตกแต่งร้านวางบนเงื่อนไขที่ให้ร้านดูปลอดโปร่ง โล่ง สร้างความรู้สึกที่ดีที่สุด วัสดุที่ใช้ตกแต่งร้านจึงเป็นวัสดุที่เรียบแต่หรูอย่างไม้ กระจก หิน นอกจากนี้ในหลายสาขาของ Apple Store ก็ทำได้ไกลกว่านั้น คือการไปวางร้านในสถานที่สำคัญที่มีเรื่องราวอยู่ในนั้นอย่างสาขาปารีสหรือเซี่ยงไฮ้ ส่งผลให้ Apple Store กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ควรไปเยือนในอีกแง่หนึ่งได้เช่นกัน
ในวันแรกของการขายสินค้าใหม่ จะมีพนักงานยืนเรียงแถวต้อนรับลูกค้า (ภาพ AFP/Getty Image)
บุคคลเบื้องหลังความสำเร็จ
สตีฟ จ็อบส์อาจเป็นต้นคิดของการทำร้าน Apple Store แต่ผู้ที่ทำให้มันเป็นรูปเป็นร่างได้ขนาดนี้ต้องให้เครดิตกับ Ron Johnson ซึ่งร่วมงานกับแอปเปิลตั้งแต่ปี 2000 โดยก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้บริหารระดับสูงกลุ่มสินค้าตกแต่งบ้านให้กับห้าง Target นอกจากนี้จ็อบส์ยังเลือก Millard Drexler ซึ่งเป็นประธานร้านเสื้อผ้า Gap มาร่วมเป็นบอร์ดแอปเปิลในปี 1999
การเข้ามาของทั้งสองคนทำให้ Apple Store มีแนวทางที่ชัดเจนและแตกต่างโดย Drexler ในดึงทีมงานส่วนหนึ่งจากร้าน Gap มาช่วยการออกแบบและสร้างประสบการณ์ภายในร้าน ขณะที่ Johnson เข้ามามีบทบาทการสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ในร้านอาทิ Genius Bar และเป็นคนคอยควบคุมดูแลทุกรายละเอียดภายใน Apple Store
Ron Johnson ในร้าน Apple Store (ภาพ AP)
Ron Johnson ที่ปัจจุบันมีตำแหน่งรองประธานอาวุโสส่วนธุรกิจค้าปลีกได้ประกาศเมื่อต้นสัปดาห์ว่าเขาได้ยื่นใบลาออกจากแอปเปิลแล้วเพื่อไปรับตำแหน่งซีอีโอที่ J. C. Penney เครือห้างสรรพสินค้าขนาดกลางในอเมริกา แม้เขาอาจจะเป็นผู้สร้างและดูแล Apple Store มาแต่ต้นแต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าแม้ไม่มี Johnson แล้ว Apple Store ก็จะยังดำเนินงานไปได้ด้วยดี
งานชิ้นท้ายๆ ที่ Johnson วางไว้คือการสร้างห้องอบรมเฉพาะในบางสาขาเพื่อรองรับการดูแลลูกค้ากลุ่มองค์กรธุรกิจที่แอปเปิลกำลังขยายฐานอยู่ในขณะนี้ เขากล่าวว่านี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกครั้งเพื่อรองรับทศวรรษหน้าของแอปเปิล
ที่มา: The Wall Street Journal
Comments
อื้อหือ.. ละเอียดแบบที่บ้านเราน่าเอาไปพัฒนาการบริการในหลายๆ ธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง
ขนาดเป็น พนง ขายยังต้องสอบสองรอบ
กลับมาดูบ้านเรา จ้าง Outsource ก็เป็นได้แล้ว..
ps. Genius Bar $30 ต่อ ชม.. x8 x21 วันต่อเดือน x 30 บาทไทย = 151,200 บ/เดือน
แผล่บ..
อย่าลืมค่าครองชีพครับ T.T
@TonsTweetings
Genius Bar มีเฉพาะใน Apple Store เหรอครับ
ใช่ค่ะ
"พนักงานในร้านนั้นส่วนใหญ่จะเป็นแฟนของผลิตภัณฑ์แอปเปิลอยู่แล้ว"
อาจจะจริง แต่แค่นั้นมันพอหรือเปล่า? มีหลายคนมีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีกับไอ..( อะไรนะ ) หลายๆ คนบอกว่าพนักงานประจำบูต Apple ใน PowerBuy ยังดู friendly มากกว่าเยอะเลย
สิ่งที่สำคัญสำหรับพนักงานขายคือต้องมีใจรักการบริการ แค่เป็นแฟน Apple นั้น.. คงไม่พอ
อันนั้นเขาเป็น Authorize Reseller ครับ
ดังนั้นนโยบายการขายเขาไม่ได้อ้างอิงกับ Apple ครับ (และก็ไม่ใช่ พนง ของ Apple ตัวจริง) มีหน้าที่แค่เอาของๆ Apple เขามาขาย..
"จึงไม่มีเป้ายอดขาย และก็ไม่มีคอมมิชชั่นจากการขาย"
กำลังจะพิมพ์ต่อว่า ข้อความนี้ใช้ไม่ได้กับร้าน reseller บางร้าน ( โดยเฉพาะในประเทศสาระขัณฑ์บางค่าย )
พนักงานของเราได้รับการอบรมมาอย่างดี เพื่อที่จะสามารถประเมินได้ว่าใครที่มีกำลังซื้อหรือพร้อมจะจ่ายทันที.. :-)
ผมก็เลยชอบซื้อแบบไม่ต้องมีเซลมากกว่า เจอบทความนี้ ผมว่าบ้านเราน่าจะเอาเป็นตัวอย่างบ้างนะครับ ไม่ได้เน้นยอดขาย แต่เน้นลูกค้าจะได้อะไร เน้นแก้ปัญหา ไม่ใช่เน้นขาย
+1 เรื่องจริงค่ะ
+1
iStudio ไม่ใช่ Apple Store
+1
บางคนยังเข้าใจว่า iStudio คือ Apple มาขายเองอยู่เลย -*-
คงไม่แค่บางคนอ่ะครับ ผมว่าเยอะเลยแหละ
เยอะเลยแหละ ที่เข้าใจว่า iStudio คือ Apple มาขายเอง
ไม่มีตรงไหนซะหน่อยที่บอกว่า istu คือ apple มาขายเอง งง..
ประเด็นคือก็มันดันเป็นร้านเดียวที่มีสินค้าappleขายทั้งร้านน่ะสิครับ คนทั่วไปที่ไม่ได้ติดตามข่าวไอทีก็ต้องนึกไว้ก่อนแล้วว่าน่าจะเป็นร้านของapple
ก็ในข้อความของคุณอธิบายเหมือนว่าตัว iStudio นั้นคือ Apple Store เองไง ใครอ่านก็เข้าใจตรงกัน
นั่นคือคุณคิดไปเอง -..-
จริงครับ พวกเราคิดไปเอง
ต่อไปผมแนะนำว่าคงต้องเขียนให้รัดกุมขึ้นครับ ป้องกันการเข้าใจผิดจากคนหลายคน (รวมผม)
ผมไม่ได้กำลังตำหนินะครับ แต่พยายามแนะนำ เพราะผมก็เคยเขียนอะไรทำนองนี้ แล้วคนอ่านเข้าใจผิดกัน ซึ่งผมก็ต้องเปลี่ยนวิธีการสื่อความหมายใหม่ เพื่อป้องกันความกำกวมครับ
อันนี้เล่าเรื่องให้ฟัง
วันก่อนผมเอวเคล็ดเลยไปนวด (แผนไทย) มา มีคุณป้าคนนึงบอกว่านัดลูกไว้ เดี๋ยวลูกจะมานวด แล้วก็คุยว่าลูกชายเค้าอย่างนั้น อย่างนี้ ส่วนสูงเท่านี้ น้ำหนัก เรียนอะไรยังไง ฯลฯ
ปรากฏว่าคนที่มานวดเป็นลูกสาวครับ ทั้งลูกค้าทั้งคนนวดร้องเป็นเสียงเดียวกัน "อ้าว! นึกว่าที่จะมานวดเป็นลูกชาย"
เล่าให้ฟังครับ บางที Context มันก็ชวนให้คนฟังหลง
ชาบู ชาบู
ถ้าคนส่วนใหญ่คิดไปเอง(หรือว่ามีจำนวนมากจนเห็นได้ชัด)แสดงว่าต้องมีอะไรสักอย่างที่ต้องปรับปรุงนะครับผมว่า
ชื่อ : Not Available at this Moment (N/A)
+1
+1
+1 มันไม่ใช่อันเดียวกันนะจ๊ะ
วันก่อนเดินเข้าไปในร้านที่เซียร์ เจอพนักงานคุยโม้ซะยกใหญ่เลย "บอกว่าเครื่องแม็คใช้โอเอสที่ดีที่สุดและไม่มีไวรัส" ไอ้เราก็ได้แต่อึ้ง พูดไม่ออกเลย
ที่จริงน่าจะอบรมให้พนักงานในเรื่องการให้ข้อมูลจริงๆ กับลูกค้ามากกว่านะครับ
--แก้คำผิด
เพราะใน mac ไม่ได้เรียกว่าไวรัสรึเปล่าครับ เค้าถึงยังเข้าใจว่าไม่มีไวรัส มีได้หนอน
จริง ๆ ร้านนี้มันชื่อเสียตั้งแต่ตอนอยู่พันธ์ทิพย์แล้วครับ
+1 ใช่ครับ นโยบายของ APPLE ครอบคุมเฉพาะ APPLE Store เท่านั้นน่ะครับ ดูสีเสื้อก็น่าจะรู้
"งานของคุณคือการค้นหาความต้องการของลูกค้าให้เจอ บางอย่างพวกเขาก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องการมัน"
นี่คือ หัวใจการขายเลยนะเนี่ย :)
นั่นสิ ใน สารขันฑ์ เห็นแต่ ไอสตุ นะ
แล้ว แอบ สโต๋ ในไทย มีตรงใหนมั่งคราบ..
Apple Store ในไทยยังไม่มีครับ เป็นเหตุผลที่ทำไม่ iPhone ถึงต่อประกันไม่ได้
ร้านที่ขายในไทย ทั้ง i ทั้งหลาย, bananaIT, Power Mall จะเป็น Reseller ครับ
ของไทยมีแต่ Apple Online Store ไม่มี Apple Retail Store
อย่างที่ผมเคยพูดบ่อยๆ "แอปเปิลคือตัวอย่างที่ดีของศาสตร์แขนงต่างๆ อย่างแท้จริง"
ใครบอกว่าสตีฟ จ็อบส์นับถือ "เซน" แล้วต้องยึดถือความเรียบง่าย ทุกอย่างมันใกล้เคียง Perfect ทั้งหมดนะครับ
"งานของคุณคือการค้นหาความต้องการของลูกค้าให้เจอ บางอย่างพวกเขาก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องการมัน" อันนี้สไตล์แอปเปิลเลยครับ "สร้างความต้องการให้แก่ลูกค้า"
เป็นบทความที่น่าสนใจมากครับ ขอบคุณสำหรับบทความครับ
จากประสบการณ์ที่เคยใช้ genius bar มา เวลาเรามีปัญหาแล้วพนักงานเขาทำให้เรารุ้สึกได้ว่าเขาเข้าใจเรา แล้วอยากช่วยเราในการแก้ปัญหา แม้บางทีเขาอาจจะจะไม่จำเป็นต้องทำเลยก็ได้
มีครั้งนึงที่ผมประทับใจ apple store มาก วันนั้น iPhone มีปัญหาครับก็เลยเอาไปให้เขาดูแต่พอไปแล้วมันไม่เป็น แต่ได้ถ่ายวีดีโอเอาไว้อีกเครื่องนึง พอเขาดูแล้วเขาก็บอกว่าตอนนี้มันไม่เป็น เขาก็ไม่รู้จะแก้ให้ได้อย่างไร เขาก้เลยบอกว่าเดี๋ยวเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ละกัน แต่พอจะ check out เครื่องออกปรากฏกว่าประกันหมดไปเมื่ออาทิตย์ก่อน แต่เขาบอกว่าไม่เป็นไร เครื่องมันไม่ 100% แล้ว คุณเอาไปใช้อาจจะมีปัญหาอีกฉันเปลี่ยนให้เลยละกัน
ตั้งแต่คราวนั้นเลยกลายเป็นลูกค้า apple เรื่อยมาๆ
บริการแบบนี้น่าประทับใจจริงครับ ฟังแล้วก็อยากเป็นลูกค้าด้วยเช่นกัน
... แต่พออ่านจบ ความคิดมันก็เบรคเอี๊ยด ด้วยความคิดที่ว่า บ้านเรามันไม่มี Apple Store -*-
เป็นที่ตัวพนักงานเองด้วยมั้งครับ พนักงานดีๆ อย่างที่หาไม่เจอในร้าน reseller บางร้านน่ะครับ
ต้องทำใจด้วยครับว่า Policy หลายๆ อย่างไม่มีในเมืองไทย อย่างกรณีที่ยกตัวอย่างมาข้างบนนั่น Policy นี้ไม่อนุญาตในเมืองไทยด้วยเหตุผลหลายประการครับ และส่วนหนึ่งก็เพราะคนไทย (พันธุ์ทิพย์ - ร้านตู้) ด้วย อันนี้คงจะต้องทำใจ
ผมอาจจะดวงดี ที่สินค้าแอปเปิลที่ผมซือชอบเสียเอา 1-2 เดือนก่อนหมดประกัน
ล่าสุด auto-focus ไอโฟนผมเสีย ก็เพิ่งไปเปลี่ยนเครื่องใหม่มาอีกที :D
@TonsTweetings
ชอบมากเลยครับ ขออนุญาตนำไปบอกต่อนะครับ
นโยบาย ของแอปเปิลสโตร์ที่อเมริกา ออกแนวนี้ล่ะค่ะ
เค้าถือว่า เปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ลูกค้าไปเลยเนี่ย ต้นทุนไม่กี่ตังค์ ลูกค้าแฮปปี้ พนง. ก็สบายใจกับการทำงาน
ค่าเครื่องโทรศัพท์ไม่เท่าไหร่ แต่ซื้อใจลูกค้าได้ในระยะยาว
แต่นั่นแหละ แอปเปิลเงินหนามาก ถึงทำอย่างงี้ได้
บวกกับนโยบายของบริษัทที่ให้อำนาจตัดสินใจกับพนักงานระดับล่างๆอย่างเต็มที่
ตกน้ำมา จอแตกมา จริงๆแล้วประกันหมดทันที
ถ้าเป็นครั้งแรกก็หยวนๆให้ซะงั้นล่ะ
ถือว่า ลูกค้าเองก็ไม่ได้อยากจะทำหล่นพื้น หรือหล่นน้ำเล่นหรอกเนาะ
บางทีก็เลยเหมือนกับว่า แอปเปิลตามใจ หรือ โอ๋ลูกค้าสุดๆ ลูกค้าก็นิสัยเสีย คิดว่าอะไรก็ได้ฟรีทุกอย่าง
ลูกค้าไอ้แบบที่ได้คืบจะเอาศอกก็มีอยู่เรื่อยๆ ลูกค้าดีดีก็มีเยอะ
แปลได้ดีมากเลยครับ ยกนิ้วให้เลย
แฟนพันธุ์แท้สตีฟจ็อบส์ | MacThai.com
ชอบมากครับ ข่าวการทำงาน วีธีการทำงานของระดับโลก
ลักษณะการจัดการของ Apple มีสินค้าจริงให้เห็นเป็นมาตรฐานปกติเหมือนสินค้าอื่นๆก็ดี
แล้วมีสินค้าให้ลองได้ตามอัธยาศัยหากมีปัญหาก็เรียกได้โดยไม่ขุ่นเคืองให้ความสำคัญกับลูกค้า
เจอปัญหาในตัวสินค้าพนักงานก็ยอมรับไม่พยายามเลี่ยงแบบแบรนด์อื่นที่ต้องมาจับผิดแสดงปัญหานั้นให้ดูเองทั้งๆที่รู้ว่าปัญหามีอยู่จริง(แต่ยกเว้นถ้าศาสดา Jobs ไม่ยอมรับว่าไม่มีปัญหาก็ต้องพยายามรวมตัวเรียกร้อง ถ้าตัดเรื่องนี้ออกจะเข้าใกล้ Perfect มากขึ้น)
คงจะดีถ้ามี Apple Store สักสาขาในประเทศไทย เป็นต้นแบบในการปรับปรุง
เคยเข้า iStudio สาขาหนึ่งยืนดู iMac อยู่พนักงานเดินเข้ามาถามให้ช่วยอะไรมั้ย ผมตอบไปว่าไม่เป็นไรขอเดินดูก่อน พนักงานเดินไปกด iMac แล้วบอกผมช่วยกรอกแบบสอบถามก่อนทันที (กรอกผ่าน Safari) พอกรอกเสร็จพี่แกบอกขอชื่อจริงนามสกุลจริงพร้อมเบอร์โทร แค่นั้นแหละผมเดินออกเลย
ฮาาาา เคยเจอเหมือนกัน
ขอเอาไปประกอบรายงานว่าวันนี้มีลูกค้าเดินเข้าร้านจริงๆ ละมังครับ :-)
จะต้องไปเข้า Apple Store ให้ได้ !!
ผมว่าคนเยอะ เพราะสินค้านะ ไม่ใช่บริการ การให้บริการของ apple store ในอเมริกา ผมว่ามันธรรมดามากนะครับ ไม่ได้รู้สึกว่าพิเศษอะไร
จริงๆ ของไทย ก็เกือบๆทำได้นะ
ผมไม่เคยหัวเสียกับพนักงาน iStudio นะ
อ่านแล้วรุ้สึกอยากไปลองใช้บริการบ้าง ว่าจะดีสมคำร่ำลือไหม
ถ้าเรียกจ็อบส์เป็นศาสดา แอปเปิลสโตร์ก็คงเป็นศาสนสถาน
การไม่ใช่ยอดขายเป็นเป้านี่น่าสนใจนะครับ
มาคิดถึงตัวเองที่ถูกใช้จำนวน incident ที่ปิดได้เป็นตัววัดแล้ว เศร้า (ฮา)
ปล. เรื่องเดียวกันป่าวหว่า ??
บางสาขามีเปิดสอนการใช้งาน iPad หรือ โปรดักต์อื่น ๆ ให้กับลูกค้าสูงอายุด้วยนะครับ :)
อ่านแล้วเพลิน คิดว่าทำไม Apple ไม่ทำคู่มือให้ Zealot บ้าง XD
อ่านแล้วน่าเป็นสาวกจริงๆ
แต่ไม่มีสาขาในไทย ก็เลยยังไม่ได้เป็น
แอปเปิ้ลจงเจริญ
อยากให้เปิดสาขาในไทยเหมือนกันค่ะ จะได้กลับบ้านซะที ฮี่ๆ
"ได้ยินมาว่า" และ "เค้าเล่ามาว่า" โต๊ะไม้แต่ละร้านเนี่ย ทำมาจากไม้ฟาร์มเดียวกันหมด เพื่อจะได้เป็นสีเดียวกันเป๊ะๆ ไปแต่ละร้านแล้วลองสังเกตดูนะคะ
กระจก บานใหญ่ๆ หนาๆ ที่เห็นในร้าน แอปเปิลมีโรงงานทำกระจก ที่ใช้ในทุกๆร้าน เพราะไม่มีบริษัทไหนรับทำกระจกแล้วออกมาได้อย่างใจ
ส่วนพื้นหินของแต่ละร้าน มาจากแหล่งเดียวกันหมดที่แอปเปิลขอสัมปทานไว้ เพื่อจะได้เป็นสีเดียวกันทั้งหมดทุกร้าน
ใสใจในรายละเอียดมากกกกกกกกกก ถึงมากที่สุด
พอจะทราบมั้ยครับว่า ใครคือผู้ที่มีสิทธิบอกว่า "ผมไม่พอใจวัสดุอันนี้"
รอน จอห์นสัน ไม่ก็ จ๊อบส์ค่ะ สุดท้ายแล้ว จ๊อบส์จะตัดสินใจ
สองคนนี้ทำงานกันได้ เพราะว่า ใส่ใจรายละเอียดกันสุดๆทั้งคู่
ลองอ่าน http://www.ifoapplestore.com ดูเล่นๆ ได้ค่ะ ถ้าว่าง
ขอบคุณมากครับสำหรับข้อมูล
เว็บที่ให้มาน่าสนใจดีครับ ตอนนี้เห็นมีไปนอนคว่ำอยู่บน Genius Bar ด้วย