Tags:
Node Thumbnail

ในที่สุดกูเกิลก็ปล่อยขีปนาวุธอีกลูกถล่มใส่ไมโครซอฟท์แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เมื่อวันที่ 7 เดือน 7 ปี 2009 กูเกิลแสดงพลังด้วยการประกาศพัฒนาระบบปฎิบัติการใหม่ เรียกว่า Google Chrome OS ระบบ Chrome OS นี้เป็นระบบปฎิบัติการขนาดเบาที่พัฒนามาใช้กับเน็ตบุ๊ก ปีนี้จะปล่อยออกมาเป็นโอเพ่นซอร์ส ปีหน้าก็จะออกมาในผลิตภัณ์เน็ตบุ๊ก กูเกิลยังประกาศตัวพันธมิตรธุรกิจจำนวนมาก นี่ไม่ใช่การออกผลิตภัณฑ์มาแข่งขันกันแบบธรรมดา แต่เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์อันยาวนานของกูเกิลที่จะเปลี่ยนโลกจาก desktop centric computing มาสู่ web centric computing อันจะเป็นการพลิกโลกไอทีทั้งโลก งานนี้ต้องมาดูแนวคิดทางยุทธศาสตร์ของแต่ละฝ่ายครับ ว่าเดินหมากสงครามนี้อย่างไร

เราคงจำกันได้ว่ากูเกิลเพิ่งจะปล่อย Chrome เบราว์เซอร์ออกมาเขย่าวงการไอทีไม่นานด้วยการออกแบบที่แตกต่างด้านเทคนิค โดยเฉพาะจุดประสงค์ที่จะเตรียมการให้การทำงานของเบราว์เซอร์ยุคใหม่สามารถรองรับการทำงานของโปรแกรมประยุกต์หนักๆ ที่พัฒนาจากจาวาสคริปต์ได้ ตอนนี้เมื่อกูเกิลปล่อย Chrome OS ออกมาทำให้เห็นแนวโน้มของเทคโนโลยีและยุทธศาสตร์ที่ใช้ได้ชัดเจนขึ้น

หากเรามองระบบไอทีขนาดใหญ่จะพบว่าแนวคิดที่ใช้กันมากที่สุดในตอนนี้ คือ แนวคิดที่ขอเรียกว่า desktop centric computing นั้นคือ ผู้ใช้จะมีระบบพีซีหรือ โน๊ตบุ๊กที่มีสมรรถนะที่ดี คอมพิวเตอร์เหล่านี้จะเชื่อมโยงกันเป็นโครงสร้างทางไอทีผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบมีสายและไร้สาย มีระบบเซิร์ฟเวอร์และระบบจัดเก็บข้อมูลอยู่ตรงกลางเพื่อรองรับการจัดเก็บ ประมวลผล และสืบค้นข้อมูล การใช้งานต้องมีระบบปฏิบัติการและโปรแกรมประยุกต์ซึ่งทำงานบนคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ แต่ใช้เครือข่ายเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้กับระบบเซิร์ฟเวอร์และระบบจัดเก็บข้อมูลเพื่อเพิ่มพลังการทำงาน ไมโครซอฟท์นับว่าเป็นเจ้าสนามในระบบไอทีแบบนี้ ร่วมด้วยซอฟต์แวร์อื่นๆ เช่น ออราเคิล

ต่อมาแนวการประมวลผลเริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การสร้างโปรแกรมประยุกต์บนเว็บ หรือ web centric computing ในระบบนี้ คอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ไม่ต้องมีกำลังการประมวลผลมากนัก โปรแกรมประยุกต์ทุกอย่างจะทำผ่านระบบเว็บ ซึ่งแนวโน้มคือโปรแกรมประยุกต์จะถูกเก็บและทำงานบนระบบประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (Cloud Computing Systems) ซึ่งผุ้ใช้จะมองเห็นแต่พลังการประมวลผลและตัวเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ที่ขยายตัวได้ ในแนวคิดนี้ ผู้ที่บุกเบิกมาคือกูเกิลนั่นเอง

ก่อนจะวิพากษ์สงครามคราวนี้ผมขอพาท่านกลับสู่อดีตสักนิด

เราจะพาท่านผ่านประวัติศาสตร์ไปสู่ยุคสงครามนโปเลียนครับ ตอนนั้นนโปเลียนตั้งใจที่จะปิดฉากสงครามและครองยุโรปให้เด็ดขาด จึงเคลื่อนทัพราว 690, 000 คน ซึ่งเป็นการรวมพลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและพร้อมรบที่สุดในประวัติศาสตร์ยุโรปไปบุกรัสเซีย ในปี คศ. 1812

ในช่วงนั้นคือช่วงที่รุงโรจน์ที่สุดของนโปเลียน ซึ่งครองแทบทั้งยุโรปและกดอังกฤษจนต้องหลบอยู่บนเกาะอังกฤษอย่างเดียว ส่วนรัสเซียภายใต้พระเจ้าซาร์ อเล็กซานเดอร์นั้นก่อนหน้าได้พ่ายแพ้อย่างยับเยินให้กับนโปเลียนที่ออสเตอร์ลิซ (Austerlitz) มาแล้ว รัสเซียรวมทหารได้แค่ 488,000 คน โดยที่กว่า 160,000 คนเป็นทหารอาสาสมัครจากชาวบ้านที่แทบรบไม่เป็นเลย (ดูได้จาก Wikipedia ครับ)

ตอนนั้นกองทัพรัสเซียก็พยายามสู้สุดฤทธิ์นะครับ แต่ขีดความสามารถต่างกันมาก กองทัพรัสเซียถูกบังคับให้ถอยแล้วถอยอีก โดยในขณะถอยก็กวาดต้อนชาวบ้านไปด้วยแล้วเผาทุกอย่างทิ้งไม่เหลือให้ข้าศึกใช้ ในสงครามที่โบโรดีโน่ กองทัพรัสเซียได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญแต่เสียหายอย่างหนัก เส้นทางไปสู่กรุงมอสโกเปิดโล่งให้นโปเลียนยกทัพไปยึดได้อย่างรวดเร็ว ปกติในยุคนั้นหากเมืองหลวงถูกยึดประเทศนั้นมักจะยอมแพ้และขอสงบศึก

จุดเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์คือการที่นายพลคูตูซอฟได้ตัดสินใจที่จะอาศัยความได้เปรียบทางสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศเอาชนะให้ได้ รัสเซียเกณฑ์ทุกคนที่รบได้มาทั้งหมดได้คนเตรียมรบถึง 904,400 คนด้วยกันและตั้งใจสู้ถึงที่สุด นายพลคูตูซอฟ (Kutuzov) ได้สั่งการให้อพยพคนออกจากมอสโกจนหมด กองทัพนโปเลียนมาถึงพบเมืองที่ว่างเปล่าและไม่มีอะไรเหลือ จากนั้นก็เกิดไฟไหม้ กลางเดือนตุลาคมนโปเลียนถูกบีบให้ถอยภายใต้ฤดูหนาวที่ทารุณ รัสเซียบีบให้นโปเลียนถอยกลับไปทางถนนเดิมที่ไม่มีสเบียงให้ทหารและหญ้าให้ม้าโดยสิ้นเชิง และส่งทหารม้าโจมตีปีกกองทัพนโปเลียนอย่างต่อเนื่อง ทหารต้องลงเดิน หิวตายหนาวตาย รัสเซียใช้สภาวะแวดล้อมและภูมิประเทศที่ตนเคยชินอย่างเต็มที่ครับ ผลคือนโปเลียนกลับถึงฝรั่งเศสพร้อมทหารแค่ 22,000 คน ทหารตายไป 97% ครับ ไปร้อยคนกลับมาสามคนเท่านั้น

หากเรากลับมาดูสงครามกูเกิลกัน เราจะพบว่ากูเกิลพยายามแก้ทางของไมโครซอฟท์อยู่ หากไปรบกันใต้สภาพของระบบปฏิบัติการวินโดว์และ Internet Explorer แล้ว เท่ากับกองทัพรัสเซียที่เล็กกว่าหาญท้ารบกับนโปเลียนในฝรั่งเศสครับ ตายอย่างเดียว ดังนั้นกูเกิลต้องอาศัยพลังควบคุมฟ้าดินให้ได้ กูเกิลเล่นใจเย็นมองเกมส์เป็นการชิงดินแดนแบบรุกคืบ คือ รุก หยุด สะสมกำลัง และรุกต่อ การรุกจะคืบจากระดับโปรแกรมประยุกต์เข้าหาระบบปฏิบัติการ ซึ่งเป็นแนวรุกกลับทิศกับไมโครซอฟท์ที่รุกจากการควบคุมระบบปฏิบัติการ ไปยังการคุมโปรแกรมประยุกต์แล้วสยายปีกออกทางแนวกว้าง ยุทธศาสตร์ของกูเกิลเท่าที่มอง คือ

  • หนึ่ง กูเกิลเริ่มสร้างสภาพแวดล้อมของโปรแกรมประยุกต์แบบ web centric บนระบบประมวลผลแบบกลุ่มเมฆก่อน ต้องพึ่งพาเบราว์เซอร์มาตรฐานบนระบบปฎิบัติการของคนอื่น ขั้นแรกปิดเกมส์ไปแล้วค่อนข้างดี ไม่ว่าจะเป็น Google Search, Google Maps, Google Docs, Google Apps

  • สอง กูเกิลรุกลงมาสร้างฐานเบราว์เซอร์ของตนเอง คือ Chrome และปล่อย Google Gears ออกมาเพื่อให้สามารถควบคุมโปรแกรมประยุกต์แบบเว็บได้ และสร้างมาตรฐานด้านการพัฒนาโปรแกรมเพื่อสร้างความได้เปรียบ

  • สาม กูเกิลปล่อยแอนดรอยด์มาเพื่อสร้างฐานและทีมพัฒนาระบบปฏิบัติการที่แข็งแกร่ง รวมทั้งขยายฐานประชาคมนักพัฒนาของตน อีกอย่างโลกของโทรศัพท์มือถือกำลังขยายตัวและ Windows Mobile ก็ไม่ได้แข็งแกร่งเกินจะปราบได้เพราะ BlackBerry ทำมาแล้ว ดังนั้นแอนดรอยด์ก็มีโอกาสเข้าตีรบกวนไมโครซอฟท์ได้ ดังซุนวูว่าไว้ว่า ศัตรูอ่อนแอให้เราจู่โจม ศัตรูกล้าแข็งให้เราสงบนิ่ง

  • สี่ กูเกิลปล่อย Chrome OS ออกมาอาศัยการขยายตัวของเน็ตบุ๊กที่แรงเร็วทั่วโลก เนื่องจากความต้องการที่จะให้ใช้งานได้นานและประหยัดพลังงาน เน็ตบุ๊กจะถูกวางตำแหน่งให้เป็นระบบที่ทำงานช้ากว่าโน๊ตบุ๊กและเดสค์ท็อปอยู่ขั้นหนึ่งเสมอ สภาวะแวดล้อมนี้ทำให้ระบบปฏิบัติการที่เบา (lightweight operating system) ได้เปรียบ เพราะจะทำงานเร็วกว่าคล่องกว่าและกินไฟกับหน่วยความจำน้อยกว่า

จะเห็นว่ากูเกิลใช้ความใจเย็นปรับเปลี่ยนสภาวะแวดล้อมและเลือกสนามรบที่ได้เปรียบ เหมือนรัสเซียที่อาศัยการถอยยาวดึงนโปเลียนมารบในถิ่น รอให้หน้าหนาว (เน็ตบุ๊ก) มาถึงก่อนค่อยรุกเข้าใส่

เรามาดูจุดอ่อนกันบ้างครับ ว่าถ้าเราเป็นไมโครซอฟท์จะเข้าตีตอบโต้อย่างไร

  • หนึ่ง การที่กูเกิลออกระบบปฏิบัติการใหม่ต้องอาศัยเวลาช่วงหนึ่งที่จะทำให้เสถียร สร้าง ecosystem ของนักพัฒนา ดูจากแอนดรอยด์แล้วมีเวลาราวสองปี ครับ ในตอนนี้ไมโครซอฟท์มี Windows 7 ที่บางเบาแต่เร้าใจกว่าน้องวิสต้ามาก ต้องสร้างฐานตรงนี้ออกไปรบกับ Chrome และพยายามสร้างโปรแกรมประยุกต์สวยๆ ที่ใช้ 3D มาให้ลูกค้าติด เพราะอย่างไรจุดอ่อนของ web centric computing คือกราฟิก 3D ที่จะช้ากว่าโหลดนานกว่า อัดเกมส์มามากๆ หรือทำส่วนติดต่อกับผู้ใช้แบบ 3D มาเลยครับ

  • สอง ระบบแบบกูเกิลที่ใช้ web centric นั้น จะพบว่าทำงานได้ไม่ดีในสภาวะที่อินเทอร์เน็ตไม่ค่อยเร็วและไม่ค่อยเสถียร เช่น ในสยามเมืองยิ้มของเรา ดังนั้นในสภาพแวดล้อมที่อินเทอร์เน็ตอ่อนแอ desktop centric แบบ ไมโครซอฟท์ยังคงความได้เปรียบ หมายความว่าในเอเชียแปซิฟิกและกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ไมโครซอฟท์ยังคงความได้เปรียบบางประการไว้

  • สาม ความเคยชินของคนแก้ยากครับ ความพยายามของกูเกิลทำให้เกิดการเปลี่ยนโมเดลการใช้งาน จะมีแรงต้านโดยธรรมชาติจากผู้ใช้อยู่แล้วไมโครซอฟท์แค่เสริมแรงตรงนี้หน่อย Chrome OS ก็จะลำบากครับ

สงครามนี้รบยืดเยื้อครับ สถานะการณ์จะค่อยๆพัฒนาในเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี กูเกิลเป็นคู่แข่งที่เก่งที่สุดที่ไมโครซอฟต์เจอมาในรอบหลายปีครับ คือ ใจเย็น มีวิสัยทัศน์ มุ่งมั่น วางกลยุทธเป็นขั้นตอนและสั่งสมทรัพยากรเพิ่มพูนทุกขณะ เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ความเป็นบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตและไฟเบอร์ทูโฮม ความได้เปรียบของกูเกิลก็จะเพิ่มขึ้น แต่โลกกำลังหมุนไปหาไลฟ์สไตล์คอมพิวติ้งในวงกว้าง กูเกิลนั้นขาดทักษะเรื่องการออกแบบอย่างแรงจะเสียเปรียบอย่างมากในจุดนี้ครับ

หลังจากรบกันอยู่นานสุดท้ายทั้งคู่อาจถูกกัดตายโดย Snow leopard จากแอปเปิลก็ได้นะครับ

Get latest news from Blognone

Comments

By: mossila
iPhoneWindows PhoneAndroidBlackberry
on 10 July 2009 - 02:46 #112951
mossila's picture

อยากให้ดังและดี แต่ไม่อยากให้ครองโลกเลย
Moss 's blog

By: planktons
AndroidWindows
on 10 July 2009 - 03:35 #112955
planktons's picture

อย่างนี้จะเป็นสามก็กไหมคับเนี่ย ไมโครซอร์ฟเป็นโจโฉ แอปเปิ้ลเป็นเล่าปี่ และกูเกิลเป็นซุนกวน แบบนี้รบกันอีกนานครับ

By: thedesp
WriterAndroidWindows
on 10 July 2009 - 08:41 #112992 Reply to:112955
thedesp's picture

แบบนี้แอปเปิ้ลจะเจ๊งเป็นเจ้าแรกสินะ
เพราะอาเต๊าไม่สามารถเท่าเล่าปี่

By: nat3738
ContributorAndroidRed HatUbuntu
on 10 July 2009 - 09:35 #113005 Reply to:112992

แล้ว Google ก็ไปต่อไม่กี่ปีหลังจากนั้น

แต่... เอะ โจโฉ (Bill) ไปแล้วนี่ ตอนนี้โจผี (Steve) ขึ้นครอง

By: ZetaSolid
Windows PhoneSymbianUbuntuWindows
on 10 July 2009 - 10:34 #113030 Reply to:113005
ZetaSolid's picture

งั้นสุมาอี้ จะเป็น Singularity รึเปล่านี่
เห็นไมโครซอฟท์ ซุ่มมานานแล้วนะครับ

ปล. เราลืม Linux กันไปหรือเปล่านี่ ???

By: meawwat
ContributoriPhoneAndroidSymbian
on 10 July 2009 - 14:28 #113101 Reply to:113030
meawwat's picture

linux เป็นโจรโพกผ้าเหลืองแล้วกัน

By: ZetaSolid
Windows PhoneSymbianUbuntuWindows
on 10 July 2009 - 14:52 #113108 Reply to:113101
ZetaSolid's picture

Linus เป็นเตียวก๊ก ???

By: nat3738
ContributorAndroidRed HatUbuntu
on 10 July 2009 - 23:11 #113181 Reply to:113108

แล้วถูก Apple ฆ่า ???

By: ZetaSolid
Windows PhoneSymbianUbuntuWindows
on 11 July 2009 - 16:20 #113248 Reply to:113181
ZetaSolid's picture

ใครจะเป็นขงเบ้งล่ะนี่ ???

By: doctorking
iPhoneWindows PhoneAndroid
on 12 July 2009 - 23:43 #113443 Reply to:113248

ถ้ามองตรงนี้ สมควรให้ สตีพ จ๊อบ ครับ (ในโลกไอทีแกวางยาได้แยบยลสุดแล้ว)

By: jirayu
ContributorWindows PhoneBlackberrySymbian
on 10 July 2009 - 04:55 #112970

ผมว่าหากต้องการจะล้ม Windows ต้องมีสิ่งสำคัญสองอย่าง คือ Office Suite ที่ทรงพลังอย่าง Microsoft Office (เฮ้ ผมไม่ได้พูดถึงฟอร์แมตเอกสารนะ) และอีกเรื่องคือ Games ทั้งหลาย

แล้วยิ่งในตอนนี้ใครๆก็มอง Microsoft เป็นปิศาจไปเสียอีก ถ้าได้สองอย่างข้างบนมาร่วมด้วย ผมว่าไม่ยากที่จะล้ม Windows นะครับ

ปล.แต่ OO.o ก็ยังห่างจาก Microsoft Office อีกหลายขุม เกมบน Linux ก็ไม่มากมายเท่าบน Windows ทำให้ผมเชื่อว่า Windows จะครองตลาดนี้ไปอีกนาน แต่ถ้าตลาดเน็ตบุ๊ค อืมม เป็นไปได้ว่าจะเสียให้กับ Chrome OS นะ เพราะปกติเราก็ไม่ได้ใช้เน็ตบุ๊คทำงานกับเล่นเกมนี่นา ?

[ JIRAYU.INFO ]


By: putchonguth on 10 July 2009 - 08:50 #112996 Reply to:112970

ผมว่าเราคงไม่มองใครต่อใครเป็นปีศาจหรอกครับ เขาก็หากินกันไป เราต้องมองอย่างเป็นกลาง เหมือนเวลาดูสารคดี National geographics สิงโตกินกวางแล้วสิงโตชั่วร้ายไหม ผมว่าไม่หรอกครับ เขาแค่เอาชีวิตรอดใน ecosystem ของเขา

ตอนนี้โลกกำลังเปลี่ยน เหมือนป่าที่ ecosystem กำลังเปลี่ยน ก้าวเข้าสู่โลกที่

1.คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อัจฉริยะจะมีราคาถูกและให้ Mobility ที่สูงกับผู้ใช้ให้ Online Anytime Anywhere

2.ไวร์เลสบรอดแบนด์และไฟเบอร์ทูโฮมกำลังมาทำให้การโลกก้าวสู่การผลิตและใช้สารสนเทศแบบมัลติมีเดียเต็มรูปแบบ เช่น video based MMS , mobile phone video conference, IP based movie on demand

3.ระบบแบบโมบายจะใช้งานได้ราว 7-12 ชั่วโมงในปีหน้าครับ iPhone, iPod ทำได้แล้ว ส่วนเน็ตบุ๊กพวก 7 ชั่วโมงเริ่มออกมาหลายเจ้า ผลคือ ผู้ใช้จะพกอุปกรณ์โมบายเข้าอินเทอร์เน็ตตลอดเวลาครับ

4.การออกแบบให้สวยงามจะเข้ามามีผลอย่างมาก 3D gaming based user interface จะก้าวเข้ามาเร็วๆนี้

ดังนั้นด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จะเปลี่ยนอย่างแรงและเข้าสู่สมดุลย์ใหม่ใน 5 ปีข้างหน้าครับ อันที่จริงถ้าลงทุนผลักดัน ผมอยากให้ไทยเข้าเป็น World player ด้านออกแบบและ user interface design ครับ เราน่าจะไปได้ดี

ก็ลองตามกันดูครับ

By: jirayu
ContributorWindows PhoneBlackberrySymbian
on 10 July 2009 - 16:32 #113129 Reply to:112996

ถ้าเคยเห็นผมคอมเมนต์ ผมจะอยู่ในฐานะสาวกของ Microsoft ครับ :P

คือว่าผู้ใช้ "ทั่วไป" ในตอนนี้ ใครบอก Microsoft ผิด ก็จะเออออตามไปกันมาก บางคนก็เออออตามไปว่า OSX ดี Ubuntu แจ๋ว ส่วน Windows ห่วย ในขณะที่ไม่รู้รายละเอียดอะไรมากเกี่ยวกับ OSX และ Ubuntu

ก็เอวังประการฉะนี้แล

[ JIRAYU.INFO ]


By: putchonguth on 10 July 2009 - 22:17 #113169 Reply to:113129

ผมว่าวินโดว์คงดีนะครับ ผมเคยคุยกับคุณ Dave Proberts คนออกแบบวินโดว์แกเทพมากเลยครับ อยากคุยกับคุณ Linus Torvald สักวัน

By: willwill
ContributorAndroid
on 10 July 2009 - 19:44 #113147 Reply to:112996
willwill's picture

ผมมองว่าเรากำลังถอยหลังแล้วหละครับ (อันนี้ผมตอบข้อ 3 นะครับ)

จากที่ CPU เป็น 2 เท่าของเดิมทุกปีตามกฎมัวร์ ก็กลายเป็นลดลงเรื่อยๆ ไหนจะ Core 2 Solo หรือ Intel Atom (เห็นฮึตกันหนักหนา) ซึ่งก็อ้างเรื่องพลังงาน (ผมคิดว่า netbook ควรจะใช้ non-x86 มากกว่า น่าจะประหยัดพลังงานมากกว่า และทำให้มันเป็น "net" จริงๆ ไม่ใช่ net&game อย่างที่หลายๆ คนทำ ส่วน core 2 solo ผมยังหาอะไรที่ดีกว่ามาเทียบไม่ได้ แต่คิดว่าก็ใช้ pentium 4 ก็ได้ ไม่เห็นจะต้องออก cpu มาอีก)

สงสัยว่า Intel กลัวต้องลดราคามาอย่างเดียว เลยหาตัวถ่วงเวลาเข้าไว้ และคงจะถ่วงไปได้อีกนาน

By: hisoft
ContributorWindows PhoneWindows
on 10 July 2009 - 23:53 #113187 Reply to:113147
hisoft's picture

Clock ลดลง แต่ performance เพิ่มขึ้นนี่ครับ

แต่ผมเห็นด้วยนะ netbook ไม่ใช่ชื่อเรียกสำหรับคอมที่ออกแบบมาให้ใช้เล่นเน็ตอีกแล้ว กะจะเอาครอบจักรวาลแต่ไซส์เล็ก แบบนั้น laptop สมัยก่อนมันก็มีอยู่แล้ว แบบ platform Ion เนี่ย ผมไม่นับว่าสำหรับ netbook แล้วนะครับ ก็ไม่ได้ต่อต้านสำหรับเครื่องที่จะเอาไปใช้ แต่ไม่อยากให้เรียกว่า netbook

The Phantom Thief

By: meawwat
ContributoriPhoneAndroidSymbian
on 18 July 2009 - 09:13 #114623 Reply to:113147
meawwat's picture

ถ้าไม่ใช้ x86 อาจจะมีปัญหาเรื่อง software ครับ

By: l2aelba
iPhoneAndroid
on 10 July 2009 - 07:37 #112981
l2aelba's picture

บร่ะแล้วๆ ขอตั้งใจรอ รอใช้งาน...
------
Unlimited Asian Music (ดูเอ็มวี ไทย, เกาหลี และญี่ปุ่น ฟรีๆ)

By: zgarden
iPhone
on 10 July 2009 - 08:28 #112987
zgarden's picture

วิเคราะห์ได้ดีครับอาจารย์ อ่านแล้วจินตนาการตามไปเลยว่าต่อไปอนาคตของสงคราม OS นี้จะเป็นยังไงต่อไป

โปรดเฝ้ารอด้วยความระทึกในดวงหทัยพลัน

By: tomazzu
AndroidUbuntu
on 10 July 2009 - 08:32 #112988

ว้าววว บทความที่เจ๋งมากๆ ครบ

http://tomazzu.exteen.com

By: konrasee
iPhoneUbuntuWindows
on 10 July 2009 - 09:50 #113008 Reply to:112988

+10

By: pad4thai
AndroidUbuntuIn Love
on 10 July 2009 - 08:37 #112989
pad4thai's picture

กระแส web wideget มาตั้งแต่ wm, next,ms active desktop,mac osx drashboard, vista, screenlet ,adobe air, google desktop ,androind ,plam pre แต่มาระยะหลังเมื่อข้อจำกัดความเร็วเน็ทหมดไปและราคาถูก ทั่วถึง แต่คาดได้ว่า ซอฟต์แวร์แอนดรอยน์ น่าจะใช้ได้ นี่แค่จุดเริ่มต้น oss มี่source มากมายที่่google นำไปต่อยอดได้ หลายคนคงผ่านตากับ GOS linux มากันบ้างแล้ว ถึงไม่ใช่ google แต่น่าสนใจพอตัว

By: dafty
AndroidWindowsIn Love
on 10 July 2009 - 09:07 #113002

ชอบประโยคสุดท้าย

"หลังจากรบกันอยู่นานสุดท้ายทั้งคู่อาจถูกกัดตายโดย Snow leopard จากแอปเปิลก็ได้นะครับ"

เข้าทำนอง ตาอยู่เอาพุงปลาไปกิน

By: tofu on 10 July 2009 - 09:56 #113012

ผมกลับชอบการออกแบบของ google มากกว่า microsoft นะ

By: zalapao
Android
on 10 July 2009 - 10:52 #113045 Reply to:113012
zalapao's picture

แต่ผมชอบ Design แบบ MS นะ ถึงจะรกไปด้วย detail แต่มีความลงตัวและน่าเชื่อถือสูง ดูโปรฯ ถ้าเป็น Apple จะเน้นเรียบหรูและมีความลงตัว แต่กูเกิลจะดูไม่ค่อยมีลักษณะเฉพาะตัวสักเท่าไหร่ ไม่ค่อยลงตัว

คห.ส่วนตัวสุดๆ ฮ่าๆ

By: cblue on 10 July 2009 - 10:01 #113013

"เพราะอย่างไรจุดอ่อนของ web centric computing คือกราฟิก 3D ที่จะช้ากว่าโหลดนานกว่า อัดเกมส์มามากๆ หรือทำส่วนติดต่อกับผู้ใช้แบบ 3D มาเลยครับ"

ผมแย้งข้อนี้ด้วย native client ครับ:
http://code.google.com/p/nativeclient/

"สอง ระบบแบบกูเกิลที่ใช้ web centric นั้น จะพบว่าทำงานได้ไม่ดีในสภาวะที่อินเทอร์เน็ตไม่ค่อยเร็วและไม่ค่อยเสถียร เช่น ในสยามเมืองยิ้มของเรา ดังนั้นในสภาพแวดล้อมที่อินเทอร์เน็ตอ่อนแอ desktop centric แบบ ไมโครซอฟท์ยังคงความได้เปรียบ"

ประเด็นนี้ผมคิดว่า Google มองไว้แล้วด้วย off-line browsing mode/Google Gears ครับ

By: mossila
iPhoneWindows PhoneAndroidBlackberry
on 10 July 2009 - 10:06 #113018 Reply to:113013
mossila's picture

ข้อนี้เห็นด้วยครับเหมือนเค้าเตรียมรับมือแล้วส่วนนึง
br/>
Moss 's blog

By: putchonguth on 10 July 2009 - 22:58 #113177 Reply to:113013

ขอบคุณมากครับสำหรับข้อคิดเห็นและการชี้ไปยังข้อมูลให้

ผมเข้าไปอ่านเอกสารที่มีพบว่าเทคโนโลยีนี้ยังมีจุดอ่อนที่ต้องการการพัฒนาอีกหลายประการ ครับ ขอให้ลองพิจารณาดู

  1. ในการนำ native code มารันในเบราว์เซอร์นั้นต้องคำนึงถึงเรื่องหลายประการครับ เช่น

    • Loading time ผ่านเครือข่ายด้วยจะสูงมากนะครับ รอกันเงก เหมือนกับเราโหลดเกมส์ออนไลน์ตัวใหญ่ๆมาโดยไม่ติดตั้ง ผมว่า delay ตรงนี้ทำให้ประสพการณ์ของผู้ใช้แย่ลงนะครับ มันไม่เหมือน flash ที่ binary engine ถูกติดตั้งที่ฝั่ง client ก่อนหน้าทำให้สามารถโหลดแต่ตัว scripting ที่เบากว่ามากมา ถ้าต้องเล่นดูมแล้วโหลดเกมส์ดูมตัวใหญ่ผ่านเน็ตตลอดคงช้าน่าดู
    • การที่พัฒนาโดยมี DLL จำนวนมากจะทำไม้ได้เนื่องจากเราไม่มีทางรู้ว่ามีอะไรบ้าง เกือบทุกอย่างอาจต้องเป็น static linking หมดทำให้ executable ใหญ่หนักเข้าไปใหญ่ ถึงแม้เราอาจจะปะทะปะทังด้วย client side caching บ้างท่านก็จะพบว่ามีปัญหาตามมา คือ
      • cache เองจะกินที่ที่ฝั่ง client สูงมาก เนื่องจากความซ้ำซ้อน
      • การบริหาร cache แบบไดนามิค ยากที่จะทำให้ดีไม่เหมือนการติดตั้งแต่แรกที่ DLL ทุกโมดูลถูกบันทึกอย่างเป็นระบบใน registry
  2. การทำงานของระบบต้องสร้าง security sandbox การทำให้ security sand box ปลอดภัยและไม่กินแรงงเครื่องนับว่าท้าทายมาก ผลกระทบอีกอย่างของโมเดลนี้ คือ ต้อง port driver มาลงครับ ใน slide ยังพูดถึงการ port H264 transcoder ข้ามมาเลย หากจะพอร์ตตัวสองตัวมา demo สวยๆ คงได้นะครับ แต่โมเดลนี้ยากมากที่จะให้ work ในทางปฏิบัติเพราะต้องดันให้ ผู้ผลิตทุกคน port driver ของการ์ดสารพัดรวมทั้ง display ใหม่มานะครับ

ส่วน off line browsing mode นั้นผมว่าดีนะครับ แต่เหมาะกับงานแบบ light weight เนื่องจากการ cache ไฟล์ใหญ่ๆที่เราทำงานมาทั้งหมดยังยากอยู่ เวลาทำงานจริงๆ เราต้องค้นไฟล์ document มากมายที่กระจายอยู่บนเครื่องมาใช้งานพร้อมกัน ใน google doc หาก online ก็ทำได้ดีเหมือนกัน แต่ off line ยากจะมีเนื้อหาครบถ้วนได้ หากเราใช้ไฟล์ใหญ่จำนวนมากในการทำงานครับ

By: demon69gt on 10 July 2009 - 10:01 #113014

เขียนข่าวได้สนุกและมันสะใจเ หมือนดูโฆษณามวยชิงแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวท

By: paween_a
Android
on 10 July 2009 - 10:27 #113027
paween_a's picture

สนุกดีครับ วิเคราะห์ได้น่าสนใจ

By: gab
Windows PhoneAndroidWindows
on 10 July 2009 - 10:34 #113033
gab's picture

สำหรับเรื่องเกม ผมมองว่าถ้าพี่กูเกิลลงไปตลาด "แคชชวลเกม" ละก็อาจจะต้องมาดูกันอีกที แม้ MS จะมีเกม 3D ไฮๆ ก็เถอะอาจจะถึงกับสะเทือนเหมือนกัน (อย่างกรณี PS3 PSP กับ Wii DS)
แต่ไอ้เรื่องความเคยชินของคนนี่ยอมรับเลยละ จะมีอะไรกินง่ายกว่า กระเพราะรวมโปรแกรมสำนักงาน ของ MS
แล้วไอ้เน็ทบ้านเรามันก็..(แต่ตอนที่ออกมาปีหน้ามันคงเร็วกว่านี้ละ)

By: xpress
iPhoneWindows PhoneAndroid
on 10 July 2009 - 10:47 #113040

ผมว่า Windows โดนแค่เฉี่ยวๆ แต่ linux นี่โดนเต็มๆ

By: ZetaSolid
Windows PhoneSymbianUbuntuWindows
on 10 July 2009 - 14:54 #113110 Reply to:113040
ZetaSolid's picture

+10

By: mr_tawan
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 10 July 2009 - 15:03 #113118 Reply to:113040
mr_tawan's picture

แต่มองอีกแง่นึง Chrome OS มันก็เป็น Linux นะครับ ??

ใช้ Kernel ของ Linux นี่ (หรือผมจำผิด)

ไม่แน่ว่าอาจจะเป็นการเข้ามาส่งเสริม Linux ก็ได้ (อนาคตเราก็คงได้ใช้ Picasa บน Linux แบบไม่ใช้ Wine ซะที :D)


  • 9tawan.net บล็อกส่วนตัวฮับ
By: javaboom
WriteriPhone
on 10 July 2009 - 15:22 #113121 Reply to:113118
javaboom's picture

ใช่ครับ เป็นการผสมระหว่าง Chrome กับ Linux

My Blog / hi5 / Facebook / Follow me


My Blog

By: -Rookies-
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 10 July 2009 - 10:53 #113046

ขอคอมเมนต์อาจารย์นิดนึงครับ อาจารย์ขยันเขียนเกินไปครับ อ่านไม่ทัน 555
ล้อเล่นครับ ผมเป็นแฟนอาจารย์ไปแล้ว แต่ตอนนี้ไม่ว่างอ่าน (อู้งานอยู่ มีเวลาไม่เยอะ) ลงชื่อไว้มาอ่านทีหลังนะครับ ขอบคุณครับ

เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!


เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!

By: putchonguth on 10 July 2009 - 23:13 #113178 Reply to:113046

เรื่องนี้ ต้องเร่งลงครับ กำลัง hot อดนอนไปเลย ปกติไม่ขยันหรอกครับ หุหุ ตอนนี้ต้องดู AF เชียร์น้องซานิ อิอิ

By: นายสยาม
iPhoneWindows PhoneAndroid
on 10 July 2009 - 12:05 #113071
นายสยาม's picture

อยากได้บน pc แต่ไม่เอาแบบลีนุกส์ที่เล่นเกมส์ได้ไม่เท่าไหร่ อยากให้มีเกมส์ซัพพอร์ตเยอะ ๆ ด้วย

By: CrazyHOrse
Symbian
on 10 July 2009 - 12:45 #113086

งานนี้ Microsoft คงต้องทำงานหนัก

เกมป่วนมาตรฐาน แจกขนมซ่อนยาพิษไปกับ Windows ที่ผูกขาดอยู่ อย่างที่เคยใช้มาตลอด ถูกกูฯดักทางเอาไว้ทางเอาไว้ก่อนแล้ว

โจทย์เก่า(Netscape)ภายใต้เงื่อนไขใหม่ครับ

By: film2u
Android
on 10 July 2009 - 12:54 #113089

: เยี่ยมมากสำหรับ บทความดีดี

@watcharate.w

By: Thaina
Windows
on 10 July 2009 - 13:18 #113092

อาจจะบอกว่า สนับสนุนการเล่นเกมบน OnLive

By: toandthen
WriterMEconomics
on 10 July 2009 - 13:27 #113093
toandthen's picture

งานนี้ผมว่าแอปเปิลคงเสียว ๆ คล้าย ๆ กับ Firefox

ออก Chrome มาไม่ได้กินตลาด IE เท่าไหร่ แต่ดันไปกินตลาด Firefox

Follow @toandthen


@TonsTweetings

By: alexsilizer on 10 July 2009 - 17:16 #113136 Reply to:113093

งั้น Chrome OS ก็ไปกินตลาด Ubuntu !?

By: ZetaSolid
Windows PhoneSymbianUbuntuWindows
on 10 July 2009 - 14:59 #113115
ZetaSolid's picture

ต่อไปถ้า google ไปลงทุนด้านยา ดาวเทียม ทหาร ละก็พวก genetic คงจะสนุกพิลิก

         "Google Corporation"
By: KaewGB
Contributor
on 10 July 2009 - 22:50 #113175 Reply to:113115
KaewGB's picture

ดูไม่ใช่แนว google แต่ถ้าทำจริงก็น่าสนุกดีค่ะ
+ ด้านทหารจะถูกมองว่าไม่ได้จะครองแค่โลกคอมปะคะ 55

By: orbitalz
ContributorWindows PhoneAndroidUbuntu
on 10 July 2009 - 23:33 #113184 Reply to:113115

เห็นคำว่า genetic และก็บังเอิญนึกไปถึงโลโก้ของ chrome

เฮ้ย!!! มันคล้ายโลโก้ของบริษัท umbrella เลย...

แถมลงทุน ด้านยา + ดาวเทียม + ทหาร ด้วยละก็...ใช่เลย

นึกแล้วขนลุก...(เตรียมตังไปซื้อ rocket launcher ดีก่า)

By: ZetaSolid
Windows PhoneSymbianUbuntuWindows
on 11 July 2009 - 16:24 #113249 Reply to:113184
ZetaSolid's picture

อย่าลืม shot gun กับชุดแต่งนะครับ

By: Not on 12 July 2009 - 20:58 #113397 Reply to:113115

ที่พูดมานั้น เค้าไปลงทุนไว้หมดแล้ว

ยา,genetic - มีการเก็บประวัติบุคคลและวิเคราห์ด้านสุขภาพ เตรียมเชื่อมโยงกับข้อมูลทางพันธุกรรมแล้ว
ดาวเทียม,ทหาร - ตอนนี้ก็มีพันธมิตรที่เป็นบริษัทดาวเทียมหลายที่ ทั้งที่ไปซื้อ keyhole มาทำ Earth และไปร่วมมือทหารสร้างดาวเทียม GeoEye ดาวเทียมพลเรือนที่ความละเอียดสูงที่สุด

By: ZetaSolid
Windows PhoneSymbianUbuntuWindows
on 13 July 2009 - 00:20 #113450 Reply to:113397
ZetaSolid's picture

+10 แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ตั้งบริษัทของตนเองครับ (บริษัทยา) ส่วนเรื่องดาวเทียมก็ร่วมมือกับญี่ปุ่น คงคุมไรมากไม่ได้ ส่วนเรื่องอาวุธนี่ ผมไม่ได้ยินข่าวครับ

By: eigx
ContributorAndroid
on 10 July 2009 - 21:55 #113162

สนุกมากครับ

By: dangsystem
iPhoneAndroidBlackberryWindows
on 10 July 2009 - 22:18 #113170
dangsystem's picture

ข่าว เขย่า วงการ ไอที เลยน๊ะนี่

แข่งกันไปเถอะครับ ผู้บริโภค ได้เปลี่ยบครับ ราคาจะได้ถูกลง ๆ

By: tk2008
AndroidUbuntuWindows
on 11 July 2009 - 03:53 #113206

ถือเป็นตัวเลือกอีกตัวนึง จะให้เป็นอันดับหนึ่งคงจะยากหน่อย อาจจะเป็นไปไม่ได้หรือถ้าเป็นไปได้ก็ไม่ใช่ในเร็ววันนี้ ดูอย่าง Chrome Browser ขณะนี้ยังไม่สามารถที่จะเป็นที่หนึ่งได้

By: aofzagroup on 11 July 2009 - 08:18 #113214

ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งอะครับ แต่คงจะมาแทนที่ window คงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร

By: akira on 11 July 2009 - 10:53 #113221

เขียนดีมากเลยครับ อ่านมันส์ดี

ส่วนตัวผมว่าในช่วง 2-3 ปีนี้ ทั้ง Windows และ Chrome OS คงอยู่คนละตลาดกัน ไม่ได้ทำให้ Microsoft มีผลกระทบอะไรมาก แต่หลังจากนั้นไม่แน่ : )

By: toppukuma on 11 July 2009 - 16:36 #113252

พอ microsoft ปล่อย bing มาอัดด้าน search engine (หัวใจกูเกิล)
กูเกิลก็ปล่อยหมัดออกมาสวนไปที่หัวใจของ microsooft ทันที

By: football11 on 12 July 2009 - 13:49 #113318

เป็นการวิเคราะห์ ที่มีเหตุผล และพอที่จะนึกภาพออกได้อย่างสบายเลย ขอบคุณมากครับที่เสนอขอความดีๆ

Phuket Hotels | Phuket Tour

By: mormmam
AndroidUbuntuIn Love
on 12 July 2009 - 14:27 #113331
mormmam's picture

อ่านแล้วสนุกดีครับ ได้สาระด้วย

สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่า มันจะทำให้สงครามยืดเยื้อขึ้น นั่นคือ มวลชน นี่ล่ะครับ
ความเคยชินต่อการใช้งานนั้นเป็นเรื่องที่พบเห็นได้เยอะขึ้น โดยเฉพาะในบ้านเรา
เปิดหน้าจอมา ถ้าไม่มีตัว e สีฟ้าๆ ก็งงไปแล้วครึ่งนึง
ไม่มี msn ก็งงเข้าไปอีก

ต่อมาเรื่องของ MS office ตรงนี้ ก็ยังต้องยกให้เค้าครับว่า มันทำงานได้ค่อนข้างดีกว่า OO (สำหรับผมนะ)
อีกทั้งใน google docsเอง มันยังมีปัญหากับการใช้งานข้อมูลขนาดใหญ่ๆ อย่าง spreadsheetเนี่ย ลองมี records ซัก 500 อัน 4-5 sheet มันก็เริ่มส่งผลให้ทำงานเพี้ยนๆ browser เริ่มกิน process, memory ไปหลายขุมแล้วครับ

ดังนั้นผมมองว่า สงครามครั้งนี้จะยืดเยื้อ และยาวนานที่สุดครับ

SEO and SEM Blog

By: putchonguth on 12 July 2009 - 21:25 #113403

ผมลองมานึกเพิ่มเติม มองว่าไมโครซอฟท์มองตัวเองเป็นเสมือนอาณาจักรใหญ่ครับ ตอนนี้การรบใช้วิธีตั้งรับ อย่างมั่นคงและไม่ทำอะไรหวือหวา ออกจะเป็นการรบที่น่าเบื่ออยู่บ้าง

หากมองเชิงธุรกิจแล้ว อะไรๆของกูเกิลที่ออกมามากมายนั้นไม่ได้ทำเงินจริงจังนะครับ
ธุรกิจหลักของกูเกิลยังคงเป็น การใช้ search เรียกคนมา จากนั้นทำเงินจากการโฆษณา
ดังนั้น ผมคิดว่า ไมโครซอฟต์จะไม่ตอบโต้อะไร แต่ทุ่มกำลังลงไปยัง search technology ซึ่งถ้าทำได้ดีเมื่อไหร่ ก็จะโค่นกูเกิลลงได้ทันที
เพราะตอนนี้ที่กูเกิลนำไปบ้าง ยังไม่เป็นตัวทำเงินครับ ไมโครซอฟต์สามารถกลับมาเก็บกวาดได้ทีหลังเมื่อกูเกิลรบแพ้ไปแล้ว
ดังนั้น ตอนนี้ไมโครซอฟต์ไม่ต้องสนใจกระแสต่างๆ เสมือนกับปล่อยกูเกิลให้ตีหัวเมืองชายแดนไปก่อน ตัวเองทนความเสียหายได้เพราะมีทรัพยากรมหาศาล ที่ทำคือ จัดทัพนับล้านในกำแพงเมืองหลวง พร้อมเมื่อไหร่ก็ยกออกไปเหยียบอาณาจักรฝ่ายตรงข้ามให้ราบทันที

ทางกูเกิลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจนะครับ พยายามกระจายธุรกิจออกไปเพื่อให้ลดความเสี่ยงกรณีธุรกิจ search มีปัญหาครับ
ตอนนี้ สถานะการณ์คล้ายกับว่า กูเกิลเป็นอาณาจักร ที่มีคลังเสบียงแห่งเดียวเลี้ยงกองทัพ
ทางไมโครซอฟท์ก็จัดทัพกะจะเข้าตีคลังนั้นให้แตกและเผด็จศึก แต่ทางอาณาจักรกูเกิลก็ขยายดินแดนไปแคว้นใกล้เคียง
เพื่อเพิ่มที่คลังเสบียงออกไปอีก เผื่อกรณีคลังหลักถูกบุกยึดสำเร็จ

ตอนนี้น่าสนใจ เพราะเป็นช่วงที่กองทัพไมโครซอฟท์บุกตีคลังเสบียงหลัก (search) มาหลายครั้ง แต่ต้องถอยกลับมาทุกที แต่กูเกิลเองก็ยังสร้างคลังอื่นๆไม่ขึ้นครับ ทุกอย่างก็ยังไม่ได้สร้างรายได้มากๆให้ ตอนนี้เราจะเห็นว่า

  1. ไมโครซอฟท์จะทุ่มพลบุกทำลายคลังเสบียงให้ได้ โดยทุ่มลงมาในเทคโนโลยี search เต็มที่ อีกอย่าง คือ การ search นั้นไม่มีเรื่อง customer loyalty และไม่มี barrier to swithcing ใครทำออกมาดีกว่าเจ้าเก่าก็จะตายเร็วมากๆ ครับ ถึงแม้ว่า Bing ยังไม่ส่งผลเต็มแรง แต่ไมโครซอฟต์ก็เข้ามาใกล้กูเกิลได้อีกระดับทางเทคโนโลยีนะครับ สงครามจะรุนแรงในแนวนี้

  2. กูเกิลเองจะตั้งรับเรื่อง search และขณะเดียวกันก็เร่งสร้างคลังเสบียงเพิ่มโดยการขยายธุรกิจ แต่การขยายธุรกิจออกมีจุดเสี่ยงนะครับ
    ไม่ว่า google chrome จะดังอย่างไร เอาจริงจำนวนผู้ใช้ก็ยังน้อยมากๆ ถึง gmail และ google earth จะดูไปได้ดีแต่ผมไม่แน่ใจว่ากูเกิลทำเงินจากธุรกิจนี้หรือไม่ อย่างไรกูเกิลคงผลักดันเรื่องการขยายฐานต่อไปอย่างต่อเนื่อง

  3. กูเกิลจะหนุน open source เต็มแรงและส่งเสบียงให้ เหมือนกับสมัยโบราณที่จะอาศัยส่งอาวุธให้เผ่าอื่น ช่วยบุกตีรบกวนอาณาจักรข้าศึกตัดกำลังโดยไมเปลืองแรงตัวเอง

อย่าลืมว่าอีกหลายอาณาจักรอย่างเช่น Oracle, IBM และ แอปเปิลก็ยังซุ่มอยู่ ใคร่เพลี่ยงพล้ำอาจโดนซ้ำอีกรอบก็ได้ครับ

By: Tonz on 13 July 2009 - 10:01 #113501

ขอบคุณสำหรับข่าว และ บทวิเคราะห์ ครับ

By: evo_toon
ContributorAndroid
on 13 July 2009 - 14:35 #113530

ชอบบทความนี้มากเลยครับ

By: wichan384@www.b... on 1 October 2009 - 17:05 #128606

so good