โครงการ Ladybird ก่อตั้ง Ladybird Browser Initiative นิติบุคคลไม่หวังกำไรเพื่อดูแลโครงการในระยะยาวที่มุ่งสร้างเบราว์เซอร์ที่ไม่ได้ถูกควบคุมโดยบริษัทใดๆ
Ladybird พยายามสร้างเบราว์เซอร์จากมาตรฐานอย่างเดียวโดยไม่ดึงโค้ดจากโครงการอื่นๆ มาใช้งาน ต่างจากเบราว์เซอร์ต่างๆ ทุกวันนี้ที่แชร์โค้ดระหว่างกันจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Chrome, Edge, หรือ Safari
เบราว์เซอร์สมัยใหม่มีส่วนประกอบจำนวนมากที่ซับซ้อน ตั้งแต่เอนจินการเรนเดอร์เว็บ, เอนจินจาวาสคริปต์, WebAssembly, ไลบรารีเข้ารหัส, ไลบรารี HTTP, ตลอดจนไลบรารีกราฟิก โดยโครงการจำนวนมากมาจากโครงการ SerenityOS
Ladybird Browser Initiative ยังคงแนวทางไม่ยุ่งเกี่ยวกับองค์กรอื่นๆ เช่นเดิม โดยประกาศแนวทางว่าจะไม่พยายามดีลธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ ต่างจาก Mozilla Firefox ที่มีข้อตกลงช่องค้นหากับกูเกิล ขณะที่เงินบริจาคที่บริจาคจะต้องไม่มีเงื่อนไข การเป็นสมาชิกไม่ได้รับประกันว่าจะได้รับตำแหน่งบอร์ดหรือเป็นกรรมการควบคุมด้านเทคนิคใดๆ
บอร์ดเริ่มต้นของ Ladybird Browser Initiative มีสองคนคือ Andreas Kling ผู้สร้างโครงการ Ladybird เอง และ Chris Wanstrath อดีตผู้ร่วมก่อตั้ง GitHub โดยตอนนี้โครงการยังไม่ถึงระดับ alpha และคาดว่าจะพัฒนาจนระดับพอใช้งานได้เวอร์ชั่น alpha ในปี 2026
ที่มา - Ladybird
Comments
อันนี้ถามด้วยความไม่เข้าใจเลยจริง ๆ
แล้วเค้าทำแบบอิสระออกมาแบบนี้ มันจะไม่มีปัญหาความเข้ากันได้ กับ browser อื่น ๆ เหรอครับ
มาตรฐานกลางมันก็มี พอจะเข้าใจได้อยู่
แต่ทุกวันนี้ ผมยังเจอเว็บโง่ ๆ ที่เปิดด้วย Edge แล้วมีปัญหา ต้องไปเปิดด้วย Chrome ก็มีเลย
นึกถึงยุคที่คนทั้งโลก ใช้ IE แล้วผมใช้ Opera สมัยนั้น Opera กับ IE เหมือนคนละยุคกัน ดีกว่ากันจนผมยอมแลกความ incompatability
Opera มีปัญหากับเว็บทั่ว ๆ ไป สมัยนั้น พอรับได้ มันคนละ Engine
แต่ Chrome กับ Edge นี่มันอะไรกันเนี่ย
บางทีเราคิดว่า ปัญหา เกิดจาก extension ก็ไปเปิดใน incongito ซึ่ง extension ไม่ทำงาน ก็ไม่รอดอยู่ดี ไม่เข้าใจ
เจอแน่นอนครับ
แต่มาตรฐานมันดีขึ้น เพราะมันมีคนมีปัญหาเมื่อมีการอิมพลีเมนต์ที่หลากหลายแล้วเจอว่ามาตรฐานมันไม่ดีพอ พวกกระบวนการทดสอบ ACID หรือชุดทดสอบอื่นๆ ก็เกิดมาเพราะสมัยจะย้ายออกจาก IE
ตรงกันข้าม ยิ่งโลกถูกครองโดย WebKit Based Browser ไปทั้งโลกนานแค่ไหน ความบกพร่องของมาตรฐานจะหนักขึ้นเรื่อยๆ
lewcpe.com, @wasonliw
ผมกลับเข้าใจผิดมาตลอดว่าถ้าหากว่ามันมีมาตรฐานกลางมาตรฐานเดียว แล้วทุกคนร่วมกันใช้ มันจะกลายเป็นทุกคนร่วมกันตรวจสอบจนปัญหามันน้อยลงซะอีก
ก่อนหน้านี้จำได้ว่าเคยมีข่าวว่าทาง mozilla ก็เคยออกมาพูดเรื่องการที่มีมาตรฐานเดียวไม่โอเคมาแล้วเมื่อสักปีหรือ 2 ปีก่อน ตอนนั้นอ่านก็ยังรู้สึกว่าทำไมมันถึงต้องมีหลายๆมาตรฐานให้มันลำบากคนสร้างเว็บ แล้วกลายเป็นปัญหาความไม่เข้ากันของเว็บเหมือนที่เจอกันในอดีตซะอีก
นี่กลายเป็นว่าผมเข้าใจกลับหัวกลับหางเลย
เอ อ่านแล้วงง ต้องแยกระหว่าง "เอกสารมาตรฐาน" อย่าง W3C ก้บ "อิมพลีเมนต์ที่ได้รับความนิยมสูงจนเป็นมาตรฐาน" อย่าง Blink หรือ WebKit นะครับ
W3C หรือ WHATWG เป็นมาตรฐานแล้วทุกคนร่วมกันใช้ แต่เอาจริงไม่มีใครอิมพลีเมนต์ครบจริงๆ เราอาจจะเคยเห็นคนอิมพลีเมนต์ JS Engine หรือชิ้นส่วนอื่นๆ บ้าง แต่ชิ้นส่วนหลักๆ กลับมีคนอิมพลีเมนต์ไม่กี่รายแ แถมแชร์โค้ดกันสูง
ยิ่งมี implementation ยิ่งมาก ทำให้ครบตามเอกสารมาตรฐานเยอะๆ แต่ปรากฎว่าพยายามทำครบแล้วแต่พฤติกรรมดันไม่เหมือนกันแสดงว่าเอกสารไม่ครบถ้วนดีพอ มีจุดที่ไม่ได้ระบุพฤติกรรมเอาไว้แล้วดันสร้างปัญหา
lewcpe.com, @wasonliw
ขอบคุณครับ
ใช่เลยครับ การมี Ladybird เกิดขึ้นมาด้วยวิธีการพัฒนาแบบนี้นี้ก็ดีนะครับ น่าจะเป็นตัวช่วยตรวจสอบมาตรฐานกลางได้เป็นอย่างดี
ว่าแต่ shopify ที่เป็น Platinum sponsor ตอนนี้ เค้าไม่มีแผนอะไรเบื้องหลังใช่ป๊ะ 555
..: เรื่อยไป
การที่มีเวนเดอร์หลักเจ้าเดียว ปัญหานึงที่เกิดขึ้นคือ แทนที่มาตรฐานจะเป็นคนกำหนดผลิตภัณฑ์ มันกลายเป็นผลิตภัณฑ์เป็นผู้กำหนดมาตรฐานแทน ซึ่งหมายถึงโอกาสจะเกิดคู่แข่งก็จะยากมาก
แล้วพอมีเวนเดอร์เจ้าเดียวกัน การแข่งขันก็จะมีน้อยลง การพัฒนาก็จะช้าลง อย่างทุกวันนี้ผมว่าคนเขียนเว็บบางคนยังเจอปัญหากับ iOS อยู่เลย (เพราะว่า iOS มีบราวเซอร์แค่ตัวเดียว บราวเซอร์อื่นเป็นแค่หน้ากากครอบอีกที) เพราะว่าเวลามีปัญหา Apple ก็แค่บอกว่า "ไม่แก้" ก็จบ ยังไงซะคนก็หนีไปตัวอื่นไม่ได้อยู่แล้ว อะไรแบบนี้ครับ
เห็นหลายเจ้าพูดก็งี้ พอได้มีเงินเข้ามาเอี่ยว ทนกลิ่นอันหอมหวานของเงินไม่ได้