ธนาคารแห่งชาติอินโดนีเซีย หรือ Bank Indonesia (BI) เริ่มบังคับใช้เครือข่ายการจ่ายเงินผ่าน QR ของตัวเองที่ชื่อว่า QRIS ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา โดยผู้ให้บริการ e-Wallet ทุกรายในอินโดนีเซียต้องรองรับ QRIS ทั้งหมด และเก็บค่าธรรมเนียมเท่ากัน
อัตราค่าธรรมเนียมของ QRIS อยู่ที่ 0.7% ไม่ว่าผู้จ่ายและผู้รับจะอยู่บนผู้ให้บริการเดียวกันหรือต่างกัน แม้จะถูกกว่าค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตที่อาจจะสูงถึง 3% แต่ค่าธรรมเนียมรับบัตรเครดิตกรณีผู้รับและผู้จ่ายอยู่ธนาคารเดียวกันในอินโดนีเซียมีค่าธรรมเนียมเพียง 0.15% เท่านั้น แต่ค่าธรรมเนียมต่างธนาคารอยู่ที่ 1% สำหรับการใช้ QRIS เฉพาะทาง เช่น ค่าใช้จ่ายการศึกษาจะคิดค่าธรรมเนียม 0.6% ค่าน้ำมันคิดค่าธรรมเนียม 0.4% และหากเป็นเงินบริจาคจะไม่มีค่าธรรมเนียมเลย
หนังสือพิมพ์ The Jakata Post อ้างแหล่งข่าวเป็นผู้บริหาร e-Wallet ที่ไม่เปิดเผยตัว ระบุว่าการล็อกค่าธรรมเนียมเช่นนี้อาจจะสร้างปัญหาให้วงการ e-Wallet เพราะที่ผ่านมาผู้ค้ารายย่อยแทบไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ แต่ผู้ให้บริการมักไปเก็บรายได้เอาจากผู้ค้ารายใหญ่ เช่น Starbucks ที่อาจจ่ายค่าธรรมเนียมถึง 2% นอกจากนี้ QRIS ยังบังคับให้ผู้ให้บริการ e-Wallet ต้องแบ่งค่าธรรมเนียมข้ามค่าย แต่ละการใช้จ่ายจะจ่ายทั้งฝั่งผู้จ่าย, ผู้รับ, และ National Electronic Transaction Settlement ที่เป็นบริษัทร่วมทุนของธนาคารขนาดใหญ่ในฐานะตัวกลางเชื่อมต่อ จากเดิมก่อนหน้านี้แต่ละ QR ต้องใช้แอปเฉพาะในการรับจ่าย ผู้ให้บริการแอปนั้นๆ ก็ได้ค่าธรรมเนียมไปทั้งหมด
แนวทางของอินโดนีเซียนับว่าต่างจากของไทยที่แม้จะมี QR มาตรฐานกลางแต่ก็ไม่ได้บังคับให้ใช้งานร่วมกัน หรือสิงคโปร์ที่มีโครงการ SGQR ให้ใช้งานร่วมกันได้ แต่ก็ไม่บังคับให้เชื่อมต่อเครือข่ายเข้าด้วยกัน ร้านค้าต้องเลือกเองว่าจะรับจ่ายจากบริการใดบ้าง โดยตัวมาตรฐาน QRIS นั้นเป็นมาตรฐานที่พัฒนาจากมาตรฐาน EMVco เหมือนกัน
ที่มา - Kr-ASIA
ภาพจากวิดีโอนำเสนอ QRIS ของธนาคารแห่งอินโดนีเซีย
Comments
ต่างคนต่างทำ ใช้ในประเทศ เป็นเรื่องดี
แต่พอจะใช้ข้ามชาติ สุดท้ายก็จะแพ้พ่ายให้กับ การที่ไม่มี ตัวกลางชัดเจน
ไทยก็น่าจะเอาอย่างรวมศูนย์ ทุกวันนี้แอพจ่ายเงินเต็มไปหมด
ถึงมีแยกมากมาย แต่เราก็ยังมีพร้อมเพย์ที่เทพพอสมควรเลยนะครับ แถมฟรีด้วย
ผมไม่แน่ใจว่าแบบอินโดนีเซียนี่จะน่าตามนะครับ อย่างที่เขียนคือหลายบริการมันฟรี (ผู้ให้บริการกะไปกินค่าธรรมเนียมจากรายใหญ่) แต่พอต้องข้ามเครือข่ายแบบนี้ก็ให้บริการฟรีไม่ได้ ของเราที่ใช้มีรวมศูนย์ให้เลือกใช้ แต่ไม่บังคับ (True Money ก็จ่ายได้แล้ว) อาจจะดีสุด
แต่การบังคับ "ตัว QR" แบบสิงคโปร์นี่น่าสนใจ เพราะตลาดยังแข่งขันกันได้ ค่าธรรมเนียมอะไรก็ไม่เกี่ยว แค่หนึ่งร้านหนึ่งป้ายเท่ากันหมดเท่านั้นเอง
lewcpe.com, @wasonliw
ผมชอบทั้งการรวมศูนย์แอพ และรวม data interface เลยครับ
ความหลายมาตรฐานของเราไม่ได้ช่วยเรื่องกลไกการแข่งขันในตลาด แต่กลายเป็นความกระจัดกระจายเกินไป
แต่ผมเห็นด้วยกับเม้นบนเรื่องพร้อมเพย์นะครับ อันนี้ใช้สบายจริงๆ