Tags:
Node Thumbnail

ตรงตามข่าวลือก่อนหน้านี้ วันนี้ไมโครซอฟท์ประกาศปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัท และประกาศ "วิสัยทัศน์ใหม่" ของตัวเองว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรในอนาคต

วิสัยทัศน์ใหม่

ในแถลงการณ์ของสตีฟ บัลเมอร์ เขาระบุว่าไมโครซอฟท์มาไกลเกินกว่าวิสัยทัศน์เดิม "คอมพิวเตอร์บนทุกโต๊ะในทุกบ้าน" (put a PC on every desk and in every home) มากแล้ว โลกไอทีเปลี่ยนไปจากเดิม ไมโครซอฟท์ต้องมองหาเป้าหมายใหม่ โดยประเมินจากจุดแข็งของตัวเอง 3 ประการคือ กิจกรรมที่มีมูลค่าสูง (high-value activities), เป็นขุมพลังของอุปกรณ์ชนิดต่างๆ (powering devices) และบริการในระดับองค์กร (enterprise services)

หลังจากระดมสมองกันมาสักระยะ ได้ออกมาเป็นวิสัยทัศน์ใหม่ว่า "สร้างชุดของอุปกรณ์และบริการ ที่ตอบสนองทั้งตัวบุคคลและภาคธุรกิจในกิจกรรมที่ลูกค้าให้ความสำคัญ"

Going forward, our strategy will focus on creating a family of devices and services for individuals and businesses that empower people around the globe at home, at work and on the go, for the activities they value most.

จากวิสัยทัศน์ที่ว่า ไมโครซอฟท์จะโฟกัสไปที่งาน 4 ประการ ได้แก่

  • โมเดลธุรกิจ (business model) ที่อิงอยู่บนอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ (devices) ที่ไมโครซอฟท์ทำเอง (first party) และทำร่วมกับพันธมิตร (partner) ที่รองรับทั้งตลาดคอนซูเมอร์และตลาดองค์กร
  • เน้นไปที่กิจกรรมที่ผู้คนให้ความสำคัญกับมันมากที่สุด (activities people value most)
  • อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์หลายชนิด (family of devices) มาพร้อมกับเปลือกภายนอก (shell) ที่ขับเคลื่อนด้วยบริการ
  • ออกแบบผลิตภัณฑ์โดยมองถึงการขยายตัวไปยังลูกค้าองค์กร (enterprise) ตั้งแต่แรก

ตัวอย่างของคำว่า "กิจกรรม" ที่ไมโครซอฟท์หมายถึงได้แก่

  • การแสดงออกซึ่งตัวตน (expression) เช่น งานมัลติมีเดีย งานเอกสาร
  • การตัดสินใจ (decision-making เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล) และการดำเนินงานให้เสร็จ (task completion)
  • การสื่อสารเชิงสังคม (social communication)
  • ความสนุกแบบจริงๆ จังๆ (serious fun) เช่น การเล่นเกมอย่างจดจ่อ การชมกีฬาหรือความบันเทิงสด

ส่วนคำว่า "อุปกรณ์" ที่ไมโครซอฟท์ยกตัวอย่าง ได้แก่ โทรศัพท์, แท็บเล็ต, 2-in-1 (ผมไม่แน่ใจว่าหมายถึงอะไรกันแน่นะครับ), พีซี, อุปกรณ์ต่อเชื่อมกับทีวี และอุปกรณ์ชนิดใหม่ๆ ในอนาคต

คำว่า shell หมายถึง UI แบบของ Windows 8 ที่รองรับการปรับแต่งให้เข้ากับแต่ละบุคคล และเชื่อมโยงกับบริการหลักของบริษัทได้เป็นอย่างดี

โครงสร้างองค์กรใหม่

บัลเมอร์ประกาศว่าไมโครซอฟท์ยุคใหม่จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมียุทธศาสตร์เดียวกันทั้งบริษัท (One Strategy, One Microsoft) ไมโครซอฟท์จะเลิกใช้โครงสร้างองค์กรแบบเดิมที่แยกเป็นหน่วยธุรกิจ (business unit) ตามผลิตภัณฑ์แต่ละสาย แต่จะหันมาจัดองค์กรตามหน้าที่รับผิดชอบ (by function) แทน ได้แก่

  • สายงานวิศวกรรม (Engineering)
  • สายงานการตลาด (Marketing)
  • สายงานพัฒนาธุรกิจ (Business Development and Evangelism)
  • สายงานยุทธศาสตร์และการวิจัย (Advanced Strategy and Research)
  • สายงานการเงิน (Finance)
  • สายงานทรัพยากรบุคคล (HR)
  • สายงานกฎหมาย (Legal)
  • สายงานภายในภายใต้ COO (เช่น การสนับสนุน, ไอทีภายในองค์กร)

สำหรับงานด้านวิศวกรรมที่เป็นหัวใจหลักของบริษัท จะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มย่อย

  • Operating Systems Engineering Group นำโดย Terry Myerson อดีตหัวหน้าทีม Windows Phone จะรับผิดชอบงานระบบปฏิบัติการทุกตัว ตั้งแต่คอนโซล พีซี อุปกรณ์พกพา เซิร์ฟเวอร์ และกลุ่มเมฆ
  • Devices and Studios Engineering Group นำโดย Julie Larson-Green อดีตหัวหน้าทีม Windows จะรับผิดชอบการพัฒนาฮาร์ดแวร์ทุกชนิด รวมถึงห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) และงานด้านสื่อมัลติมีเดีย (studios) เกม เพลง วิดีโอ และงานบันเทิงอื่นๆ
  • Applications and Services Engineering Group นำโดย Qi Lu อดีตหัวหน้าทีม Bing รับผิดชอบแอพพลิเคชันและบริการทั้งหมด ทั้งงานสายเอกสารสำนักงาน การสื่อสาร การค้นหา และงานสารสนเทศอื่นๆ
  • Cloud and Enterprise Engineering Group นำโดย Satya Nadella อดีตหัวหน้าทีม Windows Server รับผิดชอบงานศูนย์ข้อมูล ฐานข้อมูล ระบบไอทีองค์กร เครื่องมือพัฒนาซอฟต์แวร์

ไมโครซอฟท์ยังแยกส่วนของผลิตภัณฑ์ตระกูล Dynamics เป็นหน่วยพิเศษที่นำโดย Kirill Tatarinov ผู้บริหารคนเดิมของหน่วยนี้ โดยสายการบังคับบัญชาจะแยกส่วนขึ้นกับผู้บริหารหลายคน

ในโอกาสเดียวกัน ไมโครซอฟท์ยังประกาศว่าผู้บริหารระดับสูงหลายคนจะเกษียณอายุงาน เช่น Kurt DelBene หัวหน้าทีม Office และ Craig Mundie อดีตหัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์ ส่วน Rick Rashid อดีตหัวหน้า Microsoft Research จะวางมือจากตำแหน่งบริหารไปเน้นงานวิจัยด้านระบบปฏิบัติการเพียงอย่างเดียว

บัลเมอร์ยังบอกว่าไมโครซอฟท์ยุคใหม่จะเน้นการแก้ปัญหาที่รวดเร็ว ออกซอฟต์แวร์ให้เร็วขึ้น สื่อสารกันมากขึ้น ตัดสินใจกันเร็วขึ้น และมีแรงจูงใจในการขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้ามากยิ่งขึ้น

ที่มา - One Microsoft, Transforming Our Company

Get latest news from Blognone

Comments

By: -Rookies-
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 12 July 2013 - 01:26 #596142

อืม น่าสนใจ รอดูยุคใหม่อย่างใจจดจ่อ


เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!

By: Be1con
ContributorWindows PhoneWindowsIn Love
on 12 July 2013 - 08:04 #596204
Be1con's picture

หวังว่าจะไม่มีการเมืองภายในนะครับ


Coder | Designer | Thinker | Blogger

By: sp on 12 July 2013 - 10:30 #596253

วิสัยทัศน์ ที่ได้แต่มอง ... มอง .... แล้วก็มอง ... ที่ผ่านมาหยก ๆ คงจะมองพลาดไปละมัง ประเภทไม่ง้อลูกค้า "ไม่พอใจก็ไปซื้อรุ่นเก่า ๆ สิ"

By: sp on 12 July 2013 - 10:36 #596257

One Microsoft -> Microsoft 180

By: nutmos
WriteriPhoneUbuntuWindows
on 12 July 2013 - 13:03 #596322

ปรับกันขนาดนี้แล้ว การเมืองภายใน Microsoft ที่มันร้อนแรงจะลดลงบ้างนะ

By: Eka-X
ContributoriPhoneAndroidIn Love
on 12 July 2013 - 13:49 #596335

การปรับเหมือน Apple ที่เพิ่งปรับเน้นที่สายงานเลย คนดูแล OS ก็ดูแลมันทุก OS ของบริษัท