Tags:
Node Thumbnail

dtac เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และเสนอให้มีการแก้ร่างใน 3 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

  • เสนอให้มีการประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้า ก่อนสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุด เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าจะใช้งานได้ต่อเนื่อง ไม่มีซิมดับ นอกจากนี้ รัฐยังจะได้เงินประมูลคลื่นความถี่เร็วขึ้นด้วย
  • เสนอให้โอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้ตามหลักสากล ซึ่งตามร่าง พ.ร.บ. กล่าวไว้เฉพาะการให้ร่วมใช้หรือเช่าใช้คลื่นความถี่ ถ้าเพิ่มเรื่องการโอนใบอนุญาตทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเข้ามาทำการแข่งขันได้ทันทีไม่ต้องรอขั้นตอนการประมูล ส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่มากขึ้น โดยต้องกำหนดเงื่อนไขการโอนอย่างรัดกุม
  • แนะว่ากฎหมายควรกำหนดให้ กสทช.กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ และประกาศใช้ให้เร็วที่สุดหลังมีการประกาศใช้กฎหมายใหม่ เป้าหมายคือให้มีการนำเอาคลื่นความถี่มาประมูลมากขึ้น เพราะอนาคตจะมีความต้องการใช้คลื่นความถี่มากขึ้นเป็น 1340 MHz - 1960 MHz ภายในปี พ.ศ. 2563 แต่ไทยตอนนี้มีคลื่นความถี่ในการใช้งานเพียง 320 MHz เท่านั้น

ที่มา - อีเมลประชาสัมพันธ์ dtac

ดีแทคเสนอแก้ร่าง กม. จัดสรรคลื่นความถี่ มุ่ง 3 สาระสำคัญเพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติ

2 สิงหาคม 2559 – ดีแทคเสนอ 3 ข้อสาระสำคัญร่วมผลักดัน พรบ. จัดสรรคลื่นความถี่ฯ ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ เพื่อเตรียมความพร้อมรับเทคโนโลยีสื่อสารดิจิทัลและการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่ายในชาติ

นายภารไดย ธีระธาดา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ดีแทคได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะที่มีต่อพรบ. จัดสรรคลื่นความถี่ฯ เพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าผู้ใช้บริการ ภาครัฐ ผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจจะร่วมเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ในอนาคต”

ข้อเสนอที่เป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่ดีแทคนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณา มี 3 ประเด็น คือ ข้อ 1. การประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้า (Early Auction) ดีแทคเสนอให้มีการประมูลคลื่นความถี่ก่อนที่ใบอนุญาตหรือสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลง โดยให้ใบอนุญาตใหม่มีผลเริ่มต้นในวันที่ใบอนุญาตหรือสัญญาสัมปทานเดิมสิ้นสุดลง ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความมั่นใจว่าจะสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เกิดความกังวลเรื่องซิมดับ หากไม่มีการประมูลใบอนุญาตก่อนที่ใบอนุญาตเดิมจะสิ้นสุดลง การให้บริการลูกค้าที่ยังตกค้างในโครงข่ายจะเป็นการให้บริการตามมาตรการเยียวยาซึ่งไม่เป็นผลดีกับฝ่ายใด และก่อให้เกิดปัญหาด้านการจัดการคลื่นความถี่ โครงข่าย และเกิดการฟ้องร้องต่างๆ ตามมาดังเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต อีกทั้ง หากมีการจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้า รัฐก็จะได้รับเงินจากการประมูลคลื่นความถี่เร็วขึ้นซึ่งหมายถึงรายได้และดอกผลจำนวนมหาศาลที่รัฐจะได้รับจากเงินดังกล่าว

ข้อ 2. สนับสนุนให้มีการระบุชัดเจนว่าผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สามารถโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ (Spectrum Trading) ได้เหมือนกับหลักเกณฑ์สากล เนื่องจากร่าง พรบ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ ในขณะนี้กล่าวถึงเฉพาะการให้ร่วมใช้คลื่นความถี่ (Spectrum Sharing) หรือให้เช่าใช้คลื่นความถี่ (Spectrum Leasing) เท่านั้น การเพิ่มเรื่องการโอนใบอนุญาตจะทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการเข้ามาแข่งขันในตลาดสามารถเข้ามาได้ทันที ไม่ต้องรอให้มีการจัดประมูลที่นานๆ จะเกิดขึ้น และยังลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการรายใหม่ในการทดลองเข้ามาแข่งขัน เพราะหากไม่ประสบความสำเร็จ ก็ยังโอนขายใบอนุญาตได้ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ และยังทำให้ผู้ประกอบการที่ให้บริการอยู่ต้องให้บริการที่ดีในราคาที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจมีผู้ประกอบการรายใหม่ที่มั่นใจว่าทำได้ดีกว่าเข้ามาแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน อย่างไรก็ดี การให้โอนใบอนุญาตก็เหมือนเรื่องอื่นๆ ที่จะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขว่าเมื่อไหร่โอนได้โอนไม่ได้ โดยเงื่อนไขต้องรัดกุม เช่น ต้องกำหนดเงื่อนไขป้องกันไม่ให้เกิดการเข้ามาขอรับใบอนุญาตเพื่อนำไปโอนขายหากำไรโดยไม่มีเจตนาประกอบการจริง เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่สามารถกำหนดเงื่อนไขเพื่อป้องกันได้โดยอ้างอิงตามหลักเกณฑ์สากล

ข้อ 3. กฎหมายควรกำหนดให้ กสทช. ต้องกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการจัดสรรคลื่นความถี่แต่ละคลื่น หรือที่เรียกว่าแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum Roadmap) โดยควรต้องประกาศใช้แผนดังกล่าวให้เร็วที่สุดภายหลังที่กฎหมายใหม่ประกาศใช้ เนื่องจากประเทศไทยยังมีความต้องการคลื่นความถี่อีกจำนวนมากเพื่อรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนมือถือ นอกเหนือจากคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ในการประมูลที่ผ่านมา โดยจากการศึกษาของ ITU พบว่าความต้องการจำนวนคลื่นความถี่ของแต่ละประเทศในการใช้งานจะเพิ่มเป็นจำนวน 1340 MHz ถึง 1960 MHz ในปี พ.ศ. 2563 ในขณะที่วันนี้ประเทศไทยมีจำนวนคลื่นความถี่ในการใช้งานเพียง 320 MHz เท่านั้น ดังนั้น จึงควรมีการจัดทำแผนแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum Roadmap) เพื่อเอาคลื่นความถี่มาประมูลให้มากขึ้น โดยควรกำหนดแผนไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 5 ปี เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ และเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับพัฒนาการของเทคโนโลยีและความต้องการใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนมือถือ

ทั้งนี้ การแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่มีต่อพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ดีแทคมุ่งที่จะเสนอเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับเทคโนโลยีสื่อสารดิจิทัลที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว และการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อมุ่งสู่ประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่ายในประเทศ และรองรับการแข่งขันในภูมิภาคอีกด้วย

Get latest news from Blognone

Comments

By: deargerous
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 3 August 2016 - 13:10 #930099
deargerous's picture

เห็นด้วยทุกข้อ ปกติความเห็นดีแทคเสนอมาแต่ละครั้งที่เกี่ยวกับการประมูลคลื่นนี้แทบรับไม่ได้เลย

By: maoIndie
Ubuntu
on 3 August 2016 - 13:39 #930120
maoIndie's picture

เห็นด้วยเรื่องประมูลล่วงหน้ามากๆ ถึงมากทีสุด จะได้ไม่วุ่นวายแบบที่ผ่านมาอีก ประมูลก่อนหมดอายุสักปีนึงไปเลย

By: somphong.s
AndroidWindows
on 3 August 2016 - 13:56 #930131

สนับสนุนให้จัดประมูล1800 850 ภายใน6เดือนเลยครับ

By: TeamKiller
ContributoriPhone
on 3 August 2016 - 15:43 #930166
TeamKiller's picture

ประมูลเร็วขึ้น แล้วจ่ายเงินเร็ว แต่ยังใช้คลื่นไม่ได้เอกชนนี่จะยอมหรอ จ่ายล่วงหน้าเป็นปีๆ ถ้าจ่าย

หรือจริงๆ Dtac ไม่มีไรในมือแล้วเลยต้องการคลื่นไวๆ ฮ่าๆ

ถ้าเอาคลื่นมาประมูลขอเอาของ TOT มาได้เปล่า น่าจะมีเยอะดองๆ ไว้

By: checkmate95
ContributorAndroid
on 3 August 2016 - 16:07 #930171 Reply to:930166
checkmate95's picture

ผมว่าจ่ายล่วงหน้า 1 ปี หนี้ก็หมดเร็วขึ้น 1 ปีนะ ไม่ส่งผลกระทบด้านลบเท่าไหร่ แถมค่ายยังมีเวลาจัดการเรื่องเพิ่มขึ้นปีนึง

By: obtheair on 3 August 2016 - 16:11 #930174 Reply to:930166

เรื่องจ่ายเงินเร็ว ให้จ่ายก่อนได้ใช้คลื่นผมว่าคงใช้คลื่นคงไม่มีใครจ่ายหรอกครับ แต่ถ้าให้เริ่มจ่าย 1 เดือนก่อนใบอนุญาตเจ้าของคลื่นรายเก่าหมดอายุจนถึง 3 เดือนหลังหมดอายุนั่นก็อีกเรื่อง ยังไงกสทช. ก็ได้เงินเร็วอยู่แล้วเพราะไม่ต้องรอหมดอายุก่อนถึงค่อยเริ่มจัดประมูล

By: Zatang
ContributoriPhoneAndroid
on 4 August 2016 - 11:37 #930375 Reply to:930166

น่าจะยอมนะครับ ก่อนใช้ยังไงก็ต้องสั่งซื้ออุปกรณ์ เตรียมการนู่นนั่นนี่ ถ้ารู้ตัวว่าได้แล้วเอาเวลาก่อนเริ่มใช้ไปจัดเตรียมก่อนได้ครับ น่าจะดีกับรายใหม่ด้วย


อคติทำให้คนรับเหตุผลด้านเดียว

By: sukjai
iPhoneAndroidRed HatUbuntu
on 3 August 2016 - 16:18 #930177

+1

By: gobman
iPhoneAndroidSymbianUbuntu
on 3 August 2016 - 22:34 #930247

สู้ในตลาดค้าปลีกไม่ได้ ก็เปิดตลาดใหม่.. เป็นตลาดค้าส่งมันเลยละกัน

โอนคลื่นได้นี้ ถ้าท่าทางตลาดคลื่นความถี่จะปั่นป่วนไม่เบา

ส่วนประมูลล่วง เห็นด้วย แต่คงต้องหาวิธีออกกติกาดีๆ กลัวไม่ใช่ประมูลได้พอครบปีบอกไม่เอาละ

By: btoy
ContributorAndroidWindows
on 4 August 2016 - 09:22 #930347
btoy's picture

ผมก็เห็นด้วยกับการประมูลล่วงหน้านะ


..: เรื่อยไป