ปลายปีนี้ NVIDIA กำลังจะเปิดตัวชิปตัวต่อจาก Tegra 2 ตอนนี้ก็เริ่มมีรายละเอียดเพิ่มเติม รายละเอียดที่เพิ่มขึ้นมาคือ Kal-El นั้นไม่ใช่เพียงชิป 4 คอร์เช่นคู่แข่งอื่นๆ แต่ภายในจริงๆ นั้นมีอยู่ 5 คอร์ โดยคอร์หนึ่งถูกสร้างขึ้นพิเศษเพื่อทำงานที่ความเร็วต่ำได้ประหยัดพลังงานกว่าคอร์อื่นๆ โดยเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า Variable SMP
NVIDIA ให้เหตุผลของการใส่คอร์ที่ 5 ไว้ว่าเป็นเพราะเทคโนโลยีการผลิตจริงนั้นเวลาที่ออกแบบคอร์ให้ทำงานที่ความเร็วต่ำได้มีประสิทธิภาพสูงๆ คอร์นั้นๆ จะใช้พลังงานเปลืองกว่าเมื่อทำงานที่ความเร็วเต็มพิกัด แต่เมื่อออกแบบชิปให้ทำงานได้ประสิทธิภาพที่ความเร็วสูง ก็จะเปลืองพลังงานเมื่อทำงานที่ความเร็วต่ำ
การออกแบบ Kal-El จึงเลือกทางผสม ด้วยการใส่คอร์เพิ่มเข้าไปอีกหนึ่งคอร์ที่ทำงานได้ดีที่ความเร็วต่ำเพื่อทำงานขณะที่ไม่มีความต้องการการประมวลผลมากนัก และเปลี่ยนมาใช้คอร์ประสิทธิภาพสูงเมื่อต้องการความเร็วเพิ่มขึ้น การทำเช่นนี้ทำให้ Kal-El ได้ประสิทธิภาพดีตลอดเวลา
ตัว Android 3.0 นั้นแม้จะรองรับการทำงานหลายคอร์แต่ไม่รองรับภาวะที่แต่ละคอร์มีเงื่อนไขการทำงานไม่เหมือนกัน NVIDIA จึงต้องพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของตัวเองเพื่อสลับการทำงานระหว่างคอร์สองแบบได้อัตโนมัติ
เทคโนโลยีตัวนี้น่าจะช่วยยืดอายุแบตเตอรี่เมื่อเราปล่อยให้แท็บเล็ตหรือโทรศัพท์เช็คอีเมล หรือรอแจ้งเตือนต่างๆ อยู่เบื้องหลัก แต่ผลจริงๆ จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะช่วงเวลาสลับคอร์ไปมาจะทำให้ประสิทธิภาพแย่ลงหรือไม่
ที่มา - NVIDIA
Comments
ดูกันต่อไป ระหว่างนี้ใช้ i3 ไปก่อน อิอิ
ผมว่ามันเป็นไอเดียที่เจ๋งมาก
แทนที่จะใช้ core ทั้งหมดทำงาน แล้วทำให้เกิดการซดแบตมากขึ้น สาเหตุมาจาก app เรียกใช้ซะเต็มหน่วย cpu มันก็ไปเรียกไฟจากแบตไหลเป็นน้ำ พอมันเรียกไฟมากผลก็คือแบตร้อน หมดเร็วขึ้นหลายเท่า
ถ้าทำแบบนี้ กรณีที่ใช้งาน cpu ไม่ถึงกำหนด มันก็ไม่ไปใช้ core ทั้งหมด ประหยัดแบตได้อีก
ประหยัดขึ้น แรงขึ้น แต่ก็แพงขึ้น อะฮิๆ
แบบนี้เรียกว่าอะไรดีครับ quintacore , penta core ?
NVIDIA ให้เหตุผลของการใส่คอร์ที่ 5 ไว้ว่าเป็นเพราะเทคโนโลยีการผลิตจริงนั้นเวลาที่ออกแบบคอร์ให้ทำงานที่ความเร็วต่ำได้มีประสิทธิภาพสูงๆ คอร์นั้นๆ จะใช้พลังงานเปลืองกว่าเมื่อทำงานที่ความเร็วเต็มพิกัด แต่เมื่อออกแบบชิปให้ทำงานได้ประสิทธิภาพที่ความเร็วสูง ก็จะเปลืองพลังงานเมื่อทำงานที่ความเร็วต่ำ
งงบรรทัดนี้อะครับ ทำไมตอนความเร็วต่ำ ถึงกินไฟมากกว่าตอนฟลูโหลด
ไม่ใช่ว่าตอนความเร็วต่ำกินกว่าฟูลโหลดครับ ถ้าเรียกให้ถูกคือกินพลังงานไม่คุ้มกับงานที่ได้ ลองดูเส้นแดงๆ ในกราฟก็ได้ครับ ตอนฟูลโหลดก็โอเคอยู่ แต่ตอนความเร็วต่ำนี่กินพลังงานน้อยลงไปแค่นิดเดียวครับ
แนวคิดน่าสนใจมากนะครับ
ถ้าใน intel เองจะมี เทคโนโลยีอย่าง Turbo Boost / Speed Step
เวลาว่างงานก็ทำการ ลด Clock core ลงมา แต่มันก็ทำงานเหมือนๆกันทุกคอร์
แต่อันนี้ของ Nvidia ทำงานเหมือนกับว่า คอร์ หายไปจากระบบเลย (แบบนั้นหรือเปล่า) พอมีงาน Core ก็จะ Enable ขึ้นมา
มันจะสลับกันทำงานครับ ขึ้นอยู่กับ Load ของระบบมั้ง
น่าสนใจมากครับ ขอให้ nvidia ทำตัวจัดการการเลือกใช้ core ออกมาดีๆ
งานนี้ต้องลองตัวที่จะออกมาว่าจะดีจริงรึเป็นแค่ทฤษฏี
ทำให้นึกถึง NDS มี CPU สองตัว