Tags:
Node Thumbnail

ทีมงาน Blognone ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ ผู้ดำรงตำแหน่ง Country Manager ของ AWS ประเทศไทยที่งาน AWS re:Invent 2022 ที่เพิ่งจบไปเมื่อต้นเดือนในเรื่องที่หลายคนอยากรู้เกี่ยวกับการประกาศเปิดรีเจี้ยน (region) อย่างเต็มรูปแบบในประเทศไทย รวมถึงประเด็นด้านประโยชน์ที่ธุรกิจในประเทศไทยจะได้รับ

alt="GmqFIv.jpg"วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ - Country Manager, AWS Thailand

เราเริ่มการพูดคุยด้วยการถามคำถามที่อยากรู้มากที่สุดคือ ทำไม AWS ถึงตัดสินใจเปิดรีเจี้ยนที่ประเทศไทยและมีปัจจัยอะไรบ้างที่ AWS ใช้พิจารณา คุณวัตสันเล่าว่า AWS มองเห็นว่าลูกค้าในประเทศไทยที่ปัจจุบันต้องไปใช้รีเจี้ยนสิงคโปร์เป็นหลัก เริ่มมีความต้องการใช้งานคลาวด์ที่มี latency ต่ำ รวมถึงลูกค้าบางรายก็อยากเก็บข้อมูลไว้ในประเทศไทย ซึ่งปกติ AWS ก็มีการพิจารณาเปิดรีเจี้ยนใหม่ทั่วโลกอยู่ตลอดอยู่แล้ว เลยเริ่มพิจารณาประเทศไทย

ปัจจัยหลักที่ AWS ใช้พิจารณา แบ่งเป็น 3 ข้อใหญ่ๆ ด้วยกันคือ

การซัพพอร์ตและสิทธิประโยชน์จากรัฐบาล คุณวัตสันพูดชัดว่าภาครัฐ (โดย BOI) ต้องให้สิทธิประโยชน์ รวมถึงการซัพพอร์ตในด้านต่างๆ และภาครัฐต้องแสดงความสนใจว่าต้องการเปลี่ยนไปใช้คลาวด์ด้วย รวมถึงต้องมีแผนส่งเสริมการเพิ่มความรู้ความสามารถของประชาชนในด้านคลาวด์

เศรษฐกิจและความพร้อมภายในประเทศ AWS จะดูว่าในระยะยาวประเทศนั้นๆ มีความสามารถมากน้อยเพียงใด และคุ้มค่ากับการเข้ามาลงทุนหรือไม่ รวมถึงดีมานด์ของลูกค้าภายในประเทศก็เป็นสิ่งสำคัญด้วย

พลังงาน AWS ให้คำมั่นไว้ว่าภายในปี 2025 พลังงานที่ใช้ในศูนย์ข้อมูลทั่วโลกจะต้องเป็นพลังงานหมุนเวียน 100% (renewable energy) นั่นแปลว่าศูนย์ข้อมูลที่จะตั้งในประเทศไทยก็ต้องใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมดเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย และ AWS ก็มีการพูดคุยกับหน่วยงานหลายๆ แห่งแล้ว

ฟาร์มกังหันลมของ Amazon ที่รัฐเท็กซัส | ภาพโดย Amazon

เมื่อถูกถามว่าจากการที่ประเทศไทยมีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองอยู่เป็นระยะ มีผลต่อการพิจารณาการเข้ามาลงทุนของ AWS หรือไม่ คุณวัตสันระบุว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ AWS จึงไม่ได้นำมาเป็นสิ่งสำคัญต่อการพิจารณามากนัก แต่จะโฟกัสกับปัจจัยด้านบนมากกว่า รวมถึงศักยภาพระยะยาวของประเทศไทย

ทั้งนี้คุณวัตสันไม่ได้เปิดเผยว่าตั้งแต่เริ่มมีการพูดคุยภายใน AWS จนถึงการประกาศเปิดรีเจี้ยนในประเทศไทยใช้เวลานานแค่ไหน เพียงแต่บอกว่าต้องมีการพูดคุยกับหลายภาคส่วนและใช้เวลา “สักพัก”

ต่อมาเราพูดคุยกันถึงเรื่องการประกาศเปิด Local Zones หรือศูนย์ข้อมูลระดับย่อส่วนที่มีบริการของ AWS ตัวหลักๆ ไม่กี่ตัว เช่น EC2, ALB, ECS, VPC สำหรับลูกค้าที่ต้องการ latency ต่ำ โดยคุณวัตสันระบุว่าการประกาศเปิด Local Zones เมื่อต้นปี 2022 และประกาศเปิดรีเจี้ยนเต็มรูปแบบนั้นไม่ถือว่าซ้ำซ้อนกัน เพราะ Local Zones มีสเกลที่เล็กกว่า ทำให้ประกาศได้ก่อนและเปิดบริการได้เร็วกว่ารีเจี้ยน

แผนที่ตั้ง Local Zones ทั้งหมดของ AWS

ผู้อ่าน Blognone คงทราบกันมาบ้างแล้วว่าในช่วงเวลาราว 5 ปีที่ผ่านมา ผู้ให้บริการคลาวด์จากจีนหลายรายได้เข้ามาตีตลาดประเทศไทยอย่างหนัก โดยการเปิดศูนย์ข้อมูลพร้อมให้เป็นรีเจี้ยนประเทศไทยกันเลย เมื่อถูกถามว่า AWS มองว่าเป็นการกดดันจากคู่แข่งหรือไม่ เลยต้องเข้ามาเปิดรีเจี้ยนประเทศไทยบ้าง คุณวัตสันบอกว่า AWS ไม่เคยนำเรื่องคู่แข่งเข้ามาพิจารณาเลย พร้อมย้ำปัจจัยที่ใช้พิจารณาข้างต้นว่าประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ รวมถึงสิทธิประโยชน์จากรัฐบาล อีกทั้งยังเสริมว่าลูกค้าต้องดูรายละเอียดดีๆ ว่าคำว่า “รีเจี้ยน” ของผู้ให้บริการคลาวด์แต่ละเจ้าใช้นั้นมีศูนย์ข้อมูลกี่แห่ง เพราะของ AWS จะต้องมี Availability Zone หรือศูนย์ข้อมูลแยกเด็ดขาดจากกันอย่างน้อย 3 แห่งจึงจะถือว่าเป็นรีเจี้ยนได้ แต่อาจมีผู้ให้บริการบางรายมีศูนย์ข้อมูลเพียง 1 แห่งก็เรียกว่ารีเจี้ยนแล้ว

alt="GmO08n.png"แผนที่ตั้งรีเจี้ยนของ AWS ในเอเชียแปซิฟิก

สำหรับผู้ที่สงสัยว่าในรีเจี้ยนประเทศไทยจะมีบริการอะไรของ AWS บ้าง และเทียบกับรีเจี้ยนที่ “อยู่มานาน” อย่างสิงคโปร์ ซึ่งคุณวัตสันระบุว่ารีเจี้ยนประเทศไทยจะมีบริการหลักหรือที่เรียกว่า Core Services ของ AWS ให้บริการก่อน เช่น EC2, EBS, S3, ECS, API Gateway, RDS, Aurora, Redshift, Route 53, SNS, VPC, CloudTrail, Lambda, ELB ฯลฯ และจากเอกสารของ AWS ระบุว่าหลังรีเจี้ยนใหม่เปิดให้บริการภายใน 12 เดือนก็มักจะมีบริการที่เพิ่มตามมา เช่น EKS, CloudFront, SageMaker, Fargate, Glue, Transit Gateway ฯลฯ ส่วนบริการอื่นๆ AWS จะดูความพร้อมและความต้องการภายในประเทศว่ามีความต้องการบริการใดเป็นพิเศษหรือไม่ ก่อนจะพิจารณาเพิ่มเข้ามาให้ใช้งานกัน (รายการ core services ทั้งหมด อยู่ใต้หัวข้อ Benefits)

No Description

ข้ามมาที่เรื่องฝั่งองค์กรและธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทยกันบ้าง คุณวัตสันระบุว่าธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการมาตั้งรีเจี้ยนประเทศไทยอย่างมาก เพราะไม่ต้องลงทุนสร้างศูนย์ข้อมูลหรือซื้อฮาร์ดแวร์เอง การใช้คลาวด์จะทำให้ธุรกิจสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้เร็วและนำสินค้าออกสู่ตลาดได้เร็วยิ่งขึ้น รวมถึงบางองค์กรอาจมีข้อกำหนดว่าต้องเก็บข้อมูลภายในประเทศก็สามารถใช้ AWS เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายได้ นอกจากนี้ยังมีโอกาสสร้างงานภายในประเทศ เพราะเมื่อองค์กรต่างๆ สนใจใช้ AWS ก็จะทำให้มีความต้องการจ้างงานในสายงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้น อีกทั้ง AWS ยังมี Marketplace เปิดให้พันธมิตรในประเทศไทยนำซอฟต์แวร์มาจำหน่ายบน AWS ได้ด้วย

สุดท้าย คุณวัตสันระบุว่าช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สังเกตเห็นได้ว่าลูกค้าชาวไทยตื่นตัวกับการใช้คลาวด์มากขึ้นในแทบจะทุกธุรกิจ ไม่กระจุกอยู่ในธุรกิจประเภทได้ประเภทหนึ่ง เช่นธนาคารหรือสถาบันการเงินก็หันมาใช้กันมากขึ้น, กลุ่มค้าปลีกก็เริ่มใช้คลาวด์กันเยอะ ไปจนถึงกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMB) และสตาร์ทอัพต่างก็ตื่นตัวและสนใจใช้คลาวด์กันมากขึ้นเช่นกัน

Get latest news from Blognone

Comments

By: animateex
iPhoneAndroidUbuntuWindows
on 14 December 2022 - 00:27 #1271990
animateex's picture

รอ Kindle อยู่นะ...ปีหน้าเจ้าใหญ่ค่ายนึงจะเปิดตัวในไทยแล้ว แต่ amazon ไม่มาสักที

By: PH41
ContributorAndroidUbuntuWindows
on 14 December 2022 - 00:51 #1271991
PH41's picture

หรือว่า SG จะเต็ม มาสร้างเพิ่มในไทยระยะยาวคุ้มค่ากว่า?

ได้ยินว่ามีลูกค้าบางรายจากไทย จ่ายตังเยอะที่สุดใน SEA ด้วย

By: may2190 on 14 December 2022 - 11:21 #1272038 Reply to:1271991

โดยนโยบายพลังงานที่่สิงค์โปร์ ไม่พอใช้เลยหนีมาไทย

By: pd2002 on 14 December 2022 - 01:51 #1271992

"คุณวัตสันบอกว่า AWS ไม่เคยนำเรื่องคู่แข่งเข้ามาพิจารณาเลย" ชอบอะ แปลว่าพวกนั้นไม่เคยอยู่ในสายตาเลย และผมก็แปลกใจที่มีคำถามนี้กับ aws เหมือนกัน เพราะถ้าเป็นผมจะไม่ถามเลย เพราะ provider พวกนั้นไม่เคยอยู่ในสายตาผมเช่นกัน lol