กูเกิลเปิดตัว Knowledge Graph ฟีเจอร์ใหม่สำหรับ Google Search ซึ่งจะช่วยให้เราหา "คำตอบ" จากเครื่องมือค้นหาได้ดีขึ้นกว่าปัจจุบันที่หาได้เฉพาะลิงก์เป็นหลัก
แนวคิดของ Knowledge Graph คือการสร้างกราฟ (ในเชิงคณิตศาสตร์ที่นักศึกษาด้านคอมพิวเตอร์คงรู้จักกันดี) แสดงความสัมพันธ์ของวัตถุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคน สถานที่ สิ่งของ ฯลฯ เพื่อให้ระบบการค้นหาของกูเกิลสามารถทำความเข้าใจได้ว่าผู้ใช้กำลังค้นหาอะไรอยู่
แหล่งที่มาของข้อมูลใน Knowledge Graph ของกูเกิลมีหลากหลาย ทั้งจากฐานข้อมูลเปิดเช่น Freebase, Wikipedia, CIA World Factbook รวมไปถึงการวิเคราะห์ข้อมูลจากคำค้นของผู้ใช้ด้วย กูเกิลบอกว่าปัจจุบันมีวัตถุในกราฟกว่า 500 ล้านชิ้น และข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุ-ความสัมพันธ์กว่า 3.5 พันล้านชุด
กูเกิลบอกว่า Knowledge Graph เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการค้นหาข้อมูลในยุคถัดไปเท่านั้น ในเบื้องต้นกูเกิลนำมันมาใช้ร่วมกับ Google Search ใน 3 ด้าน
อย่างแรกคือช่วยลดความกำกวม (ambiguity) ของคำค้นที่มีหลายความหมาย โดยกูเกิลจะนำข้อมูลจาก Knowledge Graph มาถามเราว่าเราต้องการค้นหาคำนั้นในความหมายใดกันแน่ จากภาพตัวอย่างเป็นการค้นคำว่า taj mahal ซึ่งคนส่วนใหญ่หมายถึงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอินเดีย แต่กูเกิลจะแสดงข้อมูลในความหมายอื่นๆ เช่น วงดนตรี หรือ คาสิโน ที่ใช้ชื่อเดียวกันด้วย
อย่างที่สอง กูเกิลจะนำข้อมูลของวัตถุนั้นๆ ใน Knowledge Graph มาแสดงในผลการค้นหาด้วย ช่วยให้บางกรณีเราสามารถได้คำตอบของสิ่งที่ต้องการ เพียงแค่อ่านข้อมูลสรุปของกูเกิลเท่านั้น ไม่ต้องเข้าไปยังหน้าเว็บอีกชั้นหนึ่ง
ตัวอย่างตามภาพเป็นข้อมูลสรุปของ Marie Curie นักวิทยาศาสตร์หญิงชาวโปแลนด์ ที่บอกข้อมูลทั่วไป เช่น วันเกิด สถานที่เกิด ครอบครัว การศึกษา ความสำเร็จ ฯลฯ
อย่างสุดท้าย กูเกิลยังนำเสนอข้อมูลที่น่าจะเกี่ยวข้องกับคำค้นนั้นๆ เช่น ผลงาน บุคคลที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ให้ด้วย
กูเกิลให้ข้อมูลว่าจากการทดสอบ การแสดงข้อมูลเสริมด้วย Knowledge Graph ของคำค้นว่า "Tom Cruise" จะช่วยลดขั้นตอนการค้นหาครั้งต่อไปของผู้ใช้ในเรื่องเดิมลงได้ถึง 37%
ตอนนี้ Knowledge Graph จะทยอยเปิดให้ผู้ใช้ในสหรัฐเริ่มทดสอบก่อน ระหว่างนี้เราก็ดูวิดีโอไปพลางๆ ละกันนะครับ
ที่มา - Google Official Blog
Comments
search engine พัฒนามาไกลมาก จากยุคเริ่มแรก
นี่คือสิ่งที่โลกต้องการในการค้นหาบนโลกอินเตอร์เน็ต
Blognone = 138.1 news/w เยอะมากๆ
wikipedia ตายแน่
คนละโมเดลกันครับ Search Engine ทำหน้าที่ Index เพื่อช่วยการค้นหาหรือเข้าถึงข้อมูลครับ ไม่ได้มีหน้าที่เป็น Storage เก็บข้อมูล หรือ เป็น blog ให้คนเข้ามาใส่และปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยครับ
จากรูปตัวอย่างที่ค้น Marie Curie ถ้าสังเกตใต้รูป Marie Curie จะมีแหล่งที่มาเป็น Wikipedia.org ครับ
คล้ายๆ กับ Wolfram Alpha เลย
เพราะฉะนั้น เด็กจะทำรายงานได้เร็วขึ้น 555
Coder | Designer | Thinker | Blogger
วิธีแก้ปัญหาก็คือ คุณครูก็ต้องตั้งโจทย์การบ้านที่ซับซ้อนขึ้น เป็นการพัฒนาทั้งระบบ :D
@ Virusfowl
I'm not a dev. not yet a user.
โฆษณา Adwords แหล่งรายได้ใหญ่ของ Google ที่ปกติอยู่ทางขวาหายไปไหนแล้ว ?
(อ้อ..กรณีค้นชื่อคน คงไม่คิดว่าจะมีใครมาซื้อ Keyword นี้)