Arduino เปิดตัวบอร์ด MKRFOX1200 บอร์ด ARM Cortex-M0+ ที่มาพร้อมกับโมดูล Sigfox สำหรับการเชื่อมต่อเครือข่าย IoT ระยะไกลในตัว พร้อมกับค่าบริการเครือข่าย Sigfox วันละ 120 ข้อความอีกสองปีเต็ม
ตัวบอร์ดรองรับแบตเตอรี่ AA หรือ AAA สองก้อนโดยสามารถทำงานได้ต่อเนื่อง 6 เดือน หรืออาจจะใช้แหล่งจ่ายไฟภายนอก 5V เพิ่มก็ได้ โดยตัวบอร์ดสามารถสลับแหล่งจ่ายไปอัตโนมัติ
ซีพียูบนตัวบอร์ดเป็น Atmel SAMD21 ที่ใช้ในบอร์ดรุ่นอื่นอีกหลายรุ่น ส่วนชิป Sigfox เป็น ATA8520 การพอร์ตแอปพลิเคชั่นคงไม่ยากนัก แต่บ้านเรายังไม่มีเครือข่าย Sigfox ให้บริการ
ที่มา - Arduino
Sigfox เปิดตัวบริการ Spot'it ช่วยระบุตำแหน่งสำหรับอุปกรณ์ IoT กินพลังงานต่ำโดยไม่ต้องใช้ GPS ออกแบบมาเพื่อการติดตามการขนส่งสินค้า
ตอนนี้ Sigfox มีเครื่องข่ายอยู่ใน 31 ประเทศทั่วโลก ตัว Spot'it จะจับตำแหน่งอุปกรณ์โดยใช้ความแรงสัญญาณ ทำให้ไม่เสียพลังงานเพิ่มเติม รวมถึงไม่เสียต้นทุนฮาร์ดแวร์และการอัพเกรดซอฟต์แวร์
บริษัทไม่ได้บอกความละเอียดของตำแหน่งที่จับได้ แต่จุดเด่นสำคัญคืออุปกรณ์ Sigfox สามารถทำงานได้ต่อเนื่องสูงสุดถึง 20 ปี ดังนั้นการใช้ Spot'it จะเหมาะกับการติดตามวัตถุในระยะยาว นอกจากนี้ Spot'it ยังทำงานในอาคารได้ด้วย
ผู้ให้บริการเครือข่าย IoT อย่าง Sigfox ระดมทุนรอบล่าสุด ได้เงินทุนไปทั้งสิ้น 150 ล้านยูโร ต่ำกว่ารายงานที่ระบุว่าบริษัทหวังจะระดมทุนให้ได้ 188 ล้านยูโร โดยผู้ลงทุนรอบล่าสุดมีทั้ง Salesforce Venture และ Intel Capital (ลงทุนเพิ่ม)
บริษัทระบุว่าตอนนี้มีอุปกรณ์ IoT "ลงทะเบียน" (ไม่ระบุจำนวนอุปกรณ์ที่ทำงานจริง) บนเครือข่ายแล้ว 10 ล้านชิ้น และมีเครือข่ายเปิดให้บริการแล้ว 26 ประเทศ โดยทุนที่ได้รอบใหม่นี้จะนำไปใช้ขยายเครือข่ายไปเป็น 60 ประเทศ และน่าจะถึงจุดคุ้มทุน
Sigfox มาตรฐานการสื่อสารไร้สายสำหรับอุปกรณ์ IoT ในระยะไกลที่มีความหวังกันว่ามันจะมีราคาต่อชุดไม่แพงนักในระยะยาว ทำให้สามารถติดตั้งบนอุปกรณ์จำนวนมากๆ เช่นหลอดไฟได้ แต่จนตอนนี้ชุดพัฒนาส่วนมากก็ยังมีราคาค่อนข้างสูง แต่ Wisol ผู้ผลิตจากเกาหลีไปแสดงโมดูล SFM10R1 พร้อมกับให้ข้อมูลในงานว่าราคาโมดูลนี้ต่ำกว่า 2 ดอลลาร์ต่อชุด
ราคานี้น่าจะเป็นราคาซื้อจำนวนมากเพื่อนำไปผลิตสินค้า แต่หากได้รับความนิยมสูงๆ เราก็อาจจะเห็นผู้ผลิตที่สั่งมาผลิตบอร์ดพัฒนาให้เราเล่นได้ในราคาต่ำกว่า 10 ดอลลาร์ในอนาคต