Blognone เคยรีวิว Ubuntu แบบเต็มๆ ไปครั้งหนึ่งในรุ่น 6.06 LTS "Dapper Drake" (จากนั้นเคยมี 7.04 "Feisty Fawn" รุ่นเบต้า และ Ubuntu Netbook Remix แต่เป็นตอนสั้นๆ) ตอนนี้เมื่อ Ubuntu 9.10 "Karmic Koala" ออกตัวจริงเรียบร้อย ก็ได้เวลามารีวิวกันอีกครั้ง
Karmic Koala ถือเป็นรุ่นที่มีการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นก่อนหน้า Jaunty Jackalope เยอะพอสมควร ควรค่าแก่การนำมารีวิว อย่างไรก็ตาม โครงสร้างและวิธีการทำงานของมันก็ยังไม่ต่างอะไรจาก Ubuntu รุ่นก่อนๆ มากนัก ผมเชื่อว่าผู้อ่าน Blognone คงเคยลองใช้ Ubuntu กันหมดแล้ว (ถ้าไม่เคยก็ลองซะ!) ดังนั้นคงจะข้ามส่วนที่ซ้ำๆ กับของเดิมออกไป เน้นแต่ของใหม่ดีกว่านะครับ
จุดนี้ไม่มีอะไรต่างไปจากเดิมเลย Ubuntu 9.10 ทั้งตัวมาในซีดีเพียง 1 แผ่นเท่านั้น (จุดเด่นที่ Mac OS X และ Windows 7 ไม่มีทางสู้ได้) วิธีการติดตั้งที่ง่ายที่สุดคือดาวน์โหลดไฟล์ .iso รุ่น desktop-i386 (หรือ amd64 ถ้าต้องการใช้งานแบบ 64 บิต) ซึ่งมีตัวติดตั้งแบบกราฟิกสวยงาม และเป็น Live CD ในตัว
เพื่อความรวดเร็ว แนะนำให้ดาวน์โหลดจาก mirror ในประเทศ เช่น mirror.in.th หรือ mirror1.ku.ac.th ถ้าใครมี mirror ในประเทศที่อื่นๆ แนะนำก็เขียนไว้ในคอมเมนต์ได้ครับ
มาถึง พ.ศ. นี้ การเขียนไฟล์ .iso ลงแผ่นซีดีเริ่มจะ "เอาท์" แล้ว นอกจากเขียนช้า ยังเปลืองแผ่น ใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า เพิ่มขยะให้โลก วิธีที่ดีกว่าคือเขียนลง USB drive/flash drive/thumb drive (ตามแต่จะเรียก) แล้วบูตด้วย USB drive แทน
ขั้นตอนอย่างละเอียดอ่านได้จาก USB Installation Media แบบสรุปคือไปดาวน์โหลดโปรแกรม UNetbootin เพื่อช่วยเขียนไฟล์ .iso ลง USB drive ภายในสองคลิก ทำงานบนวินโดวส์ได้ ที่ผมลองใช้เวลาประมาณ 5 นาทีก็เสร็จแล้ว
พอได้ USB พร้อมติดตั้งก็บูตเครื่องจาก USB ซึ่งจะบูตเข้าสู่ Ubuntu แบบ Live CD ให้ทดลองใช้จนกว่าจะพอใจ (มันสามารถใช้เป็น recovery CD หรือแบ่งพาร์ทิชันในกรณีอื่นๆ ได้ด้วย) ถ้าใครโชคดีหน่อยใช้ชิปเซ็ต Wi-Fi ยี่ห้ออื่นๆ ที่ไม่ใช่ Broadcom (เช่น อินนเทลหรือ Atheros) ก็สามารถต่อเน็ตได้ทันที
เมื่อพร้อมติดตั้งแล้วก็คลิกที่ไอคอน Install Ubuntu บนเดสก์ท็อป ตัวติดตั้งที่คุ้นเคย Ubiquity จะโผล่ขึ้นมาให้เห็น ขั้นตอนการติดตั้งผมคงไม่ต้องลงรายละเอียด ส่วนที่เปลี่ยนไปคือ
หน้าจอเลือกเขตเวลาแบบใหม่ สวยขึ้น และจิ้มกรุงเทพก็เจอกรุงเทพแล้ว ไม่ใช่ต้องไปจิ้มที่พม่าถึงจะได้กรุงเทพแบบรุ่นก่อน
Ubuntu 9.10 ใช้ระบบไฟล์ ext4 เป็นค่าดีฟอลต์เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่รองรับใน Ubuntu 9.04 แต่ยังไม่เปิดใช้เป็นดีฟอลต์ ผมใช้ ext4 ตั้งแต่ตอนติดตั้ง 9.04 แล้ว ส่วนนี้จึงไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม แต่คนที่ใช้ ext3 อยู่ก่อน ถ้าไม่อยากฟอร์แมตก็ยังสามารถใช้ต่อไปได้ไม่มีปัญหา
หน้าจอแนะนำโปรแกรมและฟีเจอร์ระหว่างรอก็อปปี้ไฟล์ ให้อ่านเล่นๆ เผื่อจะมีความรู้มากขึ้น ถ้าใครยังจำได้ ฟีเจอร์นี้เคยมีใน Red Hat รุ่นเก๋ากึ๊ก (ถ้าผมจำไม่ผิดจะเป็น Red Hat 8) และ Fedora รุ่นต้นๆ
ผมใช้เวลาติดตั้งรวมทั้งสิ้น 6 นาที 45 วินาที (จับเวลาตั้งแต่ดับเบิลคลิกที่ไอคอนติดตั้ง) เร็วสุดยอดเลยครับ Ubuntu ใช้วิธี dump ระบบปฏิบัติการที่อยู่ในแรมจาก Live CD ลงไปในดิสก์ แล้วค่อยลบส่วนที่ไม่จำเป็นออกทีหลัง
ติดตั้งเสร็จแล้วก็สั่งบูตเครื่องอีก 1 ที
การเปลี่ยนแปลงของ Ubuntu 9.10 เราจะเห็นได้ตั้งแต่การบูตครั้งแรกเลยทีเดียว อย่างแรกถ้าใครลงคู่ไปกับวินโดวส์หรือระบบปฏิบัติการอื่นๆ ด้วย จะเจอกับ GRUB 2 ซึ่งเป็นบูตโหลดเดอร์ตัวใหม่ หน้าตาเหมือนเดิมแต่ฟีเจอร์เยอะขึ้นมาก
ถัดมาคือหน้าจอบูตแบบใหม่ อธิบายยังไงก็คงไม่เห็นภาพ ดูวิดีโอประกอบดีกว่า (วิดีโอโดย mamaieee จาก YouTube)
หน้าจอบูตแบบใหม่แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกที่ยังไม่บูตเข้า X Window จะกลายเป็นโลโก้ Ubuntu สีขาวบนพื้นหลังสีดำ โลโก้จะส่องสว่างสลับมืดได้อารมณ์หน้าจอบูตของ Mac OS X แต่สลับสีกัน ส่วนช่วงถัดไป ขณะที่กำลังเรียก X Window จะพบพื้นหลังสีน้ำตาล มีไฟส่องจากข้างบน และมีโลโก้พร้อมข้อความ Ubuntu สีขาว ก่อนจะเปลี่ยนเป็นหน้าจอล็อกอิน
จุดอ่อนสำคัญของลินุกซ์อยู่ที่ความสวยงาม และหน้าจอบูตก็เป็นหนึ่งในจุดอ่อนที่ว่า ฝั่งดิสโทรคู่แข่งอย่าง Fedora ก้าวหน้ากว่าเพราะพัฒนาระบบหน้าจอบูตตัวใหม่ Plymouth ขึ้นตั้งแต่ Fedora 10
เดิมที Ubuntu ใช้หน้าจอบูตที่ชื่อ usplash ซึ่งมีปัญหาทางเทคนิคในเรื่องความเร็วและลำดับการบูต ครั้นจะไปใช้ Plymouth นักพัฒนาของ Ubuntu ก็ให้เหตุผลว่าฟีเจอร์ของ Plymouth ไม่ต่างอะไรกับ usplash ทางออกจึงเป็นการพัฒนาหน้าจอบูตตัวใหม่คือ xsplash ขึ้นมาใช้ในรุ่นนี้ อ่านรายละเอียดได้จากบล็อก Making a splash ของ Scott James Remnant
xsplash นั้นครบเครื่องทั้งความเร็วและความสวยงาม อย่างไรก็ตาม ในแง่ความสวยงาม เท่าที่ผมลองมันยังไม่ค่อยเนียนเท่าไร ระหว่างหน้าจอบูตทั้งสองช่วงยังมีเคอร์เซอร์กระพริบของโหมด text โผล่มาให้เห็นบ้าง และเจอปัญหาสีเพี้ยน โลโก้แหว่ง กับการ์ดจอบางยี่ห้อ (เช่น ATI ในกรณีที่ใช้ไดรเวอร์โอเพนซอร์ส) ซึ่งคาดว่าคงจะแก้ไขในรุ่นต่อๆ ไป
แต่เรื่องความเร็วน่าประทับใจมากครับ ก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาว่า Ubuntu 9.10 ใช้เวลาบูต 5 วินาทีบน SSD แม้ว่าเท่าที่ใช้จริงจะไม่ได้ขนาดนั้น แต่ก็เร็วขึ้นแบบเห็นได้ชัดเจน การบูตครั้งแรกจะช้าสักนิด ผมจับเวลานับตั้งแต่กด Enter ที่ GRUB ได้ 45 วินาที แต่ครั้งที่สองลดลงเป็น 36 วินาที
เรื่องเวลาในการบูต ถ้ามีโอกาสหาเครื่องที่ใช้ SSD ได้จะไปทดสอบแล้วมารายงานอีกครั้ง ทาง Canonical ตั้งเป้าว่าในรุ่นหน้า Ubuntu 10.4 จะต้องได้ต่ำกว่า 10 วินาที!!!
หน้าจอล็อกอินใช้ธีมเดียวกันกับ xsplash เพื่อความต่อเนื่อง ผมจับภาพนี้บน VirtualBox จอเล็ก เมนูด้านล่างเลยซ้อนทับกัน หน้าจอล็อกอิน GDM รุ่น 2.28 นี้เขียนใหม่หมดนับจาก Ubuntu 9.04 มีฟีเจอร์มากขึ้นและทำงานร่วมกับ xsplash ได้ดีขึ้น แต่ในแง่ผู้ใช้งานคงไม่มีอะไรต่างไปนัก
เมื่อล็อกอินเรียบร้อยจะพบกับเดสก์ท็อปมาตรฐานของ Ubuntu 9.10 ดังภาพ
Ubuntu 9.10 ถือว่ายกเครื่องระบบธีมที่ใช้มานานหลายปีใหม่หมด ธีมเดิม Human ถูกโละทิ้ง เปลี่ยนมาใช้ธีมใหม่ Humanity แทน การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมีดังนี้
ไอคอนที่ notification area มุมขวาบนของหน้าจอ ถูกเปลี่ยนเป็นไอคอนสีเดียว (แบบเดียวกับ Mac OS X) เรียบหรู ดูดีขึ้นมาก
อย่างไรก็ตามไอคอนสีเดียวเหล่านี้ยังมีแต่ไอคอนมาตรฐานเท่านั้น ถ้าเพิ่มไอคอนโปรแกรมแปลกๆ บางตัวเข้าไป อาจจะหลุดคอนเซปต์ได้ ผู้ใช้ Ubuntu บางคนแก้ปัญหานี้โดยการวาดไอคอนสีเดียวใช้เอง ใครต้องการก็ตามไปโหลดกันได้ครับ
ไอคอนของโปรแกรมก็วาดใหม่หมด โดยไอคอนชุด Humanity จะตัดขอบดำชัดกว่า Human และใช้สีธรรมชาติ ไม่ glossy เหมือน Human
เนื่องจากว่าเราใช้ Human กันมาหลายปี พอมาเจอ Humanity อาจจะไม่คุ้นเคยบ้าง (รูปร่างหน้าตาคล้ายๆ ของเดิม แต่สไตล์เปลี่ยนไป ตอนแรกผมก็ไม่ชอบแต่ใช้ๆ ไปแล้วเริ่มคุ้นก็โอเค) ถ้าใครอยากเปลี่ยนกลับเป็น Human ก็ต้องออกแรงโหลดเพิ่มกันหน่อย เพราะใน Ubuntu 9.10 ถอด Human ออกไปแล้ว
ในภาพรวม ไอคอนชุด Humanity ทำให้ Ubuntu ดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น แต่ถ้าเทียบกับ Mac OS X หรือ Windows Vista/7 แล้ว ยังดูตามหลังอยู่เช่นเดิม (รสนิยมส่วนตัว สามารถถกเถียงกันได้)
ฟีเจอร์ (?) ของ GNOME 2.28 คือเอาไอคอนในเมนูและปุ่มออกไป เพื่อให้หน้าจอสะอาดมากขึ้น แต่ในบางกรณีอย่างรูปข้างบน มันทำให้เมนูดูแหว่งๆ ไม่สวยงาม ถ้าใครอยากเปลี่ยนกลับสามารถทำได้จาก Systerm > Preferences > Appearance > Interface แล้วเลือก Show icons in menus
อันนี้ในรูปข้างบนคงเห็นกันแล้ว แต่ผมตัดแบบชัดๆ มาเน้นให้ดูอีกที ธีมของขอบหน้าต่างและ widget เปลี่ยนไปเช่นกัน ขอบหน้าต่างของธีม Humanity เปลี่ยนจากสีส้มมาเป็นสีน้ำตาล เพิ่มความขัดแย้งในหมู่ผู้นิยมความสวยงามยิ่งขึ้น (น้ำตาล = ขี้เหร่??) แต่ที่ผมว่าแปลกๆ คือไอคอนโปรแกรมตรงมุมซ้ายของหน้าต่าง เปลี่ยนเป็นปุ่มวงกลมแทน อันนี้ผมไม่แน่ใจว่าทีมออกแบบของ Ubuntu คิดอย่างไร ถ้าให้เดาคือพยายามเลียนแบบ Mac OS X ที่ไม่มีไอคอนบนแถบหน้าต่างเช่นกัน อันนี้เปลี่ยนยากครับ ถ้าอยากแก้กลับต้องไปแก้ในไฟล์ธีมของ Metacity
ส่วนธีมของ widget จะเห็นว่ามันดูแบนๆ กว่าธีม Clearlooks อันเดิม ใครไม่ชอบก็ไปเปลี่ยนกลับได้
นอกจากนี้ Ubuntu 9.10 ยังมีธีมสีเข้มๆ ให้เลือกอีก 2 ตัว คือ DarkRoom กับ New Wave ลองเปลี่ยนเล่นได้ตามสะดวก
อย่างสุดท้ายนี่ควรจะมีมาตั้งนานแล้ว สงสัยเห็น Windows 7 อัดภาพพื้นหลังคุณภาพสูงมาให้เป็นจำนวนมาก Ubuntu 9.10 เลยเอาบ้าง :P
ความสวยงามนี่แล้วแต่จะมองนะครับ ผมว่าโอเคในระดับหนึ่งแต่ยังด้อยกว่าของ Windows/Mac OS X อยู่เล็กน้อย จุดที่น่าสังเกตคือแถวที่สองอันซ้ายสุด เป็นภาพพื้นหลังแบบเปลี่ยนตามเวลา โดยใช้ภาพจักรวาลที่ถ่ายจากกล้องฮับเบิล
Ubuntu 9.10 มาพร้อมกับโปรแกรมใหม่หลายตัว เริ่มจากโปรแกรมที่ได้ใช้กันในชีวิตประจำวันมากที่สุดก่อนครับ
Empathy
แรกสุดคือโปรแกรม IM ตัวใหม่ Empathy ซึ่งรวมเข้ามากับชุด GNOME มาตรฐานตั้งแต่รุ่น 2.24 แต่ Ubuntu เพิ่งเปลี่ยนมาใช้เป็นดีฟอลต์ในรุ่นนี้ (2.28)
ข้อดีของ Empathy คือมันถูกเขียนขึ้นบนเฟรมเวิร์ค Telepathy ที่ถูกออกแบบสำหรับการสื่อสารทาง IM รองรับการคุยด้วยเสียงและวิดีโออย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับโปรแกรมตัวอื่นๆ ของ GNOME ได้ดีกว่า ไม่เป็นเอกเทศเหมือนกับ Pidgin
สาเหตุสำคัญที่ Empathy ถูกนำมาใช้แทน Pidgin ก็เพราะแกนหลักของ Pidgin นั้นพัฒนาช้ามากถึงมากที่สุด (นักพัฒนาหลักถูกกูเกิลดึงตัวไปทำ Google Talk เสียแล้ว ส่วนตัวโครงการ Pidgin เองก็มีปัญหาภายในมากมาย) ดิสโทรต่างๆ รอไม่ไหวจึงย้ายไปใช้ Empathy กันแทน
แต่เท่าที่ผมลองใช้มา Empathy ยังสู้ Pidgin ในแง่ IM ข้อความและการใช้งานทั่วไปไม่ได้อยู่หลายจุดครับ (เช่น ไม่สามารถสั่งออนไลน์ทีละบัญชีได้) ฟีเจอร์ด้านวิดีโอและเสียงก็กลับไม่เวิร์คอย่างที่โม้เอาไว้ ดังนั้นถ้าใครใช้ Empathy แล้วอึดอัดแบบผม ก็สามารถเปลี่ยนกลับไปใช้ Pidgin ได้โดยไม่ยากเย็นอะไรเลย
เมื่อพูดถึง IM และการสื่อสารแล้ว อีกประเด็นที่ควรพูดถึงคือไอคอน indicator-applet รูปจดหมายบน panel มุมขวาบน ไอคอนนี้ถูกเพิ่มเข้ามาในรุ่น 9.04 พร้อมกับระบบแจ้งเตือนข้อความแบบใหม่ ไอเดียของมันคือทำระบบแจ้งเตือนเหตุการณ์ต่างๆ ของระบบปฏิบัติการที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ข้อความแจ้งเตือนทั่วไป (เช่น ใครออนไลน์เข้ามา) จะถูกแสดงขึ้นมาเป็น bubble ส่วนข้อความสำคัญที่ส่งเข้ามาหาเราโดยตรง (เช่น ข้อความ IM หรืออีเมลใหม่) จะแสดงที่ไอคอนจดหมายอันนี้
โปรแกรมหลายตัวของ Ubuntu รองรับไอคอนจดหมาย indicator-applet อันนี้แล้ว เช่น IM (ทั้ง Pidgin และ Empathy) อีเมล (Evolution) และ Microblogging (Gwibber) เวลามีข้อความใหม่เข้ามาไอคอนจดหมายจะกลายเป็นสีดำทั้งอัน กดแล้วจะบอกว่ามีใครติดต่อเรามาอย่างไรบ้าง
มองในแง่ดีมันช่วยเรื่องตรงรบกวนการทำงานอื่นๆ ของเราน้อยลง แต่ในแง่เสียอยู่ที่ความคุ้นเคยครับ สรุปว่าผมต้องปิดฟีเจอร์พวกนี้ทิ้งหมด แล้วกลับไปให้ Pidgin ใช้วิธีเตือนโดยการกระพริบที่ taskbar แบบเดิม ระบบใหม่ยังไม่ค่อยเข้าที่เท่าไร
Ubuntu Software Center
ตามข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ Canonical เตรียมเพิ่ม Ubuntu Software Store ลงใน 9.10 ชื่อสุดท้ายของมันคือ Ubuntu Software Center แผนการของ Canonical คือเปลี่ยนระบบจัดการแพจเกจทั้งหมดของ Ubuntu ให้มาใช้ผ่าน Ubuntu Software Center เพียงตัวเดียวเพื่อลดความสับสน
แต่ในรุ่นแรก Ubuntu Software Center เข้ามาแทน Add/Remove เดิมเพียงตัวเดียวเท่านั้น โปรแกรม Synaptic และ Update Manager ยังคงอยู่ การใช้งาน Ubuntu Software Center จะคล้ายๆ กับ App Store บนสมาร์ทโฟน คือค้นหาโปรแกรมแล้วกดติดตั้งได้เลย ดูการออกแบบนั้นชัดเจนว่า Canonical เตรียมใช้มันเป็นช่องทางสำหรับขายโปรแกรมในอนาคต
เนื่องจากมันยังเป็นแค่รุ่นแรก ความสามารถยังด้อยอยู่ครับ ข้อเสียของมันคือ
ในอนาคตมันคงดีขึ้น แต่ตอนนี้ผมกลับไปใช้ Synaptic ดีกว่า
Ubuntu One
บริการสำรองไฟล์ในกลุ่มเมฆของ Canonical ถ้าใครเคยใช้ Dropbox มาก็ไม่ต้องอธิบาย เหมือนเปี๊ยบไม่มีอะไรแตกต่าง
เราจะได้โฟลเดอร์ Ubuntu One เพิ่มเข้ามาใน Home เหมือนกับ Dropbox และสามารถเข้าถึงไฟล์ได้จากหน้าเว็บของ Ubuntu One (ใช้บัญชีผู้ใช้ของ Launchpad.net ได้ทันที)
พื้นที่เก็บข้อมูลแบบมาตรฐาน 2GB เท่ากับ Dropbox ถ้าอยากได้มากขึ้น มีแบบ 50GB ให้เลือกจ่ายเพิ่มเดือนละ 10 ดอลลาร์ จากการใช้งาน Dropbox ของผม ถ้าเก็บเฉพาะไฟล์งานสำคัญๆ ไม่เก็บภาพ วิดีโอ หรือโปรแกรมนี่ 2GB เหลือเฟือครับ
Ubuntu One ฟังดูดีแต่สุดท้ายมาตายน้ำตื้น เพราะ Ubuntu One client รุ่นที่มากับ 9.10 ตัวจริงมีบั๊ก (อยู่ใน known issues ของ Ubuntu 9.10 Release Notes) ต้องสั่งอัพเดตทีนึงก่อนจึงจะใช้ได้
การใช้งานทั่วไปของ Ubuntu One ไม่มีปัญหาอะไร แต่เทียบกับ Dropbox แล้วยังเป็นรองด้านฟีเจอร์ เพราะว่า Dropbox สามารถใช้กับวินโดวส์และแมค (รวมถึง iPhone) ถ้าใครใช้คอมพิวเตอร์หลายแพลตฟอร์มร่วมกัน ก็ควรเลือกใช้ Dropbox จะดีกว่า (บน Ubuntu ติดตั้งง่ายมาก มีทั้ง .deb และ PPA) น่าสนใจเหมือนกันว่า Canonical จะแก้เกมนี้อย่างไร
Disk Utility
โปรแกรมตัวใหม่ Disk Utility หรือชื่อจริง Palimpsest อยู่ใน System > Administration เอาไว้ช่วยจัดการกับไดรฟ์และพาร์ทิชันโดยเฉพาะ (ฟีเจอร์เหมือนกับ Disk Utility ของแมคเลย)
PulseAudio/Sound Preferences
หลังจาก Ubuntu เปลี่ยนมาใช้ PulseAudio ในรุ่นก่อนๆ มันก็เริ่มเข้าที่เข้าทาง ล่าสุดหน้าจอควบคุมเสียงได้เปลี่ยนโฉมใหม่เพื่อรองรับฟีเจอร์ของ PulseAudio แล้ว ฟีเจอร์ที่เจ๋งที่สุดคือควบคุมเสียงของแต่ละโปรแกรมแยกจากกันได้แล้ว (ลดความรำคาญจากพวกชอบใส่เพลงลงบล็อกได้มาก)
Bluetooth
โปรแกรมจัดการ Bluetooth ของ GNOME พัฒนาขึ้นมาก ไม่พิกลพิการเหมือนรุ่นเดิม แต่เทียบฟีเจอร์แล้วยังด้อยกว่า blueman ถ้าใครมีปัญหาอาจพิจารณาลง blueman เป็นทางเลือกได้
ในข่าว Ubuntu 9.10 Karmic Koala เปิดให้โหลดแล้ว คุณ lew ตั้งชื่อมันไว้ว่า "โคอาล่ามีกรรม" จากการทดสอบบนฮาร์ดแวร์หลายตัว พบว่า "มีกรรมจริงๆ ครับ"
Ubuntu 9.10 มีปัญหาและความไม่สมบูรณ์หลายอย่าง เริ่มจากฮาร์ดแวร์ก่อน
ไดรเวอร์ฮาร์ดแวร์
ปัญหาคลาสสิคตลอดกาลของลินุกซ์คือไดรเวอร์ฮาร์ดแวร์ที่ไม่มีแบบโอเพนซอร์ส (หรือมีแต่ไม่สมบูรณ์) ทำให้การติดตั้งและใช้งานในช่วงแรกมีปัญหาอย่างมาก ปัญหา 3 อันดับยอดนิยมได้แก่
ปัญหาทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ผ่าน Restricted Drivers ซึ่งสามารถติดตั้งได้ง่ายๆ แต่มันก็ทำให้เสียอารมณ์ไปมาก Ubuntu 9.10 ยังหนีไม่พ้นวัฏจักรแห่งความเศร้าอันนี้ และมันคงดำเนินต่อไปอีกนาน
หาอุปกรณ์ USB และแผ่นไม่เจอ
ปัญหานี้ผมเจอเป็นบางเครื่อง แต่ดันซวยมาเจอกับเครื่องหลักที่ใช้ทำงาน อาการคือ Ubuntu 9.10 ไม่เมาท์พาร์ทิชันจากซีดี ดีวีดี SD และ USB drive โดยอัตโนมัติ (คือใน Disk Utility มองเห็นอุปกรณ์ แต่ใน GNOME ไม่ยอมเมาท์ให้)
เท่าที่ลองค้นๆ ดู คนเป็นกันเยอะและด่ากันเยอะเพราะมันเป็นบั๊กซีเรียส และขณะนี้ยังไม่มีตัวอัพเดตแต่อย่างใด
ปัญหา Compiz กับการ์ดจอ ATI
เข้าใจว่ามีคนเจอปัญหานี้ตั้งแต่ 9.04 อาการคือถ้าเปิด desktop effect แล้วใช้การ์ดจอ ATI ตอนย่อหน้าต่างลงไปเก็บที่ taskbar จะไม่มีปัญหา แต่ตอนเปิดกลับมันจะหน่วงๆ ประมาณ 1 วินาที ยังไม่มีแก้เช่นกัน เห็นว่าเป็นปัญหากับไดรเวอร์ของ ATI เอง ทางแก้ชั่วคราวคือไม่ใช้ desktop effect
ปัญหาด้านฮาร์ดแวร์อื่นๆ ที่ผมเจอคือเรื่องไมโครโฟนที่ไม่เคยมีเสียงมาหลายรุ่น ส่วนกล้องที่ติดมากับโน้ตบุ๊กใช้งานได้ดีแล้วในรุ่นนี้
Font hinting
มาดูปัญหาด้านซอฟต์แวร์กันบ้าง นอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้ว ผมยังเจอว่าค่า hinting สำหรับฟอนต์ของระบบตั้งค่ามาเป็น Slight ซึ่งดูไม่ดีเอาเสียเลย ทางแก้คือเปลี่ยนเป็น Medium หรือ Full จะดูคมชัดขึ้นมาก
แต่แก้ผ่านหน้าจอ Appearance ของ GNOME อย่างเดียวไม่พอครับ Firefox ไม่ยอมปฏิบัติตาม ทางแก้คือสร้างไฟล์ .fonts.conf ใน home โดยทำตามกระทู้ใน Ubuntuforums
เรื่องฟอนต์ยังมีอีกบั๊กที่สืบเนื่องยาวนานมาจากการเปลี่ยนแปลงของ GNOME ทำให้เราไม่มีวิธีง่ายๆ ในการเพิ่มฟอนต์ลงไปในระบบ ทางแก้คือสร้างโฟลเดอร์ .fonts ขึ้นมาใน home แล้วก็อปฟอนต์ที่ต้องการมาใส่ไว้ในนี้
Ubuntu 9.10 เปลี่ยนจาก 9.04 เยอะพอสมควร การเปลี่ยนแปลงหลายๆ จุดเป็นเรื่องที่น่าต้อนรับในภาพรวม อย่างไรก็ตาม มันยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ดี และมีผลเสียต่อการใช้งานระยะสั้นอยู่มากพอควร เช่น Ubuntu Software Center หรือหน้าจอบูตที่ยังติดๆ ขัดๆ
ส่วนติดต่อผู้ใช้แม้ว่าจะถูกยกเครื่องใหม่แต่ก็ยังมีบั๊กเล็กๆ น้อยๆ อีกหลายจุด เช่น บั๊ก font hinting ของ Firefox ซึ่งเป็นบั๊กที่ไม่น่าอภัยให้เป็นอย่างมาก
ประเด็นปัญหาด้านฮาร์ดแวร์นี้ผมเคยเขียนไว้ในรีวิว Windows 7 แล้วว่ามันขึ้นกับ "กรรมเวร" ของผู้ใช้แต่ละท่าน ถ้าโชคดีใช้ฮาร์ดแวร์ที่ไม่ค่อยมีปัญหา มันก็ไม่เคยมีปัญหา แต่ถ้าใช้ "ฮาร์ดแวร์มีกรรม" มันก็จะมีปัญหาอยู่เรื่อยไป รอบนี้ผมเจอ "โคอาล่าแห่งชะตากรรม" เข้าไปเต็มๆ แต่คนอื่นอาจเจอประสบการณ์ที่ต่างออกไป ไม่มีใครรู้จนกว่าจะลองเอา Live CD ไปทดสอบดูครับ
(ในกรณีทั่วไปแล้ว ชิปเซ็ตอินเทลดีที่สุด ทั้งการ์ดจอและ Wi-Fi ตอนซื้อนี่ท่องไว้เลย อินเทลๆๆๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเลย เพราะอย่างใน 9.04 ก็มีบั๊กร้ายแรงกับการ์ดจออินเทลนะ)
ถ้าให้ผมสรุป Karmic Koala เปรียบได้กับ Beta 1 ของ 10.4 LTS "Lucid Lynx" ฟีเจอร์นำร่องหลายอย่างใน Karmic น่าจะเริ่มเข้าที่เข้าทางใน Lucid แต่ถ้าว่ากันตามตรงมันเป็นรุ่นเบต้าที่เสถียรและใช้งานทั่วไปได้ไม่มีปัญหา (ยกเว้นจะ "มีกรรม" แบบผม)
Comments
อาการที่ผมพบตอนนี้
เดี๋ยวไว้ต้องเทส ดูว่าของผมจะมีกรรมกับเขาอีกไหม = =a (ก่อนหน้านี้ก็มีกรรมมาตลอด)
มันไม่ง่ายเลยที่จะทำ GIF ให้มีขนาดน้อยกว่า 20kB
สงสัยผมจะขอผ่านไปอีกรอบ ยังไม่มีอารมณ์จะแก้กรรม 555+
อ่านแล้วไม่อยากใช้Ubuntuแฮะ ว่าจะลองอยู่พอดี =_=
"With the first link, the chain is forged. The first speech censured, the first thought forbidden, the first freedom denied, chains us all irrevocably."
อยากลองแต่ไม่อยากเจอกรรม
ขอบคุณครับ.
ลองไป load ที่นี้มาดู ผมก็เอา link มาจากแถวๆ นี้ละจำไม่ได้ล่ะ
http://ubuntu-releases.sit.kmutt.ac.th/karmic/
ฝากแปะไว้ก่อน...ยังไม่ได้ load ตัวล่าสุดมาลองเลยครับ.
ว่าจะเข้าไป load ที่ ม. เลย เอาตัวที่เป็น DVD ไปเลย ไม่รู้ต่างกันไงนะครับ.
เพิ่มเติม...หลังจากอ่านอีกรอบ
...ผมมีกรรมกับ wifi ของ y450 เข้าแล้วไง
...ที่บ้านมีเข้ารหัสแบบ WEP กับ กรอง Mac-ID เข้าไม่ได้เลยครับ.
...แต่ผมยังใช้ตัว beta อยู่ ตัว verion จริงไม่รู้จะรอดหรือเปล่านะครับ.
Beta กับตัวจริงต่างกันเยอะเหมือนกันครับ Beta เละกว่าเยอะเลย :)
ของผมก็มีกรรม ใช้ asus k40ab ที่ cpu athlon ql 65
ลง restrict driver ของ ati มันบักเข้า X ไม่ได้เลย ต้องลงใหม่หมดเซงจริงๆ
ดีอย่างนึงคือ รองรับการเปิด/ปิด wifi ใน eee 701 แล้ว รุ่นก่อนปิดไม่ได้
และมี bug ว่า janitor ลบ adobe_flashplugin ทำให้ระบบเพี้ยนไปเลย
ผมโหลดตัว beta ก่อนออก release มาไม่กี่วัน
ยังใช้ตัว beta อยู่ ไม่ได้ลงตัว release ตัวเต็มเลย
ส่วนตัวคิดว่ามันเร็วกว่าตัว 9.04 ใช้ได้เลย
เยี่ยมครับ
ที่ใช้ FF เล่นพวก streaming ไม่ได้
kurtumm
ของผมเจอว่า Boot USB ที่สร้างจากตัว Ubuntu เอง (LiveCD) ไม่ได้ (อุปกรณ์ส่วนใหญ่เป็นชิพอินเทลครับ)
แต่ก็ถ้าจะติดตั้งก็ทำได้แหละ แต่พอดีผมลง OSX เอาไว้ (ไม่อยากเอาออกเพราะลงแรงไปมากกว่าจะติดตั้ง OSX ได้ 555) เดี๋ยวคงหาเครื่องว่าง ๆ ลงไว้เล่น ๆ ครับ
ตอนนี้ก็เลยลองบน VM ไปก่อน :P
เคยเจอเหมือนกัน เมื่อสมัย 9.04 เข้า LiveCD แล้วสร้าง USB Boot ในนั้น แต่กลับบูตไม่ผ่าน
ต้องไปโหลด Unetbootin มาใช้ ถึงจะได้ งงเหมือนกัน
เห็นหลายคนมีกรรมก็โชคร้ายไป
ผมลงแล้วสองเครื่องไม่มีกรรมอะไรทั้งสองเครื่อง
มีจุดหนึ่งจากรีวิวนี้ที่ทักท้วงเล็กน้อย เรื่อง อูบุนตู ซอฟต์แวร์ เซ็นเตอร์ ครับ ตรงที่ว่าดาวน์โหลดได้ทีละไฟล์ ที่จริงดาวน์โหลดได้หลายๆโปรแกรมซ้อนกันไป...แต่มันต้องทำทีละโปรแกรม (แย่มากๆ) คือพอเลือกลง 1 โปรแกรม พอมันเริ่มงาน เราก็มาเลือกโปรแกรมใหม่ทำซ้อนกันได้เรื่อยๆ มันจะแข่งกันโหลดไปเองในเวลาเดียวกัน
แต่ผมใช้สองสามทีก็ลง Add/remove มาใช้เหมือนเดิมครับ เพราะเราเลือกติ๊กได้เป็นกระบุงกระบุงเลยในหน้าเดียวก่อน apply
ที่ผมเจอคือมันเข้าคิวรอดาวน์โหลดทีละโปรแกรมนะครับ เดี๋ยวไปลองอีกรอบ
font hinting ผมชอบแบบ before มากกว่านะ -.-'
+1 เหมือนกันเลยครับ
แต่โชคดีผมกรรมน้อย แค่ใส่ prepend dns แล้วเหมือนจะหมดกรรม (มั้ง)
SCIM ใช้ไม่ได้ เลย เปลี่ยนมาเป้น IBUS ก็ดีครับ
แต่ 9.10 กับ 9.04 เวลาผม เล่น net ผ่าน internet sharing ของ ppc แล้วมันหลุดๆ นานๆ ไม่เหมือนตอนเล่นผ่าน วินโดว์ (แต่คาดว่าไม่เกี่ยว น่าจะเป้นเรื่อง setting มากกกว่า)
ผมลอง Kamic มาตั้งแต่ Alpha 5 ปวดหัวสุด ๆ ตอนแรกเป็น Live ใช้งานได้ดี การ์ดจอก็เจอ แต่พอลงเสร็จ การ์ดจอลงไม่ได้เสียเฉย ๆ Restricted Driver ก็ไม่เจอ Nvidia (แต่ไป ๆ มา ๆ ก็เจอเสียเฉย ๆ) จนตอนนี้มาเป็นตัวเต็มแล้ว คงจะไม่มีปัญหาอะไรกวนใจ
font Hinting เป็นอะไรที่น่าเบื่อเอามาก ๆ ทำยังไงก็ออกมาดูไม่ค่อยดี
แต่ผมชอบการไม่มี icon อยู่ที่หน้าเมนูนะ (ยกเว้น Main Menu ขอหน่อยมีเหอะ) แล้วก็ indicator icon แบบใหม่ หรู สวยมาก
Empathy เป็นอะไรที่ไม่เวิร์คสำหรับผมที่สุด ครั้งแรกที่ใช้ ซดแรมไปกิ๊กกว่า ต่อมา คลิกไล่ดูเมนูอยู่ดี ๆ ก็ค้าง พาทั้ง GNOME ค้างไปด้วย สุดท้ายกลับมาซบอก Pidgin
Flash เมื่อก่อนดี ๆ หาย ๆ ตอนนี้รู้สึกจะปกติกว่าแต่ก่อนนะ
Jusci - Google Plus - Twitter
thai mirror
mirror.startoss.in.th
mirror.nytes.net
เพิ่ม repository ของม.สงขลานครินทร์ ftp://ftp.psu.ac.th/pub/ubuntu/
แจ่มเลยครับ บทความนี้ผมอ่านยังไม่จบเลยนะเนี่ย เดี๋ยวพรุ่งนี้จะมาอ่านต่อ เสริมความรู้-*-
ATI ของผมใช้งาน compiz อย่างหนักหน่วงได้ ไม่มีปัญหาครับ..
ตอนนี้ผมแต่งมันซะอลังการ บ้าพลัง แต่ก็ยังเร็วอยู่ครับ ไม่อืด
ตอนนี้สำหรับผมมันโอเคกว่า win7 หลายอย่างครับ เพื่อนๆผมก็ชอบมัน หลายคนแล้วด้วย (แต่งให้สวยกว่า win7 แล้วโชว์มัน)
ผมลงเวอร์ชั่น 64 bit มีปัญหากับ Adobe Air ครับ ใช้ไม่ได้เลย
ก็เอาเป็นว่า 9/10 แล้วกันครับ..
WE ARE THE 99%
ของผมมันมีกรรม
หาสัญญาณ wireless ไม่เจอ
วันนี้ผมลองเข้าไปเยี่ยมเจ้าตัว slax หน้าตาจุ่มจิ๋มดี กำลังคิดๆอยู่ว่าจะลงเป็น ubuntu netbook remix หรือว่าเจ้า slax ดี
ขอฝากคำถาม เผื่อพี่ๆเพื่อนๆจะทราบกันครับว่า เจ้า cpu Atom เนี่ยมันจะลง slax ได้เปล่าครับ เห้นมันเขียนว่ารองรับ i386 ไม่แน่ใจว่ามันอยู่ในข่ายรึเปล่า
อาจจะยาวไม่เท่า Review ของ Windows 7 แต่ก็ถือเป็น Review ที่น่าสนใจดีครับ
ประเด็นเรื่อง Font/Hinting ของ Firefox พอดีผมเองใช้ Kubuntu แล้วรู้สึกว่า gtk-qt-engine มันจัดการให้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว สั่ง hinting เป็น full ใน KDE มันจะไปจัดการไฟล์ .fonts.conf เพื่อ matching กับ KDE ให้เอง ฝากรูปให้ลองดูละกัน:
เรื่องปัญหาไดร์ฟเวอร์ต่างๆ จะโทษไปที่ Ubuntu อาจจะไม่ถูกนัก แต่เห็นด้วยว่า Ubuntu One ยังทำได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่รวมถึงในแง่ของการพัฒนาด้วย โดยในการเรียกใช้งานมันจะไปเรียกโมดูล DBus เพื่อขอ Proxy node จาก NetworkManager ปัญหาคือคนที่ไม่ได้ใช้ NetworkManager (ผมใช้ Wicd) ตัวโพรเซสจะค้างอยู่ตรงนี้ใช้งานไม่ได้ ความน่าตลกคือคนพัฒนา App บน Linux น่าจะเข้าใจเรื่อง Variation ตลกอีกเด้งคือถ้าเราอยากใช้งานโดยที่ไม่ผ่าน Proxy ทำไมจะต้องมาติดปัญหาเรื่องขอ Proxy information ไม่ได้?
โดยส่วนตัว ผมค่อนข้างรู้สึกดีกับ Karmic Koala ซึ่งจุดประทับใจในตัว Release คงเป็นในแง่ของ Performance ที่พัฒนาขึ้นมาได้ดีอย่างเห็นได้ชัด ส่วน User Experience คิดว่าควรจะยกความดีให้ KDE4 ยกตัวอย่างเช่นการสามารถปรับ Input Action ได้หลากหลายขึ้น ทำให้ตอนนี้เราสามารถปรับให้ทุก App บน KDE สามารถใช้ Mouse Gesture ได้ รวมถึงคิดว่า Dolphin เป็น File Browser ที่ดีที่สุด จริงๆ ยังมีอีกหลายอย่างแต่คิดว่าน่าจะหยุดไว้แค่นี้ก่อน เดี๋ยวจะกลายเป็นความพยายามทำ Review ซ้อน Review และทั้งหมดนี้ต้องโน้ตไว้ตอนท้ายหน่อยว่า เป็นแค่ความเห็นส่วนตัวซึ่งแต่ละคนคงจะแตกต่างกันไปครับ
มาตอบช้าไปหน่อย Font Hinting ใช้ ไฟล์ตัวอย่างนี้ได้ครับ เท่าที่ผมใช้ก็เนียนดีครับ ลองเทียบกับระบบของ Windows 7 หากใช้ไฟล์ตัวอย่างข้างต้น ผมว่า Ubunutu เนียนกว่า Windows 7 หรือ IE8 ขอบมันจะไม่ค่อยคม
ถ้าพูดถึง KDE ก็คงหมายถึง Kubuntu สินะครับ :D
ผมว่าลองเขียนเป็นรีวิวอีกตัวนึงก็ดีนะครับ น่าสนใจดีเหมือนกัน
ผมรีวิวเทียบกับ 9.04 น่ะครับ คือฮาร์ดแวร์อันไหนไม่มีไดรเวอร์ มันก็ไม่มีเหมือนเดิม เพราะเป็นปัญหาด้านกฎหมาย อันนี้ไม่ว่ากัน
แต่ 9.10 มี regression จาก 9.04 เยอะมากอย่างไม่น่าให้อภัยครับ อันนี้ต้องด่า
ผมมีปัญหากับการทำ automount ของ cd / usb เหมือนกันแต่ไปค้นดูไปเจอ
http://wiki.archlinux.org/index.php/HAL#USB_sticks_and_drives_do_not_automount_correctly
ก็แก้ปัญหาได้ครับ
ตกลง Empathy ใช้ผ่าน Proxy ได้หรือยังครับ? เท่าที่อ่านดูสงสัยได้ลองตอน 10.04 แทนจะดีกว่า :(
แนะนำว่าควรเลี่ยง Empathy ไปก่อนครับ ปัญหามันยังเยอะอยู่ ผมเจอ crash ไปสามครั้ง Notification ไม่ขึ้น เวลาใครส่งข้อความมาก็ไม่มีอะไรเตือน (IM ปกติจะมีหน้าต่างป้อปอัพมา) กลับไปใช้ Pidgin เกือบไม่ทัน
ขอบคุณครับ :) รอ Fedora12 เลยดีกว่า :D
อ่านแล้ว รอ 10.04 ต่อไป
ของผมใช้แล้วกรรมไม่มีแฮะ แถมดีกว่ารุ่นก่อนๆ อีกต่างหาก โดยเฉพาะเรื่องเสียง (ยกเว้น wifi broadcom ที่ทำใจไปนานแล้ว ต้องต่อเน็ตมือถือเพื่อลงไดร์เวอร์ -*-)
แต่บอกได้เลยว่าไม่ชอบ Ubuntu Software Center อย่างแรง โดยเฉพาะเรื่องไม่มีดาวเรตติ้งกับลงหลายโปรแกรมพร้อมกันไม่ได้ กับอีกเรื่องคือ IM ที่บนหาตัวแทน WLM ที่มันเสถียรๆ ใช้งานง่าย กับเล่นกล้องได้เสียที (แต่ผมแนะนำ Emesene)
นอกเหนือจากนั้นประทับใจมาก เครื่องเร็วขึ้นมาก ยังกับเวอร์ชันก่อนๆ เหมือนเอาเครื่อง PC ไปเล่น MAC ช้าหน่วงแบบแปลกๆ ในขณะที่เวอร์ชันปัจจุบันเหมือนกับทำให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพเครื่องได้
ปล.รู้สึก Firefox ยังมีปัญหาสระอยู่แถวเดียวกันกับตัวอักษรไม่ได้อยู่แฮะ
I will change the world, to the better day.
ชอบตรงที่กลับมาใช้สีน้ำตาลเป็น default เหมือนยุคแรกๆ นี่แหละ ไม่ค่อยชอบสีส้มแฮะ ผมว่าสีน้ำตาลเท่ห์ดีอ่ะ ไม่เหมือน OS ตัวอื่นๆ ดีด้วย
ส่วนเรื่องฮาร์ดแวร์ ที่ผ่านมาผมไม่ค่อยมีปัญหากับมันนะ ทั้งโน้ตบุ้คและ desktop คงเพราะไม่มีกรรมมั้ง
เครื่องผม สองเครื่อง
ทั้งเครื่องตั้งโต๊ะและพกพา
ยังไม่เจอกรรมครับ
เจอแต่เครื่องอา
เป็นรุ่นเก่า ใช้ HD P-ATA
ฟอร์แมต เลือกแบบ ext4 แล้วมันค้าง ไม่ให้ความร่วมมือ
ผมควรฟอร์แมตแบบไหนดีครับ
มีกรรมจริงๆ ด้วย T__T
เครื่องผมก็เป็น แต่ไม่ได้เป็นทั้งจอ คือมันจะขึ้นเป็นกรอบสี่เหลี่ยมเล็กๆ อยู่ที่เดิมตลอดเวลา
ถึงจะยังมีปัญหาอยู่แต่ผมก็รู้สีกว่า Ubuntu 9.10 นี้เร็วกว่ารุ่นก่อนบางรุ่นมากๆ Gnomeก็ไม่เทอะทะล้นหน้าจอ (เครื่องโบราณ 1024x768) กินทรัพยากรก็น้อย คุ้มค่าที่จะลงตอนนี้แล้วรอ Patch ต่างๆ ภายหลัง
มีกรรมด้วยคน
VIA Rhine-II Fast Ethernet Adapter ไม่เจอ
แล้วตูจะเข้าไปดู NW/Internet ยังไงละเนี่ย = ="
ลงสามเครื่องแล้วครับ มีบุญ ไม่มีกรรม ครับ ... ทั้ง UNR บน Lenovo S10 ทั้ง Pentium 4 กับ NVIDIA แล้วก็บน Virtual Box ครับ .... ใช้งานราบรื่น ตกแต่งเล่นสนุกดีครับ อาจจะมีขั้นตอนตั้งเล็กน้อยตอนต้นครับ แต่หลังจากนั้นก็งามครับ (คือผมติด Restrict Driver แค่ันั้นครับ จากนั้นก็สบายครับ)
ดังนั้นผมถือว่าสอบผ่านแล้วก็ยอดเยี่ยมมากๆครับ ... ตอนนี้ผมก็ทำงานด้วย Ubuntu ตามปกติครับ : )
ขอบคุณครับ สวัสดีครับ
ผมใช้มาตั้งแต่ Alpha 5 ครับ
จนถึงปัจจุบัน ปัญหาที่เจอคือ Empathy ไม่สมประกอบอย่างที่สุด ใช้ emesene แทนแล้วครับ เนื่องจากออนเอ็มอย่างเดียว โปรโตคอลอื่นไม่ได้ใช้เลย
เรื่อง Hardware ไม่มีปัญหาครับ เนื่องจากเสปกคอมพ์ผมมัน Simple มาก ๆ การ์ดจออินเทลออนบอร์ด ซีพียูคอร์ทูธรรมดา ๆ มีดีตรงที่ใช้โปรไฟล์ A2DP ได้แล้ว (โดยง่าย) ส่วน Bluetooth Manager ตัวใหม่ของ GNOME ก็ยังสู้ Blueman ไม่ได้อยู่ดี
Keyboard ไม่ยอมแอดภาษาไทยให้ แม้ว่าตอนติดตั้งจะเลือกคีย์บอร์ดไทยแล้วก็ตาม
เปลี่ยน Proxy ของระบบต้องใส่ Password ถึงสองครั้ง
User and Groups เปลี่ยนไปเยอะ งงขึ้นเยอะ
รวม ๆ แล้วก็ยังถือว่าน่าใช้ครับ หน้าตาสวยขึ้น ชุดตบแต่งดูดีมีชาติตระกูลมากขึ้น Software Center ทำให้ต้องกลับไปใช้ Synaptic มากขึ้นโดยปริยาย ส่วนเรื่องความเร็ว เร็วขึ้น ทั้งการบู๊ตและการใช้งาน
ผมใช้กรรมหมดไปตั้งแต่ตอน beta แล้วครับ ^ ^
เครื่องผมแปลกนิดนึงครับ มีปัญหากับ NTFS ครับ คือผมลง Windows 7 ไว้ก่อนแล้ว แล้วมาแบ่งพื้นที่ลง 9.10 เพิ่มเติม ปัญหาที่เจอหลังจากติดตั้งคือ เมื่อ Mount NTFS Drive แล้ว เช่น Drive D: และ write data ลงไป เช่น copy file ไปแล้ว เมื่อ reboot เครื่องแล้วเข้า Windows เปิดดู folder นั้น ไม่ได้ Windows จะแจ้ง error เป็น Index file เสีย ต้อง restart และ ReIndex file ใหม่ ซึ่งบางทีไฟล์นั้นอาจจะหายไปเลย
ไม่รู้ว่าเป็นเพราะลงเป็น ext4 หรือเปล่า? หรือว่าเป็น bug ของ ntfs-3g มีใครเจอปัญหาประมาณนี้บ้างครับ แลกเปลี่ยนกันบ้างนะครับ
โดยภาพรวมแล้ว ถ้าตัดปัญหานี้ไป รุ่น 9.10 เหมาะกับเครื่องผมมาก (Dell Latitude D820)
เพราะทำ compress file รึเปล่าครับ
onedd.net
ไม่ได้ทำ compress file ไว้ครับ แต่มีเลือก "Allow files on this drive to have contents indexed in addition to file properties" ซึ่งเป็น default ของ Drive นี้ครับ ไม่รู้ว่ามันคืออะไรครับ
แล้วทำไมไม่มีให้แจ้ง ปัญหาแบบ win 7 บ้างละ หนึ่งคนหนึ่งข้อไรงี้
ไม่มีปัญญาก็อย่าใช้มันซิครับ