Tags:
Node Thumbnail

ต่อจากข่าว ฝรั่งเศสประกาศตัวเป็นศูนย์กลาง AI ของยุโรป เป็นอีกทางเลือกนอกจากสหรัฐ-จีน ถือเป็นความน่าสนใจที่ฝรั่งเศสประกาศ "แผนยุทธศาสตร์ AI แห่งชาติ" และตั้งเป้าเป็นขั้วที่สามในด้าน AI ของโลก

ประธานาธิบดี Emmanuel Macron มอบหมายให้ Cédric Villani ส.ส.หน้าใหม่ ที่เป็นนักคณิตศาสตร์ชื่อดัง ตั้งคณะทำงานศึกษานโยบายด้าน AI และออกมาเป็นรายงาน "Villani Report" ที่มีข้อเสนอเชิงนโยบายทั้งหมด 7 ข้อ

บทความนี้เป็นการสรุปประเด็นจากรายงาน Villani Report เพื่อเป็นตัวอย่างว่า นโยบายด้าน AI ของรัฐบาลประเทศต่างๆ มีหน้าตาเป็นอย่างไร และสนใจประเด็นใดบ้าง

No Description

แหล่งข้อมูล: Villani Report ฉบับเต็ม, ฉบับสรุปย่อ Executive Summary

1. พัฒนานโยบายด้าน "ข้อมูล" (Data Policy)

Villani Report สรุปว่าปัจจัยสำคัญของการพัฒนา AI ต้องเริ่มต้นที่การเก็บสะสมข้อมูลจำนวนมาก จุดนี้บริษัทไอทียักษ์ใหญ่จากสหรัฐ จีน และรัสเซีย ได้เปรียบมาก เพราะมีข้อมูลของผู้ใช้อยู่เยอะแล้ว อย่าง Top 25 เว็บไซต์ยอดนิยม ในฝรั่งเศส มี 80% เป็นเว็บไซต์สัญชาติอเมริกัน เท่ากับว่าบริษัทอเมริกันเหล่านี้ได้ข้อมูลของคนฝรั่งเศสไปเยอะมาก

สิ่งที่ฝรั่งเศสต้องทำจึงเป็นการวางยุทธศาสตร์ด้านข้อมูลเสียใหม่ โดยมีข้อเสนอย่อยดังนี้

  • รัฐบาลกระตุ้นให้เกิดการแชร์ข้อมูลกันของบริษัทในฝรั่งเศส โดยเฉพาะบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน
  • รัฐบาลต้องสร้างชุดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ทั้งในแง่ข้อมูลที่มีแต่รัฐบาลเข้าถึงได้ และข้อมูลที่เปิดให้ทุกคนเข้าถึงได้
  • ส่งเสริมหลักการ data portability ข้อมูลของเราต้องเป็นของเรา เราต้องย้ายบริการจากค่ายหนึ่งไปอีกค่ายหนึ่งได้ง่าย โดยไม่เสียประวัติข้อมูลของเรา

2. ตั้งเป้า 4 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์

หากฝรั่งเศสต้องการสร้าง "กูเกิล 2" ของตัวเองขึ้นมาคงเป็นเรื่องยาก ดังนั้นฝรั่งเศสต้องประเมินจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง และเลือกอุตสาหกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์ขึ้นมาโฟกัส

4 อุตสาหกรรมที่คณะทำงานเลือกมาคือ สุขภาพ (health) การขนส่ง (transport) สิ่งแวดล้อม (environment) การทหาร-ความปลอดภัย (defence and security)

เหตุที่เลือกอุตสาหกรรมทั้ง 4 กลุ่มนี้ ก็เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ฝรั่งเศสมีความเชี่ยวชาญ และมีประเด็นน่าสนใจที่ส่งผลกระทบต่อคนทั่วไป ตัวอย่างปัญหาที่สามารถใช้ AI มาแก้ไขได้ก็อย่างเช่น ยาแบบใหม่ที่ป้องกันโรคได้ล่วงหน้า (P4 medicine), ปัญหาบางพื้นที่ขาดแคลนบริการด้านสุขภาพ (medical deserts) และการระบบขนส่งในเขตเมือง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

หลังจากนี้ แต่ละอุตสาหกรรมต้องสร้างแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลองตัวเอง เพื่อใช้เป็นฐานในการต่อยอดพัฒนา AI เพื่อแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมนั้น ภาครัฐเองต้องสร้างพื้นที่ทดสอบ (sandbox) เพื่อให้มีโอกาสลองนวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว ไม่ติดปัญหาเรื่องกฎระเบียบด้วย ตัวอย่างการทดลองที่เป็นไปได้คือ รถยนต์ไร้คนขับ การเกษตรยุคใหม่ การทดลองใช้ยากับคนไข้และตรวจสอบผลแบบเรียลไทม์ การใช้ AI ดักจับการโจมตีไซเบอร์ เป็นต้น

3. เพิ่มการวิจัย AI ในฝรั่งเศส

ความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้าน AI พุ่งสูงมาก เกิดการชิงตัวนักวิจัยกันระหว่างประเทศต่างๆ สิ่งที่ฝรั่งเศสต้องทำคือทุ่มเทกับการวิจัยมากขึ้น ผ่านนโยบายดังนี้

  • ตั้งสถาบัน AI ในสถาบันการศึกษา-สถาบันวิจัยทั่วประเทศ แต่ละแห่งต้องมีโฟกัสว่าจะวิจัยด้านไหน
  • จัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอต่อการวิจัย เช่น บริการคลาวด์ หรือ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์สำหรับวิจัย AI โดยเฉพาะ
  • ดึงดูดนักวิจัยจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในฝรั่งเศส เช่น เพิ่มเงินเดือนนักวิจัย เพิ่มโครงการนักวิจัยแลกเปลี่ยน เพิ่มจำนวนนักศึกษาปริญญาโท-เอกในด้าน AI

4. วางแผนเตรียมรับมือ ผลกระทบจาก AI ต่อตลาดแรงงาน

ปัจจุบัน ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าผลกระทบจาก AI ต่อตลาดแรงงานจะเป็นอย่างไร จะเกิดงานใหม่ๆ หรือทำให้คนตกงานเป็นจำนวนมาก ฝรั่งเศสต้องวางแผนรับมือเรื่องนี้ล่วงหน้า ว่าจะหาจุดสมดุลระหว่างคนกับเครื่องจักรได้อย่างไร

  • สร้างห้องแล็บวิจัยเรื่องรูปแบบของ "อาชีพ" ที่เปลี่ยนไป ทดสอบเครื่องมือใหม่ๆ สำหรับวิชาชีพต่างๆ ว่าจะเกิดผลกระทบต่อแต่ละอาชีพแค่ไหน
  • หาจุดร่วมระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร ซึ่งอาจอยู่ในรูปของกฎหมายแรงงาน หรือเงื่อนไขด้านสภาพการทำงานในยุคดิจิทัล
  • ทดสอบรูปแบบการให้ทุนฝึกทักษะใหม่ๆ ของพนักงาน ว่าแบบไหนเหมาะสมในการทำงานยุคดิจิทัล

5. พัฒนาให้ AI เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การเกิดขึ้นของ AI ต้องมีผลในทางบวกต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่การใช้ทรัพยากรประมวลผลอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ต้องเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้ด้วย

  • รัฐบาลต้องตั้งศูนย์วิจัยด้าน AI กับสิ่งแวดล้อม และหาวิธีวัดผลกระทบของเครื่องมือดิจิทัลต่อสิ่งแวดล้อม
  • พัฒนาคลาวด์ของยุโรป ให้การใช้งาน AI ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่ามากขึ้น
  • นำ AI มาช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในแง่มุมต่างๆ เช่น ใช้โดรนถ่ายภาพเพื่อวิเคราะห์การปลูกป่าทดแทน หรือใช้การแยกแยะภาพถ่าย มาแยกประเภทของสิ่งมีชีวิตที่พบ

6. AI ต้องโปร่งใส เปิดเผย ไม่ใช่กล่องดำ

การเกิดขึ้นของ AI ทำให้เกิดคำถามว่า AI ทำงานอย่างไร และเป้าหมายของ AI คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์จริงหรือไม่ ประเด็นด้านจริยธรรมเหล่านี้ต้องเคลียร์ใช้ชัดเจนตั้งแต่แรก

  • อัลกอริทึมต้องมีความโปร่งใส (algorithm transparency) ตรวจสอบได้ (audits) แยกย่อยเป็น โมเดลต้องอธิบายให้เข้าใจได้, อินเทอร์เฟซต้องสื่อสารได้ และกลไกการทำงานต้องชัดเจนเป็นลำดับขั้น
  • การอบรมและเทรนนิ่งด้าน AI ของนักวิจัยและวิศวกร ต้องมีหัวข้อด้านจริยธรรม
  • ตั้งคณะกรรมการด้านจริยธรรมของเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI
  • กำหนดขอบเขตความรับผิดชอบให้ชัดเจนในงานที่ AI นำมาใช้งาน ว่าตรงไหนเป็นความรับผิดชอบของมนุษย์บ้าง

7. ส่งเสริมการเข้าถึงและความหลากหลาย (inclusivity and diversity)

โลกของ AI ต้องเข้าถึงคนทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ผู้หญิงและคนกลุ่มน้อยในสังคมต้องมีที่ยืนด้วย

  • 40% ของคนที่เข้าเรียนวิชาวิศวกรรมดิจิทัล ต้องเป็นผู้หญิง ภายในปี 2020
  • รัฐบาลต้องนำระบบอัตโนมัติมาใช้งาน เพื่อให้เข้าใจความต้องการของปัจเจกแต่ละคนได้ดีขึ้น
  • สนับสนุนการใช้ AI เพื่อให้เกิดนวัตกรรมทางสังคม

สัญญาของประธานาธิบดี Macron

นอกเหนือจากข้อเสนอเชิงนโยบายใน Villani Report แล้ว ประธานาธิบดีฝรั่งเศสยังประกาศแผน 3 ข้อที่สัญญาว่าจะดำเนินการ ดังนี้

  • ส่งเสริมบุคลากรด้าน AI ในฝรั่งเศส ได้แก่ พัฒนาโครงการเทรนนิ่งและดึงดูดผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จากทั่วโลก, จำนวนนักศึกษาด้าน AI ต้องเพิ่มขึ้นเท่าตัว, นักวิจัยในสถาบันของรัฐจะสามารถแบ่งเวลา 50% ไปทำงานให้ภาคเอกชนได้ เพื่อใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ในวงกว้าง, รัฐบาลจะให้งบประมาณทั้งหมด 1.5 พันล้านยูโรในตลอดวาระของรัฐบาล 5 ปี
  • เปิดข้อมูลของภาครัฐ เพื่อให้ภาคเอกชนเข้ามาใช้ประโยชน์และสร้างนวัตกรรม โดยยังรักษาเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ตามหลัก GDPR
  • สร้างกรอบจริยธรรมด้าน AI โดยเน้นความโปร่งใสและการใช้อัลกอริทึมอย่างเป็นธรรม โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกเข้ามาร่วมกำหนดกรอบจริยธรรมนี้

รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้จาก AI for Humanity

Get latest news from Blognone