ในปีนี้ LG มีลักษณะการทำตลาดแปลกๆ เล็กน้อย ถ้าย้อนความกัน ในปีที่แล้ว ตัวท็อปต้นปีจะเป็น Optimus 4x HD ซึ่งเป็นรุ่นต่อยอดของ Optimus 2x ตัวท็อปต้นปี 2011 แต่มาในปีนี้ LG กลับใช้ตระกูล Optimus G (หรือ G) ที่แตกสายออกมาใหม่เมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว เป็นรุ่นท็อปขายปลายปี และเป็นพื้นฐานของ Nexus 4 มาต่อยอดจนกลายเป็นตัวท็อปในปี 2013 อย่าง Optimus G Pro ที่เราจะได้เห็นกันรีวิวนี้ครับ
ตัว Optimus G Pro (ต่อไปนี้ขอเรียกว่า G Pro ละกัน สั้นๆ) เองถูกซอยแบ่งออกเป็นสองรุ่นย่อย คือรุ่นที่จำหน่ายกับ NTT DoCoMo ในญี่ปุ่นที่ใช้ซีพียู Snapdragon S4 Pro แต่หลังจากนั้นไม่นานก็กลับมาเปิดตัวในประเทศเกาหลีใต้โดยเปลี่ยนดีไซน์ให้แตกต่างจากรุ่นประเทศญี่ปุ่นพอสมควร และเมื่อมองกันในด้านสเปค ก็ดันกลายเป็นโทรศัพท์ที่ใช้ ชิป Snapdragon 600 รุ่นแรกของโลก ซะอย่างนั้น บ้านเราเอารุ่นเกาหลีใต้เข้ามาจำหน่าย ดังนั้นสเปคจึงอิงไปทางของเกาหลีใต้มากกว่ารุ่นญี่ปุ่นครับ
แน่นอนว่าเมื่อตอนงานเปิดตัว LG Optimus G Pro ต่อสื่อมวลชนเมื่อเดือนก่อน LG ไทยก็ให้เครื่องติดกลับบ้านไปด้วย ก็เลยมีโอกาสมารีวิวให้ดูกันตามนี้ครับ
แต่ก่อนจะเข้ารีวิว ต้องบอกก่อนว่าในประเทศไทย แยกจำหน่าย G Pro ออกอีกเป็น 2 รุ่นย่อยอีกเหมือนกัน คือ E988 (ที่จะได้เห็นในรีวิวนี้) และ E989 โดยทั้งสองรุ่นต่างกันที่ภาครับสัญญาณ WCDMA ที่รุ่น E988 จะรองรับเฉพาะ 900/1900/2100 MHz (AIS) ส่วนรุ่น E989 รองรับเฉพาะ 850/1900/2100 MHz (DTAC, My, TrueMove H) ครับ แต่ทั้งคู่รองรับ LTE ที่คลื่น 1800/2600 MHz ยังไงก็ใช้ LTE 2100 MHz ของค่ายทรูไม่ได้อยู่ดี เพราะงั้นใครที่จะซื้อ เช็ครุ่นกันดีๆ ก่อนออกจากร้านนะครับ
LG G Pro ตั้งแต่แวบแรกที่ผมเห็น ผมว่ามันเหมือน Galaxy Note 2 อย่างไม่ผิดเพี้ยน นี่ถ้าเปลี่ยนโลโก้เป็นซัมซุง ก็คงไม่มีแยกออกแน่นอน แต่ถึงอย่างนั้น G Pro ก็มีจุดต่างที่แตกต่างกับซัมซุงอยู่หลายอย่างเช่นกัน อีกทั้งวัสดุโดยรวมดูดีกว่าซัมซุงซะด้วยซ้ำครับ
ด้านหน้าประกอบไปด้วยลำโพงสนทนา เซนเซอร์รับแสง กล้องหน้าขนาด 2.1 ล้านพิกเซล หน้าจอ 5.5 นิ้วแบบ True HD IPS+ ปุ่มเมนู และปุ่มย้อนกลับที่โดนซ่อน และปุ่มกลับหน้าหลักที่เป็นปุ่มกดจริง รอบๆ ปุ่มกลับหน้าหลักจะมีการบุช่องปล่อยไฟ LED เพื่อให้ปุ่มนี้ทำหน้าที่เป็น Notification Led ในตัวครับ
ด้านหลังประกอบไปด้วยลำโพงหลัก กล้อง 13 ล้านพิกเซล และแฟลช LED 1 ตัว
ด้านบนมีไมโครโฟนตัวที่ 2 ช่องสัญญาณ IR-Blaster และช่องต่อหูฟัง
ด้านล่างจะเป็นช่อง Micro USB และไมโครโฟนหลัก
ด้านซ้ายจะประกอบไปด้วยปุ่ม Quick Launch (ถูกตั้งค่าให้เป็น LG Quickmemo เป็นค่าเริ่มต้น ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนได้) และปุ่มปรับเสียง ด้านขวาเป็นปุ่ม Power เพียวๆ และมีช่องสำหรับงัดฝาหลังออกมาได้
เมื่อแงะฝาหลังออกมา เราจะเจอกับแบตเตอรี่ขนาด 3140 mAh สล็อต Micro SD Card และ Micro SIM ที่ต้องถอดแบตออกก่อนเช่นเคย
ด้วยความที่ LG ทำ Nexus Phone ให้กูเกิล อาถรรพ์ของคนทำ Nexus Phone ก็เลยมาเปลี่ยนแปลงสภาพจิตใจของ LG อย่างหนัก จนทำให้ Android 4.1 ของ LG Optimus G ถูกปรับแต่งออกมาดีมาก กลายเป็นรอมที่เสถียรที่สุดเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้านี้ และแน่นอนครับเมื่อมาเป็น G Pro LG ก็แต่งรอมใหม่เช่นกัน ความเสถียรที่เคยมีใน Optimus G ยังอยู่ครบไม่หายไปไหนครับ
ลูกเล่นของซอฟต์แวร์ของ LG คงหนีไม่พ้นการเปลี่ยนธีมของระบบปฏิบัติการที่ยี่ห้ออื่นยังทำได้ไม่เทียบเท่า โดย LG สามารถเปลี่ยนได้ตั้งแต่ไอคอนของแอพพลิเคชัน หน้าตาของวิดเจ็ต และคีย์บอร์ดกันเลยทีเดียวครับ แต่ทั้งนี้ธีมไม่สามารถเพิ่มได้นะครับ LG มีให้เลือกแค่ 4 ธีมเริ่มต้นเท่านั้น
ลูกเล่นอื่นๆ ที่ LG ใส่มาด้วย ก็คงหนีไม่พ้น Smart Pause (คุ้นๆ มั้ย 555) ที่เมื่อเราบิดหน้าหนีจากจอ วิดีโอที่เล่นอยู่ก็จะหยุดลง และจะกลับมาเล่นต่อเมื่อเราหันหน้ากลับมาอีกครั้ง นอกนั้นก็คงเป็นในเรื่องของฟีเจอร์ Q Slide ที่ปรับปรุงจาก Optimus G เดิม โดย Q Slide ตัวใหม่ สามารถรันแอพพลิเคชันได้พร้อมกันถึง 3 แอพพลิเคชัน จะจดโน้ต ดูเว็บไซต์ หรือเล่น Ingress พร้อมดู MV เพลง ไปพร้อมๆ กัน ก็ทำได้แน่นอนครับ
ถือเป็นจุดตายของ LG G Pro จริงๆ เพราะเสียงที่ออกมาจากลำโพงหลักของ LG G Pro แห้งมาก และเบาด้วย เผลอๆ เหมือนกับโทรศัพท์จีนแดงเมื่อสมัยก่อน ที่มีดีแต่ความดัง แต่ Stage ของเสียงไม่ได้ แต่กลับกันเมื่อเสียบหูฟัง ผู้ใช้จะสามารถตั้งค่า Equalizer ได้ โดยสามารถปรับจูนให้ได้เสียงตามที่เราต้องการได้ด้วยเมนู Custom ส่วนใครที่ไม่เซียน LG ก็มีให้เลือกถึง 5 แบบ แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน นอกจากนี้ยังมี Dolby Mobile มาให้เลือกด้วย สำหรับคนที่อยากได้เสียงแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยครับ
เอาง่ายๆเรื่องเสียงถือว่า G Pro สอบผ่านในระดับหนึ่งครับ
เรื่องกล้องถือว่าเป็นจุดตายอีกจุดของ G Pro ก็ว่าได้ ตัวกล้องหลักของ G Pro มีขนาด 13 ล้านพิกเซล ใช้โมดูลตัวเดียวกันกับ Optimus G แต่เวลาใช้งานจริง ถ่ายภาพออกมาได้ยังไม่ดีเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับของ Galaxy S4 ที่มีขนาดเซ็นเซอร์เท่ากัน
แต่สิ่งที่ให้อภัยได้ก็คือลูกเล่นต่างๆ ของ G Pro ซึ่งมีลูกเล่นที่เยอะพอสมควร โดยเฉพาะลูกเล่น VR Panorama หรือ Photoshpere เวอร์ชัน LG ทำเอง (G Pro ปัจจุบันรัน Android 4.1 นะครับ) ที่ทำให้เราถ่ายภาพ 360 องศาแบบ Google Nexus ได้ แถมอัพโหลดขึ้นไปไว้บน Google+ แบบเนียนๆ ได้อีกด้วยนะครับ (ตัวอย่างเวลาขึ้นไปอยู่บน Google+)
ลูกเล่นนอกนั้นถือว่าพอๆ กับตัวท็อปรุ่นอื่นๆ จึงไม่น่ามีจุดแปลกใจตรงไหนครับ
รูปทั้งหมดอยู่ใน SkyDrive เช่นเคยครับ
การใช้งานจริงของ G Pro ถือว่าเริ่มลำบากพอสมควรแล้วสำหรับคนมือเล็ก เพราะขนาดของตัวเครื่องที่ใหญ่มาก แถมวางจอแบบชิดขอบอีก ทำให้ส่วนที่เป็นอุ้งมือไปโดนจอบ่อยๆ จนพาลทำให้เรารำคาญได้ส่วนหนึ่ง (ขนาดผมเป็นคนมือใหญ่ยังมีโดนบ้างเลยครับ) แต่เรื่องประสิทธิภาพถือว่าทำได้ไม่เลวพอสมควร ตัวเครื่อง G Pro นั้นใช้ Snapdragon 600 แบบเดียวกับ HTC One แต่มีคล็อกน้อยกว่า และตัวระบบจัดการประสิทธิภาพได้น้อยกว่า HTC One ซึ่งทำให้ผมที่ใช้ HTC One อยู่ถึงกับงงว่า มันใช่ซีพียูตัวเดียวกันหรือไม่ครับ
อีกอย่างที่เป็นเรื่องน่ารำคาญของ G Pro ก็คือ ระบบไม่ได้ตั้งให้คายแรมเองโดยอัตโนมัติ ทำให้เวลาใช้งานหนักๆ หรือรันหลายๆ แอพฯ พร้อมๆ กัน ก็จะเกิดภาวะ overload ไปโดยปริยาย ซึ่งจังหวะนั้นแบตเตอรี่จะลดลงอย่างเร็วมาก ถือเป็นเรืองที่ LG ต้องเอาไปปรับปรุงพอสมควรครับ
ส่วนเรื่อง Benchmark สำหรับรีวิวนี้ขอข้ามนะครับ เพราะผมเทสประมาณ 15 รอบได้ (เทสจนแบตหมด - -) แต่คะแนนที่ได้กลับแกว่งมาก เลยตัดสินใจขอข้ามไปนะครับ
แบตเตอรี่ของ G Pro มีขนาด 3140 มิลลิแอมป์ แบบ SiO+ ที่ LG เปลี่ยนมาใช้กับ Optimus G เป็นรุ่นแรก เห็นขนาดแบตเยอะแบบนี้แต่เอาเข้าจริงๆ ใช้งานได้ไม่ข้ามวันเหมือน Galaxy S4 ครับ อย่างมากอยู่ได้ถึงช่วง 4-5 ทุ่ม จากที่ถอดสายในช่วงเช้าครับ
LG Optimus G Pro หรือ LG G Pro น่าจะเหมาะกับคนที่อยากได้โทรศัพท์มือถือจอใหญ่ๆ มีลูกเล่นเยอะกว่าคู่แข่ง แต่เมื่อมองกันในด้านประสิทธิภาพและราคา ถือว่า LG เดินมาได้แบบผ่ากลางพอสมควร ด้วยราคาที่ถูกกว่าคู่แข่ง แถมยังได้สเปคที่ใหม่กว่าหลายๆ รุ่น น่าจะทำให้หลายๆ คนเขวมาใช้ตัวนี้พอสมควร
แต่ยังไงก็ตาม จังหวะที่ LG เอามาขายในตลาดเอเชียนั้นถือว่าผิดไปหน่อย เพราะเร็วๆ นี้ก็จะมี G2 เปิดตัว จึงทำให้รุ่นนี้ดูเหมือนขายขัดตากันไปเฉยๆ ถ้าใครอยากรอ ก็คงต้องรอกันอีกสักพักใหญ่ๆ กว่า LG จะเริ่มขายครับ
Comments
รีวิวกำลังดีเลยครับ ครบครันครอบคลุม
มีชี้ข้อดี ข้อเสีย ไม่อวยเกิน ซึ่งผมเองก็เห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่เลย
ราคาแถวๆนี้ ก็มี Z, ZL, Butterfly, GPro นับว่าสูสีครับ
noti เจ๋งมากกก
blog
น่าจะพูดถึงจอภาพซักหน่อยครับ
หน้าตาเหมือน SS แต่ทำไมผมรู้สึกว่ามันดูดีกว่า SS น่ะ
Q Slide นี่คืออันไหรหรือคับ? ดูภาพแล้วงง
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
ซึ่งจังหวะนั้นแบตเตอรี่จะลดลงอย่างเร็วมาก ถือเป็นเรืองที่ LG ต้องเอาไปปรับปรุงพอสมควร- ครับ << เรื่องตกไม้เอกครับ
@ Virusfowl
I'm not a dev. not yet a user.