ผู้อ่าน Blognone ติดตามข่าวการประมูล 3G มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ถึงตอนนี้การประมูล 3G ก็เข้าใกล้ขึ้นเรื่อยๆ ถึงตอนนี้ก็คงได้เวลาของการสรุปความเข้าใจรวบยอดถึงการประมูล 3G ที่กำลังมีขึ้นในบ้านเรา
### 3G คืออะไร?
คำว่า 3G หรือระบบการสื่อสารสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ในยุคที่สาม เป็นกลุ่มของเทคโนโลยีสื่อสารที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union - ITU) ได้กำหนดไว้กว้างๆ ถึงการพัฒนาของการสื่อสาร โดยยุคแรกคือโทรศัพท์มือถืออนาล็อก และยุคที่สองคือโทรศัพท์ GSM ที่เราใช้งานกันอยู่ในทุกวันนี้
กลุ่มเทคโนโลยี 3G มีลักษณะเหมือนๆ กัน คือ การออกแบบคำนึงถึงการใช้งานที่ไม่ใช่การโทรศัพท์ (non-voice) เช่นการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่แรก ขณะที่ระบบ 2G ที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้ออกแบบมาเพื่อการสื่อสารด้วยการโทรศัพท์เป็นหลัก และส่วนเสริมเช่น GPRS/EDGE นั้นถูกออกแบบเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัก
![](https://lh4.googleusercontent.com/-cNbWSk8JN3Q/UGh2toorg4I/AAAAAAAAfAE/9oQL8v2zJ9c/s626/820-product-hero-2-png.png)
การพัฒนา 3G เกิดขึ้นในช่วงปี 2001 เป็นต้นมา หรือประมาณ 16 ปีหลังการพัฒนาระบบ GSM ที่เราใช้งาน ทำให้เทคนิคการส่งข้อมูลก้าวหน้าไปมาก การทำความเร็วบนระบบ 3G นั้นสามารถทำได้สูงสุดตามทฤษฎีถึง 42 Mbps แต่ในการใช้งานจริงจะต่ำกว่านี้ เช่นที่เราเห็นในช่วงทดสอบระบบที่หลายๆ ค่ายสามารถทำความเร็วได้ในช่วง 5-15 Mbps
ที่จริงแล้วเทคโนโลยี 3G มีหลายตัว เช่น EVDO ที่พัฒนามาจาก CDMA และ TD-SCDMA ที่มีให้บริการเฉพาะในประเทศจีน แต่มาตรฐานการสื่อสารในช่วงหลายปีมานี้ค่าย GSM เริ่มได้รับความนิยมกว่าสายอื่นๆ และมาตรฐาน 3G ในค่ายนี้คือมาตรฐาน UMTS ที่มีการพัฒนามาหลายขั้นนับแต่ W-CDMA และในช่วงหลังเป็น HSPA ที่ขึ้นเป็นตัว H ในโทรศัพท์มือถือเมื่อเราเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต 3G ทุกวันนี้
### ทำไมต้องคลื่น 2100?
เทคโนโลยี 3G นั้นเหมือนคล้ายกับ 2G ที่เราใช้กันทุกวันนี้ คือ สามารถใช้บนคลื่นได้หลากหลาย เช่นในบ้านเราจะเห็นผู้ให้บริการ GSM บนคลื่น 900 และ 1800 กันเป็นส่วนมาก บริการ 3G ก็เช่นเดียวกัน มันสามารถให้บริการได้บนคลื่น 800, 850, 900, 1900, และ 2100 (ไม่มี 3G ปลอมนะครับ) อย่างไรก็ดี ITU ได้กำหนดให้คลื่น 2100 นั้นเป็นคลื่นสากลที่ใช้ตรงกันทุกประเทศ ทำให้โทรศัพท์ทั้งหมดที่ผลิตออกมาจะรองรับคลื่น 2100 และรับคลื่นอื่นๆ ต่างกันไป
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราจะพบความลำบากที่ต้องเลือกโทรศัพท์อย่างระวังว่าจะรองรับคลื่นที่ผู้ให้บริการใช้อยู่หรือไม่ เมื่อมีผู้ให้บริการรายหลักให้บริการบนคลื่น 2100 การเลือกผู้ให้บริการก็จะง่ายขึ้น
เหตุผลสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการเลือกใช้คลื่น 2100 คือทุกวันนี้ประเทศไทยมีคลื่นส่วนนี้ว่างอยู่ถึง 45 MHz (เป็นช่วงความถี่ เช่น 2100-2105 เป็นความกว้าง 5 MHz) การปล่อยให้คลื่นเหล่านี้ว่างเอาไว้จะกลายเป็นคลื่นที่ไม่เกิดประโยชน์อะไร ถือเป็นความสูญเสียทรัพยากรที่นำมาใช้งานได้
คลื่น 45 MHz มากน้อยแค่ไหน การเทียบการใช้งานคงต้องเทียบกับบริการ 3G ทุกวันนี้ เช่น
- AIS นั้นให้บริการ 3G บนคลื่น 900 ด้วยคลื่นกว้าง 5 MHz เพราะต้องแบ่งจากคลื่นทั้งหมดที่มีอยู่ 17.5 MHz - DTAC นั้นให้บริการบนคลื่น 850 ด้วยความกว้าง 10 MHz - Truemove H นั้นให้บริการบนคลื่น 850 เช่นกันด้วยความกว้างคลื่น 15 MHz - TOT3G ให้บริการบนคลื่น 2100 เพียงรายเดียว บนคลื่นกว้าง 15 MHz
ปัญหาการใช้งานทุกวันนี้เกิดจากปริมาณคลื่นนั้นไม่สมสัดส่วนกัน เช่น AIS นั้นมีผู้ใช้มากถึง 35 ล้านราย ขณะที่ TOT นั้นมีผู้ใช้ไม่ถึงสามแสนราย ทำให้ผู้ใช้จำนวนมากกระจุกอยู่ในคลื่นแคบๆ ที่รองรับผู้ใช้ได้น้อย การจัดสรรคลื่นให้มากขึ้นให้กับผู้ให้บริการที่มีผู้ใช้มาก จะทำให้ผู้ให้บริการสามารถจัดการคลื่นได้ดีขึ้น
### ทำไมไม่ข้ามไป 4G
เทคโนโลยี 4G ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่องๆ ในทุกวันนี้เป็น LTE ทั่วโลกนิยมใช้งานมันบนคลื่น 1800 หรือ 2600 และมีคลื่นอื่นๆ ตามภูมิภาคต่างๆ เช่น สหรัฐฯ นั้นใช้คลื่น 700 ร่วมด้วย การจัดสรรคลื่นในย่าน 1800 และ 2600 นั้นเป็นสิ่งที่ควรกระทำต่อไป หากกสทช. สามารถดึงคลื่นที่ใบอนุญาตหมดอายุลงแล้วกลับมาจัดสรรใหม่ได้ เช่น คลื่น 1800 บางใบอนุญาตก็กำลังจะหมดอายุลงในไม่กี่ปีข้างหน้า
การให้บริการ 4G บนคลื่น 1800 หรือ 2600 นั้นสามารถทำไปพร้อมๆ กับการให้บริการ 3G บนคลื่น 2100 ได้ไม่มีความจำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง และการข้ามไป 4G โดยไม่เปิดประมูลคลื่น 3G ก็จะทำให้คลื่น 2100 ที่ว่างอยู่จำนวนมากไม่ถูกใช้งานให้เป็นประโยชน์ในที่สุด
อีกเหตุผลหนึ่งคืออุปกรณ์ที่ใช้กับบริการ 4G นั้นยังมีราคาแพงมากในทุกวันนี้ ขณะที่โทรศัพท์ หรือโมเด็ม 3G นั้นมีขายทั่วไปในราคาถูกบางครั้งอยู่ในหลักร้อยบาท แต่โทรศัพท์ 4G จะมีราคาสูงเกินหนึ่งหมื่นแทบทั้งสิ้น การข้ามไปใช้เทคโนโลยีใหม่โดยไม่มีเปิดให้บริการ 3G จะทำให้คนที่ไม่มีกำลังซื้ออุปกรณ์ราคาแพงไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีที่ใหม่กว่าได้
### ทำไมต้องประมูล
การประมูลคลื่นเป็นข้อกำหนดตามกฎหมายของพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ.กสทช.) ตามกฎหมายฉบับนี้กสทช. ไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อนำไปใช้ให้บริการทางธุรกิจด้วยวิธีการอื่น โดยอำนาจของกสทช. จะอยู่ที่การกำหนดหลักเกณฑ์การประมูล ซึ่งได้ผ่านกระบวนการร่างและรับฟังความคิดเห็นจนประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเรียบร้อยแล้ว (อ่านเพิ่มเติม [อธิบายกฎเกณฑ์การประมูลคลื่น 3G](https://www.blognone.com/node/34284))
### ประมูลแล้วจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง
สิ่งที่ต้องรู้ก่อนคือบริการโทรศัพท์ทุกวันนี้ที่เราใช้อยู่ เป็นระบบสัญญาสัมปทานเป็นส่วนใหญ่ นั่นคือเอกชนนั้นวางเครือข่ายให้กับรัฐวิสาหกิจของรัฐ แล้วเข้าบริหารเครือข่ายเหล่านี้ในช่วงเวลาที่กำหนด โดยแบ่งเงินส่วนแบ่งรายได้ให้
ความจำกัดของระบบเช่นนี้ คือ เมื่อเอกชนต้องการทำอะไรใหม่ๆ จะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของใบอนุญาตเสียก่อน ซึ่งก็ให้อนุญาตได้ไม่เกินสิ่งที่ใบอนุญาตให้ไว้อีกที การประมูลครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่เอกชนได้รับใบอนุญาตโดยตรง ทำให้ส่วนแบ่งรายได้จากเดิมที่ต้องนำส่งรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก ลดลงเป็นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและเงินเข้ากองทุน USO ที่จะนำไปใช้เพื่อพัฒนาความเท่าเทียมทางการสื่อสารและการศึกษา ให้แก่ผู้ด้อยโอกาสและพื้นที่ธุรกันดารห่างไกล ยากต่อการเข้าถึง ก็สามารถนำการสื่อสารเข้าไปใช้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์ทางไกลเพื่อการศึกษาและพัฒนาชนบท โครงการแพทย์ทางไกล การจัดทำโทรศัพท์ขั้นพื้นฐานให้กับชุมชนต่างๆ
สุดท้าย กสทช. ยังทำวิดีโออธิบายการประมูลสั้นๆ ให้ดูเป็นการสรุปบทความนี้กันครับ
Comments
นึกว่าเป็นข่าว featured ไม่คิดว่าจะเป็น advertorial...
Dream high, work hard.
+920
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์การประมูล 3G ครับ แต่ในแง่เนื้อหาแล้ว ผมเขียนเกือบทั้งหมด และไม่มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญอะไรเลย (มีเพิ่มจริงๆ ตรง USO จุดเดียว)
ผมเคยบ่นเรื่องความเข้าใจผิดของ 3G ในไทยเอาไว้ใน Google+ บทความนี้เองแม้จะเป็นบทความประชาสัมพันธ์ แต่ก็เป็นบทความเต็มๆ ที่อยากจะแก้ความเข้าใจของคนไทยให้คุยกันในประเด็นเสียที
lewcpe.com, @wasonliw
+1 > <
อยากให้มองเห็นได้โดยไม่ปิด adblock มั่งอะครับ
บทความเป็น advertorial ครับ การที่ adblock ทำให้มองไม่เห็น ต้องบอกว่า
It isn't a bug, it's a feature.
lewcpe.com, @wasonliw
+1
แฟนพันธุ์แท้สตีฟจ็อบส์ | MacThai.com
AIS น้อยสุดเลย T_T
ขอบคุณครับ แจ่มแจ้งมาก
ขอบคุณมากครับ
เป็นประโยชน์มากสำหรับคนที่ไม่ได้อ่านรายละเอียดของทุกข่าว
advertorial มันจะโดน adblock อะครับ ที่จริงน่าจะให้เป็น Featured นะผมว่า
Pitawat's Blog :: บล็อกผมเองครับ
อันนี้คงต้องแก้ด้วยการทำ whitelist กันเองครับ
ขอบคุณครับ เข้าใจมากขึ้นเยอะเลยครับ
อยากให้ดูเรื่อง Fair Usage Policy ครับ
ตอนนี้บางค่ายกำหนดตามใจตัวเองมากครับ 64kbps 128kbps ช้ากว่า 2G ซะอีก
ผมไม่ได้ใช้แบบอันลิมิตอยากรู้ว่า ถ้าใช้เกินแล้ว ปิด 3G ใช้แต่ edge ได้ป่ะ
ผมใช้ ais บางที เปิด edge ยังเร็วกว่า 3G เลย
เปิด egde ก็ได้ความเร็วเท่าที่เค้าลิมิตครับ 64kbps หรือเท่าที่ค่ายเค้าตั้งไว้ครับ
เคยถามทั้ง call center ทั้งคุณศรันย์ @Saran2530 และพิสูจน์เองแล้วพบว่า Fair Use มีผลเฉพาะ 3G ครับ กรณีกลับมา 2G ก็ยังสามารถใช้งานได้ที่ความเร็วเต็มที่เท่าที่ 2G จะเอื้ออำนวยครับ
ผมใช้ Dtac พอเกินแล้ว กลับมา 2G มันก็ได้สูงสุดแค่ 64kbps ครับ ผมไม่รู้นะว่าค่ายอื่นเป็นมั้ย แต่ที่ผมเจอโดนแบบนี้ครับ
ของผม AIS แฮะ
ของ AIS 2G จะได้ความเร็วที่ 384 Kbps หลังจากหมด 3G นะครับ แต่ดีแทคให้แค่ 64 kbps เท่านั้น
แต่ตอนนี้ AIS กำลังจะปรับลงอีก =_="
"มือถือที่รองรับ 3G 900 และอยู่ในพื้นที่ AIS 3G จะได้รับความเร็วของ 3G สูงสุดไม่เกิน 384 Kbps
(ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 เป็นต้นไป จะได้รับความเร็วสูงสุดไม่เกิน 256 kbps)" - จาก http://www.ais.co.th/mobileinternet/internet-package/
เซงเลย
3G ที่โดนล็อค speed ไว้ มันก็ยัง เสถียรกว่า และ ดีเลย์น้อยกว่า EDGE นะครับ
ที่สำคัญโทรไปเล่นเนตไปได้ด้วย
ป.ล.ผมใช้ DTAC ติด FUP แล้ว edge เสถียรกว่า T.T จริงๆนะ
กระจ่างแล้ว!!!
Coder | Designer | Thinker | Blogger
คลื่นน่าจะใส่หน่วยให้ครบนะครับ บางอันมี บางอันไม่มี =___=
ถ้าพูดเป็นความกว้าง ผมจะใส่เสมอครับ ถ้าพูดถึงย่าน (850/900/1800/2100) ผมจงใจไม่ใส่ครับ เพราะเราไม่ได้เรียกมันในฐานะคลื่นจริงๆ แล้ว เรียกเป็นชื่อมากกว่า
lewcpe.com, @wasonliw
ด้านการใช้งาน จะดีขึ้นขนาดไหนครับ
twitter.com/djnoly
ก็คิดดูตอนนี้ตั้งเสาแบบกั๊กๆแค่ 1/3 ของเสาทั้งหมด
แล้วประมูลเสร็จ 3G ทุกเสาที่มี มันก็คงเสถียรกว่านี้เยอะอะ
ขอถามแบบคนไม่รู้นะครับ ย่านคลื่นนี่ส่งผลต่อความเสถียรของคลื่นด้วยรึเปล่าครับ? (เช่นคลื่น 2.1GHz ถ้าเทียบกับคลื่น 900Mhz จะเป็นยังไง?) ส่วนการประมูลครั้งนี้ดูแล้วคงไม่พ้นแบ่งเค๊กเท่าๆ กัน แต่ก็ขอให้ไม่มีใครมาล้มการประมูลเลยเถอะ
คลื่นที่ประมูลเป็นย่านเดียวกันหมดนะครับ ปกติแล้วคลืนแต่ละความถี่จะมีคุณสมบัติต่างกันไป เช่นความถี่ต่ำกว่าจะไปได้ไกลกว่าในพลังงานเท่ากัน (เช่นคลื่นวิทยุต่ำๆ บางย่านนี่ไปได้ครึ่งโลกด้วยสถานีส่งสถานีเดียว)
แต่ถ้าย่านเดียวกัน ความต่างนี้จะน้อยมากจนไม่น่ามีผลขนาดนั้นครับ
lewcpe.com, @wasonliw
ไม่มีผลตรง ๆ ครับ ถ้ามีคนใช้อยู่คนเดียวไม่มีผลครับเสถียรเหมือนกันหมด แต่จะมีผลทางอ้อมคือความถี่ต่ำจะไปได้ไกลมากกว่า และไม่ว่าออกแบบมาดีแค่ไหน เราก็ไม่สามารถลดพื้นที่ ที่เสาสัญญาณ 1 ต้นคลอบคลุมได้มากกว่าทุกวันนี้แล้ว(ในตัวเมืองน่ะครับ) เมื่อพื้นที่คลอบคลุมกว้างกว่า ลูกค้าก็จะจับสัญญาณเสาต้นนั้นมากขึ่น ซึ่งมันไม่ดีเลยกับการใช้งานแบบ share bandwidth และ 3G มันถูกออกแบบมาให้สามารถขยายหรือหด พื้นที่คลอบคลุมได้ แปรผกผันกับปริมาณการใช้งาน data หากมีคนที่อยู่ใกล้เสาใช้งาน data เยอะ คนที่อยู่ปลาย ๆ สัญญาณก็จะหายได้ครับ
เราเข้าใจแล้วว่าทำไมตอนนี้ 3G ของ AIS ถึงห่วยสุด T__T
ไม่รู้จะอธิบายอย่างไง = ="
ถ้าจะล้มการประมูลอีกนี่ไม่รู้จะว่ายังไงละ
ปัจจุบัน 4G ยังไม่มี Voice ใช่ไหมครับ
เวลาจะโทร จะต้อง switch ไป 2G หรือ 3G
Qualcomm/Ericsson เริ่มทดสอบการเชื่อม Voice over LTE กับเครือข่าย 3G เดิม
SK Telecom แห่งเกาหลี(ใต้) เปิดตัวบริการ VoLTE ด้วยชื่อ HD Voice ตัดหน้า Sprint ไปแล้วครับ โทรศัพท์รุ่นแรกที่รองรับระบบนี้คือ Samsung Galaxy SIII (สามารถดูข่าวจากเพจ SK Telecom ได้ครับ แต่ผมดึงลิงก์มาไม่ได้).
ประเด็นคือทำไมต้องกำหนด 15
พอกำหนดปั๊บ คุณค่าของการประมูลก็หมดลงทันที ได้แค่ประมูลกินงบเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย
May the Force Close be with you. || @nuttyi
ผมยังหาอ่านไม่เจอว่ามีการจำกัดยื่นขอประมูลไม่ให้เกิน 15 MHz แล้วช่วงขั้นต่ำก็คือ 5MHz จะให้กำหนดว่าต้องยื่นขั้นต่ำมากกว่านี้มันก็ไม่ยุติธรรมกับรายเล็กอีกนั่นหละครับ
15 15 15 ผมก็มองว่ามันก็เป็นช่องทางที่เค้าพึงจะกระทำได้นะ ตอนแรกก็มีหลายเจ้าเอาเข้าจริงเหลือ 3 เจ้า มันก็ช่วยไม่ได้ที่ผลมันจะออกมาเป็นแบบนี้เพราะอีกฝั่งมันเอกชน รีบๆเอาออกไปขายดีกว่าโดนดักลงหลุมกันมาตั้งนานอารมณ์ประมาณนั้น มันไม่มีการแข่งขันให้ราคาที่ผิดวัตถุประสงค์การประมูลไปเสียหน่อย แต่รัฐเองก็ตั้งราคาไว้แล้วก็คงคิดมาดีแล้วว่าราคานี้ประเทศไม่ขาดทุนแน่นอน
ก็ยังยันคำเดิมว่า ดีเสียอีกจะได้ไม่ต้องมานั่งส่องว่าค่ายไหนได้เยอะกว่ากัน มาวัดกันที่อุปกรณ์และโปรโมทชั่นแข่งกันแบบแฟร์ๆ อย่างที่ควรจะเป็นเสียที
มองในทางกลับกันอาจจะดีต่อผู้ใช้ก็ได้ เพราะในอนาคตผมก็มองว่าในที่สุดก็ต้องแข่งกันขายถูกอยู่ดี ถ้าได้คลื่นไปเท่าๆกัน
Blognone = 138.1 news/w เยอะมากๆ
มีครับ ข้อกำหนดสุดท้ายมีกำหนดให้ผู้ประมูลสูงสุดประมูลได้ไม่เกิน 3 บล็อค
lewcpe.com, @wasonliw
รับทราบครับผม >_<
Blognone = 138.1 news/w เยอะมากๆ
เป็นหน่วยงานที่ค่อนข้าง โปร่งใส
ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนครับ ขอให้ประมูลครั้งนี้ผ่านไปด้วยดีนะครับ :)
แล้วพอเสร็จสิ้นการประมูลที่คลื่น 2100 แล้ว
พวกของเดิมอย่าง 850 กับ 900 จะเป็นอย่างไรล่ะครับ? ผู้ให้บริการก็ยังให้บริการทางคลื่นเหล่านั้นอยู่ด้วยหรือเปล่า? แล้วคนใช้โทรศัพท์อย่างเราๆ จะไม่ต้องสับสนเหรอครับว่าต้องใช้คลื่นความถี่เท่าไหร่ถึงจะดีที่สุดสำหรับตัวเอง???
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
มี 2 ทางครับ
คือ คืนกลับให้ กสทช ตามกฏหมาย เพื่อจัดสรรใหม่
TOT กับ CAT มี วิธีซิกแซก เพื่อจะยึดคลื่นที่ว่า ตามระบบ สัมปทานเดิม แล้วลูกค้า 2g ทั้งหมด กลายเป็นลูกค้าของ TOT กับ CAT ไป
รายที่เข้ามาประมูลนี้ ถือเป็น "รายใหม่" ครับ เมื่อประมูลเสร็จแล้ว ลูกค้าคนไหนอยากใช้ก็ต้อง MNP ไป
ส่วนเจ้าเดิมก็ยังให้บริการตามสัมปทานที่มีอยู่ครับ พอใกล้หมมดเขาก็ทำอย่างที่ True-H ทำนี่แหละครับ
I need healing.
"ถ้า" โทรศัพท์รองรับ ผู้ใช้ไม่ต้องรับรู้ครับว่าจะเป็นคลื่นอะไร อย่างทุกวันนี้ที่ DTAC ให้บริการ GSM บนคลื่น 1800 และให้บริการ 3G บน 850 โทรศัพท์ก็สลับไปมาเอง ไม่ต้องรับรู้
สำหรับคลื่นเดิม ก็ให้บริการไปจนหมดอายุสัมปทาน (ซึ่งจะหมดอายุใบอนุญาตด้วย ตามพ.ร.บ.กสทช.) ก็ต้องนำคลื่นกลับมาจัดสรรกันใหม่ ส่วนนี้ช้าเร็วต่างกันไปตามแต่ละรายเซ็นสัญญาไว้
lewcpe.com, @wasonliw
ใช้งานจนหมดสัมปทานเดิม แล้วคืนคลื่นให้ กสทช. ไปจัดประมูลใหม่ (แยกจากกันไม่เกี่ยวข้องกัน)
สมมติถ้าโทรศัพท์ที่เราใช้ปัจจุบันเป็นแค่ triband ... โทรศัพทเครื่องนั้นก็จะหมดค่า (ในทาง 3G) ไปเลยถูกมั้ยครับ
ขึ้นกับรายใหม่ที่ประมูลชนะว่าจะใช้เทคโนโลยีแบบไหนกับคลื่นเดิมครับ
อ้อ ... ขอบคุณครับ
ถ้าประมูลไปได้แล้ว เค้าเอาไปขายต่อได้หรือเปล่าครับ
ไม่ได้ครับ ตามพ.ร.บ.ใหม่ต้องทำเองเท่านั้น
แต่ในรายละเอียดยังมีประเด็นเช่นว่าจะเรียกอย่างไรว่าทำเอง เพราะทุกวันนี้แม้แต่บริษัทอย่าง AIS/DTAC/True ก็จ้างบริษัทอื่นๆ มาติดตั้งระบบให้หรือให้บริการบางอย่างต่อไปอีกทอด (บางทีก็เป็นบริษัทลูกตัวเองที่แยกออกไป)
กรณีเช่นสัญญา CAT-True เป็นการอ้างว่า CAT ทำเองโดยจ้าง BFKT ทำทั้งหมดเหมือน subcontract แล้วให้ทรูขาย "เกือบ" ทั้งหมด (80%) กรณีแบบนี้ยังเรียกว่า CAT ทำอยู่ได้หรือไม่ กรณีนี้หลายฝ่ายก็ออกมาชี้ว่าผิดพ.ร.บ. โดยกสทช. ให้แก้ไขเช่นว่า ตัวเสาส่งจะต้องอยู่ใต้ความควบคุมของ CAT, ศูนย์สั่งการ (NOC) จะต้องดำเนินการโดย CAT เอง, และต้องเจรจาเชื่อมต่อโครงข่ายกับผู้ให้บริการอื่นๆ ด้วยตัวเอง
lewcpe.com, @wasonliw
ตอนนี้ผมห่วงกองทุน USO มากกว่า รู้สึกจะได้ไปเยอะ แล้วเอาไปใช้ยังไง?
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
น่าห่วงครับ ก็ต้องมาไล่ดูกันต่อไป
แต่ในความรู้สึกผมแล้ว น่าจะดีกว่า "ค่าจัดการสัมปทาน" อยู่มาก
lewcpe.com, @wasonliw
หวังว่าถ้าประมูลผ่านไปได้ จะมีข่าวคราวของ USO มาให้อ่านบ้างนะครับ ^^
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
ตอนนี้ก็มีเรื่อยๆ ครับ อย่างข่าว Wi-Fi ของ MICT ก็มีข่าวว่าจะไปขอเงิน USO มาทำ
lewcpe.com, @wasonliw
USO ไม่เกี่ยวกับประมูลโดยตรงนะครับ คนที่ขอใบอนุญาตจาก กสทช. ในด้านอื่นๆ (วิทยุ ทีวี หรือเน็ตมีสาย) ก็ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน USO ครับ
ใน present บอกว่า "ถ้าประมูลไม่สำเร็จ" งง ว่าสาเหตุของการประมูลไม่สำเร็จมีอะไรบ้าง เพราะ ตามหลักคนให้เงินมากสุดก็น่าจะชนะไม่ใช่หรอ ทำไมถึงล้มได้ หรือว่า มีสาเหตุอื่นๆ เช่นการแบ่ง cake ไม่ลงตัว
ไม่มีคนเคาะราคาแรกมั้งครับ แบบราคาตั้งก็ไม่โดนเคาะ
May the Force Close be with you. || @nuttyi
โดนล้มก่อนประมูลครับ... (แต่ที่สำคัญต้องล้มก่อนหน้าเริ่มประมูลไม่กี่วันด้วย)
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
อยากรู้ว่าเสาที่มีอยู่ทุกวันนี้ สามารถ config ทาง Software
แล้วให้มันเริ่มทำงานที่ 2100 เลยได้รึเปล่าครับ
หรือว่าประมูลเสร็จแล้ว ต้องรอติดตั้งอีกเป็นปี กว่าจะได้ใช้?
อุปกรณ์อื่นอาจจะได้ แต่เสา (หมายถึงเสาที่เป็น antenna จริงๆ) กับสายอากาศต้องเปลี่ยนแน่นอนครับ
เอ๊ะ ตาฝาดเปล่า ผมเห็น Nokia Lumia 820 ด้วย
สงสัยจะเข้าหมวด advertorial ก็เพราะรูปนี้แหละ ^^"
วันนี้ไบเทค 3G TOT ล่มไปพักนึงเพราะคนใช้เยอะ น้ำตาจะไหล
GPRS/EDGE นั้นถูกออกแบบเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัก >>ภายหลัง
ผมก็เห็น 820 มาได้งัย ........555
เห็นความกว้างของถนน 3G ปัจจุบัน
รู้เลยว่าทำไม ค่ายแต่ล่ะค่ายถึง ดี-ห่วย ต่างกัน
กสทช. เป็น sponsor ของบทความนี้?
เซเลบของเว็บ เป็น คณะกรรมการ คนนึง ที่อยู่ในกระบวนการ นี้ ขอรับ
คุณ mk เข้าไปเป็นหนึ่งในอนุกรรมการ ไม่ใช่เรื่องปิดบังอะไรนะครับ (ประกาศในเว็บ) เอ่ยชื่อตรงๆ ได้
และซื้อพื้นที่ประชาสัมพันธ์เป็นกระบวนการแยกกับกระบวนการกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลครับ
lewcpe.com, @wasonliw
ใช่ครับ เป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์การประมูล
ผมเองไม่แน่ใจว่างบส่วนไหนเพราะไม่ได้ติดต่อกับกสทช. โดยตรง แต่ติดต่อผ่าน agency ตามกระบวนการซื้อพื้นที่โฆษณาทั่วไป
lewcpe.com, @wasonliw
สงสัยว่า หลังจากประมูลคลื่น 2.1 จบลงแล้ว จะมีเหตุแบบ เขมรศอกกลับด้วยประมูล LTE Adv. เสร็จทันทีทันใด และฟรีทีวี 1 ล้านช่อง พร้อมการ์ตูนโปเกม่อนแบบต่อเนื่อง ไม่มีหยุดออกอากาศ หรือเปล่าครับ ขอบคุณมากครับ
ผมเล่ามุมมองส่วนตัวให้ฟังได้อย่างนี้นะครับ
ผมมองว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจเล็ก มีความเสี่ยงในการลงทุนสูง ปัญหาจะน้อยกว่าอยู่แล้วครับ ใครมาขอขอแค่มีคุณสมบัติดีพอที่จะวางโครงข่ายได้ ก็มักจะได้ไปไม่ยุ่งยาก (ไม่มีใครแย่ง ทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ได้อะไร)
แต่มันจะมีช่วงเปลี่ยนผ่านที่เมื่อเศรษฐกิจมันใหญ่พอ คนเริ่มแย่งกัน คลื่นเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ก็จะมีปัญหาแบบบ้านเรา หน่วยงานจัดการจัดสรรก็ต้องเข้ามาชี้ขาด ว่าตรงไหนจะเอาไปทำอะไร สร้างเกณฑ์ว่าตรงไหนให้ใคร
ประเทศไทยช่วงนี้อยู่ตรงกลาง เพิ่งเริ่มกระบวนการจัดสรร (ล่าช้าไปจาก รัฐธรรมนูญ 2540 มาแล้ว 15 ปี) หลังจากนี้ถ้าไม่มีประเด็นอะไร (หรือมีแล้วผ่านไปได้) กระบวนการก็จะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ การประมูลคลืนใหม่ๆ เก็บคลื่นเดิมกลับมาประมูล ฯลฯ เป็นรอบๆ อย่างนี้เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่การวางโครงข่ายเป็นเรื่องคุ้มค่า
มองระยะสั้น การแซงก็เกิดขึ้นได้ครับ ขึ้นกับนิยามว่า "มี" คืออะไร อย่างบ้านเราตอนนี้ก็มีเสา LTE ทดสอบอยู่หลายค่าย แต่ยังไม่เปิดบริการทั่วไป หรือถ้านับในเชิงธุรกิจ ต้องครอบคลุมเท่าไหร่จึงเรียกว่ามี เพราะอย่างบ้านเราที่มี TOT3G 2100 มาปีสองปีก็ยังไม่ค่อยมีใครใช้เพราะความครอบคลุมไม่พอ หลายคนยังไม่เรียกว่า "มี" ด้วยซ้ำ
lewcpe.com, @wasonliw
ผมคนนึงล่ะ ที่เรียกว่า"ไม่มี"
user จะได้ใช้ IPv6 บน 3G ไหม
จะได้เรียกใช้งานมือถือจากข้างนอกเข้ามาที่มือถือตัวเองได้สักที
ไม่มีข้อกำหนดไว้ครับ
แต่ AIS เคยระบุว่าในเครือข่าย 3G จะเปิด IPv6 ทั้งหมด อันนั้นก็เป็นไปตามแผนการภายในของ AIS เอง
lewcpe.com, @wasonliw
พิมพ์ผิด เรื่องๆ > เรื่อยๆ
"เทคโนโลยี 4G ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่องๆ ในทุกวันนี้เป็น LTE ทั่วโลกนิยมใช้งานมันบน"
ผมไม่เข้าใจทำไมใช้รูป Nokia
สงสัยอีกนิดนึง ทำไม Truemove H ก็มีคลื่น 850 ตั้ง 15 MHz อยู่แล้ว ทำไมต้องเอาคลื่น 2100 อีกอ่ะ มือถือรุ่นใหม่ๆก็รองรับทุกคลื่นอยู่แล้วนี่
ไม่ทุกรุ่นครับ โทรศัพท์ผมเองก็ไม่เก่าแต่รองรับ 900MHz โดยไม่รองรับ 850MHz ครับ อีกทั้งเรื่องของความเสถียรของสัญญาณและประสิทธิภาพครับ
ประสิทธิภาพของ 2100 คือมีคลื่น ~2100 ลูกต่อวินาที ขณะที่ 850 มีคลื่นเพียง ~850 ลูกต่อวินาทีครับ แต่ละลูกก็บรรจุข้อมูลได้เท่า ๆ กันดังนั้นมันจึงส่งข้อมูลได้มากกว่าเกินเท่าตัวต่อหนึ่งวินาทีทีเดียว
ส่วนเรื่องระยะครอบคลุมสัญญาณ ตามที่เราเคยเรียนคือคลื่นความถี่ต่ำจะวิ่งไปได้ไกลว่าคลื่นความถี่สูง (ลองนึกภาพเชือกมาวางเป็นรูปคลื่นห้าลูกเทียบกับคลื่นสามลูกในระยะ 1 เมตรนะครับ เราจะเห็นว่าคลื่นห้าลูกใช้ความยาวเชือกมากกว่า ดังนั้นถ้าเชือกยาวเท่ากันเราจะวางเชือกของคลื่นห้าลูก/1 เมตรได้สั้นกว่า)
เพราะฉะนั้น 850 ได้เปรียบเรื่องระยะทำการจริงครับ แต่เป็นในส่วนของพื้นที่ที่มีคนใช้น้อย เนื่องจากเสาสัญญาณต่อต้นจะรองรับผู้ใช้ได้จำกัด และแบนด์วิทของเสาเองก็มีจำกัด ผู้ใช้ยิ่งมากความเร็วก็ยิ่งตก กลับกลายเป็นว่าระยะทำการใกล้อย่าง 2100 ที่เหมือนบีบให้ต้องติดตั้งเสาถี่ ๆ กลับเป็นฝ่ายได้เปรียบในพื้นที่ที่คนใช้มากกว่าเพราะผู้ใช้ต่อเสาน้อยกว่า (แต่ต่างจากเสา 850 ที่ลดความแรงสัญญาณยังไงผมไม่ทราบนะ)
และที่สำคัญที่สุดคืออุปกรณ์ที่รองรับ 3G เกือบทั้งหมดรองรับ 2100 ขณะที่ 850 และ 900 นั้นมักเป็นรุ่นเฉพาะแยกกัน หรือราคาแพงพอที่จะทำให้รองรับ 850/900 พร้อมกันไปเลยครับ
ชอบวิธีการเปรียบเทียบครับ ปรบมือให้ :)
น้อมรับครับ (>_<)
อ่อ พอเก็ตละ ขอบคุณครับ
ชัดเจนดีครับ เห็นภาพ
ผมรู้อยู่แล้ว แต่เห็น user อธิบายดีๆแบบนี้ ยกย่องเลยครับ
ขอบคุณครับ (>_<)
ผ่านไปปีกว่าๆ ผมขอเสริมข้อมูลอีกนิดแล้วกันครับ จากย่อหน้านี้
จริงๆ เรื่องประสิทธิภาพกับระยะทำการผมก็พิมพ์ไว้ทั้งสองเรื่องแล้วนะครับ ยังสงสัยตัวเองอยู่ว่าไปใส่ (แต่ต่างจากเสา 850 ที่ลดความแรงสัญญาณยังไงผมไม่ทราบนะ) ไว้ได้ยังไง
กรณีที่เราเอาเสา 850 มาลดกำลังส่งให้ได้ระยะทำการเท่ากับ 2100 เพื่อติดตั้งเสาถี่ๆ เหมือนกันแล้ว จะทำให้เสาต้นแต่ละต้นของทั้ง 850 และ 2100 มีระยะทำการเท่ากัน ในพื้นที่เท่าๆ กันจะต้องใช้จำนวนเสาเท่าๆ กัน ส่วนที่ต่างกัน (ที่ผมวงเล็บไว้ว่าต่างยังไงไม่ทราบนั่นแหละครับ) ก็จะกลับไปที่ย่อหน้าที่สองครับ คือเสา 2100 ยังส่งข้อมูล ~2100 ลูกต่อวินาที แต่ 850 ก็จะยังคงส่งได้แค่ ~850 ลูกต่อวินาทีเหมือนเดิมครับ สมมติว่ามีคนอยู่ในพื้นที่เสานั้น 85 คน ทุกคนสั่งดาวน์โหลดข้อมูลพร้อมกัน หากใช้เสา 850 แต่ละคนจะได้รับข้อมูล 10 ลูกคลื่นสัญญาณต่อวินาที แต่ถ้าเป็นเสา 2100 แต่ละคนจะได้รับข้อมูลมากกว่า 24 ลูกคลื่นสัญญาณต่อวินาที ทำให้สามารถรับข้อมูลได้เร็วกว่าเกินเท่าตัว
อันนี้ผมยกตัวอย่างในกรณีมีช่องสัญญาณเดียวนะครับ แต่ทั้งนี้เสาจริงๆ ไม่ได้มีช่องสัญญาณเพียงช่องเดียว ขึ้นกับความกว้างของช่วงสัญญาณด้วย (ที่กรณีประมูลกันไป 15 MHz นั่นแหละครับ) แต่ที่แน่ๆ คือหากใช้เทคโนโลยีเดียวกัน ช่องสัญญาณกว้างเท่ากัน (แบบทรูมูฟเอช ที่มี 850 15MHz และ 2100 15MHz) ตัว 2100 ควรจะรองรับผู้ใช้งานจำนวนมากได้ดีกว่าครับ
ผมอ่านข่าว เรื่องฟ้องขอระงับการประมูล 3G ขององค์กรอิสระ นี่เรื่องเป็นมายังไงครับไม่ค่อยเข้าใจ
เขาหวังดีจริงๆหรือมีเบื้องหลังครับ
อ่านแล้วเข้าใจขึ้นเยอะเลย แต่ยังไงผมก็คิดว่าคลื่น 850/900 เป็น 3จีเทียม เพราะ 3จีที่ไหนมันวิ่ง 64kbps, 128kbps, 380kbps
ข้อแรกนะครับ 3G นี่คือข้อกำหนดของ 3G
ซึ่งเป็นแค่ข้อกำหนดของตัวที่นำมาใช้นะครับ โทรศัพท์ 3G 2100 แท้ ๆ ยอดนิยมอย่าง Nokia N70, N73 สามารถรองรับความเร็วดาวน์โหลดได้ "สูงสุด" เพียงแค่ 3xxkbps เท่านั้นครับ
มันไม่มีหรอกครับ 3G เทียมน่ะ ที่เราเห็นว่า 3G XXMbps นั่นมันเป็นรุ่นพัฒนาเพิ่มเติมของ 3G ครับ เพิ่มความสามารถนู่นนี่นั่น จนถึง LTE ที่เป็น 3G เหมือนกันแต่ตีเนียนเรียก 4G ไปเรียบร้อยแล้ว
ถ้าจะมีอะไรที่สมควรเรียก 3G เทียมได้ น่าจะเป็น EDGE+ (หรืออะไรสักอย่าง ผมไม่มั่นใจเรื่องชื่อ) ที่ทำให้วิ่งได้เร็วและสามารถใช้เน็ตได้แม้ยามคุยโทรศัพท์นั่นแหละครับ แต่ทุกคนก็เรียกมันว่า 2G เลยไม่เกิดปัญหา
ส่วนเรื่องวิ่ง 64, 128, 380kbps นะครับ ผมเชื่อว่าแม้เราจะ "ได้ใช้" 3G 2100 แล้ว เราก็ยังติดความเร็วนี้อยู่แน่นอนครับ เพราะปัญหาไม่ใช่ 3G 850/900 มันวิ่งได้แค่นั้น แต่เพราะมันต้องสงวนทรัพยากรไว้เค้าเลยตั้งใจบีบครับ การได้ 3G 2100 ทำให้ได้ทรัพยากรเพิ่มมาก็จริงแต่ไม่ได้หมายความว่าได้มาแบบไม่มีขีดจำกัด เราอาจจะได้ FUP ที่สูงขึ้นแต่เชื่อว่าติดแน่นอนครับ ถ้ามีคนเอาไปเล่นบิทอย่างเดียวแค่ไม่กี่คน ทรัพยากรของระบบไร้สายมีเท่าไหร่ก็ไม่พอหรอกครับ
มีครับ 3G ยุโรปบางประเทศ มีแพคเกจ 32Kbps ด้วย
คือตัว โทรศัพท์มันส่งได้ ทำความเร็วได้ แต่ในช่วงที่มันทำความเร็ว มันก็กินช่องสัญญาณ การสร้างแพ็กเกจที่ความเร็วต่ำ กินช่องสัญญาณน้อยๆ ได้ทำให้ผู้ให้บริการตั้งราคาต่ำมากๆ ได้ เช่นว่า แพ็กเกจใช้งานไม่จำกัด 180 บาท (ราคาในยุโรป เทียบกับค่าครองชีพนี่ต่ำมาก ใช้ได้แทบทุกคน) กันได้
lewcpe.com, @wasonliw
เรื่องๆ > เรื่อยๆ
แล้วก็ตรงส่วนของ USO ธุรกันดาร = ทุรกันดาร ครับ :)
@ Virusfowl
I'm not a dev. not yet a user.
แล้วถ้าสมมติการประมูลอะไรต่างๆเรียบร้อย 3G 2100 Mhz จะครอบคลุมแค่ในเมืองใหญ่ๆที่ประชากรหนาแน่นรึเปล่าครับ
เพราะ 2100 ส่งคลื่นได้ไม่ไกลมาก คุณสมบัติทะลุทะลวงก็น้อยกว่า 850/900
ถ้าประมูลมาเรียบร้อยผู้ให้บริการก็คงจะใช้ 2100 แค่ในเมืองใหญ่ๆ
แล้วก็ใช้ 850/900 ต่อไปในแถบนอกๆอย่างนี้รึเปล่าครับ
ตามใบอนุญาต จะต้องครอบคลุมประชากร 50% ในสองปี และ 80% ในสี่ปีครับ
ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขคร่าวๆ อีกสักพักคงมีกระบวนการนับว่าจะยึดการสำรวจไหนว่าประชากรอยู่ตรงไหนบ้าง และกระบวนการวัดความครอบคลุมเป็นแบบใด ต้องเอารถวิ่งตรวจแค่ไหน ฯลฯ
lewcpe.com, @wasonliw