ในยุคนี้ ปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันรณรงค์ สำหรับวงการไอทีเองก็มีหลายบริษัทต่างพากันชูผลิตภัณฑ์รักษ์โลกสีเขียวและเรียกติดปากกันว่า Green IT * ไม่เว้นแม้แต่วงการซูเปอร์คอมพิวเตอร์ซึ่งแต่เดิมต่างเน้นพลังในการประมวลผลที่กินไฟอย่างไม่เกรงใจธรรมชาติ มีอยู่รุ่นหนึ่งกินไฟมากจนทำให้ไฟตกกันทั้งประเทศได้เลย และการใช้ไฟฟ้าอย่างมหาศาลนี้ย่อมหมายถึงการปล่อย CO2 ต้นตอแห่งปัญหาโลกร้อนตามมาด้วย แต่ข้อมูลล่าสุดจาก Green500 ได้ชี้ให้เห็นว่านักออกแบบและพัฒนาซูเปอร์คอมพิวเตอร์บางรายให้ความสำคัญกับพลังประมวลผลที่คำนึงควบคู่ไปพร้อมกับการประหยัดพลังงานไฟฟ้า
Green500 ได้แสดงข้อมูลการกินไฟของซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีพลังในการประมวลผลสูงที่สุด 500 อันดับแรก จัดโดย TOP500 ซึ่งใช้หน่วย FLOPS เพื่อแสดงถึงพลังประมวลผลของคอมพิวเตอร์ ยิ่งมีค่ามากยิ่งหมายถึงประมวลผลได้เร็ว ส่วนทาง Green500 ใช้หน่วย FLOPS ต่อวัตต์ (FLOPS/W) เพื่อวัดพลังการประมวลผลต่อการกินไฟ 1 วัตต์ ค่านี้ยิ่งมากก็แปลว่าสมรรถนะในการประมวลผลคุ้มค่ากับการกินไฟ หรือใช้พลังงานไฟฟ้าแค่ 1 วัตต์ก็ยังสามารถประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว
มาดูซูเปอร์คอมพิวเตอร์ประหยัดไฟมากที่สุด 5 รายการแรก ** โดยเราจะเรียกชื่อตามชื่อหน่วยงาน
ข้อมูลที่น่าสนใจคือ 16 รายการแรกใน Green500 เป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์จาก IBM โดยอันดับ 1 ครองแชมป์ร่วมกันถึง 2 รายคือ IBM Germany กับ Fraunhofer ITWM ด้วยการใช้พลังงาน 488.14 MFLOPS/W ส่วนอันดับถัดมาเป็นของ Roadrunner ซึ่งครองแชมป์อันดับ 1 ใน TOP500 ด้วยความเร็วระดับ 1 PetaFLOPS ถึงแม้ Roadrunner จะกินไฟมากกว่า 2 ล้านวัตต์ แต่เมื่อเทียบกับสมรรถนะที่ได้มาก็สามารถประหยัดไฟไปถึง 437.43 MFLOPS/W มีข้อมูลที่น่าสนใจคือซูเปอร์คอมพิวเตอร์ทั้ง 3 เครื่องนี้ใช้โปรเซสเซอร์ Cell ส่วน 50 รายการแรกของ Green500 เป็นเครื่องตระกูล IBM BlueGene ถึง 33 รายการ ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า IBM พัฒนาซูเปอร์คอมพิวเตอร์ประหยัดไฟได้ตามที่ IBM เคยตั้งเป้าเอาไว้เมื่อ 10 ปีก่อน
อันดับสุดท้ายใน Green500 ตกเป็นของ Lawrence Livermore National Laboratory ด้วยสมรรถนะ 4.06 MFLOPS/W แต่ข้อมูลที่น่าสนใจคืออันดับที่ 499 เป็นของ Earth Simulator จาก NEC ตั้งอยู่ญี่ปุ่น ด้วยสมรรถนะ 5.6 MFLOPS/W หรือ 35.86 TFLOPS ปัจจุบันติดอันดับ 49 ใน TOP500 แต่เคยได้แชมป์อันดับ 1 ต่อกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ถึง 2547 โดยเป็นเครื่องที่กล่าวกันว่าเปิดเครื่องทีแล้วไฟตกทั้งประเทศ เรียกว่าปิดเปิดเมื่อไหร่ก็เป็นที่รู้กันของประชาชนน่ะครับ
ปิดท้าย ... ประหยัดไฟไม่ใช่แค่ช่วยชาติเท่านั้น แต่เป็นการช่วยโลกทั้งใบเลยครับ แถมยังประหยัดค่าไฟได้อีกด้วย :)
* บริษัทการ์ทเนอร์ยังจัดให้ Green IT เป็นหนึ่งใน Hype Cycle ประจำปี 2008 ** ข้อมูลการจัดอันดับในข่าว อิงตามข้อมูลเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดของเวลานี้
ที่มา - The Register สำหรับท่านที่สนใจสามารถดูการจัดอันดับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ประหยัดไฟ 500 อันดับแรกได้ที่ Green500 และซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีพลังการประมวลผลสูงที่สุด 500 อันดับแรกได้ที่ TOP500
Comments
ที่โค้ดว่า เป็นเครื่องที่กล่าวกันว่าเปิดเครื่องทีแล้วไฟตกทั้งประเทศ เรียกว่าเปิดปิดเมื่อไหร่ก็เป็นที่รู้กันของประชาชนน่ะครับ
ไม่ทราบว่ามีหลักฐานหรือที่มารึเปล่า เพราะดูอ่านแล้วไม่คิดว่าระบบไฟฟ้าจะกระจอกงอกง่อยขนาดนั้น
ปล. เดี๋ยวนี้กินไฟต่ำลงเกือบร้อยเท่าแล้วรึเนี่ย -_-;
อยู่ในที่มาที่ผมแปะไว้ของ The Register แหละครับhttp://www.theregister.co.uk/2008/09/19/green500_super_list/
อยู่ย่อหน้าเกือบสุดท้ายครับ ผมตัดประโยคที่เขาเขียนมาให้อ่านแล้วกันครับ
ผมอ่านตอนแรกผมก็ไม่เชื่อน่ะครับ หรือว่าผมแปลความหมายเขาผิดไปก็ได้ แต่ย่อหน้านี้เขาเกริ่นถึง Earth Simulator ของ NEC เท่านั้น ดังนั้นสรรพนาม it ตัวนี้คงหนีไปไหนไม่ได้นอกจาก Earth Simulator ครับ และประโยคที่ใช้เป็น Simple Present Tense ยิ่งบ่งบอกว่าเป็นข้อเท็จจริงด้วยครับ อย่างไรก็ดี ผมก็ไม่เคยได้ยินข่าวนี้นะครับ หาใน Google ก็ไม่เจอครับ คงต้องถามคนเขียนใน The Register น่ะครับว่าได้ยินมาหรืออ่านมาจากไหน
Sivadon Chaisiri (JavaBoom)
http://javaboom.wordpress.com
My Blog
อาจจะตั้งอยู่ชานเมืองก็ได้มั้งครับ ไม่แน่ใจ แต่ถ้าอยู่ในเขตที่ชุมชนไม่หนาแน่น เรื่องนี้ก็เป็นไปได้
เอ๊ะมันโพสต์ 2 ครั้งน่ะครับ ท่าทางผมกด Post ต่อกัน ลบ comment นี้ไปก็ได้นะครับ
Sivadon Chaisiri (JavaBoom)
http://javaboom.wordpress.com
My Blog
ใครว่า Cell กินไฟ เหอะๆ
เป็นเรื่องที่พูดยากน่ะครับ ถ้าหากหมายถึง PS3 คงต้องดูเกมที่รันบน PS3 ด้วยว่าใช้พลัง Cell คุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน
สำหรับซูเปอร์คอม โดยปกติมันมีงานรันตลอดเลย ดังนั้น มันกินไฟตลอดก็จริง แต่เป็นการกินไฟที่ได้งาน แต่ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ที่ทำงานแบบโต้ตอบ (interactive) หรือมี CPU utilization ขึ้นๆลงๆ มี 0% (หรือเรียกว่า idle) แล้วก็ขยับขึ้นลงที่ 1-50% และก็มีช่วงยุ่งมากๆระดับ 100% อันนี้ต้องคำนึงเรื่องค่าไฟในช่วงเวลา idle น่ะครับ ถ้า idle มากๆ แปลว่ากินไฟแบบปล่อย CO2 โดยไม่ได้งาน ดังนั้น ถ้าหากคอมเรากินไฟต่ำไม่กี่ร้อยวัต ถ้าปล่อยเครื่องค้างไว้โดยไม่มีอะไรให้มันคำนวณ มันก็กินไฟโดยไม่ได้งานครับ ดังนั้น คอมประหยัดไม่ประหยัดไฟดูที่วัตอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องดูที่ผลตอบแทนที่ให้ด้วยครับ
Sivadon Chaisiri (JavaBoom)
http://javaboom.wordpress.com
My Blog
ดูเป็นจำนวน GiB ที่ได้จาก BIT แทนได้ไหมครับ อิอิ
CMDEVHUB
เขียนเอามันส์ ลองเข้าไปดูความมันส์ได้ครับ
สุดท้ายแล้ว pc base cluster/grid กินไฟมากกว่า supper computer ไหม(รวมถึงพลังงานในการระบายความร้อนต่างๆ)
ตอบแบบหยาบๆก่อน ถ้าประเมินที่ค่า FLOPS/W เป็นหลัก ซูเปอร์ประหยัดกว่า
ถ้าให้ผมแสดงความคิดเห็นส่วนตัวแบบมองภาพหยาบๆ สมมติคลัสเตอร์ที่เป็น PC 5 เครื่อง กินไฟ 500 วัต ถ้าเป็น Intel P4 2 GHz DualCore ก็ประมาณ 8 GFLOPS ต่อเครื่อง หรือคำนวณหยาบๆก็ 8 / 500 วัต = 16 MFLOPS/W ต่อเครื่อง หรือ 5 เครื่องก็คือ 80 MFLOPS/W เราจะพบว่ามันประหยัดไฟกว่า Earth Simulator มากกว่า 10 เท่าซะอีกครับ แต่ว่าเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของยุคนี้ไม่ได้ และมีแค่ 5 เครื่องก็ให้สมรรถนะแบบคำนวณคร่าวๆก็ 8 GFLOPS x 5 = 40 GFLOPS ครับ แต่ถ้า cluster ตัวนี้ทำงานตลอดเวลา มี idle time ต่ำ มันก็ถือว่าประหยัดไฟมากๆ และใช้งานได้คุ้มค่าเลยแหละครับ แต่โดยสรุป Cluster ตัวนี้ใช้ไฟฟ้าคุ้มค่าน้อยกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์พวกที่ให้มากกว่า 80 MFLOPS/W ครับ
หากกลับไปอ่านใน comment ของบทความก่อนหน้านี้ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์อาจจะเป็น PC เครื่องเดี่ยวๆหรือ PC-based Cluster ก็ได้ครับ มันขึ้นกับยุคสมัย
ลืมตอบเรื่องการระบายความร้อนหรือ cooling อันนี้ ผมยังไม่ชำนาญพอและจำข้อมูลพวกนี้ไม่ได้ ที่แน่ๆ Data center เองก็ต้องออกแบบห้องพร้อมระบบความเย็นที่ดีด้วยครับ เพราะซูเปอร์คอมหรือแม้แต่คลัสเตอร์ที่อยู่กระจุกรวมกันเยอะมักจะงอแงเวลาอากาศร้อนครับ :) อย่าว่าแต่เครื่องงอแงเลย admin ที่นั่งข้างๆก็งอแงและเหงื่อชุ่มได้ หากแอร์เสียและวันนั้นเครื่องรันงานหนักมาก
Sivadon Chaisiri (JavaBoom)
http://javaboom.wordpress.com
My Blog
เปรียบเทียบยาก กว้างเกินไป ถ้าจะเทียบต้องดูสเปคครับ เพราะคลัสเตอร์หรือกริดก็ถือเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์เหมือนกัน