Blognone Interview ตอนแรกเปิดโอกาสให้ตั้งคำถามคุณเทพพิทักษ์ การุญบุญญานันท์ ตอนนี้คุณเทพตอบมาเรียบร้อยแล้ว (ยาวเชียว) อ่านได้เลยครับ ขอบคุณคุณเทพมา ณ ที่นี่ด้วย
ป.ล. สำหรับ Interview ตอนหน้าอยากได้ใคร เสนอชื่อมาโลด
(1) เรื่องสัพเพเหระ pruet: มีแฟนยัง (ถามตั้งแต่ตอน project-ile สัมภาษณ์ ยังไม่ยอมตอบเลย)Thep: ถ้าตอบที่นี่ ก็จะไม่เป็นธรรมกับ project-ile ใช่มะ
prugsadee: อายุเท่าไหร่แล้วหนอThep: 33 ปีครับ
amyggie: เป็นอะไรกับอ๋อมครับ นามสกุลเหมียนกันเลย.. จบสถาบันชมพู ฟ้าเหลืองด้วยThep: ฮั่นแน่ เจอญาติซะแล้ว เป็นเพื่อนน้องชายผมเหรอครับ?
(2) เรื่องเทคนิค lew: คิดว่าโปรแกรมไหนควรถูก Localize ให้ใช้ภาษาไทยได้เต็มที่ที่สุดThep: โปรแกรมที่คุณใช้ :-) ผู้ใช้แต่ละคนควรพยายามใช้เสรีภาพในซอฟต์แวร์ที่ตนใช้ให้ถึงที่สุด เช่น ถ้าถามผม ผมคงตอบว่า GNOME และ LaTeX แต่เชื่อว่า คำตอบของคนอื่นคงต่างออกไป
อย่าเพิ่งว่าผมเลี่ยงประเด็น ที่ผมตอบแบบนี้ได้ ก็เพราะคิดว่าภาษาไทยเราผ่านขั้นตอนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมามากแล้ว เรามาถึงจุดที่สามารถมุ่งไปที่โปรแกรมเป็นตัวๆ ได้แล้ว แต่ถ้าถามผมเมื่อ 6-7 ปีก่อน คำตอบของผมคือ ทำโครงสร้างพื้นฐานก่อน
แต่ทั้งนี้ ผมไม่ได้บอกว่าผู้ใช้ทุกคนควรเขียนโปรแกรมเป็น แต่ผมหมายถึง อย่างน้อย ก็พยายามติดต่อกับเจ้าของโครงการ ขอเพิ่ม ขอแก้ โดยให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับเขามากที่สุด อาจจะมาพูดคุยกับนักพัฒนาในประเทศบ้าง เผื่อว่าจะมีทรัพยากรให้ใช้ได้
lew: แนวทางการพัฒนาโปรแกรมให้ใช้ภาษาไทยได้ในทุกวันนี้เป็นอย่างไร และคิดว่าควรพัฒนาไปทางใดThep: สำหรับผม หลักการโดยทั่วไปคือการพยายามประหยัดแรง ผมพยายามทำที่ต้นน้ำเป็นหลักก่อน เพราะทำทีเดียวมีผลทุก distribution ถ้าพลาดจากต้นน้ำ จึงมา patch ที่ distribution เช่น Debian, Ubuntu หรือ Linux TLE
และในส่วนของระบบเดสก์ท็อป ก็ไล่ทำแบบ bottom-up โดยทำจากโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมาก่อน เช่น จาก locale มา rendering engine และ input method แล้วจึงไล่ขึ้นมาที่ toolkit ก่อนจะมุ่งที่ application เป็นตัวๆ การทำอย่างนี้ แม้ผู้ใช้จะไม่เห็นผลอย่างชัดเจนเท่างานแปล งาน distro หรืองานทำออฟฟิศเฉพาะกิจ แต่ผมเชื่อว่ามีผลยั่งยืนกว่า
lew: การทำ Firefox ภาษาไทยเดิมมีปัญหาเมื่อเกิดการอัพเดต ปัญหานี้ถูกแก้หรือยัง หรือมีแนวทางการแก้ไขอย่างไรThep: ยังครับ การแก้ไขจะเสร็จสิ้นต่อเมื่อ patch ได้เข้าไปใน mozilla CVS เท่านั้น แต่ปัญหาการอัพเดตที่เกิดขึ้น เกิดจากการ patch ที่ปลายน้ำ เมื่อต้นน้ำออกตัวใหม่ ก็ต้องไล่ patch ตาม การขยับขึ้นไปที่ distribution สากลอย่าง Ubuntu ก็เป็นแค่การขยับเข้าไปใกล้เป้าหมายอีกนิดเท่านั้น แต่ก็ยังไม่ได้แก้ปัญหาอย่างแท้จริง เช่น เมื่อผู้ใช้ใช้ on-line update แทนที่จะใช้จาก Ubuntu apt เท่านี้ก็โดนทับหมดแล้ว
อนึ่ง งานตัดคำไทยใน firefox มีความพยายามหลักๆ อย่างน้อยสาม patch ที่จะแก้ปัญหานี้ โดยสอง patch แรก ใช้ patch ของคุณสัมพันธ์ ระรื่นรมย์ เป็นฐาน โดยแก้โค้ดส่วนตัดคำภาษาไทยที่ platform-independent ให้ไปเรียกไลบรารีคนละตัว patch แรกของคุณสัมพันธ์ใช้ ICU ในขณะที่อีก patch ของคุณภัทระ เกียรติเสวี ใช้ libthai ส่วน patch ที่สามที่ผมเพิ่งทำ ยังอยู่ในขั้นทดลอง เป็นการสร้าง engine ตัดคำแบบทั่วไป โดยใช้ API ของ pango ซึ่งจะมี pango-libthai bridge ให้ใช้สำหรับ GNOME อยู่แล้ว และจะมีผลกับภาษาอื่นๆ ที่มี pango engine ด้วย ทั้งหมดนี้ สอง patch แรกต้องรอตัดสินใจอีกที ว่าวิธีไหนจะได้เข้าที่ต้นน้ำ ระหว่าง libthai กับ ICU ส่วน pango patch นั้น ยังต้องปรับแก้อีกระยะหนึ่งก่อน
boonkhao: ก็ขอถามเลยว่าทำไมทีม linux TLE ถึงเปลี่ยน base ไปหลาย distribution จัง ตั้งแต่ redmond ---> mandrak ---> red hat ---> จนสุดท้ายเห็นบอกว่าจะเป็น Ubuntuก็เลยสงสัยว่ามันจะทำให้ยุ่งยากหรือป่าวเวลาจะเปลี่ยนเวอร์ชันไปใช้ หรือว่ามันไม่ต่างกันเท่าไรครับระหว่าง distribution เหล่านี้ แล้วทำไมต้องเปลี่ยนด้วยครับมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ดูที่ linux SIS ไม่เห็นเปลี่ยน base เลยนีก็พึ่งออก 5.0 มาอุ่น ๆ
Thep: จากการทำงานกับ Linux TLE ที่ผ่านมา ไม่เคยมีความจงใจที่จะเปลี่ยน base บ่อยๆ เลยครับ การเปลี่ยน base แต่ละครั้ง เกิดจากสาเหตุต่างๆ กันไป เช่น การเปลี่ยนจาก Mandrake กลับมา Red Hat ใน TLE 3.0 ก็ด้วยเหตุผลว่า Mandrake มีการพัฒนาฉีกจาก Red Hat ไปเยอะ และมีงาน localization ทำเองมากมาย ทำให้ระยะห่างระหว่างโค้ดที่เรา patch กับโค้ดของต้นน้ำมากขึ้นทุกที การกลับไปที่ Red Hat ที่งาน localization ขณะนั้นยังน้อย จึงสะดวกในการค้นหาสิ่งที่ยังขาดในต้นน้ำมากกว่า
ส่วนการเปลี่ยนไป Redmond ใน 4.0 ก็เพราะเปลี่ยนมือผู้ดูแลไปเป็นคุณโดม (จากการติดต่อของ ดร.วิรัช) ซึ่งคุณโดมมีความเชี่ยวชาญเรื่องการทำ distro จึงคงอยากลุย distro ใหม่ๆ ประกอบกับในขณะนั้น ตัวผมกำลังมุ่งติดต่อต้นน้ำอยู่ จึงยกการควบคุม TLE ให้คุณโดมเต็มที่ แต่ต่อมา เมื่อพบปัญหาหลายเรื่องใน TLE 4.0 เนื่องจากความไม่พร้อมของ Redmond ผมก็เลยเสนอให้เปลี่ยนกลับมา Red Hat เหมือนเดิมอีกครั้ง และพยายามล้มเลิกความคิดที่จะเพิ่มงานส่วนดูแล distro แต่พยายามอิง distro ที่ชัวร์ๆ แล้วไปมุ่งความพยายามกับการทำระบบภาษาไทยจะดีกว่า TLE 4.1 ที่ออกตามมา จึงใช้ Red Hat เหมือน 3.0 ด้วยประการฉะนี้
TLE 5.0 ซึ่งผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกแล้ว (นอกเหนือจากงานที่ผมทำไว้ที่ต้นน้ำ) ก็ยังคงใช้ Red Hat และ Fedora ต่อมา
สรุปว่า สายงานพัฒนาหลักๆ ของ TLE พยายามใช้เทคโนโลยีของ Red Hat เป็นหลัก (แม้โดยส่วนตัว ผมจะใช้และชอบ Debian ก็ตาม แต่เวลาทำ TLE ก็ต้องคำนึงถึงฐานผู้ใช้เป็นหลัก) การใช้ Mandrake ในช่วงแรกๆ ก็ด้วยเหตุผลเพียงว่า มันคอมไพล์ optimize สำหรับ i586 เท่านั้น แต่พอ Mandrake ฉีกจาก Red Hat ออกไปมาก เราก็กลับมาหา Red Hat เหมือนเดิม จนกระทั่งมีการตัดสินใจล่าสุด ว่าจะย้ายมา Ubuntu เท่านั้นเอง (ซึ่งทางทีมงานปัจจุบันบอกว่า เพื่อความเป็นอิสระจากองค์กรเชิงพาณิชย์)
yokey: ผมถามข้อเดียวครับ เรื่องการตรวจสอบคำสะกดในบราวเซอร์อย่างไฟร์ฟอกซ์ และในโอเฟ่นออฟฟิศนั้นหากจำไม่ผิดเรื่อง Aspell นั้นมีการพัฒนาใช้งานร่วมในไฟร์ฟอกซ์ หรือโอเฟ่นออฟฟิศในส่วนของการตรวจสอบคำสะกดภาษาไทยได้แบบมีขอบแขตหรือ สามารถใช้งานได้แบบเป็นรูปเป็นร่างหรือยังครับหากจำผิดขออภัยที่ถามครับ เพราะกำลังสนใจตัวนี้อยู่ครับไม่มีพื้นฐานเลย เพราะหากใช้งานตัวนี้ได้ก็ช่วยให้ผู้ใช้งานคนไทยสะดวกขึ้นเยอะในการตรวจสอบข้อความก่อนการส่งมอบ
Thep: ขออภัยด้วยที่ไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากผมไม่ได้ทำงานด้าน spell check ครับ ถ้าคุณสนใจ ผมนึกได้สามชื่อที่จะถามคำถามนี้ หนึ่งคือคุณศิลา ชุณห์วิจิตรา สองคือคุณสัมพันธ์ ระรื่นรมย์ สามคือคุณวีร์ สัตยมาศ
thedesp: การ Localise พวก software ต่างๆ จำเป็นต้องมีความรู้ด้านโปรแกรมมิ่งเป็นอย่างดีหรือไม่ครับThep: ขึ้นอยู่กับว่า คุณสนใจแก้ส่วนโค้ดของโปรแกรมด้วยหรือเปล่า ถ้าสนใจ ก็จำเป็น ถ้าไม่สนใจ ก็ไม่จำเป็นครับ เช่น คุณอาจจะแค่ร่วมแปลข้อความในโปรแกรมเป็นภาษาไทย หรือแปล help ก็ได้ หรืองานส่วนอื่นที่ไม่ได้ใช้ความรู้เรื่องโปรแกรมมิง แต่ใช้ทักษะทางศิลปะและความอึด คืองานสร้างฟอนต์ เป็นต้น
(3) เรื่องแนวคิดโอเพนซอร์ส lew: - เริ่มต้นรู้จักกับโอเพนซอร์สได้อย่างไร - ทำไมจึงมุ่งมั่นพัฒนาโอเพนซอร์สเป็นหลัก อะไรเป็นแรงจูงใจThep: เริ่มจากความปรารถนาดั้งเดิมของตัวเอง ที่จะหาโอกาสทำงานที่จะไม่นอนตายแน่นิ่งอยู่ในองค์กรโดยไม่มีใครใช้ มีโค้ดใหญ่ๆ อย่างน้อยสามชิ้นในชีวิตผม ที่ทำแล้วนอนตายอยู่ในองค์กร หรือมีผู้ใช้แค่ในวงแคบๆ ไม่มีคน maintain โดยอ้างว่า "ใช้วิศวกรรมซอฟต์แวร์ซับซ้อนเกินไป" ซึ่งทำให้ผมรู้สึกเสียดายความพยายามที่ได้ทุ่มเทลงไป (อย่างโดดเดี่ยว) ทั้งเงื่อนไขเรื่องลิขสิทธิ์ ก็ทำให้ไม่สามารถปลุกมันให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้อีก
จากงานชิ้นแรกๆ ที่ตายไป ผมจึงเริ่มแสวงหาองค์กร หรือวิธีการทำงาน ที่จะรับประกันได้ว่า งานของผมจะไม่ตาย เนคเทคเป็นแหล่งหนึ่งที่ให้โอกาสนี้กับผม โดยเริ่มแรกนั้น ผมคาดหวังว่างานที่ผมทำที่เนคเทค อย่างน้อยก็จะมีประโยชน์กับสังคมในวงกว้างกว่าที่ทำที่บริษัทเอกชน ก็พยายามทำหรือพูดคุยในลักษณะการเปิดงานสู่สาธารณะ แต่ในขณะนั้นยังไม่มีกลไกอย่าง FOSS มาให้ความชัดเจน จนกระทั่งได้เข้าไปอยู่ในกลุ่ม software.thai.net จากการชักชวนของคุณสัมพันธ์ จึงค่อยๆ เรียนรู้เงื่อนไขของ Free Software จนสามารถขจัดความสงสัยต่างๆ และสรุปได้ว่า นี่แหละ คือสิ่งที่ผมกำลังค้นหาอยู่
ต่อมา จึงได้รู้จักลินุกซ์ ซึ่งเป็นระบบที่เป็น Free Software ล้วนๆ ผมเองเป็น Unix user อยู่ก่อนแล้ว และเคยคอมไพล์โปรแกรม GNU บางตัวบนยูนิกซ์มาก่อน จึงปรับตัวไม่ยากกับลินุกซ์ ยกเว้นเรื่อง system administration ที่ไม่ค่อยได้ทำเองสมัยใช้ยูนิกซ์มากเท่าตอนใช้ลินุกซ์ จากลินุกซ์ตัวแรกที่ลง คือ Red Hat 5.2 ที่คุณภัทระหิ้วมาให้ ก็เริ่มหัดใช้อย่างจริงจัง แล้วก็เริ่มละเลงเสรีภาพที่รู้ว่าตนเองมี ต่อมา ก็ได้มีโอกาสทำลินุกซ์ทะเล โดยมุ่งเน้นที่การสนับสนุนภาษาไทย
แต่ไม่ว่าอย่างไร ลินุกซ์ทะเลก็ยังไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย สิ่งที่ผมอยากทำมากกว่า คือการฝากโค้ดของตัวเองไว้กับโครงการต้นน้ำ เพื่อที่จะแน่ใจจริงๆ ว่ามันจะไม่ตาย หรืออย่างน้อย ก็มีชีวิตยืนยาวที่สุด อีกทั้งเข้ากับหลักประหยัดแรงด้วย เพราะมีผลกับผู้ใช้ในวงกว้าง ไม่ใช่แค่ผู้ใช้ลินุกซ์ทะเล ก็เลยเริ่มติดต่อโครงการต้นน้ำ แล้วก็ไล่ทำจากล่างขึ้นบนอย่างที่เล่าไปแล้ว และลินุกซ์ทะเลรุ่นต่อๆ มาที่ผมร่วมทำ ก็มีฐานะเป็นเพียงบัฟเฟอร์ก่อน check-in เท่านั้น
หลายโครงการทำแล้วสนุกครับ ได้เรียนรู้เทคนิคและวินัยการเขียนโปรแกรมเพิ่มเติมมากมาย จากเดิมที่มีข้อจำกัดว่า "ใช้วิศวกรรมซอฟต์แวร์ซับซ้อนเกินไป" แต่ในงานเหล่านี้ มันกลายเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยมาก และผมดีใจที่ได้พบว่า "สุนทรียภาพ" ในซอร์สโค้ด ไม่ใช่เป็นเรื่องเพ้อฝันที่ถูกเมินเหมือนที่พบในองค์กรปิดทั่วไป แน่นอนว่านี่ผมสมมุติว่าคุณเข้าใจความสุขพื้นฐานจากเสรีภาพที่ผมจะทำอะไรก็ได้กับซอฟต์แวร์ที่ใช้ อย่างที่ไม่สามารถหาได้จากซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ หรือแม้แต่ฟรีแวร์ตามแหล่งดาวน์โหลดทั่วไป
chris: ถ้ามีคนอยากทำแบบเดียวกัน (มีงานประจำเลี้ยงชีพ+พัฒนา open source ในเวลาส่วนตัว) จะแนะนำมั๊ย อย่างสมมุติถ้าเป็นรุ่นน้องเพิ่งจบThep: ถ้าเป็นนักพัฒนาที่มีหัวธุรกิจ และสนใจโอเพนซอร์ส ขอแนะนำให้ทำธุรกิจ solution ครับ สามารถใช้ FOSS ลดต้นทุน ลดความเสี่ยงกับปัญหาทรัพย์สินทางปัญญา โดยยังสามารถสมทบงานที่พัฒนาเพิ่มเติม กลับเข้าชุมชนได้ หรือจะใช้โมเดลโอเพนซอร์สระดมกำลังชุมชนช่วยพัฒนาซอฟต์แวร์เปิด ก็สามารถประหยัดกำลังคนได้ โดยเฉพาะถ้ามีความเสี่ยงที่จะชนกับผู้ผลิตรายใหญ่
การทำธุรกิจที่ว่า ยังเป็นการรวมงานพัฒนากับงานประจำเข้าด้วยกัน ไม่ต้องแยกทำงานอื่นเพื่อมาสนับสนุน ที่ผมยังทำอย่างนั้นไม่ได้ ก็เพราะ localization เป็นงานที่ไม่มีคนจ่ายที่เห็นตัวชัดเจนเหมือนงานพัฒนา solution และที่สำคัญ หัวธุรกิจไม่ค่อยมีครับ แหะๆ
SoftEngine: เห็นคุณเทพพิทักษ์รับผิดชอบงานของ opensource หลายๆ อย่าง ผมอยากจะช่วย แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหน? การทำงานแบบ opensource ต้องทำอย่างไร? มีกฏยังไง? อธิบายการทำงานแต่ละส่วนของซอร์สโค๊ด ถ้าเปิดคอร์สสอนได้ด้วยยิ่งดีครับThep: ขออนุญาตอ้างถึงบทความแปลที่ผมเคยแปลไว้ เรื่อง วิธีทำงานกับซอฟต์แวร์เสรี แปลจาก Working with Free Software โดย Havoc Pennington เขาเขียนได้สั้นกระชับดี ถ้าจะอ่านอย่างยาว คุณอาจสนใจ บทความของ ESR ก็ได้
(4) เรื่องสถานการณ์ในประเทศ lew: คิดว่าโครงการโอเพนซอร์สบ้านเรา ได้รับการสนับสนุนทางการเงิน จากทั้งภาครัฐและเอกชนเพียงพอหรือไม่Thep: ผมตอบไม่ถูกเหมือนกัน อาจเป็นเพราะไม่ได้คาดหวังการสนับสนุนเหล่านั้น นอกเหนือไปจากเงินบริจาคมังครับ ผมค่อนข้างเชื่อในการช่วยเหลือตนเองเป็นหลัก มากกว่าจะรับความช่วยเหลือโดยถูกผูกมัด
แต่ถ้าการสนับสนุนหมายถึงการยอมรับและเข้าใจในประโยชน์ของโอเพนซอร์ส แล้วจัดกิจกรรมสนับสนุนการใช้งาน เรื่องนั้นผมคิดว่ายังน้อยไปหน่อยครับ
keng: - ถึงเวลา application แห่งชาติหรือยัง (Thailand selected application ???) - จากข้อ 1 จะทำอย่างไรThep: โดยส่วนตัว ไม่อยากเห็นภาพของการดึงทรัพยากรจากแหล่งต่างๆ ไป "ลงแขก" ทำ application เพียงไม่กี่ตัว จนทำให้โครงการอื่นๆ ซบเซาลงจนเงียบหายไป (ตัวอย่างเช่น การโหมแปล GNOME ของผมในรุ่นหลังๆ แม้จะเหลือคนแปลไม่กี่คน เพราะความสนใจถูกดึงไปที่โครงการอย่าง OpenOffice.org เสียเยอะ ก็เป็นความพยายามหนึ่ง ที่จะทำให้ GNOME ยังมีชีวิตอยู่ ผมเชื่อว่า แฟน KDE ก็คงรู้สึกทำนองเดียวกัน)
แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็เข้าใจถึงความจำเป็นของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ว่าควรมีการจัดลำดับความสำคัญ ผมจึงไม่มีปัญหาอะไร ถ้าจะมีผู้แปล GNOME บางคนบอกผมว่า ต้องผัดงานแปลไปก่อน เพื่อไปทำ OpenOffice.org นั่นเป็นเพียงสิ่งที่บอกผมว่า ผมต้องพยายามมากขึ้น ที่จะต่อชีวิต GNOME เท่านั้นเอง
ถ้าคำถามนี้ จะมุ่งมาที่ตัวผม ว่าควรหันไปทำหรือร่วมทำ application แห่งชาติได้แล้ว ก็คงตอบว่า ถ้า application นั้น ตรงกับความสนใจของผม ผมคงไปทำได้ แต่ถ้าไม่ตรง ผมคงไปเกะกะเสียเปล่าๆ :-)
ภาพที่ผมอยากเห็น คือการ deploy FOSS โดยทั่วไป เพื่อเอาตัวนักพัฒนา solution ไปพบกับปัญหาและ requirement โดยตรง แล้วก็พัฒนางานเพิ่มเติมจากสิ่งที่พบ และสมทบงานกลับไปที่ต้นน้ำ ตามแนวทางโอเพนซอร์ส จะเป็นการร่วมสร้างองค์ประกอบของสภาพแวดล้อม FOSS ให้สมบูรณ์ มากกว่าการแห่ไปลงเป็นจุดๆ จนเกิดการปะทะกันอย่างที่เคยเกิดกับ OpenOffice.org ในเมืองไทยมาแล้ว
yimp: - ผมเองก็อยากทำ opensource เป็นงานอดิเรกดูบ้าง ตอนนี้แม่นอยู่แค่เรื่องเดียวคือ php-mysql ที่เหลือไม่เป็นชิ้นเป็นอัน เห็นคุณเทพทำผมก็อยากทำบ้างพอจะมีคำแนะนำสำหรับผู้เริ่มต้นทำ opensource หรือเปล่า แต่ที่ผมอยากถามจริงๆคือเรื่องแนวโน้มการใช้งานภายในประเทศ - ในความคิดของคุณเทพต้องการให้หน่วยงานรัฐบาลสนับสนุน หรือช่วยเหลือด้านใดเป็นพิเศษกับนักพัฒนา เงินทุน การอบรม ตอนนี้ผมไปดูมาหลายที่แล้วบอกตามตรงว่า เงินผมไม่ถึง ไปอบรมมากๆเดี๋ยวกระเป๋าแฟบหมด ขอแนวทางแบบยั่งยืนนะครับตอนนี้ผมรอดูทุกวันๆ เมื่อไรกระทรวงศึกษาจะกำหนดเรื่อง opensource เข้าไปในหลักสูตรบ้าง เอาสักเรื่อง สองเรื่องก็ยังดี เห็นมีแต่ windows (แต่มันก็ win จริงๆนั่นแหละ ชนะตลอดเลย)
Thep: อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสำคัญของโอเพนซอร์สครับ ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาแหล่งทรัพยากร เอกสารอธิบาย การติดต่อสื่อสารกันในชุมชน การขอความช่วยเหลือ การร่วมพัฒนา ความจริงเรื่องนี้คุณคงรู้ดีอยู่แล้ว เพราะอย่างน้อย คุณก็กำลังอยู่ในชุมชนอินเทอร์เน็ตแห่งนี้อยู่แล้ว :-) เพียงแต่อยากบอกว่า ที่ผ่านมา ผมยังไม่ต้องเข้าคอร์สไหนเป็นเรื่องเป็นราวเลยครับ เพราะทุกอย่างสามารถหาอ่านหาลองด้วยตนเองได้ อินเทอร์เน็ตเป็นโลกที่กว้าง และโอเพนซอร์ส ก็เป็นสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นมาจากโลกแห่งนี้
ถามว่าอยากให้รัฐสนับสนุนนักพัฒนาไหม ก็คิดว่าสนับสนุนก็ดีนะครับ แต่สิ่งที่สำคัญก็อยู่ที่ผู้ใช้ในชุมชนเองด้วย เหมือนที่รัฐบาลไม่ได้สร้างอินเทอร์เน็ต แต่อาจจะเพียงสนับสนุนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ส่วนเนื้อหาทั้งหมด เป็นคนในชุมชนทั้งนั้น ที่ร่วมกันสร้างขึ้นมา ฉันใดก็ฉันนั้น รัฐอาจจะสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น sourceforge, server สำหรับชุมชน, การจัดกิจกรรมต่างๆ ฯลฯ แต่กระแสจะเกิดหรือไม่เกิด ก็ขึ้นอยู่กับเสียงตอบรับของชุมชนเองด้วย
ส่วนเรื่องการบรรจุซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สในหลักสูตร เห็นด้วยครับ ที่ผ่านมา ภาคการศึกษาก็จะเกี่ยงว่า เด็กจบมาแล้วไม่มีที่ไหนใช้ แต่ภาคธุรกิจก็เกี่ยงอีกเหมือนกัน ว่าถ้าจะใช้โอเพนซอร์ส ก็ขาดบุคลากรจากภาคการศึกษา กลายเป็นปัญหาไก่กับไข่ การจะหลุดจากวังวนนี้ได้ คงต้องสร้างกระแสแล้วทำพร้อมๆ กันทุกๆ ด้าน บนพื้นฐานของความพร้อมของตัวซอฟต์แวร์เอง
deans4j: เทียบวันแรก กับวันนี้แนวโน้มที่นักพัฒนาคนไทย หันมาสนใจช่วยกันทำงาน opensource เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง?Thep: ยอมรับว่าไม่เข้มข้นเหมือนแรกๆ ครับ แต่ก็น่าดีใจที่มีหน้าใหม่ๆ แสดงตัวเข้ามาร่วมเรื่อยๆ สิ่งที่คนรุ่นก่อนต้องทำ น่าจะเป็นการเชื่อมโยงให้เกิดความต่อเนื่องของการทำงานมังครับ
deans4j: คุณว่านักพัฒนาคนไทย มีศักยภาพพอที่จะผลิตงาน opensource ที่สร้างชื่อให้กับโลกได้ไหม?Thep: ได้ครับ ดูอย่างโปรแกรมไล่ยุงสิ :-) สิ่งที่คนไทยอาจจะขาด คือความกล้าที่จะแสดงตัวมีส่วนร่วมในชุมชนใหญ่ๆ และปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษเท่านั้นเอง
อันที่จริง โอเพนซอร์สก็เป็นโอกาสหนึ่งที่สำคัญ เพราะเขาเปิดให้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ สามารถเข้าถึงได้ทุกอย่าง แต่โอกาสที่จะแสดงตัวอาจจะน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อมีประเทศต่างๆ เห็นโอกาสนี้ และทยอยแสดงตัวกันไปมากแล้ว ไม่เว้นแม้แต่เพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่างกัมพูชาหรือลาว การแสดงตัวช้า อาจหมายถึงการเริ่มต้นช้ากว่าเขา และต้องฝ่า learning curve เพื่อจะตามเขาให้ทัน รวมถึงการเบียดแทรกเข้าไปในช่องว่างที่มีคนยืนอยู่เต็มไปหมดแล้ว
deans4j: คุณว่าปัญหาที่หนักอกหนักใจที่สุด ที่นักพัฒนาคนไทยไม่เจริญก้าวหน้าเสียทีอยู่ที่เรื่องไหน?Thep: คงเป็นเรื่องขัดแย้งกันเองมังครับ ชุมชนบางแห่ง ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งร่วมกันทำงาน หรือช่วยเหลือเอื้ออาทรกัน กลับกลายเป็นแหล่งทะเลาะเบาะแว้งไปอย่างน่าเสียดาย หลายต่อหลายครั้งเกิดอาการ "วงแตก" ซึ่งต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าจะรวมตัวกันได้ใหม่
deans4j: ทำอย่างไรถึงจะสร้างชุมชนนักพัฒนาที่มีศักยภาพให้เกิดขึ้นในเมืองไทยเสียที?Thep: ต้องมีชุมชนที่เข้มแข็งครับ เป็นชุมชนที่เน้นทำมากกว่าพูด การพูด ก็พูดเพื่อให้เกิดความคืบหน้าของการทำ หรือเป็นการทำในตัวเอง (เช่น การประชาสัมพันธ์แนวคิดโอเพนซอร์ส หรือช่วยเหลือผู้ใช้อื่น) อยากมีชุมชนที่เคารพในความเห็นที่แตกต่าง เคารพในสิทธิของผู้อื่น และที่สำคัญ คือเข้าใจในปรัชญาซอฟต์แวร์เสรีและโอเพนซอร์ส เพื่อจะได้มีแนวทางร่วมกัน
OHM: ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วใหคุณขออะไรก็ได้ตามอำนาจที่นายกรัฐมนตรีสามารถทำได้ โดยสิ่งที่ขอไปแล้วจะต้องเป็นประโยชน์กับ opensource และเป็นประโยชน์กับประเทศชาติจริง ๆ คุณจะขออะไรผมThep: ขอให้คุณมีแนวทางการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ฉาบฉวยกับตัวเลขทางเศรษฐกิจจนไม่สนใจมิติอื่น คุณอาจจะมองเห็นว่า โอเพนซอร์สเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางตรง เป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านไอทีที่มีประสิทธิภาพ เป็นการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศที่ได้ผลดีมากๆ ในระยะยาว เป็นการพึ่งตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีไหล่ยักษ์ให้เหยียบ ทั้งมองทะลุภาพการแข่งขันกับซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ที่เกิดขึ้น ว่านั่นเป็นเพียงสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ไม่ใช่มองซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สเป็นเพียงผู้แข่งขันในเชิงพาณิชย์อยู่ร่ำไป นั่นไม่ใช่สาระ คุณควรจะมองให้ทะลุว่าแท้ที่จริง คุณกำลังได้รับการหยิบยื่นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของประเทศฟรีๆ
คิดว่าขอเท่านี้น่าจะเพียงพอครับ ขอแค่ทำความเข้าใจจนเกิดสัมมาทิฏฐิกับแนวทางโอเพนซอร์ส ผมเชื่อว่าบุคคลระดับนายกรัฐมนตรีย่อมมีมรรควิธีต่างๆ ที่จะทำให้มันเป็นจริงได้ ตามบทบาทของรัฐ
Comments
ฝากคำขอบคุณในคำตอบผ่านไปทางนี้ด้วยครับ เป็นวิสัยทัศน์ที่ดีมาก ๆ ครับ โดยเฉพาะคำถาม-ตอบ ของคุณ OHM: ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรี ฯ
ก็ขอเป็นกำลังใจให้คุณเทพต่อไปครับ
----------------- Yokey My Blog
ขอบคุณมากครับ ได้ประโยชน์มาก
ขอบคุณคร้าบ
เป็นวิธีสัมภาษณ์ที่ดีมาก แล้วก็ตอบได้ทุ่มใจมากครับ
ขอบคุณ ทุกท่านที่มีส่วนร่วมใน Interview นี้ครับ มีประโยชน์มากทีเดียว ขอเป็นกำลังใจให้คุณ Thep รังสรรค์สิ่งดีๆให้กับสังคมนี้ ต่อไปนะครับ :-)
ขอบคุณครับผม
อ่านแล้วดี มีประโยชน์มากครับ โดยเฉพาะ คำตอบสุดท้าย ทะลุใจไปเลย เข้าใจมากเลยครับ อยากให้มีอย่างนี้อีกบ่อยๆ
แนะนำผู้ที่น่าจะเชิญมาสัมภาษณ์ครับ ตอนนี้นึกได้เท่านี้
คุณสัมพันธ์ ระรื่นรมย์
คุณโดม เจริญยศ
อ่านแล้ว เจ๋งครับ ชอบคำตอบข้อสุดท้าย มาก ครับ
อยากจะให้ สัมภาษณ์ คุณ โดม เจริญยศ ครับ คราวก่อนไปฟังแกพูด ที่งาน TLUG เรื่อง ip-pbx มาเลยอยากให้สัมภาษณ์ ครับ
Let's play Ubuntu 5.10
เยี่ยม ได้คำตอบดีกว่าที่คาดไว้ในใจ
จริง ๆ ผมตั้งใจถามเพื่อดูวิสัยทัศน์ ว่าคนที่อยู่ในวงการโอเพนซอร์สนั้นมีวิสัยทัศน์อย่างไรบ้าง เพราะถ้าวิสัยทัศน์ดีการเดินทางก็มีทิศทางที่ดี ไปในทางที่ถูกที่ควร สุดท้ายก็จะเป็นประโยชน์กับสังคมและประเทศชาติในที่สุด
ส่วนเรื่องสัมมาทิฏฐิ ของนายกรัฐมนตรี ถ้าจะให้ดีคนระดับนายกรัฐมนตรีควรจะรู้ด้วยว่า สัมมาสติ (ของพระพุทธเจ้า) หน้าตาเป็นยังไง (จริง ๆ แล้วคนทั่ว ๆ ไปก็ไมค่อยมีใครรู้กันหรอก) แต่ผมว่าอย่าไปพูดถึงเรื่อง สัมมาทิฏฐิ สัมมาสติ เลยครับ
เพราะทั้งสองอย่างนี้เป็นสองอย่างในอริยมรรคที่ประกอบด้วยองค์แปด อริยะมรรคเป็นมรรคของพระอริยะ ซึ่งแปลว่าทางที่พระอริยะท่านเดิน นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทั้งหลายไม่ค่อยเดินกันหรอกครับ
พรหมวิหาร ๔ (เครื่องอยู่แห่งพรหม) เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็ไม่ต้องพูดถึง
หิริ โอตตัปปะ (ธรรมของเทวดา) ความละอายเกรงกลัวที่จะทำบาปหรือสิ่งไม่ดีทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ก็ไม่ต้องพูดถึง
ศีล ๕ (ธรรมของมนุษย์) แค่ศีล ๕ ผมยังไม่รู้เลยว่าในคณะรัฐมนตรีทั้งคณะจะพอหาได้ซักหนึ่งคนหรือเปล่า เอาแบบศีล ๕ บริสุทธิ์เต็มเปรี๊ยะนะ
จริง ๆ แล้วผมขอแค่ข้อเดียวในศีล ๕ คือ ข้อ ๔ มุสาวาทา ขอแค่นี้แหละ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีพูดและตอบคำถามด้วยความจริง 100 เปอร์เซ็น แค่ีนี้ก็หรูแล้ว แต่ประเด็นมันไม่มีคนทำได้ซักคนเลยนี่สิ - -'
ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรี ข้อแรกที่คณะรัฐมนตรีของผมจะต้องมีคือ ทุก ๆ คนต้องรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ เพราะอย่างน้อยก็ได้คณะรัฐมนตรีที่เป็นมนุษย์อย่างเต็มภูมิ แต่เสียดายโอกาสที่ผมจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีมีเพียง 1.6 x 10^-8
คิดไปคิดมาฟุ้งซ่านเปล่า ๆ ขอกลับมาเจริญสติต่อดีกว่า ^_^
ยังไงก็ขอขอบคุณอีกรอบ ขอบคุณมากครับสำหรับคำตอบ
อนุโมธนากับคุณ OHM ด้วยครับ
สาธุ
ขอบคุณคุณเทพมากๆ ครับ
ยิ่งอ่าน ยิ่งอยากทำงานแบบพี่เทพมากๆ
ป๋าเทพพูดถึงด้วยแฮะ (พอดี search ชื่อตัวเองใน google :-P) สมัคร mailing-list aspell ไว้แต่ยังไม่ได้ทำจริงจังซักที ดูๆ แล้วน่าถามคุณศิลา คนแรกจริงๆ :-D
ตามมาอ่านทีหลัง เป็นบทสัมภาษณ์ที่ได้ความรู้เยอะ
- - - - - - - - - - - - - - - - - burlight@ปัญหาในประเทศไทย