Tags:
Node Thumbnail

Gartner ออกรายงานสรุปสถานการณ์แข่งขันในตลาดคลาวด์ (Magic Quadrant for Cloud Infrastructure and Platform Services) ประจำปี 2020

ผลลัพธ์ออกมาไม่มีอะไรน่าประหลาดใจ เพราะยังเหมือนปีก่อนๆ ที่ผู้ให้บริการ Top 3 ของโลก (AWS, Microsoft, Google) ยังอยู่ในกลุ่ม "ผู้นำ" (leaders) โดย AWS ยังนำคู่แข่งรายอื่นๆ แบบค่อนข้างทิ้งห่าง ส่วนผู้เล่นรายที่เหลือ 4 ราย (Alibaba Cloud, Oracle, IBM, Tencent Cloud) อยู่ในกลุ่ม "เฉพาะทาง" (niche players)

No Description

ความน่าสนใจคงอยู่ที่รายละเอียดการวิเคราะห์ของ Gartner ที่สรุปได้คร่าวๆ ดังนี้

Amazon Web Services (AWS)

  • ยังแข็งแกร่งที่สุดทั้งในแง่ส่วนแบ่งตลาด และฟีเจอร์ของบริการ บริษัทสามารถออกแบบทุกอย่างได้เองตั้งแต่ชิปซิลิกอน ไปจนถึงระบบปฏิบัติการฝังตัว
  • จุดอ่อนของ AWS คือการอยู่คนเดียวไม่พึ่งใคร มีปัญหากับชุมชนโอเพนซอร์สอยู่เรื่อยๆ และหลายครั้งที่บริการในเครือตัวเองก็ตีกันเอง เพราะต่างทีมพัฒนากัน

Microsoft

  • เด่นเรื่องบริการที่ครบครัน รองรับแอพพลิเคชันหลากหลาย เช่น Oracle, SAP, VMware รวมถึงบริการใหม่ๆ สำหรับนักพัฒนา เช่น Azure DevOps, GitHub, Visual Studio Codespaces
  • ข้อด้อยคือมีสัดส่วน availability zones ต่อ regions ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งทั้ง 6 ราย และไม่มีการการันตีบริการว่าใช้งานได้, ค่าซัพพอร์ตแพง

Google

  • เด่นเรื่องโครงการโอเพนซอร์ส โดยเฉพาะ Kubernetes และ TensorFlow อีกทั้งเริ่มมีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นในช่วงปีหลังๆ เริ่มปิดช่องว่างกับ Azure ได้บ้างแล้ว
  • บริการด้านข้อมูล (big data, data science) ทำได้ดี แต่มีจุดอ่อนเรื่องการรองรับแอพกลุ่มองค์กร โดยเฉพาะ Oracle

Alibaba Cloud

  • บริการของ Alibaba Cloud เข้มแข็งมากในจีน และมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐจีน แต่บริการคลาวด์นอกจีนกลับมีฟีเจอร์ไม่เท่ากับในจีน และเอกสารของ Alibaba Cloud มักอิงกับบริการในจีนเป็นหลัก
  • ลูกค้าของ Alibaba Cloud ชื่นชมเรื่องบริการวิเคราะห์ข้อมูลและฐานข้อมูล

Oralce

  • เร่งขยายพื้นที่บริการมากขึ้นในช่วงหลัง ออกแบบสถาปัตยกรรมคลาวด์ได้ดี
  • ส่วนแบ่งตลาดน้อย ฐานผู้ใช้ยังน้อย และความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ อาจทำให้ลูกค้าเลือกใช้ Azure แทน เพราะมีซอฟต์แวร์ของ Oracle ให้ใช้เหมือนกัน

IBM

  • มีบริการที่แตกต่างจากคู่แข่ง เช่น มีสถาปัตยกรรม Power ให้เช่าใช้, มีบริการขายโซลูชันจาก IBM Services โดยตรง, หันมาเน้นตลาดไฮบริดคลาวด์หรือคลาวด์เฉพาะทางแทน
  • สถาปัตยกรรมบางส่วนยังเก่า เพราะมีมรดกตกทอดมาจากในอดีต (เช่น SoftLayer) และยังขาดฟีเจอร์หลายอย่างเรื่องการจัดการตัวตน (identity and access management - IAM)
  • ยุทธศาสตร์การดันไฮบริดคลาวด์ผ่าน OpenShift ยังไม่เห็นผลมากนัก เพราะต้องอาศัยปัจจัยคลาวด์ยี่ห้ออื่นรองรับด้วย จึงจะใช้ได้ผล

Tencent Cloud

  • มีส่วนแบ่งตลาด IaaS ชนะ IBM และ Oracle แล้วด้วยซ้ำ และมีบริการในบางภูมิภาคที่ไม่มีใครทำ (เช่น รัสเซีย)
  • นอกจาก IaaS แล้วยังมีจุดเด่นเรื่องบริการคลาวด์สำหรับเกม ซึ่งเป็นสิ่งที่ Tencent เชี่ยวชาญ และมีบริษัทเกมจากโลกตะวันตกไปใช้งานเยอะ เพื่อให้ทำตลาดจีนได้ง่าย
  • จุดอ่อนคล้ายกับ Alibaba คือยังเน้นโฟกัสที่ตลาดจีนเป็นหลัก ตลาดนอกจีนใช้ศูนย์ข้อมูลของพาร์ทเนอร์แทน

ที่มา - Gartner (ต้องลงทะเบียน), AWS Blog

Get latest news from Blognone

Comments

By: hisoft
ContributorWindows PhoneWindows
on 7 September 2020 - 13:02 #1174601
hisoft's picture

Oralce

Oralce -> Oracle

By: GyG on 7 September 2020 - 21:27 #1174656
GyG's picture

จากที่เคยลองใช้ Alibaba Cloud แล้วต้องบอกว่ายังต้องพัฒนาอีกเยอะมากในการทำตลาดต่างประเทศ
เพราะคู่มือต่าง ๆ ยังเป็นภาษาจีนอยู่
หนักไปกว่านั้นคือตัว control panel ที่ใช้งานผ่าน Browser ที่ไม่ใช่ Chrome แล้วจะเพี้ยนมาก รวมไปถึงบางอย่างใช้งานไม่ได้เลย
เช่น Firefox จะเข้าหน้า Billing ไม่ได้เลยเป็นต้น

ส่วน Oracle ก็ support ห่วยมาก ส่ง ticket ไป ผ่านไป 2-3 วันค่อยตอบ ทั้งที่เจ้าอื่นนี่ไม่ถึงชั่วโมงก็ตอบแล้ว ยิ่ง AWS นี่ส่วนใหญ่รอไม่ถึง 5 นาทีเลยด้วยซ้ำ
ที่เหลือนอกจาก 3 เจ้าใหญ่ยังไม่เคยใช้

อ้อ Huawei Cloud มี regions ในไทยให้เลือกด้วยนะ แต่ก็กลาง ๆ ไม่ได้มีปัญหาหรือประทับใจอะไร