KBTG จัดงาน Internal Hackathon แข่งขันเฟ้นหามือดีเฉพาะคนในองค์กรครั้งใหญ่ครั้งแรก เพื่อส่งเสริม “Open Innovation Culture” ให้พนักงานจากทุกแผนกทั้งองค์กรได้มีร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้แก่ธนาคาร ทาง Blognone มีโอกาสได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ และพบว่าแม้จะเป็นการแข่งขันภายใน ความตื่นเต้นของการแข่งขันไม่แพ้ hackathon ภายนอก ที่สำคัญยังได้ไอเดียสดใหม่ จากคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่ในระยะหลังมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ใน KBTG
งานในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้คอนเซปต์ Eat your own dog food, Eat your own APIs เปิดโอกาสให้พนักงานมีอิสระในการสร้าง Innovation โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทางธนาคารได้มีการพัฒนาภายใน (Deep Tech อาทิ Facial Recognition และ OCR) ผ่านรูปแบบ API Platform และในขณะเดียวกันก็เป็นการทดสอบเทคโนโลยีกันในองค์กร เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนนำออกไปใช้จริง
แม้จะเป็นการแข่งขันภายในองค์กรแต่ก็มีการคัดเลือกที่เข้มข้น ทีมงานได้มีการติดอาวุธทางความคิดแก่ทีมที่เข้ารอบ เพื่อให้มีความสามารถในการสร้าง Product แบบสตาร์ทอัพ เพื่อทำให้แน่ใจว่า แต่ละทีมที่เข้ารอบ 10 ทีม สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การใช้งานได้จริง และต้องทำให้แน่ใจว่าแต่ละทีมที่เข้ารอบมีสองสิ่งสำคัญคือ
หลังจากที่เข้ารอบ แต่ละทีมจะมีระยะเวลาในการพัฒนา Business Model และ Prototype เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ ภายใต้การ Mentor ของทีมงาน ก่อนที่จะ Pitch จริงในวัน Demo Day ต่อหน้าคณะกรรมการที่มีประสบการณ์ในวงการ Start-up และ Fintech ได้แก่ คุณเรืองโรจน์ พูนผลประธาน KASIKORN Business-Technology Group (KBTG), คุณสุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท จาก FSVP KBank, คุณจรุง เกียรติสุภาพงศ์ Managing Director และคุณจรัสศรี พหลโยธิน Managing Director, KBTG
Blognone ได้พูดคุยกับ คุณณัฐพงศ์ เตชะวินิจอุดม (บูม) Advanced Partnership Engineer, KBTG และ คุณภาณพ จรัสปรีดา (เบน) Partnership Engineer, KBTG หนึ่งในผู้จัดการแข่งขันนี้ พูดถึงที่มาคอนเซปต์แนวคิด “Eat your own dog food” หรือ “Dogfooding” คือเป็นวิธีที่บริษัทใหญ่ในซิลิคอนวัลเล่ย์อย่างกูเกิล เฟซบุ๊กก็ใช้แนวคิดนี้ เป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่และใช้งานเองภายในก่อน เก็บฟีดแบคก่อนจะเปิดตัวให้คนทั่วไปใช้งาน
ส่วน Eat your own APIs คือนำ API ที่บริษัทเปิดใช้งานกันอยู่แล้ว ให้ผู้เข้าแข่งขันเอาไปต่อยอด ซึ่งใน KBTG เองก็มีการพัฒนาแพลตฟอร์มพื้นฐานสำคัญหลายอย่างอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น NLP ( (Natural Language Processing) หรือแพลตฟอร์มการประมวลผลภาษาธรรมชาติ, Face Recognition, Financial API, Blockchain, OCR กว่า 50 บริการ ซึ่งผู้เข้าแข่งขันสามารถ หยิบมาใช้สร้างผลิตภัณฑ์ได้อย่างอิสระ
แน่นอนว่ามีรางวัลเป็นเงินแก่ผู้ชนะ แต่นั่นไม่สำคัญเท่าการมีโอกาสได้นำ Prototype ไปต่อยอดทำ Product จริงต่อไปใน Project Apollo ซึ่งเป็นโครงการ Owned Sandbox ของ KBTG เอง
ด้านทีมผู้ชนะคือทีม HERU ทำโซลูชั่นแชทบ็อท ช่วยเหรัญญิกทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการเรียกเก็บเงิน การเรียกดูจำนวนเงินที่เหลือ ความสามารถในการตรวจสอบได้ว่าเงินนำไปใช้อะไรบ้าง ช่วยขจัด pain point ของเหรัญญิกคือ ไม่ต้องทำงานหนักเกินไป โปร่งใสและตรวจสอบได้
ดูเผินๆ เป็นทีมที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีล้ำขนาดนั้น แต่ทีมมีการเจาะกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนคือกลุ่มนักเรียน ที่อาจมีข้อจำกัดเรื่องความสามารถในการบริหารเงิน, เวลาน้อยเพราะต้องเรียนหนังสือ, มีความขัดแย้งกับเพื่อนๆ เรื่องไม่สามารถแสดงรายการบัญชีที่มีความโปร่งใสได้ ทำให้ผิดใจกัน (เป็นปัญหาที่พบบ่อยช่วงกิจกรรมกีฬาสี) ทีม HERU จึงใช้เทคโนโลยีพื้นฐานที่มีมานานแล้วอย่างแชทบ็อต และ Financial API ของ KBTG มาต่อยอด และได้รับชัยชนะไป
การแข่งขันยังสะท้อนภาพลักษณ์องค์กร KBTG คือ OneKBTG เพราะไม่ได้เปิดรับเฉพาะทีมงาน Tech แต่ทีมงานส่วนงานอื่นอย่างการเงิน ทรัพยากรบุคคล ก็สามารถเข้ามาร่วมการแข่งขันได้
ที่สำคัญคือ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ทีมงานที่อยากจะโชว์ของ อยากทำอะไรนอกเหนือจากงานประจำ ที่บางครั้งอาจเลือกไม่ได้ หรือไม่น่าสนุกเท่า ซึ่งทางผู้จัดงานระบุว่า แต่ละทีมมีผลงานที่น่าประทับใจ และเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่เกี่ยวกับงานประจำที่ทำอยู่ก็มี
คุณณัฐพงศ์ และ คุณภาณพ ระบุความคาดหวังเรื่องการแข่งขันในครั้งต่อไปว่า ต้องการจัดงานนี้ไปเรื่อยๆ และจะพยายามรวมภาคส่วนอื่นในองค์กรเข้ามามากขึ้น เพราะนวัตกรรมที่ชนะหรือเป็นของใหม่ในปีนี้ อาจเป็นเรื่องเก่าไปแล้วในปีหน้า KBTG ในฐานะองค์กรที่ขับเคลื่อนนวัตกรรม ต้องปรับตัวและคิดนวัตกรรมใหม่เสมอ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด
รายละเอียดเพิ่มเติมของ Deep Space ที่นี่
ติดตามข่าวสาร KBTG ได้ที่: www.facebook.com/KBTGlive