บริษัท Nishimu ผู้ประกอบธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้าและระบบโทรคมนาคมของญี่ปุ่นเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นส้วมสำเร็จรูปที่ทำงานด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งความยอดเยี่ยมของมันคือการออกแบบระบบการทำงานภายในช่วยให้ไม่ต้องต่อระบบไฟ, ระบบน้ำ หรือระบบระบายกากของเสียออกภายนอกแต่อย่างใด
ส้วมสำเร็จรูปนี้มีชื่อว่า "Towailet" (ซึ่งเป็นการเล่นคำพ้องเสียงกับคำภาษาอังกฤษว่า "Twilight") มีให้เลือก 2 รุ่น คือรุ่นเล็กห้องน้ำเดี่ยว และรุ่นใหญ่ห้องน้ำคู่แบ่งเป็นห้องชาย-หญิง โดยเป็นห้องน้ำแบบโถนั่งมีชักโครกตามสไตล์ตะวันตก ถูกออกแบบมาเพื่อให้สะดวกในการขนย้ายไปติดตั้งใช้งานในที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวก โดยน้ำหนักโครงสร้างเปล่าทั้ง 2 รุ่นอยู่ที่ 1.5 ตัน ใช้พลังงานเท่ากัน
สาเหตุที่ Towailet ไม่ต้องต่อไฟจากภายนอกใช้งาน เพราะมันมีแผงโซลาร์เซลล์ที่เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้เองด้วยกำลังจ่ายไฟ 1.5 กิโลวัตต์ โดยมีแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนไว้กักเก็บพลังงานขนาด 8 กิโลวัตต์-ชั่วโมง
ส่วนเรื่องน้ำ เพียงเติมน้ำให้กับ Towailet ก่อนเริ่มใช้งานครั้งแรกปริมาณ 3 ลูกบาศก์เมตร จากนั้นระบบกรองและบำบัดน้ำภายใน Towailet จะช่วยให้การใช้งานสามารถใช้น้ำเดิมวนซ้ำได้ใหม่โดยไม่ต้องเดิมน้ำดีเข้าไปเพิ่ม ทั้งนี้ Nishimu ระบุว่าใช้วัสดุพลาสติกสังเคราะห์พิเศษเป็นแผ่นกรองน้ำ ทำให้ได้น้ำที่สะอาดไร้สี ไร้กลิ่น ซึ่ง Nishimu อ้างว่าสิ่งประดิษฐ์แผ่นกรองน้ำนี้อยู่ในระหว่างการขอจดสิทธิบัตรด้วย
และความสามารถที่น่าสนใจที่สุดคือระบบย่อยสลายสสารจากการขับถ่ายของผู้ใช้ห้องน้ำ Towailet ซึ่งใช้จุลินทรีย์ในการย่อยสิ่งปฏิกูลเหล่านั้น โดยสิ่งที่เหลือจากการย่อยสลายส่วนใหญ่จะกลายเป็นน้ำ (ซึ่งจะถูกนำไปหมุนเวียนใช้ใหม่) และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้ Nishimu ระบุว่าในการใช้งานจะมีตะกอนหลงเหลือจากการย่อยสลายน้อยมากจนเรียกได้ว่าแทบไม่มีเลย นั่นทำให้ในการติดตั้งใช้งาน Towailet นั้นไม่จำเป็นต้องเตรียมบ่อเกรอะหรือต้องคอยสูบเอากากตะกอนออกจากถังพัก
Towailet สามารถรองรับการใช้งานได้สูงสุด 300 รอบต่อวัน โดยแต่ละรอบจะใช้น้ำแค่ 6 ลิตร และใช้กำลังงานไฟฟ้าเพียง 400 วัตต์ และสามารถเคลื่อนย้ายไปติดตั้งใช้งานได้ในหลากหลายสถานที่ทั้งในร่มและกลางแจ้ง อาทิ พื้นที่ศูนย์อพยพ, ที่พักชั่วคราวผู้ประสบภัยพิบัติ, สถานที่จัดงานการแสดงหรือสนามกีฬา หรือแม้กระทั่งบนเรือโดยสารขนาดใหญ่
Nishimu เคยนำเอา Towailet รุ่นต้นแบบไปให้ศูนย์อาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยใน Kyushu ทดลองใช้งานจริงในช่วงปลายปีที่แล้วและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ส่วนตอนนี้เมื่อการพัฒนาห้องน้ำพลังแดดสมบูรณ์พร้อมแล้วก็จะเริ่มขาย Towailet ในช่วงครึ่งหลังของปี 2018 นี้ อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อมูลราคาวางจำหน่ายแต่อย่างใด
ที่มา - Japan Today
Comments
อันนี้หลังทำธุระเสร็จใช้กระดาษชำระหรือใช้น้ำที่ผ่านกรองมาทำความสะอาดครับ..
อันนี้น่าคิดสุดล่ะ
น้ำล้างมือด้วยครับ...
ผมก็คิดเหมือนกันครับ แต่เท่าที่อ่านก็คงเป็นน้ำที่ผ่านการกรองมาทำความสะอาด มาล้างมือแหละครับ เค้าการันตีถึงขนาดนี้น่าจะสะอาดระดับหนึ่ง
แต่ผมคงไม่บ้วนปากในนั้น
บิลล์ เกตส์ อุตส่าห์เคยดื่มน้ำที่กรองจากระบบพวกนี้มาเลยนะครับ
ฟีลแบบ คายน้ำลายใส่แก้วแล้วซดกลับเข้าไป รู้แหละว่าเข้าปากได้แต่ขยะแขยงพิลึก
ประเด็นเพิ่มเติม คือ ผ้าอนามัย, กระดาษทิชชู่, เศษผ้า ที่ลงไปตันโถส้วม
ผู้ใช้คงต้องมีวินัยพอที่จะนำสิ่งเหล่านั้นทิ้งลงถังขยะแยก ไม่ทิ้งลงโถส้วม ไม่งั้นระบบต่างๆคงเสียหายน่าดู
ที่ญี่ปุ่นเค้าทิ้งทิชชู่ลงชักโครกเลยนี่ครับ
ใช่ครับแต่ทิชชู่สำหรับชักโครกโดยเฉพาะครับ พวกทิชชูปกติไม่ได้
ทิชชู่ปกติ (ที่เป็นม้วนๆ) ปกติประเทศอื่นเขาก็ทำบางๆ ย่อยสลายง่ายๆ เพราะเขาเอาไว้ใช้ในห้องน้ำเท่านั้นครับ ทิ้งลงชักโครกได้เลย ไม่ใช่ทิชชูเฉพาะทางอะไร มีบ้านเราเนี่ยที่เอาไปใช้สารพัดประโยชน์ แถมทำแบบหนานุ่มเหนียว 3 ชั้น ลงชักโครกไปถึงตันครับ
ทิชชู่ปกติ (ที่เป็นม้วนๆ) ที่ไว้ใช้ในห้องน้ำ ที่ประเทศญี่ปุ่นก็มีแบบหนานุ่มเหนียว 3 ชั้น ครับ ไม่ใช่มีแค่ประเทศไทย
ส่วนประเทศอื่นผมไม่รู้ เพราะไม่เคยไปอยู่
ผมไปญี่ปุ่นมันก็หนานุ่มปกตินะครับ แต่สังเกตได้อย่างนึงคือระบบชักโครกบ้านเค้า
ถ้าสังเกตไม่ผิดคือ เหมือนตอนแรกมันจะดูด ด้วยแรงดูดที่แรงมากๆครับ แล้วมันค่อยปล่อยน้ำมาล้าง
ผมเข้าใจว่าจังหวะแรกนี่น่าจะดูไปใส่ไว้อีกถังนึงแยกจากท่อน้ำปกติ มันเลยไม่ตัน
งั้นสรุปได้ว่าใช้ทิชชู่แบบ้านเราได้สินะครับ แบบนี้ถ้าเอามาตั้งบ้านเราก็โยนทิชชู่ลงไปได้เหมือนกัน (ยกเว้นว่าจริงๆ แล้วมันห้ามทิ้งทิชชู่ลงทุกกรณี)
ของไทยก็มีครับแต่เป็นเครื่องกรองน้ำราคาครึ่งล้านเอง น่าภูมิใจมากครับ
ถ้าระบบกรองเสียแบบ ฟิวเตอร์เสื่อมสภาพด้วยกรดหรือความร้อนหรือขาด ที่มีคนเผลอหรือจงใจทำ มีระบบตรวจสอบใหม
สงสัยผมตาลายเล็กน้อยอ่านคำว่า แดด ผิดไปหน่อย ถถถถ
แฮร่!!!! นายคิดเหมือนเราใช่ไหม B1
น่าเอาระบบนี้มาใช้กับห้องน้ำตามบ้านเหมือนกันนะครับ คงประหยัดน้ำน่าดู
ราคามันอาจจะเท่ากะบ้านครึ่งหลังก็ได้นะฮะ 555
ดีงาม
กรองน้ำยังครึ่งล้าน .. เจ้านี่มาไทยคง ..
my blog
น่าจะประมาณ 50ล้าน
น่าสนใจว่าระบบกำจัดของเสียด้วยแบคทีเรียนี่ มันจะจัดการได้เร็วขนาดไหน?
เห็นบอกว่าจะเอาน้ำจากการกำจัดของเสีย มาหมุนเวียนใช้ แสดงว่าน่าจะต้องเร็วมาก
บ้านเราก็ใช้รถห้องน้ำกทม.ที่ แสนจะสะดวกสบาย กันต่อไป ^_^"
นี่ถ้าไม่แพงนักน่าซื้อเอามาทำธุรกิจห้องน้ำให้เช่านะ
ซื้อมาซัก 5-10 ตู้ให้เช่าไปตามคอนเสิร์ตหรืองานอีเวนท์ต่างๆที่จัดในที่ห่างไกลเข้าห้องน้ำยาก
คือถ้าข่าวมาวันที่ 1 ก็ April Fools Day ชัดๆ
สุดยอดนวัตกรรมจบได้ในตัวเอง
ถ้าแบคทีเรียหหลุดมาในสภาพแวดล้อมภายนอกไร้การควบคุมมันจะเกิดอะไรบ้าง? ถ้าย่อยสลายสารอินทรีย์เร็วขนาดนั้ิน ถ้าไม่มีผลกระทบอะไร ผลิตขายย่อยเศษอาหาร ไขมันตามรัานอาหารหน่อยก็ดี
เคยเห็นระบบนี้ในป่ากับพื้นที่พักหลบหิมะใต้ถนน(Chamber)ส่วนเหนือของฮอกไกโดเหมือนกัน แต่เคลื่อนย้ายไม่ได้ เวลาเราเดินเข้าบริเวญไฟจะติดได้ยินเสียงระบบน้ำเริ่มทำงาน (ยังกะในหนัง) เป็นระบบหมุนเวียนเต็มรูปแบบไม่มีอะไรออกออกสู่ธรรมชาติเลย
ซ่วมในยานอวกาศก็เป็นลักษณะคล้ายๆแบบนี้ไหม
ลองอ่านบทความนี้ดูครับ ละเอียดจนเห็นภาพและกลิ่นเลย
สุดยอดมากครับ
เป็นบทความที่ควรค่าต่อการอ่านหลังรับประทานอาหารเสร็จจริมๆ
เข้าไปอ่านถึงกับอุทาน holy.....
ขออนุญาตทักนะครับ ซ่วม>ส้วม ครับ
แค่ชื่อก็ไม่อยากใช้แล้ว ส้วมสนธยา