Tags:
Node Thumbnail

นักวิจัยจาก Vietnam National University ได้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยวิเคราะห์ระดับความเมาของคน โดยสามารถจำแนกคนเมาได้ถูกต้อง 93%

การวิเคราะห์ที่ว่านี้เดิมทีทีมวิจัยตั้งใจใช้วิเคราะห์ภาพคนโดยสังเกตภาพนัยน์ตา, ตำแหน่งศีรษะ และอากัปกิริยาอื่นๆ ที่บ่งบอกถึงระดับความมีสติของบุคคลนั้นๆ อย่างไรก็ตามทีมวิจัยพบว่าแนวทางนี้มีปัญหาวิเคราะห์ผิดพลาดได้ง่ายเนื่องจากปัจจัยอื่นหลายประการ เช่นคนบางคนมีลักษณะบางอย่างบนใบหน้าที่ไปตรงกับข้อมูลที่ปัญญาประดิษฐ์เข้าใจว่าเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงอาการมึนเมา ซึ่งนั่นทำให้การตรวจวิเคราะห์ของปัญญาประดิษฐ์ให้ผลผิดพลาด ทีมวิจัยจึงได้คิดเปลี่ยนมาวิเคราะห์ด้วยข้อมูลประเภทอื่น

อย่างที่ทราบกันว่าคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปจะมีการสูบฉีดไหลเวียนของเลือดมากขึ้นและทำให้ร่างกายแผ่ความร้อนออกมามากกว่าปกติ ทีมวิจัยจึงใช้เรื่องนี้มาเป็นตัวในการวิเคราะห์ประเมินระดับความเมาของคน โดยใช้การวิเคราะห์ภาพถ่ายความร้อนของตัวบุคคลแทนวิธีการเดิม

เป้าหมายของงานวิจัยนี้เพื่อสร้างระบบที่สามารถช่วยเหลือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบอาการมึนเมาของคนและป้องกันไม่ให้บุคคลดังกล่าวขับรถ หรือใช้เพื่อการคัดกรองคนตามจุดคัดแยกคนก่อนเข้าร่วมงานหรือสถานที่บางแห่ง

สิ่งที่ทีมวิจัยใส่ใจอย่างมากในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์นี้คือความแม่นยำในการวิเคราะห์ประเมินความเมาของคน หากระบบประเมินให้ผล false negative มากเกินไปนั่นแปลว่าจะไม่สามารถตรวจจับคนที่อยู่ในอาการมึนเมาได้ ซึ่งเท่ากับขาดประสิทธิภาพในการคัดกรอง อาจทำให้มีคนเมาไปขับรถหรือเข้าไปในที่ที่ไม่ควรเข้าได้ ในขณะที่อีกด้านหนึ่งหากปัญญาประดิษฐ์ให้ผลลัพธ์ false positive มากเกินไปแปลว่าระบบอาจเข้าใจผิดจนจัดให้คนปกติเข้าข่ายมีอาการมึนเมา ซึ่งย่อมส่งต่อความเชื่อมั่นในการทำงานของระบบและเกิดการต่อต้านคัดค้านการใช้เครื่องมือนี้เพื่อตรวจวิเคราะห์

เมื่อปลายเดือนที่แล้ว NTSB หน่วยงานด้านความปลอดภัยในการคมนาคมของสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์ผลักดันให้ออกกฎหมายบังคับผู้ผลิตรถยนต์ให้ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับอาการมึนเมาของคนขับ ไม่แน่ว่าเทคโนโลยีวิเคราะห์ภาพถ่ายความร้อนนี้วันหนึ่งอาจถูกนำมาใช้ในรถยนต์เพื่อการนี้ก็เป็นได้

ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของงานวิจัยจากเวียดนามนี้ได้ที่นี่

No Descriptionที่มาภาพ: geralt, CC0

ที่มา - Tech Xplore

Get latest news from Blognone