ทีมวิศวกรชีวการแพทย์จาก Purdue University และ National Institute of Agricultural Sciences จากเกาหลีใต้ ร่วมมือกันวิจัยพัฒนาแผ่น QR code แบบกินได้ ใช้สำหรับติดภายในขวดบรรจุเหล้าหรือติดบนเม็ดยา ทำให้ผู้ที่ต้องการซื้อเหล้าหรือผู้ที่จะทานยาสามารถใช้สมาร์ทโฟนเพื่อสแกนตรวจสอบยืนยันได้ว่าเหล้าขวดดังกล่าวหรือยาเม็ดดังกล่าวเป็นของแท้หรือไม่
ในขณะที่สติ๊กเกอร์ป้องกันการปลอมแปลงที่ใช้กันในปัจจุบันนี้สามารถติดลงได้บนกล่องหรือขวดที่เป็นบรรจุภันฑ์ภายนอกเท่านั้น จุดอ่อนประการแรกคือการปลอมแปลง QR code ที่เป็นงานพิมพ์บรรจุภัณฑ์ทั่วไปก็ยังทำได้ไม่ยากนัก ในขณะที่จุดอ่อนอีกประการคือมีความเสี่ยงที่จะพบเหล้าปลอมหรือยาปลอมที่อาศัยการสวมรอยนำเอาสินค้าปลอมมาใส่ในบรรุจภัณฑ์จริงได้
แต่ QR code ของทีมวิจัยนี้มีข้อดีที่เหนือกว่าแนวทางที่ใช้งานในปัจจุบันนี้ คือมันทำมาจากวัสดุที่สามารถทานได้ ทำให้ตัว QR code สามารถติดลงด้านในขวดเหล้าและสัมผัสกับเครื่องดื่มได้โดยตรงยากแก่การที่จะปลอมแปลงหรือแกะออก หรือจะใช้ติดลงบนเม็ดยาให้คนกลืนลงไปพร้อมกันกับตัวยาก็ไม่มีปัญหา อีกทั้งตัว QR code นี้สร้างขึ้นจากหมึกแบบพิเศษที่ปลอมแปลงได้ยาก
แผ่นสติ๊กเกอร์ QR code ขนาดจิ๋วที่ใช้สำหรับติดไว้ภายในขวดเหล้า
แผ่น QR code ดังกล่าวถูกสร้างขึ้นโดยใช้ใยของไหมชนิดพิเศษที่ผ่านกระบวนการปรับแต่งทางพันธุกรรมจนได้เส้นใยไหมที่มีโปรตีนเรืองแสงอยู่ในตัว ทำให้ตัวรังไหมและเส้นใยไหมมีความเรืองแสง และเนื่องจากเส้นใยที่ใช้นี้ก็เป็นโปรตีนจากธรรมชาติจึงไม่เป็นปัญหาสำหรับการใช้งานกับเครื่องดื่มและยา
การปรับแต่งพันธุกรรมหนอนไหม ทำให้ได้ใยไหมที่มีคุณสมบัติเรืองแสงเป็นเฉดสีต่างๆ
เส้นใยเรืองแสงนี้มีสีสันต่างกัน 3 เฉดสี คือ ฟ้า, เขียว และแดง เมื่อใช้เทคนิคการถ่ายภาพเรืองแสง (fluorescence imaging) ซึ่งเป็นการถ่ายภาพใช้ฟิลเตอร์เพื่อคัดกรองคลื่นแสงเฉพาะบางย่านความถี่โดยเฉพาะ ก็จะเห็นการเรืองแสงจากเส้นใยไหมเหล่านี้ที่มีสีสันแตกต่างกันชัดเจน ทีมนักจัยนำเอาเส้นใยพวกนี้มาใส่ในสารละลายเพื่อสร้างหมึกเรืองแสงใช้สำหรับการทำรหัสภาพเป็น QR code ได้ตามต้องการ
เส้นใยไหมเรืองแสงถูกนำมาใส่ในสารละลายเพื่อสร้างหมึกเรืองแสงในเฉดสีต่างๆ ทั้ง ฟ้า, เขียว และแดง
ในการประยุกต์ใช้งานจริง การสแกน QR code ที่ทำจากหมึกเรืองแสงนี้จะต้องใช้แอพที่สร้างขึ้นมาเพื่อการสแกนนี้โดยเฉพาะ ตัวแอพดังกล่าวมีการตั้งค่าการปล่อยแสง (excitation source) และฟิลเตอร์เพื่อเน้นกรองเอาเฉพาะแสงที่หมึกปลดปล่อยออกมา (emission filter) ให้เหมาะสมสัมพันธ์กับความสามารถในการดูดซับคลื่นแสงและปล่อยแสงกลับออกมาของหมึกแต่ละสี โดยหมึกเรืองแสงทั้ง 3 สี จะต้องมีการปรับแต่งแอพแตกต่างกันดังนี้
ผลจากการประยุกต์ใช้หมึกเรืองแสง 3 นี้เข้าด้วยกันซึ่งต่างก็ทำงานกับแสงคนละย่านความถี่ ทำให้การผลิตแผ่น QR code แต่ละแผ่น สามารถสร้างรหัสภาพ 3 รหัสซ้อนกันได้ โดยสามารถเลือกสแกนรหัสภาพได้ตามต้องการด้วยการปรับตั้งค่าแสงและฟิลเตอร์ให้สอดคล้องกับรหัสภาพที่ต้องการสแกนนั่นเอง
ด้วยทางเลือกการใช้สีต่างๆ ทำให้สามารถออกแบบรหัสภาพแบบ QR code มากกว่า 1 รหัสมาซ้อนกันได้
ทั้งนี้ในกระบวนการสร้างแผ่น QR code ด้วยหมึกจากใยไหมเรืองแสงนี้ ทีมวิจัยได้ใช้แอลกอฮอล์มาเป็นตัวเพิ่มความทนทานของแผ่น QR code ดังนั้นการใช้งานมันกับขวดเหล้าจึงไม่มีปัญหา กลับจะยิ่งทำให้ QR code มีความคงทนดียิ่งขึ้น และเป็นตัวอย่างการประยุกต์ใช้งานกรณีแรกๆ ที่ทีมวิจัยนึกถึง
การใช้สมาร์ทโฟนสแกน QR code เพื่อตรวจสอบเหล้า (ดาวน์โหลดวิดีโอสาธิตการสแกนได้ที่นี่)
และตามที่ได้อธิบายไว้ข้างต้นว่าแผ่น QR code นี้ทำมาจากเส้นใยโปรตีนที่สามารถรับประทานได้ มันจึงสามารถนำไปใช้ติดบนยา หรือแม้กระทั่งเม็ดยาก็ยังได้ แนวคิดของทีมวิจัยต้องการให้ผู้ใช้สามารถทำการสแกน QR code บนเม็ดยาทุกเม็ดเพื่อให้แน่ใจว่าเม็ดยาที่กำลังจะทานเข้าไปนั้นเป็นยาจริงที่มีสรรพคุณรักษาอาการเจ็บป่วยได้จริง
การใช้สมาร์ทโฟนสแกน QR code เพื่อตรวจสอบเม็ดยา (ดาวน์โหลดวิดีโอสาธิตการสแกนได้ที่นี่)
ทีมวิจัยได้ทดลองใช้งาน QR code เรืองแสงกินได้นี้กับเหล้าหลากหลายยี่ห้อเป็นเวลานานกว่า 10 เดือน และสามารถใช้งานสแกนข้อมูลได้สำเร็จทุกครั้งภายใต้ภาวะแสงในสิ่งแวดล้อมต่างๆ จึงทำให้ทีมมีความมั่นใจว่าผลงานวิจัยนี้มีความสมบูรณ์พร้อมจะนำไปใช้งานได้จริง
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเอกสารงานวิจัยที่นี่
ที่มา - designboom
Comments
บรรจุขวดเหล้าหรือติดบนเม็ดยำ>เม็ดยา
เส้นใยใหม -> เส้นใยไหม
บล็อกส่วนตัวที่อัพเดตตามอารมณ์และความขยัน :P
อย่างน้ำมันเครื่องแท้ใช้ qr ก็เห็นมันยังเอาของปลอมมาขายได้เลย
อันนั้นเป็น QR ที่พิมพ์ลงบนด้านนอกของบรรจุภัณฑ์ใช่มั้ยครับ?
มันมีหลายอย่างนะ ทั้งเรื่องความยากง่ายของการปลอมแปลงตัว QR เอง, เรื่องความยากง่ายในการทำบรรจุภัณฑ์เลียนแบบ รวมทั้งช่องโหว่เรื่องการสวมรอยเอาสินค้าปลอมมาใส่บรรจุภัณฑ์ที่มี QR จริง
ซึ่งผมเข้าใจว่างานวิจัยนี้ก็เพื่อพยายามปิดช่องโหว่ ตอบโจทย์ pain point เหล่านี้นะครับ
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
จุดอ่อนก็มีครับ
อย่างแรกเลย ความยุ่งยาก ทั้งที่จุดประสงค์แรกที่ใช้ QR เพื่อให้สามารถใช้มือถือ scan อ่านได้ง่าย แต่ตกม้าตายเพราะต้องมาใช้ app เฉพาะ
อย่างที่สองคือ QR ที่กินได้ที่ทำได้ยาก แต่คนที่คิดจะทำปลอมเค้าแค่ต้องการปลอมให้จับไม่ได้ การจะสวม QR code ที่มีจริงมาใส่โดยไม่คำนึงว่าสีที่ใช้ต้องกินได้ แค่นั้นเค้าก็ถือว่าปลอมสำเร็จแล้วครับ
อย่างแรก ผมว่าโหลดแอพมันก็ไม่ได้ยากอะไรนะครับ อีกอย่างหนึ่งถ้าผู้บริโภคขี้เกียจโหลดแอพมาสแกนมาวุ่นวายเพราะมั่นใจแหล่งที่มาของสินค้าว่าเป็นของแท้ ก็ยังเลือกที่จะซื้อสินค้านั้นๆ โดยไม่ต้องโหลดแอพหรือสแกนอะไรก็ได้ (ไม่ได้แปลว่าเหล้าหรือยาตัวไหนที่ติด QR นี้มาแล้วต้องมีการสแกนก่อนถึงจะซื้อ/ขายสินค้าได้) ดังนั้นไอเดียของ QR code อันนี้มันอยู่ในสถานะ optional สำหรับผู้บริโภคอยู่แล้วว่าจะสนใจมันหรือไม่สนใจมันก็ได้
อย่างที่ 2 ถ้า QR ปลอมมันถูกใส่มาในสินค้า พอสแกนด้วยแอพแท้แล้วมันไม่น่าจะสแกนเจอนะครับ (มันไม่ง่ายนะครับที่จะหาหมึกเรืองแสงตามรายละเอียดในข่าว ซึ่งจะมีการสแกนอ่านข้อมูลได้เฉพาะในช่วงความยาวคลื่นแสงของแอพสแกน) ในสถานการณ์แบบนั้น มันก็เป็นการฟ้องในตัวแล้วรึเปล่าว่านั่นเป็น QR ปลอม (ซึ่งก็น่าจะหมายความว่าสินค้าเหล้าหรือยาอันนั้นเป็นของปลอมทำเลียนแบบ)?
ในแง่การปลอมแปลงว่าจะทำได้ยากหรือง่ายนั้น ผมคิดว่าสักวันนึงคนทำของปลอมมันก็คงหาทางลอกเลียนแบบได้เหมือนหรือไม่ก็ใกล้เคียงแหละครับ มันเลยต้องหาวิธีพัฒนาเทคโนโลยี anticounterfeit กันอยู่ตลอดเวลา
อันที่จริง ความเห็นส่วนตัวผมมองว่าจุดอ่อนงานวิจัยนี้จริงๆ คือมัน scalable จริงรึเปล่า? มันจะปรับเอามาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จริงมั้ย? แค่อ่านกระบวนการมันก็ยากตั้งแต่ปรับแต่งพันธุกรรมหนอนไหมแล้ว และยังไม่รู้ต้นทุนในการพัฒนาและผลิตจริงด้วย (แต่ในแง่ต้นทุนนั้น สุดท้ายหากเทคโนโลยีถูกนำไปใช้มันก็อาจจะถูกควบลงไปในราคาขายสินค้าได้เลย โดยเพราะสินค้าบางประเภทตั้งราคาสูงก็ยังขายได้อยู่แล้วซะด้วย)
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
แอปอย่างเดียวพอเหรอครับ มันต้องปล่อยแสงออกมาด้วย?
อันนี้ผมไม่แน่ใจว่า excitation source ของเค้าใช้แสงจากไหน เพราะตอนแรกที่อ่านจากต้นทางก็ไม่ได้พูดถึงแหล่งกำเนิดแสงเฉพาะเท่าไหร่
พอดูวิดีโอสาธิตการสแกน มันก็เหมือนเปิดกล้องเฉยๆ แล้วแอพจัดการปรับแสงให้เองได้แบบงงๆ น่ะครับ หรือจริงๆ เป็นการสาธิตถ่ายภาพในแล็บผมก็ไม่ชัวร์ฮะ
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
ถ้าเอาไปทำในอาส่าหกรรมสิ่งท่อแทน ผ้าไหมเหลืองแสง ว้าวๆ
The Dream hacker..
อีกหน่อยไปไหนมาไหน คงมีคนเปิดมือถือส่องเสื้อผ้าคนอื่น ใส่ของปลอมหรือเปล่า แจ้งตำรวจหาเงินจากเบาะแส ;)
ชีวะการแพทย์ >> ชีวการแพทย์
แก้แล้วครับ ขอบคุณครับ
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
มีคำที่หมายถึง กิน อยู่ 3 คำ คือ ทาน กิน และรับประทาน แนะนำให้ใช้คำเดียวกัน (เช่น กิน) ดีกว่าครับ
คิดว่า มันยังไม่แก้ปัญหาเรื่อง เหล้าใหม่ ในขวดเก่านะ (ถึงจะมีคนแอบใส่น้ำชาลงไปแทนมากกว่าก็เถอะนะ...)
Jusci - Google Plus - Twitter