Tags:
Node Thumbnail

ทวิตเตอร์ออกกฎใหม่สำหรับจัดการกับสื่อประเภท deepfake อย่างเป็นทางการ โดยนโยบายใหม่นี้จะจำกัดไม่ให้แชร์ข้อมูลปลอมที่อาจสร้างผลกระทบหรือความเสียหายได้

ทวิตเตอร์มีปัจจัยในการพิจารณาทวีตอยู่ 3 ข้อ ว่าจะทำเครื่องหมาย, แสดงข้อความเตือนหรือลบทวีตเหล่านั้นหรือไม่ ดังนี้

  • สื่อถูกสังเคราะห์หรือเปลี่ยนแปลงหรือไม่? ไม่ว่าจะเป็นลำดับ, เวลา, เฟรม ไปจนถึงข้อมูลว่าถูกลบหรือสร้างขึ้นมาหรือไม่ และมีคนจริงถูกจำลองหรือปลอมขึ้นมาหรือไม่
  • สื่อถูกแชร์ในลักษณะตั้งใจให้โกหกหลอกลวงหรือไม่? พิจารณาจากข้อความในทวีต, เมตะดาต้าที่อยู่ในสื่อ, ข้อความบนโปรไฟล์ของผู้ที่แชร์ และเว็บไซต์ที่ลิงก์ในโปรไฟล์หรือในทวีต
  • คอนเทนต์มีผลกระทบต่อความปลอดภัยต่อประชาชน หรืออาจส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างหนักหรือไม่? ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล, ความเสี่ยงในความรุนแรงหรือความไม่สงบในวงกว้าง และภัยคุกคามต่อความเป็นส่วนตัวหรือสิทธิต่าง ๆ ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล

ปัจจัยเหล่านี้ ทวิตเตอร์จะนำมาพิจารณาในการใส่ข้อความเตือนลงในทวีต, ใส่เครื่องหมาย, ลดการมองเห็นของทวีตโดยไม่ขึ้นเป็นทวีตแนะนำ และเพิ่มรายละเอียดในแลนดิ้งเพจ โดยทวิตเตอร์จะเริ่มใช้มาตรการนี้ในวันที่ 5 มีนาคม

เป้าหมายของการออกกฎจัดการ deepfake ก็เพื่อรับมือกับข้อมูลปลอมก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีนี้ โดยกฎนี้กำหนดขึ้นจากแบบร่างที่ทวิตเตอร์ได้เสนอก่อนหน้าและรับฟังความเห็นกว่า 6,500 ความเห็นจากผู้ใช้ทั่วโลกผ่านแฮชแท็ก #TwitterPolicyFeedback เพื่อนำมาปรับปรุงให้เป็นฉบับสมบูรณ์

ที่มา - Twitter, Engadget

No Description
ภาพจาก Shutterstock

Get latest news from Blognone