ผมไปงานประชุมสัมมนามาเยอะพอสมควร แต่บอกตามตรงว่านี่เป็นครั้งแรกที่ไปงานความยาว 2 วัน นั่งฟังมาราธอน 17 เรื่อง และไม่มีอันไหนเลยที่คนพูดใช้ PowerPoint ประกอบการนำเสนอ!!!
งานนี้ชื่อว่า Free and Open Source Software Developers’ European Meeting หรือ FOSDEM งานประชุมด้านโอเพนซอร์สที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป (และอาจใหญ่ที่สุดในโลก อีกงานคือ OSCON ซึ่งจัดในสหรัฐ)
ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สนั้นได้รับความนิยมในยุโรปมากกว่าสหรัฐอเมริกามาก ถ้าใครติดตามข่าวส่วนแบ่งตลาดเว็บเบราว์เซอร์ คงจำได้ว่าส่วนแบ่งตลาดของ Firefox ในยุโรปเยอะกว่าสหรัฐหลายเท่า โครงการโอเพนซอร์สสำคัญๆ หลายตัวก็มีจุดกำเนิดมาจากยุโรป ไม่ว่าจะเป็นตัวลินุกซ์เองที่ต้นกำเนิดมาจากฟินแลนด์ โครงการอย่าง KDE, OpenOffice และ SUSE ที่มาจากเยอรมนี, Drupal จากเบลเยียม หรือ Mandriva ลินุกซ์ดิสทริบิวชันจากฝรั่งเศส เป็นต้น
วงการโอเพนซอร์สได้พูดคุยถึงเรื่องนี้กันมามาก แต่ละคนต่างคาดเดาเหตุผลไปต่างๆ นานา แต่อันที่ดูจะได้รับการยอมรับมากที่สุดคือบริษัทซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์มักเป็นบริษัทอเมริกัน ทำให้หลายประเทศในยุโรปกลัวการพึ่งพิงซอฟต์แวร์จากฝั่งอเมริกามากเกินไป จึงส่งเสริมให้เกิดการใช้งาน-การพัฒนาโอเพนซอร์สขนานใหญ่ในยุโรป
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือมีนักพัฒนาโอเพนซอร์สในยุโรปจำนวนมาก และกลุ่มคนเหล่านี้ได้รวมตัวกันจัดงาน FOSDEM ขึ้นเป็นประจำทุกปี (ตั้งแต่ปี 2005) โดยเป็นงานที่ใช้ระบบอาสาสมัคร เปิดให้ผู้ฟังเข้าได้ฟรี ไม่มีการลงทะเบียนล่วงหน้า อาศัยเงินทุนจากการบริจาค และมีมหาวิทยาลัย UBL ที่เมืองบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมรับเป็นเจ้าภาพ
สำหรับงาน FOSDEM ปี 2008 จัดขึ้นวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2008 ที่ประเทศเบลเยียมเช่นเดิม เนื่องจากว่าเป็นงานเปิดที่ไม่ต้องลงทะเบียน เลยประเมินจำนวนผู้ร่วมงานทั้งหมดได้ลำบาก (เกินพันแน่นอน แต่ในเอกสารกำหนดการสัมมนาใช้ตัวเลข 4000+) มีโครงการโอเพนซอร์สใหญ่ๆ มากันเกือบครบ ซอยแบ่งเป็นห้องย่อย 10 กว่าห้อง รวมทั้งหมดแล้วมีการนำเสนอ 200 กว่ารายการ ถ้าใครอยากดูกำหนดการฉบับเต็ม อ่านได้ที่นี่ครับ
โครงการโอเพนซอร์สที่มาร่วมในงาน โดยสังเขปมีดังนี้
(อันนี้ผมคัดมาเฉพาะโครงการที่มีห้องแยกของตัวเอง หรือได้พูดใน main track นอกจากนี้ยังมีโครงการเล็กๆ อีกมากมาย)
สำหรับงานนี้ผมได้รับสปอนเซอร์ค่าเดินทางและที่พักส่วนหนึ่งจาก Mozilla Europe ไปเปิดหูเปิดตา (สงสัยเงินจากกูเกิลเหลือเยอะ) ก็ขอขอบคุณ Mozilla Europe มา ณ ที่นี้ ต่อไปนี้เป็นรายงานจากห้องที่ได้เข้าไปฟังในวันแรกครับ
งานวันแรกเริ่ม 10 โมงตรง ผมมาสายไปนิดเพราะต้องรอรถบัสนาน บนรถเจอกับคนของ Red Hat ที่เป็นสต๊าฟในงานด้วย เค้าบอกว่าเสียดายที่ปีหลังๆ Richard Stallman ไม่มาพูดแล้ว
หน้างานมีแจกถุง FOSDEM สปอนเซอร์โดย O’Reilly ในถุงมีกำหนดการสัมมนาทั้งสองวัน และของที่ระลึกจากกูเกิล เป็นสมุดบันทึกพิมพ์ลายบุ๋มคำว่า Google กับสติ๊กเกอร์ Summer of Code ถ้าใครอยากบริจาคก็จ่ายได้หน้างาน ผมอยากได้เสื้อ FOSDEM แต่ต้องจ่ายตั้ง 25 ยูโร รู้สึกว่าแพงไปหน่อยเลยไม่เอาดีกว่า
ครึ่งเช้าของวันแรกเป็น Keynote speaker ซึ่งพูดในห้องบรรยายใหญ่ จำนวนคนก็ตามที่เห็น
สาธารณูปโภคครบครัน (Wi-Fi ที่นี่เข้มแข็งมาก ไม่มีหลุดๆ ติดๆ เหมือน FOWA)
โดย Robin Rowe และ Gabrielle Pantera (รายละเอียด track)
อันแรกสุดเป็นเรื่องลินุกซ์ในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด ใจความสำคัญคือวงการเอฟเฟคต์พิเศษนั้น ลินุกซ์ครองตลาดเบ็ดเสร็จ ด้วยเหตุผลทั้งด้านราคาและประสิทธิภาพ รวมถึงสตูดิโอส่วนมากย้ายจาก SGI IRIX มายังลินุกซ์ได้ง่าย
ภาพยนตร์ที่ผ่านตาเรามาไม่ว่าจะเป็น Titanic, Star Wars, Finding Nemo ล้วนทำด้วยลินุกซ์ทั้งนั้น บรรดาสตูดิโอต่างๆ เช่น Pixar, DreamWorks, ILM ก็ได้พัฒนาซอฟต์แวร์ของตัวเองบนลินุกซ์ขึ้นมา ทั้งในรูปซอฟต์แวร์เฉพาะทาง หรือปลั๊กอินสำหรับซอฟต์แวร์อย่าง Maya หรือ SoftImage
แต่ซอฟต์แวร์พวกนี้มีน้อยมากที่เป็นโอเพนซอร์ส ที่รู้จักกันดีมีตัวเดียวเท่านั้นคือ CinePaint ซึ่งเป็น GIMP เวอร์ชันดัดแปลงให้ทำงานกับภาพความละเอียดสูงๆ ได้
ลิงก์อ่านประกอบ
โดย Robert Watson (รายละเอียด track)
เรื่องที่สองเป็นการจัดการโครงการโอเพนซอร์สขนาดใหญ่ โดยใช้กรณีศึกษาของโครงการ FreeBSD
คนพูดเริ่มด้วยการตั้งคำถามว่าถ้าโครงการโอเพนซอร์สขนาดเล็กคือ one man project แล้วโครงการโอเพนซอร์สขนาดใหญ่คืออะไรกันแน่? ข้อสรุปของเขาคือ ชุมชนการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable community model) ไม่ว่ามีสมาชิกหน้าเก่าออกไป หน้าใหม่เข้ามา ตัวโครงการจะยังดำเนินต่อไปได้ ขนาดของตัวโค้ดไม่สำคัญ สำคัญที่ขนาดของชุมชนนักพัฒนาต่างหาก
สำหรับโครงการ FreeBSD นั้นมีนักพัฒนารวมเป็นหลักพัน และนักพัฒนาที่มีสิทธิ์ commit เข้า CVS จำนวน 340 คน มีองค์กรไม่แสวงผลกำไร FreeBSD Foundation ทำหน้าที่สนับสนุนงานด้านอื่นๆ เช่น เอกสาร กิจกรรม ซื้ออุปกรณ์ฮาร์ดแวร์
คนกลุ่มสำคัญคือนักพัฒนาที่มีสิทธิ์ commit ซึ่งจะพิจารณาจากความรู้ความสามารถ และการมีส่วนร่วม (contribution) ที่ให้กับโครงการ FreeBSD (ทำมากคนก็ยอมรับมาก ทำน้อยพูดอะไรก็ไม่มีใครสนใจ) โดยกระบวนการเลื่อนอันดับจะใช้ระบบ mentor คล้ายๆ กับเจได คือจับคู่ศิษย์อาจารย์ แล้วค่อยๆ พัฒนาความสามารถกันไป พอเริ่มเข้าท่าอาจารย์ก็เสนอเข้า core group ว่าคนนี้สมควรได้สิทธิ์ commit เสียทีนะ
สถิติของพวก committer มีอายุเฉลี่ย 32.5 ปี โดยแก่สุดเกิดปี 1948 (อายุ 60 แล้ว!!!) และเด็กสุดเกิดปี 1989 (19 ขวบ) การที่ FreeBSD เข้าร่วมโครงการ Summer of Code ทำให้มีนักพัฒนาเด็กๆ หน้าใหม่เข้ามามาก
ส่วนทีมงาน core group มี 9 คน มาจากการเลือกตั้งในหมู่ committer ด้วยกัน ทำหน้าที่บริหารงานทั่วไป กำหนดทิศทางโครงการ และที่สำคัญที่สุดคือแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างการพัฒนา ปัญหาที่แก้ได้ง่ายความเห็นแย้งด้านเทคนิค ส่วนอันที่แก้ยากคือปัญหาส่วนตัว เช่น ไม่ชอบหน้ากัน
ระบบ revision control system ของโครงการ FreeBSD นั้นใช้ CVS มาเป็นสิบปีแล้ว (เก็บประวัติ revision มาครบทั้งหมด) มีอัตราการ commit เฉลี่ยทุก 11.8 นาที อย่างไรก็ตามมีปัญหาข้อจำกัดทางซอฟต์แวร์ของ CVS เหมือนโครงการอื่นๆ ทั่วไป ทางโครงการได้พยายามนำระบบ Perforce มาใช้แทนใน branch ใหม่ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ แต่ยังไม่สามารถย้ายระบบทั้งหมดได้ เพราะค่าใช้จ่ายในการย้ายระบบมีสูงเกินไป (เช่น ทำให้โครงการต้องหยุดพัฒนาไปสักระยะหนึ่ง)
โดยสรุป FreeBSD เป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดการโครงการขนาดใหญ่โดยทุกคนทำงานด้วยกันผ่านอินเทอร์เน็ต ใช้ระบบ revision control เป็นสื่อกลางในการจัดการโค้ด สำหรับการจัดการคนใช้หลักการแบ่งระดับความสำคัญเป็นชั้นๆ ตามความรู้ความสามารถและความทุ่มเทให้กับโครงการ และมีทีมงานพิเศษทำหน้าที่อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโดยตรง โครงการโอเพนซอร์สขนาดใหญ่อื่นๆ เช่น Debian หรือเคอร์เนลของลินุกซ์ ต่างใช้รูปแบบการจัดการทำนองเดียวกัน เพียงแต่ต่างกันไปบ้างในรายละเอียด
โดย Stephan Bergmann (รายละเอียด track
พอเริ่มช่วงบ่ายก็ได้เวลาแยกห้อง ผมเริ่มด้วยการไปฟังทิศทางการพัฒนาของ OpenOffice.org 3.0 ซึ่งเป็นการนำเสนอในแง่นักพัฒนาเสียมาก (สำหรับฟีเจอร์ของ OOo 3.0 อ่านได้ในข่าวเก่า สัมภาษณ์คนของ Sun เกี่ยวกับ OOo 3)
โดยสรุปคือโค้ดของ OOo นั้นใหญ่โตมโหฬารมาก (ไม่เชื่อถามคุณ sugree ได้) คนพูดใช้คำว่า monolithic คือมาเป็นก้อน แยกส่วนลำบาก บางทีอยากแก้แค่ส่วนเดียวแต่ต้องมาไล่แกะทั้งหมด ทำให้การพัฒนาทำได้ยาก ต้องอาศัยประสบการณ์สูง และเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย ซึ่งมันส่งผลเสียต่อวัฎจักรของ OOo ในภาพรวม
ใน OOo 3 เค้าจึงพยายามแยกส่วนของโค้ดให้มากขึ้น โดยแยกเป็นระดับชั้นตั้งแต่ URE (ทูลคิตของ OOo), ตัวแอพพลิเคชัน, โค้ดในส่วนที่ขึ้นกับแพลตฟอร์ม, localisation
ลิงก์อ่านประกอบ
* ODF Toolkit/Efforts/Packaging Modularization
* ข่าวการพัฒนา OpenOffice อ่านได้จากบล็อก GullFOSS
โดย Dan Mills
หมายเหตุ: ผมเมลไปขอสไลด์ตัวจริงจากผู้พูด มีให้ดาวน์โหลดหลายฟอร์แมต ดาวน์โหลดได้ที่นี่
Mozilla Weave เป็นผลงานของ Mozilla Labs ซึ่งคอยคิดของเล่นใหม่ๆ เป็นการทดลองไอเดียและลองตลาดให้กับทาง Mozilla (ผลงานทั้งหมด) สำหรับ Weave นี้ อธิบายง่ายๆ มันคือการ sync ข้อมูลส่วนตัวในการท่องเว็บของเรา เช่น bookmark หรือ history ไปยังเซิร์ฟเวอร์ของ Mozilla
ประโยชน์ของการ sync ก็มีตั้งแต่การแบ็คอัพ, การใช้เบราว์เซอร์บนคอมพิวเตอร์หลายเครื่อง ไปจนถึงการแชร์ข้อมูลไปยังเพื่อนฝูง (เชื่อว่าทุกคนคงนึกสถานการณ์ก็อป URL ส่งให้เพื่อนทาง IM กันออก) ปัจจุบัน Weave ออกเวอร์ชัน 0.1 มาให้เล่นแล้วสักระยะแล้ว รวมถึงมี developent build ออกมาอีกเรื่อยๆ สนใจดูได้ที่ Weave Forum
สำหรับในงาน FOSDEM ทั้งที คนของ Mozilla จะมาพูดเฉพาะฟีเจอร์ของ Weave อย่างเดียวก็ดูไม่คุ้มค่าเดินทาง (ผมได้คุยกับคนพูดตอนเย็น บินมาจาก Mountain View, California เลย) การสนทนาจึงลงลึกใน 3 ประเด็นย่อยดังนี้
โดย Simon Paquet และ Philipp Kewisch (รายละเอียด track)
โครงการ Mozilla Calendar ซึ่งแยกเป็น 2 โครงการย่อยคือ Sunbird (โปรแกรมปฏิทินแยก)และ Lightning (extension ปฏิทินสำหรับ Thunderbird) มาแนะนำความสามารถของเวอร์ชัน 0.8 ที่กำลังจะออกเร็วๆ นี้ ว่ามี taskpane และปรับปรุงด้าน UI ใหม่หลายส่วน รวมถึงเขียนโค้ดจัดการ timezone ใหม่หมดด้วย
สำหรับเวอร์ชัน 0.9 และเวอร์ชันถัดๆ ไปจะเน้นการทำงานออฟไลน์ การ synchronization และที่สำคัญคือรวมกับ Thunderbird 3.0 ตามแผนการของ Mozilla Messaging ตามข่าวเก่า
นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงการทำงานร่วมกับเซิร์ฟเวอร์หรือบริการปฏิทินออนไลน์ต่างๆ ในปัจจุบันสนับสนุน iCal, CalDAV, Java Calendar Server (WCAP) และ Google Calendar แล้ว อนาคตจะมองไปถึง Exchange, Lotus Notes/Domino และมีพูดถึง Microformat (hCalendar) ด้วย
ลิงก์อ่านประกอบ
โดย Chris Hofmann จาก Mozilla Foundation
หมายเหตุ: ผมเมลไปขอสไลด์ประกอบการบรรยายตัวจริงจากผู้พูด มีเวอร์ชันออนไลน์ที่นี่
หัวข้อนี้คนฟังล้นห้อง เพราะเป็นประเด็นร้อนที่ข่าวเพิ่งออกมาไม่ถึงสัปดาห์ เป็นการพูดถึงอนาคตของ Thunderbird ภายใต้ Mozilla Messaging นั่นเอง
คนพูดมาเล่าเป้าหมายเบื้องต้นของ Mozilla Messaging ว่าเน้นความสำคัญของการสื่อสาร และทิศทางของ Thunderbird 3.0 ซึ่งฟีเจอร์สำคัญคือรวมเอา Lightning เข้ามา, ปรับปรุงการค้นหา ส่วนในอนาคตระยะไกลกว่านั้นจะมองถึงระบบสื่อสารแบบอื่นๆ เช่น IM ด้วย ปัจจุบัน Mozilla Messaging มีพนักงานเต็มเวลา 5 คน และต้องเลือกทิศทางในการพัฒนาอย่างระมัดระวัง เพื่อใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า
แต่ส่วนสำคัญอยู่ที่ช่วงตอบคำถามครับ ถ้าใครจำกันได้ Thunderbird ได้รับการสนับสนุนด้านทรัพยากรจาก Mozilla Foundation น้อยกว่า Firefox เยอะมาก (ข่าวเก่า) จนต้องปรับกระบวนท่ากันใหม่จนออกมาเป็นองค์กรแยกอย่าง Mozilla Messaging ในห้องเลยมีคนยิงคำถามตรงเป้าว่า แล้ว Mozilla Messaging จะมีปัญหาเรื่องการเงินเหมือนเดิมหรือเปล่า? ทำไมดูจ้างคนน้อยมาก ในขณะที่ปัญหาของ Thunderbird และ Calendar มาจากการขาดคน
คนของ Mozilla คนหนึ่งที่อยู่ในห้องออกตัวว่าในฐานะที่เขามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เขายืนยันได้ว่า Mozilla Messaging ไม่มีปัญหาเรื่องเงินแน่นอน แต่ทางองค์กรไม่อยากเติบโตเร็วเกินไป และจำนวนพนักงานเต็มเวลาไม่ใช่เรื่องสำคัญ อย่าง Firefox เองก็มีพนักงานเต็มเวลาแค่ 10 คนเท่านั้น ทรัพยากรบุคคลที่เหลือใช้ของ Mozilla ซึ่งเป็นส่วนกลาง แต่ยังประสบความสำเร็จได้ ทาง Mozilla Messaging จะพยายามเติบโตโดยรักษาอัตราส่วนพนักงานกับขนาดของโครงการแบบเดียวกัน
คำถามอื่นๆ เป็นเรื่องเทคนิค เช่น มีคนเสนอให้เอาไลบรารีของ Pidgin (libpurple) มาใช้งาน และมีคนบอกว่าโค้ดส่วน IMAP ของ Thunderbird นั้นเก่ามาก และใช้ฟีเจอร์ของ IMAP ไม่เต็มที่ เมื่อเทียบกับโปรแกรมอีเมลอื่นๆ อย่าง Eudora
โดย Holger Schröder (รายละเอียด track)
ผมย้ายมาฟังห้อง KDE บ้าง เป็นเรื่องการเอา KDE (เฉพาะส่วนของแอพพลิเคชัน ไม่ใช่ตัว Desktop) มารันบนวินโดวส์
เป้าหมายของโครงการคือเปิดโอกาสให้ผู้ใช้วินโดวส์ลองใช้โปรแกรมฝั่ง KDE เมื่อรู้สึกว่าโปรแกรมมันเจ๋งจะได้ตามไปใช้ KDE ตัวเต็มต่อไป
สถานะปัจจุบันคือสามารถรันโปรแกรมของ KDE 4 ในวินโดวส์ได้แล้ว เพียงแต่บางโปรแกรมยังมีบั๊กบ้าง และโปรแกรมขนาดใหญ่หน่อยบางตัวอย่าง KDevelop ยังรันไม่ได้ หรือ Amarok รันขึ้นแต่เสียงไม่ออก เพราะว่าพอร์ต Phonon (เสียง) แล้วแต่ยังไม่พอร์ต Solid (ฮาร์ดแวร์) เป็นต้น
โปรแกรมแรกๆ ที่รันได้คือพวกเกมอย่าง Kmines, Kreversed เพราะเกี่ยวข้องกับไลบรารีอื่นๆ น้อย และแทบไม่ต้องจัดการกับข้อมูลเลย
สำหรับคอมไพเลอร์ โครงการ KDE 4 สนับสนุนทั้ง Visual Studio และ mingw
ลิงก์อ่านประกอบ
โดย Stephen Lau (รายละเอียด track)
สำหรับเรื่องสุดท้ายของวันแรก ผมย้ายกลับมาฟังที่ห้อง Mozilla พูดถึง Songbird โปรแกรมจัดการเพลงที่ใช้เอนจินของ VLC (บนลินุกซ์ใช้ gstreamer) และเขียนส่วนติดต่อผู้ใช้ด้วย XUL
ถ้าใครลองเปิดเว็บของ Songbird จะเห็นว่าหน้าตามันลอก iTunes เกือบเหมือนเปี๊ยบ (แค่เปลี่ยนเป็นสีดำ) ทางทีมงานบอกว่า iTunes เป็นโปรแกรมที่ดีในแง่การใช้งาน แต่ว่าในส่วนของเพลงนั้น แอปเปิลกลับล็อกผู้ใช้ให้อยู่แต่ในโลกของ iTunes Store เท่านั้น
คนพูดเปรียบเทียบสมัยที่บริการออนไลน์อย่าง AOL หรือ CompuServe ไม่สามารถส่งข้อมูลข้ามกันได้ ว่าเหมือนกับโลกของ iTunes Store ส่วน Songbird อยากจะเป็นอย่างอินเทอร์เน็ตที่กว้างใหญ่ไพศาล และเปิดเสรีสำหรับผู้ให้บริการทุกเจ้า
ปัจจุบัน Songbird ออกถึงเวอร์ชัน 0.4 ซึ่งยังเน้นไปที่กลุ่มนักพัฒนามากกว่าผู้ใช้ทั่วไป ทาง Songbird พยายามสร้างแพลตฟอร์มที่เชื่อมระหว่างตัวโปรแกรมฟังเพลงกับอินเทอร์เน็ตทำได้ง่ายขึ้น เช่น ระบบ web playlist เป็นต้น (รายละเอียดของแพลตฟอร์ม Songbird และ API ต่างๆ ผมคงไม่ลงลึก ถ้าสนใจแนะนำให้ดูจากสไลด์อันนี้ Songbird Development 101)
ส่วนสไลด์ฉบับเต็มสำหรับงาน FOSDEM คนพูดคือ Stephen Lau อัพโหลดไว้ที่นี่
หมายเหตุ: ผมรีวิว Songbird 0.4 ไว้นิดหน่อย (แต่เป็นภาษาอังกฤษ)
วันแรกของ FOSDEM ก็จบแค่นี้ ปิดท้ายด้วยคลิปบรรยากาศในงานจากสถานีโทรทัศน์ในเบลเยียมที่ไปทำข่าว
Comments
ห้องใหญ่มากกกกก
เยี่ยมครับ เปิดหูเปิดตาดี
อยากไปมั่ง++
ไม่ใช้ power point แล้วเค้าใช้อันใดกันหนอ
Keynote, OpenOffice, PDF (เปิดด้วย Evince) แล้วอีกอันที่ใช้เยอะคือ S5 ครับ
ถ้าในวงวิชาการ (มีคณิตศาสตร์เยอะ ที่ไม่ใช่ Geek) เดี๋ยวนี้เขาใช้ Beamer ในการสร้าง Screen Presentation
และแสดงผลด้วย Adobe Reader เป็นหลักครับ เนื่องด้วยความต้องการในงานวิชาการเราต้องการแค่ การแสดง
ตัวหนังสือที่อ่านง่าย แสดงสมการคณิตศาสตร์ที่ไม่ผิดเพี้ยน มีภาพเคลื่อนไหว ใส่วิดีโอได้ แสดงเลขหน้า
และที่สำคัญที่สุดคือสามารถสร้างใหม่ ดัดแปลงแก้ไขได้รวดเร็ว และคุณภาพสูง
อันนี้ทุก OS นะครับ ไม่แบ่งแยก Beamer + Abobe Reader (เดี๋ยวนี้ยังเห็น powerdot, HA-prosper, foiltex อยู่บ้าง)
อยากใช้ลองตามลิงค์ไป
ฺำBeamer
ผมรู้นะครับว่าถามถึง FOSDEM 2008 แต่อยากตอบทางเลือกอื่น ๆ ที่คนอื่นเขาใช้กันด้วย
เห้อเศร้า จัดช่วงสอบ
PoomK
โอ้่ ตรงช่วง Thunderbird แอบเห็นว่าใช้ Mac ด้วย
ไม่ทราบว่าได้แอบสังเกตเครื่องของคนที่ไปในงานนี้ว่าส่วนใหญ่ใช้ OS อะไรตัวไหนกันบ้างมั้ยครับ
50% ของโน้ตบุ๊คในงานเป็น MacBook Pro
ส่วนที่เหลือมันดูยาก เพราะว่า GNOME กับ KDE (แน่นอนว่า KDE4) ทุกดิสโทรหน้าตามันเหมือนๆ กัน แต่ที่เห็นจะๆ คือมีคนรัน FreeBSD 1 คน และ Foresight Linux อีก 1 คน
เห็น Windows 3 เครื่อง อันแรกเป็น Vista อีกสองเครื่องเข้าใจว่าเป็น XP ที่ใช้ธีม 2000
นอกจากนี้ยังมี OLPC XO 4 เครื่องแต่เข้าใจว่าเป็นทีมเดียวกัน แล้วก็ Nokia Internet Tablet อีก 5-6 เครื่องครับ
น่าสนใจดีครับ .. ว่าแต่เราจะรู้ได้ยังไงว่ามีงานสัมนาอันนี้ๆที่ไหนบ้าง มีเว็บที่เป็นศูนย์กลางบอกรึเปล่าเอ่ย ?
---
Khajochi Blog : It's not a Bug ... It's a Feature
แฟนพันธุ์แท้สตีฟจ็อบส์ | MacThai.com
ตั้งแต่มาใช้แมค ก้เปลี่ยนมาเป็น keynote แล้ว กำลังดูว่ามี freeware ตัวอื่นไหมที่ดี เท่าๆ กัน
molecularck โม-เล-กุล-ซี-เค
http://www.digimolek.com
อีกเหตุผลนึงที่ผมใช้ Mac OS X ก็เพราะ Keynote นี่แหละครับ
ขอบคุณครับ!
Patrickz's blog | blog @ G2K | blog @ narisa | AsteriskThailand
Patrickz's blog|
linkedin
ฝากแก้คำผิดด้วยครับ Meating -> Meeting
เฮือก ประโยคนี้ผมก็อปมาจากที่ไหนสักแห่ง แสดงว่าผิดมาตั้งแต่ต้นทางอีกแล้ว
"เว็บ FOSDEM สัมภาษณ์ Robin Rowe MovieEditor เว็บไซต์ของคนพูดทั้งสองคน ซึ่ง" คืออะไรอ่ะครับ ค้างไว้แค่นี้
เอ ผมก็จำไม่ได้แล้วเหมือนกันว่าจะเขียนอะไรครับ ตอนนั้น เอาเป็นว่าไม่มีละกัน แหะๆ
ได้อะไรเยอะเลย
ขอบคุณมากครับที่เอามาเล่าให้ฟัง (อ่าน)
ได้ข่าวว่า mk เบี้ยวไม่ยอมเข้าไปทำข่าวที่ห้อง Debian...
แต่โชคดีที่ยังมี meeting archive ของ Debian ให้ดู.. ยังไม่มีเวลาตามดูเหมือนกันครับ รอว่างก่อน
ซื้อเสื้อ Debian มาฝากหนึ่งตัว หวังว่าคงให้อภัย
ขอบคุณมากครับที่เอามาให้อ่าน
... อยากไปเหมือนกันครับ