ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ลงมติเห็นชอบผลการประมูลคลื่น 2.1GHz ด้วยคะแนนเสียง 4-1 โดยผู้ที่ไม่เห็นชอบคือ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กทค. ที่เป็นเสียงข้างน้อยมาโดยตลอด (รายละเอียดการประชุมอ่านได้จากลิงก์ของไทยรัฐ)
ลำดับต่อไปทางสำนักงาน กสทช. จะแจ้งผลไปยังผู้เข้าร่วมประมูลภายใน 7 วัน จากนั้นผู้ชนะการประมูลจะยื่นเอกสารที่จำเป็น และจ่ายเงินค่าคลื่นงวดแรก 50% ของราคาสูงสุดของการประมูล (ทุกรายจ่ายงวดแรกเท่ากัน คือ 50% ของ AIS) เมื่อยื่นเอกสารและจ่ายเงินเรียบร้อย ผู้เสนอราคาในการประมูลแต่ละรายน่าจะได้รับใบอนุญาตภายใน 7 วัน
ให้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมว่างวดที่ 2 อีก 25% จะจ่ายหลังวันรับใบอนุญาต 2 ปี และงวดสุดท้ายอีก 25% จะจ่ายหลังจากวันรับใบอนุญาต 3 ปีครับ
ที่มา - ไทยรัฐ, อีเมลประชาสัมพันธ์ กสทช.
บอร์ด กทค. มีมติเห็นชอบผลการประมูลใบอนุญาต 3 G
ร.ศ. ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า ตามที่สำนักงาน กสทช. ได้จัดการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz เพื่อนำเอาคลื่นความถี่มาให้บริการประชาชน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา นั้น
วันนี้ (18 ตุลาคม 2555) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ครั้งที่ 38/2555 มีมติเห็นชอบผลการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz ตามผลดังนี้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เสนอราคาเป็นเงิน 14,625 ล้านบาท ได้เลือกย่านความถี่ชุดที่ 7-9 (1950 MHz -1965 MHz และ 2140 MHz – 2155 MHz) บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด เสนอราคาเป็นเงิน 13,500 ล้านบาท เลือกย่านความถี่ชุดที่ 4-6 (1935 MHz – 1950 MHz และ 2125 MHz – 2140 MHz) บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด เสนอราคาเป็นเงิน 13,500 ล้านบาท เลือกย่านความถี่ชุดที่ 1-3 (1920 MHz – 1935 MHz และ 2110 MHz – 2125 MHz) และให้สำนักงานดำเนินการตามที่กำหนดในประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 ต่อไป
ร.ศ. ประเสริฐ กล่าวต่อว่า การประชุมในวันนี้เป็นการประชุมวาระเดียวเพื่อพิจารณาผลการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฯ ย่าน 2.1 GHz ส่วนการดำเนินการต่อไปเป็นเรื่องของสำนักงาน กสทช. ที่จะดำเนินการให้ใบอนุญาต ทั้งนี้ กทค. จะออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ให้แก่แต่ละบริษัท ภายหลังจากที่บริษัทได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนได้รับใบอนุญาต ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 ครบถ้วน ภายใน 90 นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประมูล
สำหรับเงื่อนไขการดำเนินการก่อนได้รับใบอนุญาต แต่ละบริษัทต้องดำเนินการชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz งวดที่ 1 เป็นจำนวน 50% ของราคาสูงสุดที่ได้เสนอในการประมูล พร้อมส่งหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินประเภทธุรกิจธนาคารพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 เพื่อค้ำประกันการชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz งวดที่ 2 และงวดที่ 3 ทั้งนี้เงินค่าประมูลที่ต้องชำระยังไม่รวมภาษี และค่าธรรมเนียมต่างๆ และดอกเบี้ยตามที่กฎหมายกำหนด และต้องนำส่งเอกสารหลักฐานและข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ในการอนุญาตสำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ตามข้อ 4 ของภาคผนวก ก ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 แก่สำนักงานฯ ให้ครบถ้วนถูกต้องตามรายละเอียดที่ได้รับแจ้งจากสำนักงาน กรณีปรากฏว่าเอกสารหลักฐานและข้อมูลเหล่านั้นไม่ถูกต้องหรือไม่เพียงพอ
ร.ศ. ประเสริฐ กล่าวอีกว่า ผู้เสนอราคาในการประมูลแต่ละรายน่าจะได้รับใบอนุญาตภายใน 7 วัน หลังจากที่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนได้รับใบอนุญาต ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 เรียบร้อย ในส่วนของเงินรายได้จากการประมูลจะนำเงินที่ได้หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแล้วส่งกระทรวงการคลังให้เร็วที่สุด
สำหรับรายละเอียดเรื่อง การชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz นั้น แต่ละบริษัท จะต้องชำระเงินตามราคาที่เสนอราคาสูงสุดของแต่ละราย โดยแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด คือ งวดที่ 1 ชำระเงินเป็นจำนวน 50% ของราคาที่เสนอราคาสูงสุด พร้อมหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร เพื่อค้ำประกันการชำระเงินค่าประมูลในส่วนที่เหลือ ภายใน 90 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประมูล งวดที่ 2 ชำระเงินเป็นจำนวน 25% ของราคาที่เสนอราคาสูงสุด พร้อมหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร เพื่อค้ำประกันการชำระเงินค่าประมูลงวดที่ 3 ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต และงวดที่ 3 ชำระเงินเป็นจำนวน 25% ของราคาที่เสนอราคาสูงสุด ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต ทั้งนี้เงินที่แต่ละรายต้องชำระ ยังไม่รวมภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ และดอกเบี้ย ตามที่กฎหมายกำหนด
ร.ศ. ประเสริฐ กล่าวว่า จากนี้ไปจะมองไปที่การกำกับดูแลผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบ ที่ 3 ที่จะให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ที่ได้รับใบอนุญาตไป โดยจะดูตั้งแต่ว่ามีการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเกิดขึ้นหรือไม่ อัตราค่าบริการสมเหตุสมผลหรือไม่ ต้นทุนเป็นอย่างไร คุณภาพของการให้บริการเป็นอย่างไร “ โดยส่วนตัวคิดว่าค่าบริการต้องถูกกว่าปัจจุบัน”
Comments
นะ...น้ำตาจะไหล
ฝันที่จะได้ใช้ 3G ของแท้ให้ทัดเทียมกับลาว พม่า กัมพูชาใกล้เป็นจริงแล้ววววววว
น้ำตาจะไหล ขอแชร์นะครับ
ขอถามแบบคนไม่รุ้จริงๆนะครับ
อยากรู้ว่า ทาง AIS, DTAC, TRUE จ่ายค่าประมูลนี่แล้ว ประมาณ 14,000ล้านบาท ต้องจ่ายค่าสัมปทานอีกรึป่าวครับ?
もういい
ไม่จ่ายแล้วครับ นี่รวมเบ็ดเสร็จเลยครับ
Coder | Designer | Thinker | Blogger
ยังมี ภาษีโทรคมนาคม อีกด้วยรึเปล่าครับ
น่าจะมีนะครับ อันนี้ผมไม่แน่ใจนะ
Coder | Designer | Thinker | Blogger
กระทรวง ICT จะเก็บแยกต่างหากครับ ก็เก็บในอนาคต ตอนนี้ยัง 0%
ยังมีค่าธรรมเนียมรายปีอีก 4% ของรายได้อีก(มั้งนะไม่แน่ใจ)
รอดูว่าโปรโมชั่นรายเดือน iPhone 5 จะเป็นเท่าไหร่
จะเป็นตัวตัดสินว่า ประชาชน จะจ่ายถูกลงจริงหรือไม่
ในความรุ้สึกผมคิดว่ามันก็คงไม่ได้ถูกลงเลย เผลอๆ อาจจะแพงขึ้นก็ได้
ถ้าค่าบริการใช้ 3G แพงขึ้นนะ ผมจะเลิกใช้เลย ใช้ต่อ WI-FI ข้างทางก็ได้(T_T) เจ็บแล้วต้องจำ
ให้ไวๆ จะได้ใช้สักที
ผมว่าก็ยังไม่ 100% นะยังเหลือคนอีกประมาณ 108 กลุ่มจ้องฟ้องล้มอีก
ต่อไปก็ถึงคิวคนฟ้องครับ ดาหน้ากันเข้ามาเลย โย้ว
คงมีการดาหน้ากันฟ้องตั้งแต่คดีนี้ยัน digital TV เลยล่ะครับ ตอนที่วิทยุชุมชนก็กำลังระอุเลย
I need healing.
ผมสงสัยมากว่า คนที่บอกว่าชาติเสียผลประโยชน์ เนี่ย
คำว่าชาติของเค้าไม่มีประชาชนอยู่ในนั้นหรือ
เงินเข้าคลังน้อยลงคือการเสียผลประโยชน์ แล้ว ประชาชนเสียโอกาสทางการพัฒนา ชักช้า ล้าหลัง มา 15 ปี ไม่นับว่าชาติเสียผลประโยชน์หรือยังไง ......
+100000
ชาติมันต้องรวมไปถึงประชาชน
การลงทุนและอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย
มัวแต่ผลัดกันล้มแบบนี้ มันก็ไม่ต่างอะไรกับเสียผลประโยช์น
อยากที่ผมพูดไว้เสมอๆว่า คำว่าชาติของคนพวกนี้ ไม่ได้หมายถึงประชาชนแม้แต่นิด
Blognone = 138.1 news/w เยอะมากๆ
+10000
(สมมติกรณีที่เงินคลังใช้เพื่อประชาชนทุกบาททุกสตางค์)เงินทุกบาทนั้นเอามาพัฒนาชาติครับ ชาติเรายังขาดสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญกว่า 3G อีกเยอะ
เงินที่ควรจะได้จากการประมูลครั้งนี้กลายเป็นไม่ได้ ประชาชนนี่แหละที่เสียประโยชน์เต็มๆ
แต่ในเมื่อความเป็นจริงเงินที่เอามาพัฒนาชาติจริงมันโดนโกงไปไม่รู้เท่าไหร่ การหยวนๆให้มันประมูลได้ไปก่อนอาจจะดีกว่าจริงๆก็ได้.....
เงินประมูลนี่มันควรจะได้ตั้งแต่ 10-12 ปีก่อนแล้วซี่
มันกลายเป็นประเทศชาติเสียประโยชน์ไปเป็นสิบกว่าปี
คนละเรื่องเดียวกันครับ การประมูลควรมีมาเป็นสิบปีแล้วจริง ชาติเสียประโยชน์จริง แต่ไม่ใช่ข้ออ้างในการทำการประมูลแบบนี้
เหมือนจะบอกว่าคนเก่ามันโกงแล้วไม่มีผลงานเลย คนนี้โกงแต่ยังมีผลงาน ถ้าแบบนั้นแสดงว่าเราสามารถยอมรับการโกงซึ่งๆหน้าได้ถ้าเราได้ประโยชน์? แนวคิดแบบนี้ทำให้การคอร์รัปชันฝังรากลึกยิ่งกว่าเดิม เพราะผู้เสียประโยชน์ที่เป็นเจ้าของประเทศจริงดันรับได้กับ"เศษ"ที่ผู้มีอำนาจเหลือทานมาให้นะครับ
จริงๆแล้วมีหลายข้อมากเลยที่ผมยังรู้สึกคาใจไม่หาย แต่ที่ชัดเจนอย่างนึงคือ คนที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่ส่งเรื่องไปทักท้วงอะไร :( ส่วนคนที่เล่นเกมการเมืองก็รอให้ใกล้ๆจะประมูลค่อยไปยื่นเรื่องจะได้แก้ข้อกำหนดไม่ทันทั้งที่มีเวลามานมนานกาเลให้แก้ไขได้
ต้อง 9 สล็อต สล็อตละ 5 MHz เท่านั้นเหรอ?? แบ่งเป็น 18-15-12 ได้มั๊ย? หรือ 17-15-13 ได้ป่าว?
"ราคาประเมิน" นี่มันแม่นยำแค่ไหน? ที่โวยวายๆกันว่ารัฐเสียรายได้ 6000ล้าน นี่แท้จริงแล้วมันควรจะเป็นเท่าไร? ถ้าให้มีการแข่งกันกันเต็มที่เจ้าไหนเก๋าจริงก็เอาไป 45 MHz เลย แล้วราคารวมออกมาได้เฉลี่ยแค่สล็อตละ 5000ล้าน แทนที่จะเป็น 6350ล้าน เราจะยังถือว่าชาติเสียผลประโยชน์อยู่รึเปล่า?
ในกรณีที่ปล่อยให้แข่งกันหน่อย มือใครยาวสาวได้สาวเอา ได้ออกมา 20-20-5 จะเข้าข่าย "ทุนนิยมนี่มันxxxจริงๆ" รึเปล่า?
ถ้าตั้งไว้ที่ 6350ล้าน จะโดนฟ้องข้อหาตั้งราคาไว้สูงเกินไป จนทำให้ CAT TOT ไม่สามารถเข้าร่วมแข่งขันได้กลายเป็นการล็อคสเป็ค หรือไม่ ?
ผมรู้สึกว่าไม่ว่าจะทำอะไรก็โดนด่าได้อยู่ดี
แต่ละเจ้าได้คลื่นไม่เท่ากัน -> ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันในด้านการบริการ มีนายทุนใหญ่กว้านเอาสมบัติของชาติไป "ทุนนิยมนี่มันxxxจริงๆ"
ตั้งราคาสูง -> ล็อคสเป็คให้เข้ามาประมูลได้แค่ไม่กี่เจ้า
กำหนดสล็อตเจ้าละ 3 -> ฮั้ว (แต่อันนี้ผมก็ข้องใจเหมือนกัน....ว่าเพื่ออะไร???)
ตั้งราคาต่ำ -> ชาติเสียผลประโยชน์
ส่วนเรื่องการใช้งบประมาณของชาติ ลองคิดดูง่ายๆว่า ค่าใช้จ่ายในการจัดการประมูลครั้งละ 30 ล้าน...... O_o? มันคืออะไร...? ระบบประมูลของราชการมีมาหลายครั้ง มีมาตลอด ต้องสร้างตึกใหม่หรือ? เขียนซอฟแวร์ใหม่หรือ? ซื้อคอมใหม่หรือ? ทุกครั้งมันแพงยังงี้หรือ? แสดงว่าครั้งอื่นๆไม่โปร่งใส?
การประมูลความถี่ตามที่นักเศรษฐศาสตร์ออกแบบไว้ พื้นฐานคือทำให้เกิด"การแข่งขัน"ครับ โดยอยู่บนพื้นฐานที่ว่าผู้ประกอบการรู้มูลค่าที่แท้จริงมากกว่ารัฐ ดังนั้นผู้ประกอบการจะยอมจ่ายจนถึงจุดที่ไม่คุ้มกับการลงทุน
วิธีนั้นจะทำยังไงก็ได้ แม้แต่ให้แต่ละเจ้าได้คลื่นไม่เท่ากันด้วย เพราะการที่มีผู้ประกอบการรายนึงได้คลื่นมากกว่า แสดงว่าต้องลงทุนมากกว่า และน่าจะมีความสามารถในการให้บริการที่ดีกว่าเพราะมองเห็นหนทางทำกำไรมากกว่าเจ้าอื่น แต่ต้องมีการกำหนดอย่างฉลาดเพื่อไม่ให้เกิดสภาพ Monopoly
แต่ถ้าการประมูลจัดออกมาอย่างดีแล้ว มีการแข่งขันกันแล้ว ปรากฏว่าได้น้อยกว่าราคาประเมิน แสดงว่าราคาประเมินผิดครับ แต่ถ้าจัดการประมูลแล้วราคาประมูลไม่ขยับ ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องแข่งขัน อันนี้ชัดเจนว่าการจัดประมูลนั้นล้มเหลว
ประเด็นของเรื่องนี้ไม่ใช่ราคาตั้งต้นต่ำ(เพราะถ้าจัดอย่างฉลาด เริ่มที่ 0 ก็ยังได้) แต่เป็นวิธีการประมูลที่เรียกไม่ได้เลยว่าประมูล
ส่วนเรื่องแย้ง ผมว่าคนแย้งกันเยอะนะ แต่อารมรณ์บ่นกันในวงสนทนามากกว่า ซึ่งนับเป็นข้อเสียของสังคมเรามานมนานแล้ว
ปัญหาคือ กสทช คาดการณ์ผิดพลาดว่า ไม่คิดว่า CAT และ TOT จะไม่เข้าร่วมและ รายที่ 4 ถูกตัดสิทธิ์รึเปล่าครับ?
กฎอันนี้มันไม่ได้ตั้งขึ้นหลังจากรู้ว่ามีแค่ 3 รายนะครับ ถ้าหากผู้เข้าประมูลมีมากกว่า 3 รายทำไมจะไม่เกิดการแข่งขันครับ?
มันตั้งขึ้นไว้ก่อนแล้วจึงค่อยมายื่นซองกัน
ถามว่าทำไมถึงตั้งกฎยังงี้ คำตอบก็ย้อนกลับไปที่สิ่งที่คุณต้องการนั่นแหละครับ พื้นฐานคือทำให้เกิดการแข่งขันกัน ในการใช้ทรัพยากรของชาติที่ต้องได้รับสัมประทานอย่างเหมาะสม
สมมุติในกรณีที่มี 6 รายเข้าร่วม แล้วมี 2 รายใหญ่ยึดไป รายละ 20
แล้วรายเล็กรายเดียวที่บังเอิญได้มา 5 รายนี้จะ "แข่งขัน" ต่อในตลาดได้รึเปล่าล่ะครับ?
ผมตอบได้เลยว่ากลุ่มกรีนก็จะออกมาประท้วงด้วยข้อหา "ทุนนิยมนี่มันxxxจริงๆ" มือใครยาวสาวได้สาวเอา ทุนหนาผูกขาดตลาด (แม้ในใจผมจะมองว่า แบ่งเป็น 20-15-10 แต่แรกน่าจะเข้าท่ากว่าแต่ก็ไม่พ้นข้อหาเดิมอยู่ดีครับ บีบบังคับไม่ให้รายเล็กสามารถเข้าร่วมประมูลได้)
ถ้าเทียบในกรณีเพดาน 15 ที่อาจจะมีสองรายใหญ่ยึดได้เต็มที่ก็ 30 ยังเหลือ 15 (ที่อาจจะเป็น 15 หรือ 10-5 หรือ 5-5-5)
ซึ่งกรณี 20-20-5 สองรายใหญ่ไม่ต้องมา ร่วมสัญญากับใครแล้วครับ โฆษณาได้เต็มปากว่าช่องสัญญาณของข้าเยอะ ยี่ห้อเล็กๆสู้ไม่ได้แน่ๆกากแน่นอน โก่งราคาได้สะใจเลยครับ บริษัทก็กำไรงดงามไม่ต้องมาตัดราคาแข่งกันแน่ๆ มีแค่ สองตัวเลือก ซึ่งนี่ก็คือ Monopoly ที่คุณพูดถึง และเค้าพยายามหลีกเลี่ยงถึงได้ไปตั้งกฎเพดาน 15
กรณีที่ สองรายได้ไป 15-15 แล้ว รายที่เหลือเป็น 15 หรือ 10-5 หรือ 5-5-5 ในสองแบบหลังแน่นอนว่ารายเล็กต้องมาร่วมมือกันแน่ๆเพื่อให้พอสูสีแข่งกับ 15 ของรายใหญ่ได้ และถึงแม้จะออกมาเป็น 15 ก็สามารถทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดได้สูสีนี่ล่ะครับ กรณีที่มีสามเจ้าขึ้นไปในตลาดแบบนี้นี่ล่ะครับถึงเกิดการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น พัฒนาบริการและดัมพ์ราคาแข่งกัน
กลับมาที่ข้อสรุปอีกครั้ง กสทช ไม่ใช่ the oracle ครับ ถึงจะคาดเดาได้ว่ามีคนมาร่วมแล้วผ่านเงื่อนไขแค่ 3 ราย จึงไม่เกิดการแข่งขัน ถ้าอยากให้เกิดการแข่งขันมากกว่านี้ก็ยกเลิกกฎหมายกีดกันต่างชาติไปเลยครับ อาจจะมีค่ายมือถือต่างชาติที่มีเงินพอและพร้อมจะลงทุนโครงข่ายอยากมาร่วมแจมด้วย แต่กสทชไม่มีอำนาจตรงนี้ครับ....
แล้วถามว่าในการตั้งไว้เพื่อจุดประสงค์แบบนี้มันผิดรึเปล่าล่ะครับ? ทั้งที่กฎมันตั้งก่อนจะมีผู้มายื่น? คนที่โวยวายว่าตั้งกฎฮั้วก็เหมือนกูรูหวยที่มาฟันธงหลังหวยออกนี่ล่ะครับ รอดูว่ามีผู้เข้าประมูล 3 ราย แล้วค่อยมาโชว์เทพว่า พวกกรูว่าฮั้วเด็กอนุบาลยังรู้เลย จับได้คาหนังคาเขา ไม่ต้องจบเศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ อะไรมาก็มองออกได้โดยไม่ยากอะไร ถ้าหากผู้เข้าประมูลรายที่สี่ดันมีเงินพอไม่ถูกตัดสิทธิ์และเข้าร่วมประมูลได้ และเกิดการแข่งขันกันแน่นอน กสทช ออกกฎฮั๊วรึเปล่าครับ? สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังออกกฎโดยที่ กสทช ไม่มีแอคชันอะไรให้บีบบังคับให้รายที่สี่หลุดได้ หรือ ให้รอดแค่สามรายเท่านั้น เลยมันถือเป้นความผิดของกสทชได้มั๊ยล่ะครับ? ในทางกลับกันถ้าการประมูลนี้เกิดมีผู้ผ่านเงื่อนไขแค่ รายเดียว โดยที่อีกสองรายก็ดันเจอพลังพิเศษของรายหนึ่งจัดการด้วยข้อหาเป็นของต่างชาติ ด่าวดิ้นก่อนจะได้เข้าประมูล จะเข้าข่ายฮั้วอีกมั๊ยครับ? มีคนประมูลรายเดียวเอาฟรีไปเลย(เพราะคุณบอกว่าเริ่มที่ 0 ก็ได้)? ฮั๊วชัดๆ? ชาติเสียผลประโยชน์?
+1 ครับ สมมติว่านี่ก็มีคอรัปชันปันผลประโยชน์ สมคบคิดหรืออะไร แต่ก็เหมือนเดิมไหมอ่ะครับ มันไม่มาในรูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง จับได้ไม่ได้อีกเรื่องหนึ่ง
ไหน ๆ ก็สรุปกันเสร็จแล้ว ได้แล้ว ก็ขอใช้ 3G ดีๆ บ้างเหอะครับ
คือผมอยากรู้ว่าเมื่อก่อนที่ส่งสัมปทานให้ CAT กับ TOT พวก CAT กับ TOT ส่งเข้ารัฐเท่าไรครับ
ถ้าจำไม่ผิด 40,000 ล้านต่อปีปะ
ถ้าผมจำผิด ผู้รู้มาไขความกระจ่างที
จ่ายค่าสัมปทานประมาณ 20-25% ของรายได้ รายได้สามเจ้ารวมกันประมาณ สองแสนล้านบาท แต่ถึงรัฐบาลไม่ถึงสองหมื่นล้านบาท ส่วนที่หายไปคือ CAT กับ TOT เอาไปพัฒนาระบบโทรคมาคมให้ทัดเทียมกับเพื่อนบ้าน
หวังว่าออกใบอนุญาตแล้ว รัฐบาลจะเก็บภาษีผู้ได้ใบอนุญาตสัก 10% เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปเพราะหมดสัมปทาน
สัมปทาน 15 ปีนะครับ นั่นแปลว่า.....
ตามนั้น
ว่าววววว....ไวมาก ๗ วัน
คงต้องรีบออกให้เสร็จก่อนจะโดนรุมฟ้อง
กฎการประมูลเอื้อต่อการฮั้วกันของ 3 ค่ายผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือขนาดใหญ่ในปัจจุบัน ไม่ต้องจบเศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ อะไรมาก็มองออกได้โดยไม่ยากอะไร ส่วนตัวผมยินดีที่จะเห็นการประมูลที่ถูกต้องชอบธรรมมากกว่านี้แม้จะต้องรอการใช้ 3G ไปอีกสัก 2-3 เดือนก็ไม่เป็นไร ผลประโยชน์ของประชาชนนั้นสำคัญแต่ผลประโยชน์ของชาติก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ไม่จำเป็นที่เราจะต้องเลือกเฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ได้ผลประโยชน์สูงสุด มันมีหนทางที่ชาติจะได้ประโยชน์สูงสุดและประชาชนก็จะได้ประโยชน์สูงสุดไปพร้อม ๆ กันแต่น่าเสียดายที่ประเทศนี้มักไม่เลือกหนทางนั้น
เพียงแค่ปรับเปลี่ยนกฎการประมูลให้เกิดการแข่งขันกำหนดขอบเขตบนของช่วงความถี่ที่ผู้ประมูลแต่ละคนจะได้รับให้มีหลายสูตรโดยตั้งเงื่อนไขตัดสูตรที่เป็นผลเสียต่อการแข่งขันในท้องตลาดมากเกินไปออก เพียงเท่านี้ผู้ประมูลก็จะแย่งกันนำเสนอราคาเองตามธรรมชาติของการแข่งขันแล้ว เช่น อนุญาตให้มีผู้ประมูลได้ช่วงความถี่มากที่สุดไม่เกิน 20 MHz ซึ่งหากมีผู้ประมูลรายใดทำสำเร็จ ขอบเขตบนของช่วงความถี่ที่เหลือที่สามารถประมูลได้จะต้องลดเหลือไม่เกิน 15 MHz เป็นต้น ซึ่งผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าแนวโน้มของการประมูลน่าจะจบลงที่ 15-15-15 เหมือนอย่างตอนนี้แต่รัฐจะได้เงินจากการประมูลมากกว่าที่ "จัดสรร" กันอยู่ตอนนี้มาก
หลายคนคงอยากใช้ 3G มากจนทำให้คิดว่าอะลุ่มอะล่วยได้ไม่เป็นไร เสียเงินเข้าคลังไปประมาณ 6,000 ล้านบาทก็คงไม่เป็นไร ทั้ง ๆ ที่ความจริงเงิน 6,000 ล้านบาทนี่สามารถนำไปพัฒนาประเทศในด้านอื่นได้อีกมากมาย สงสารก็แต่คนไทยผู้สูญเสียโอกาสเหล่านั้นไป เขาจะได้รู้หรือไม่ว่าเพื่อนร่วมชาติอีกหลายคนไม่ได้สนใจโอกาสของเขาเลย ห่วงก็แต่เพียงว่าจะไม่มี 3G ใช้เท่านั้น
ปล. ทำไมช่วงนี้ข่าวเกี่ยวกับ tablet ป.1 เงียบหายไปเลย เด็กนักเรียนจะเปิดเทอม 2 ในอีกไม่กี่วันตอนนี้แจก tablet กันไปถึงไหนแล้ว ใครรู้บ้างครับ ?
That is the way things are.
มีความเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อวานนี้เองครับ ว่าจะมีการจัดแจกรอบที่สองอีก ตามเนื้อข่าวดังนี้ครับ
http://www.obec.go.th/news/27422
แจกลอตที่สองแล้วครับ แต่มันไม่เป็นข่าวเพราะสื่อไม่เสนอเฉยๆ
โรงเรียนผมพึ่งไปเอามาสิบสี่เครื่อง