Tags:

ในอดีตการพัฒนาประเทศเริ่มจากการทำการเกษตรให้เข้มแข็ง ปัญหาพื้นฐานของศตวรรษที่ 19 และ 20 คือ การหาอาหารเลี้ยงประชาชนให้พอเพียง หลังจากศตวรรษที่ 19 โลกเริ่มก้าวสู้การปฏิวัติอุตสาหกรรม ผลคือ การผลิตสินค้าจากโรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ การกระจายสินค้าออกสู่ตลาดอย่างทั่วถึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นการสื่อสารคมนาคมจึงได้ถูกปรับปรุงอย่างรวดเร็วทั่วโลก อันที่จริงแล้วความสำคัญของการสร้างถนนเพื่อการเดินทางอย่างรวดเร็วนั้นเป็นที่ประจักษ์ตั้งแต่สมัยโรมัน หรือสมัยราชวงศ์ฉินและฮั่น รวมทั้งสมัยโตกุกาว่าในญี่ปุ่น แต่ยังมุ่งเน้นการใช้งานในแง่การสื่อสารเพื่อการปกครองมากกว่า แต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้การสร้างระบบคมนาคมเป็นหัวใจสำคัญยิ่งที่จะเชื่อมโยง แหล่งผลิตวัตถุดิบ โรงงานอุตสาหกรรม คลังสินค้า ตลาด และ ลูกค้าเข้าด้วยกัน เริ่มจากระบบรถไฟในสมัยวิคตอเรียที่กระจายทั่วยุโรป ระบบถนนที่ถูกผลักดันโดยการสร้าง เอาโตบาห์นในเยอรมันและระบบ อินเตอร์เสตทไฮเวย์ในสหรัฐ ท่าเรือระดับโลกในหลายประเทศ ประเทศที่มีระบบคมนาคมที่ดีจะมีค่าขนส่งต่ำทำให้เกิดขีดความสามารถในการแข่งขันที่ดีกว่าประเทศอื่น ประเทศไทยเราเองก็ทุ่มเทงบประมาณอย่างมหาศาลในการสร้างระบบขนส่งคมนาคมมาจนทุกวันนี้ ทำให้ไทยมีระบบการขนส่งที่ดีขนาดหนึ่ง อย่างไรก็ดีโลกได้เริ่มเปลี่ยนไป แนวทางการพัฒนาเหล่านี้ที่เคยได้ผลจะกลายเป็นของล้าสมัย

การมาถึงของเทคโนโลยีใหม่ๆ หลายประการ ได้เปลี่ยนแปลงโลกโดยสิ้นเชิง โดยมีจุดเริ่มต้นจาก การสร้างเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ นำไปสู่การสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การสร้างคอมพิวเตอร์พกพา โน๊ตบุ๊กราคาถูก โทรศัพท์ที่มีเน็ตและ GPS การสร้างบริการต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต นวัตกรรมเหล่านี้ทำให้เกิดธุรกิจและโมเดลทางธุรกิจที่แปลกใหม่มากมาย อาทิ เช่น

  1. การขาย PC ราคาถูกผ่านอินเทอร์เน็ตของเดลล์ที่ใช้ความเหนือกว่าในด้าน logistics เข้ามาสู้ด้านราคาและเสนอให้ผู้ใช้ออกแบบข้อกำหนดให้ตรงความต้องการได้ง่าย

  2. การทำประมูลแบบทั่วโลกของอีเบย์ การขายของที่ใครซื้ออะไรจากที่ไหนก็ได้ทั่วโลกของอเมซอน

  3. การสร้างระบบโฆษณาแบบปฏิวัติวงการของ Google ทำให้เกิดบริการฟรีมหาศาลตามมา เช่น Gmail, Google Maps หรือแบบไทยๆ เช่น Pantip, Sanook, Kapook

  4. การสร้างสังคมเสมือนออนไลน์ ระบบเครือข่ายสังคม (social network) ของ Facebook , Myspace, Hi5

  5. Interactive entertainment เช่น เกมส์ออนไลน์ที่เด็กติดทั้งเมือง ทีวีล้านช่องของ YouTube

  6. โทรถามปัญหา support line ที่สหรัฐทำไมติดสำเนียงแขกที่แถวบังกะลอร์ตอบมาทุกที

ผลกระทบของเทคโนโลยีเหล่านี้ คือ

  1. คนใช้เวลากับการท่องอินเทอร์เน็ตมากขึ้นทุกที ทำให้แนวโน้มในการบริโภค content บริการสาระแบบดิจิตอลและการโฆษณาเริ่มเคลื่อนย้ายมาบนอินเทอร์เน็ต

  2. เปิดให้เกิดเสรีภาพทางความคิดแก่มนุษยชาติ ทุกคนสามารถสร้างหนัง เขียนข่าว แต่งนิยาย และเผยแพร่ให้คนนับล้านดูได้อย่างง่ายดาย (เช่นบทความนี้)

  3. ทำให้เกิดการก้าวกระโดดแห่งการเรียนรู้ เนื่องจากความรู้ทั่วหล้าหาค้นได้ อ่านได้ ดูได้ อยากไปเรียน MIT หรือ Standford ก็เรียนได้ที่บ้าน ใครเก่งไม่เก่งขึ้นกับคนนั้นๆ มากขึ้น เด็กอาจเก่งกว่าครูในพริบตา

  4. ทำให้เกิดการเชื่อมโยง สร้างทีม และใช้พลังทางปัญญาแก้ปัญหาร่วมกันมากขึ้น แทนที่จะทำงานคนเดียว เราสามารถเรียกรวมคนอย่างรวดเร็ว แก้ปัญหาและแยกย้ายได้ง่าย social network ทำให้การเข้าถึงผู้ชำนาญการเกิดง่ายขึ้น การเติบโตทางปัญญาขยายแบบ N^2 เนืองจากการต่อกัน คน N คน จะเกิดกการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายได้ N(N-1) หรือ N^2-N ซึ่งการเติบโตแบบนี้ทำให้เกิดการระเบิดของภูมิปัญญาแบบที่เรียกว่า collective intelligent through collaboration

  5. แนวโน้มที่สำคัญ คือ สินค้าไอทีเริ่มกลายเป็น Life Style Product คนยินยอมซื้อของที่แพงกว่าและด้อยความสามารถกว่าเนื่องจากความสวยงามของผลิตภัณฑ์ เหมือนรถยนตร์ ซึ่งความแตกต่างของ value ในรุ่นเดียวกันไม่ค่อยมากแล้วรูปลักษณ์และการโฆษณาจึงมีบทบาท ตัวอย่าง คือ ผลิตภัณฑ์ของ Apple, SONY, Samsung ครับ

การเปลี่ยนแปลงดังนี้ทำให้บทบาทและสัดส่วนใน value chain ของการขนส่งจริงลดลง เนื่องจากบริการนั้นทำผ่านอินเทอร์เน็ตได้โดยมีค่าใช้จ่ายน้อยและถึงกันทั่วโลก นอกจากนั้นคุณค่าที่เป็นเงินจากผลิตภัณฑ์เองจากการผลิตสินค้าลดลง แต่เพิ่มในส่วนนวัตกรรมการออกแบบและการทำการตลาด สรุป คือ คนทั้งโลกเริ่มต่อสู้กันด้วยสติปัญญาแทนการต่อสู้กันด้วยทรัพยากรและความสามารถในการผลิตสินค้าในราคาถูก ทำให้เกิดการเคลื่อนไปสู้ knowledge economy มาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่แล้ว

การแข่งขันในโลกแห่งความรอบรู้และนวัตกรรมนั้น หัวใจ คือ อินเทอร์เน็ต ตัวอย่างเช่น ในขณะที่บางประเทศเริ่มการบริการแบบวิดีโอ ผ่านมือถือ ประเทศไทยจะทำไม่ได้เพราะเราไม่มีโครงสร้างพื้นฐานทางไอทีที่ดีพอ

ถนนแห่งการแข่งขันในอนาคต คือ เครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครับ ไม่ใช่ถนนแปดเลนแบบเก่าๆอีกแล้ว แต่สัดส่วนการลงทุนทางภาครัฐให้อินเทอร์เน็ตถนนทางปัญญาสู่อนาคต ยังเทียบไม่ได้เลยกับการลงทุนสร้างถนนแบบเดิมๆ

ข้อมูลให้ดูเล่นครับ กรมทางของบไปปีละกว่าห้าหมื่นล้านบาท สะพานลอยแต่ละอันราคา 200-400 ล้านบาทนะครับ ผมไม่ทราบว่าเราลงทุนขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและระบบที่เกี่ยวข้องปีละเท่าไหร่ ครับ

เราจะทำอะไรและทำอย่างไรดี? ติดตามตอนต่อไปครับ

Get latest news from Blognone

Comments

By: rbus
ContributoriPhoneAndroidUbuntu
on 30 July 2008 - 11:53 #59964

ดีครับ ตั้งตาตั้งหัวตั้งตัว รออ่านอยู่ครับ
ถามหน่อยสิครัย tag 'HPC' นี้คือ High-performance computing เหรอครับ
High-performance computing

By: plugin
Android
on 1 August 2008 - 15:49 #60220

มารออ่านอีกหนึ่งคนครับ

By: putchonguth on 1 August 2008 - 20:10 #60253

ช่วยเขียนบ้างก็ได้ครับถ้ามีไอเดียอะไรก็ร่วม share ได้ครับ