Honda เปิดตัว Power Pack Exchanger e: สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมให้บริการแก่ผู้ใช้ใน Tokyo แล้ว
Power Pack Exchanger e: มีลักษณะเป็นตู้ชาร์จแบตเตอรี่พร้อมหน่วยควบคุมและหน้าจอสำหรับรับการสั่งงานจากผู้ใช้และแสดงผล ตัวตู้สามารถชาร์จแบตเตอรี่ของ Honda รุ่น Mobile Power Pack e: (MPP e:) ได้พร้อมกันคราวละ 12 ลูก โดยใช้งานได้กับระบบไฟทั้งความถี่ 50 Hz และ 60 Hz กินกำลังไฟสูงสุด 6.5 กิโลวัตต์ และมีระบบระบายความร้อนเพื่อเพิ่มอายุการใช้งานของแบตเตอรี่
ขนาดของสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่มีความกว้าง 96.0 เซนติเมตร ลึก 75.8 เซนติเมตร และสูง 182.0 เซนติเมตร มีน้ำหนักราว 360 กิโลกรัม ซึ่ง Honda ตั้งใจออกแบบมาให้มีขนาดใกล้เคียงกับตู้ขายสินค้าอัตโนมัติเพื่อให้สามารถนำไปติดตั้งใช้งานได้สะดวกในหลายพื้นที่
ในการใช้งานนั้นผู้ใช้เพียงถอดเอาแบตเตอรี่จากจักรยานยนต์ไฟฟ้าของตนเองที่ไฟกำลังจะหมดเอามาใส่เข้าช่องชาร์จไฟที่ว่างอยู่ ตู้ก็จะทำการชาร์จไฟให้โดยอัตโนมัติ ส่วนการนำเอาแบตเตอรี่ลูกใหม่ออกจากตู้นั้นผู้ใช้จะต้องยืนยันตัวตนที่ตู้ก่อน จากนั้น ตู้ Power Pack Exchanger e: จะดีดแบตเตอรี่ลูกที่ได้รับการชาร์จไฟจนเต็มแล้วออกมาให้ ขั้นตอนหลังจากนั้นผู้ใช้ก็สามารถดึงเอาแบตเตอรี่ที่พร้อมใช้ออกจากตู้แล้วนำไปใส่ในพาหนะของตนเองเพื่อใช้งานได้เลย
สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ Power Pack Exchanger e: ที่ Honda เพิ่งเปิดตัวใหม่
ตู้ชาร์จแบตเตอรี่ของ Honda มีฟีเจอร์ไฟแสดงตำแหน่งแบตเตอรี่ที่ไฟเต็มให้ผู้ใช้สังเกตเห็นได้ง่ายทั้งจากมุมมองด้านหน้าตู้และจากด้านข้าง ส่วนระบบการยืนยันตัวผู้ใช้นั้นก็สามารถทำได้โดยง่ายเพียงนำเอา IC card มาแนบตรงหน้าจอ โดย IC card ที่ว่านี้เป็นบัตรสมาร์ทการ์ดที่ Honda จะมอบให้แก่ลูกค้าผู้ลงทะเบียนเป็นสมาชิกบริการเช่าใช้แบตเตอรี่
ทั้งนี้ข้อมูลใน IC card จะระบุข้อมูลจำเพาะของผู้ใช้ว่ายานพาหนะของผู้ที่ลงทะเบียนไว้นั้นใช้งานแบตเตอรี่กี่ลูกและเป็นการต่อวงจรไฟฟ้าแบบขนานหรืออนุกรม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปประมวลเพื่อให้ตู้ Power Pack Exchanger e: สามารถเลือกแบตเตอรี่ที่ผ่านการชาร์จไฟแล้วได้อย่างเหมาะสมสำหรับผู้ใช้แต่ละราย
สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่มีไฟ LED ช่วยให้สังเกตเห็นแบตเตอรี่ที่ชาร์จไฟเต็มแล้วได้ง่ายและมองเห็นจากด้านข้าง และมีระบบยืนยันตัวตนด้วย IC card
สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ Power Pack Exchanger e: นั้นมีตู้ชาร์จรุ่นที่เป็นส่วนต่อขยายด้วย โดยตู้แบบนี้จะไม่มีหน่วยประมวลผลและหน้าจอ มีแค่เพียงช่องชาร์จแบตเตอรี่จำนวน 12 ช่อง ผู้ที่ซื้อตู้สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ของ Honda ไปติดตั้งสามารถใช้ตู้หลัก 1 ตู้ประกอบต่อกับตู้ส่วนต่อขยายเพิ่มเติมหลายตู้ได้ ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนช่องชาร์จไฟแบตเตอรี่ของสถานีแห่งนั้นให้มากขึ้นได้หากสถานที่ดังกล่าวเป็นจุดที่มีผู้ใช้งานมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก
Power Pack Exchanger e: สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่แบบมีส่วนต่อขยายด้านข้าง
Honda จะบริหารจัดการสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่แต่ละแห่งในเครือข่ายผ่านการประมวลผลข้อมูลบนคลาวด์ของ Honda เองเพื่อติดตามสถานะการทำงานของสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่แต่ละจุด ไม่ว่าจะเป็นจำนวนแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ ณ สถานี และสถานะการทำงานของระบบชาร์จไฟ
ทั้งนี้ Honda ระบุว่าการทำงานของสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ของตนเองนั้นสามารถให้บริการได้แม้ในตอนที่ไฟดับ ตู้ Power Pack Exchanger e: จะเลือกดึงเอาพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่บางส่วนที่คาอยู่ในตู้มาชาร์จไฟแบตเตอรี่อีกส่วนจนไฟเด็มเพื่อให้พร้อมสำหรับการใช้งาน
ผู้ใช้ที่สมัครบริการเช่าใช้แบตเตอรี่ MPP e: สามารถค้นหาตำแหน่งของสถานี, ตรวจสอบสถานะของแบตเตอรี่ที่อยู่ในตู้ชาร์จของแต่ละสถานี รวมทั้งจองคิวเปลี่ยนแบตเตอรี่และชำระเงินค่าบริการได้ผ่านทางสมาร์ทโฟน
สำหรับแบตเตอรี่ MPP e: ของ Honda นั้น เป็นแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ออกแบบมาให้หิ้วพกพาได้และถอดเปลี่ยนได้ง่าย แบตเตอรี่และลูกมีขนาดกว้าง 177.3 มิลลิเมตร ลึก 156.3 มิลลิเมตร และสูง 298 มิลลิเมตร และมีน้ำหนัก 10.3 กิโลกรัม สามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้ 1,314 วัตต์-ชั่วโมง และจ่ายไฟด้วยแรงดัน 50.26 โวลต์ โดยให้กำลังงานไฟฟ้าสูงสุดขณะใช้งาน 2.5 กิโลวัตต์ ทั้งนี้แบตเตอรี่ MPP e: ใช้เวลาในการชาร์จไฟจนเต็มราว 5 ชั่วโมงต่อครั้ง
สำหรับราคาขายของแบตเตอรี่ MPP e: นั้น Honda ตั้งเอาไว้ที่ 88,000 เยนต่อลูก
แบตเตอรี่ MPP e: ที่ Honda พัฒนาขึ้น
ทั้งนี้ในปัจจุบัน Honda ได้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าไฟฟ้าออกมา 3 รุ่นที่ใช้งานแบตเตอรี่ MPP e: ได้แก่
รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าทั้ง 3 รุ่นของ Honda ที่ใช้งานแบตเตอรี่ MPP e:
Honda ได้ส่งมอบตู้ชาร์จแบตเตอรี่เพื่อใช้งานเป็นสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ชุดแรกใน Tokyo ให้แก่บริษัท Gachaco ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Honda และ Eneos ดำเนินธุรกิจให้เช่าแบตเตอรี่และบริหารจัดการสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ในญี่ปุ่น Gachaco ให้บริการแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจากผู้ผลิต 4 รายของญี่ปุ่นอันได้แก่ Honda, Kawasaki, Suzuki และ Yamaha ซึ่งผู้ผลิตทั้ง 4 รายได้ทำข้อตกลงร่วมกันที่จะใช้แบตเตอรี่ที่ออกแบบด้วยมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สามารถเปลี่ยนใช้งานร่วมกันได้
ทั้งนี้ Honda ได้ผลิตและส่งมอบสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ไปเพื่อติดตั้งให้บริการในประเทศอินเดียก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี 2022 โดยเน้นให้บริการแก่รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า
โดยสรุปแล้วการเปิดตัวในครั้งนี้ของ Honda เรียกว่าแทบจะเป็นสินค้าและบริการแบบเดียวกันกับ Gogoro ผู้ให้บริการเช่าแบตเตอรี่และบริหารจัดการสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่จากไต้หวันซึ่งในปัจจุบัน Gogoro ได้รุกทำตลาดนำหน้า Honda ไปแล้วในหลายประเทศ ทั้งจีน, อิสราเอล และอินโดนีเซีย (และเตรียมจะให้บริการเพิ่มที่สิงคโปร์อีกประเทศเร็วๆ นี้) โดย Gogoro เพิ่งเข้าตลาดหุ้น Nasdaq ไปเมื่อตอนต้นปี
Comments
แจ๋วว การลงมาทำเอง มันสร้างความเชื่อมั่นได้เยอะเลย
มันก็เหมือนที่ไทยที่มี Swap and go
อยากรู้จังว่าชาร์จเต็มวิ่งได้กี่กิโล
ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับสเปคของรถด้วยครับ
เท่าที่เจอตัวเลขจากการลองกดไปดูสเปครถรุ่น BENLY e: เห็นว่าวิ่งได้ 87 กิโล
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
ซื้อรถพึ่งขับออกมาจากศูนย์ แบตใหม่กิ๊ง ขับไปซักพักแบตไม่พอ
เข้าสถานนีเปลี่ยนแบตปุ๊ป ได้แบตเก่าทันที
ในความเป็นจริง รถออกจาก ศ. ไม่ควรต้องจ่ายเงินค่าแบตทั้งก้อนแบบเต็มจำนวน แต่ควรจ่ายค่าใช้งานแบตก้อนนั้นบวกค่าเสื่อมเฉพาะตอนที่ใช้เท่านั้น
น่าจะตามนี้ล่ะครับ ราคารถต้องไม่รวมแบตที่เป็นระบบเช่า
..: เรื่อยไป
แบตหนักเกินไป บางคนอาจลำบากในการยกใส่ช่องบน น่าจะแยกสองลูกแบบไต้หวัน
อ๋อ.... แบรนด์ Arduino กลับข้างนี่เอง ลูกนึงหนัก 20lbs ก็ไล่ๆกันนะครับ
อีกสักพักคงมีทำแบต 3rd party พร้อมกับของ Honda แบบจ่ายครั้งเดียว พร้อมที่ชาร์จ เอาไปชาร์จเองที่บ้าน
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
Gyro ยังอยู่แฮะ ขับมันส์มาก
@zumokik