ZTE เป็นบริษัทด้านเครือข่ายโทรคมนาคมอีกรายที่มาแรงในช่วงหลัง ถือเป็นบริษัทที่มีอุปกรณ์เกี่ยวกับเครือข่ายครบถ้วน ตั้งแต่ต้นน้ำพวก fiber และ carrier switching ที่ใช้กับโอเปอเรเตอร์ ไปจนถึงอุปกรณ์ปลายน้ำระดับสมาร์ทโฟนยี่ห้อของตัวเอง (เรือธงรุ่นล่าสุดคือ ZTE Axon 7)
ในประเทศไทยเอง ถึงแม้ ZTE ยังเพิ่งเริ่มกับตลาดสมาร์ทโฟน แต่ในตลาดอุปกรณ์เครือข่ายต้องบอกว่าแข็งแกร่งมาก โอเปอเรเตอร์ในไทย (ทั้งมีสายและไร้สาย) ล้วนแต่เป็นลูกค้าของ ZTE ด้วยกันทั้งนั้น
เพื่อให้เข้าใจยุทธศาสตร์ของ ZTE มากขึ้น และเรียนรู้ว่านวัตกรรมของบริษัทจีนที่ผลักดันตัวเองขึ้นมาได้ขนาดนี้เป็นอย่างไรบ้าง Blognone มีโอกาสสัมภาษณ์คุณ Wang Helin กรรมการผู้จัดการ ZTE Thailand ในประเด็นเหล่านี้
คุณ Wang Helin กรรมการผู้จัดการ ZTE Thailand
ธุรกิจหลักของ ZTE ทั้งในระดับโลกและในไทย ยังเป็นอุปกรณ์เครือข่ายที่มีส่วนแบ่งประมาณ 50% ของรายได้ทั้งบริษัท ปัจจุบัน ZTE เป็นหนึ่งในกลุ่ม Big Four ของวงการอุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคม ซึ่งรายอื่นคือ Huawei, Nokia, Ericsson
ที่ผ่านมา ธุรกิจของ ZTE ในไทยเติบโตขึ้นมาก จากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี 3G มาเป็น 4G และมองว่าตลาดโทรคมนาคมไทยยังเติบโตต่อได้อีกมาก ถึงแม้จำนวนผู้ใช้งานอาจอิ่มตัวแล้ว แต่ผู้ใช้คนเดิมจะเปลี่ยนอุปกรณ์และแอพพลิเคชันไปตามเทคโนโลยี ซึ่งจากสถิติของเราเองเห็นชัดเจนว่าทราฟฟิกอินเทอร์เน็ตของไทยเติบโตอย่างมาก
ปี 2015 เป็นปีสำคัญของประเทศไทยในเรื่อง 4G ส่งผลให้โอเปอเรเตอร์ต้องลงเสาสัญญาณ 4G กันเยอะ ในอนาคตเทคโนโลยี 5G จะมาแน่นอน ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่เรียกว่า Pre-5G
เทคโนโลยีสำคัญของ Pre-5G คือ Massive MIMO ที่ช่วยให้อัตราการส่งข้อมูลของ 5G มากขึ้นกว่า 4G ประมาณ 5-6 เท่าตัว ตอนนี้เทคโนโลยีของเราใช้งานจริงแล้วกับเครือข่าย SoftBank ของญี่ปุ่น และกำลังทดสอบในมาเลเซีย เกาหลีใต้ จีน
ต้องแยกว่าตลาด Fiber มีด้วยกัน 2 กลุม อย่างแรกคือเครือข่ายหลักหรือที่เรียกกันว่า backbone ตรงนี้เสถียรภาพเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ส่วนอีกตลาดหนึ่งคือ FTTx ที่คนไทยคงรู้จักกันดีอยู่แล้ว
ในประเทศจีน ZTE มีส่วนแบ่งตลาด backbone ถึง 50% ส่วนในประเทศไทยก็ถือว่าเป็นผู้เล่นรายสำคัญ โอเปอเรเตอร์ทุกรายก็ใช้อุปกรณ์ของเรา ที่สำคัญคือเราวางแผนวิจัยเทคโนโลยี Fiber ยุคหน้าอย่าง NG-PON (Next-Generation Passive Optical Network) รอไว้แล้ว
ส่วนตลาด FTTx บ้านเราก็คึกคักและกำลังโตขึ้นเรื่อยๆ ปัจจัยหนึ่งคือ AIS ลงมาทำการตลาดค่อนข้างหนักในช่วงหลัง แต่ ZTE มองว่าอัตราการใช้งาน (penetration) ของไฟเบอร์ตามบ้านเรือนในประเทศไทยยังต่ำ และมีโอกาสอีกมากสำหรับผู้เล่นทุกราย
ตลาดสมาร์ทโฟนเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ZTE มองว่าผู้ที่จะประสบความสำเร็จ ตัวสินค้าต้องดี และการตลาดต้องดีควบคู่กันไป ถ้าฝั่งไหนมีปัญหา ก็จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ
ในแง่ผลิตภัณฑ์ ZTE เพิ่งมีเรือธงของปีนี้คือ Axon 7 ซึ่งบริษัทมั่นใจในระดับคุณภาพของสินค้า ส่วนในแง่การตลาด เราก็ใช้ยุทธศาสตร์พรีเซนเตอร์คือ มาริโอ้ เมาเร่อ ซึ่งสร้างการรับรู้ให้ดีขึ้นกับผู้บริโภค ปีหน้าเราก็จะสานต่อความสำเร็จนี้ให้ผลลัพธ์ดีขึ้นไปอีก
ในกลุ่ม Big Four หรือบางที่เรียก Four Wonders มีเพียงสองบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์แบบ end-to-end คือ ZTE และ Huawei ส่วนอีกสองรายยังขายผลิตภัณฑ์ในบางด้าน เช่น Ericsson ไม่ได้ทำโทรศัพท์แล้ว
การที่บริษัทมีไลน์สินค้าเยอะ มีข้อจำกัดคือต้องลงทุนวิจัยและพัฒนามาก เพราะต้องลงทุนกับทุกๆ เรื่อง ถึงระดับว่าต้องมีเทคโนโลยีชิปของตัวเอง แต่การเป็นบริษัทจีนที่มี economy of scale สูง ช่วยแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนได้ดี
เมื่อแก้ปัญหาเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุนได้แล้ว การมีสินค้าแบบ end-to-end มีประโยชน์มาก เพราะช่วยให้เข้าใจลูกค้ามากขึ้น เข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร ตัวอย่างเช่น การที่เรามีทั้งสมาร์ทโฟน 4G และอุปกรณ์เครือข่าย 4G ช่วยให้เรารู้ทิศทางของเทคโนโลยีได้เร็วกว่าคู่แข่ง ปรับตัวได้เร็วกว่าคู่แข่ง
ข้อดีของการเป็นบริษัทจีนคือมีตลาดในประเทศ และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนอย่างมาก ซึ่ง ZTE ถือเป็นหนึ่งในบริษัทจีนที่ได้ประโยชน์จากสภาพการณ์นี้ ถือว่าในตลาดในประเทศมีสภาพแวดล้อมในการแข่งขันที่ดี
แต่การออกสู่ตลาดโลก ไปแข่งขันกับคู่แข่งต่างชาติ ก็ช่วยให้บริษัทต้องถีบตัวให้มีความสามารถสู้กับรายอื่นๆ ได้ รู้ว่าคู่แข่งในระดับโลกเป็นอย่างไร เราจำเป็นต้องเอาจุดเด่นจากทั้งสองตลาดมารวมกันให้ได้
แน่นอนว่าวัฒนธรรมจีนแตกต่างจากวัฒนธรรมตะวันตกมาก และการไปทำตลาดในประเทศไหน ก็ต้องเตือนตัวเองให้เข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นให้มาก เปิดตัวเองให้กว้าง ต้องเป็นมิตรกับคนท้องถิ่นมากขึ้น ในอดีตบริษัทจีนมักมีเทคโนโลยีของตัวเองเป็นระบบปิด ก็ต้องปรับตัวให้เปิดกว้างมากขึ้น มีความเป็น open system มากขึ้น
ธุรกิจหลักของเราในส่วนของ carrier network ทั้ง 4G และ Fiber ก็ยังเดินหน้าต่อไป แต่ตลาดใหม่ที่เราเรียกว่า M-ICT 2.0 ที่กำลังมองหาโอกาสอยู่คือกลุ่มเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง Smart City, IoT, AI ที่ไม่ได้มีแค่โอกาสธุรกิจอย่างเดียว แต่ทำแล้วจะเป็นประโยชน์กับคุณภาพชีวิตของคนไทยด้วย
ส่วนตลาดสมาร์ทโฟนก็จะขยายตัวต่อตามที่วางยุทธศาสตร์เอาไว้ข้างต้น
Comments
กลุม => กลุ่ม
แล้ว cissco หล่ะ