Tags:
Node Thumbnail

หนึ่งในเทคโนโลยีที่กล่าวถึงมากในปีนี้คือ การประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ หรือ Cloud Computing หากแต่เทคโนโลยีนี้อาจทำให้หลายๆ คนสงสัยและถกเถียงถึงบทบาทที่แท้จริงของมัน Joe Weinman จาก AT&T Business Solutions ได้สรุปคุณสมบัติ 6 ข้อที่เขาคิดว่าทุกคนน่าจะเห็นร่วมกันจากมุมมองธุรกิจ เพื่อให้เป็นประเด็นทางความคิดกันต่อไป ดังนี้

1. ประโยชน์ของกลุ่มเมฆคือการลดค่าใช้จ่าย

โครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มเมฆจะสร้างประโยชน์ให้กับผู้ใช้ได้ หากความต้องการใช้งานหรืออุปสงค์ (demand) มีมากพอที่จะทำให้เกิดต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลง หรือในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่าการประหยัดจากการขยายการผลิต หรือ Economies of Scale นั่นเอง

จะเห็นได้ชัดว่าธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็กอาจใช้ประโยชน์ข้อนี้ผ่านผู้ให้บริการกลุ่มเมฆได้ ในขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่อาจเห็นประโยชน์ได้น้อยกว่า เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนในการสร้างระบบที่มีขนาดใหญ่จะใกล้เคียงกับระบบของผู้ให้บริการกลุ่มเมฆ แต่ในขณะเดียวกับหากผู้ให้บริการกลุ่มเมฆสามารถจัดสรรทรัพยากรให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ โดยใช้หลักการควบรวมอุปสงค์ที่ไม่มีความสัมพันธ์กัน (uncorrelated demand) เช่นจัดสรรให้กับลูกค้า 2 รายที่ต้องการใช้ระบบในช่วงเวลาที่ต่างกันได้ การลดต้นทุนต่อหน่วยสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ก็อาจเกิดขึ้นได้

2. ระบบสารสนเทศทุกอย่างจะถูกย้ายไปอยู่บนกลุ่มเมฆ

Nick Carr ได้เขียนไว้ในหนังสือ The Big Switch ว่า ในอนาคตการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆจะเดินตามรอยของระบบสาธารณูปโภค เช่น ระบบไฟฟ้า จากเดิมที่บริษัทและโรงงานต่างๆ ต้องใช้เครื่องปั่นไฟเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เอง ปัจจุบันโรงงานผลิตไฟฟ้าสามารถทำได้ด้วยต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำกว่า อันเนื่องมาจากการผลิตในปริมาณมาก ประกอบกับความสามารถของระบบส่งกระแสไฟฟ้าไปยังที่ต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ความจำเป็นที่บริษัทหรือโรงงานต่างๆ ต้องผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองนั้นลดลง

ในระบบสารสนเทศต่างๆ นั่นหมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ลดลง ทั้งในส่วนของสัญญาอนุญาต (license) ที่อาจไม่จำเป็นต้องจ่ายล่วงหน้า และในส่วนของบุคลากรที่ต้องดูแลระบบ ทั้งนี้ในความเป็นจริงแล้ว ความสำเร็จของเทคโนโลยีนี้ก็น่าจะขึ้นอยู่กับความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และขณะเดียวกันบริษัทและองค์กรต่างๆ ก็ต้องหาจุดสมดุลระหว่างการเลือกใช้ระบบสารสนเทศภายในกับการใช้ผ่านผู้ให้บริการกลุ่มเมฆ ซึ่งจุดนี้จะถูกกำหนดด้วยราคาของผู้ให้บริการ (utility price premium) และอัตราส่วนของความต้องการ ณ จุดสูงสุด เทียบกับความต้องการโดยเฉลี่ย (peak-to-average ratio of demand)

3. กลุ่มเมฆจะเปลี่ยน “ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน” เป็น “ค่าใช้จ่ายในที่จัดการและควบคุมได้”

ระบบสารสนเทศในบริษัทปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการลงทุนที่นับว่าเป็น “ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน” (CAPEX: CAPital EXpenditure) เพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวรในการดำเนินงาน ในขณะที่การใช้บริการกลุ่มเมฆผ่านผู้ให้บริการนั้น จะแปลงค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้เป็น “ค่าใช้จ่ายที่จัดการและควบคุมได้” (OPEX: OPerating EXpenditure) เพราะนับว่าเป็นค่าใช้บริการ ไม่ได้มีการลงทุนในสินทรัพย์ใดๆ

คำศัพท์สองตัวนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ซีเอฟโอของบริษัทจะต้องพิจารณาเมื่อมีการลงทุนใดๆ ก็ตาม ซึ่งในความหมายโดยทั่วไปนั้น OPEX จะถือว่ามีความคล่องตัวมากกว่า (เงินไม่จมและมีการไหลเวียนของเงิน) อย่างไรก็ดีไม่ได้หมายความว่า CAPEX จะแย่ และ OPEX เป็นสิ่งที่ดีกว่าเสมอไป แต่จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของบริษัท ณ ขณะนั้น

4. กลุ่มเมฆสาธารณะมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากลุ่มเมฆส่วนตัว

ไม่ว่าจะเป็นแบบสาธารณะ (public cloud) หรือแบบส่วนตัว (private cloud) ระบบทั้งสองก็มีความสามารถไม่แตกต่างกัน ทั้งในด้านการจัดสรรทรัพยากรการประมวลผล, Virtualization, หรือการปรับแต่งระบบ เนื่องจากถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานเดียวกัน ยกเว้นอยู่เรื่องเดียวคือ หากเลือกสร้างระบบกลุ่มเมฆแบบส่วนตัวเพื่อใช้งาน ก็ต้องใช้เงินลงทุน นั่นหมายถึงสร้างข้อผูกมัดให้กับตัวบริษัทเองในระยะยาว

การเลือกใช้แบบใดแบบหนึ่งก็คล้ายกับการเลือกใช้ ระบบไฟฟ้า (ผลิตเองหรือซื้อจากการไฟฟ้าฯ), การเช่ารถ (ซื้อรถบริษัทหรือใช้รถเช่า), หรือเช่าโรงแรม (สร้างโรงแรมส่วนตัว หรือไปเช่าโรงแรมเมื่อจำเป็น) ทั้งนี้การตัดสินใจเรื่องเหล่านี้ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความจำเป็นและความคุ้มค่าในการลงทุนนั่นเอง

5. กลุ่มเมฆจะได้ประโยชน์จาก Virtualization

เทคโนโลยี Virtualization จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวของบริการกลุ่มเมฆ และในขณะเดียวกันก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย แต่อย่างไรก็ดี Virtualization ด้วยตัวของมันเองก็ช่วยเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว โดยที่ไม่จำเป็นต้องสร้างบนพื้นฐานของกลุ่มเมฆ

6. กลุ่มเมฆช่วยลดโลกร้อน

การนำทรัพยากรการประมวลผลมาแบ่งใช้กับระบบสารสนเทศต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถลดปริมาณการผลิตอุปกรณ์, การใช้พลังงานไฟฟ้า, และความร้อนที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

ที่มา – GigaOM

Get latest news from Blognone

Comments

By: mk
FounderAndroid
on 15 April 2009 - 12:08 #96418
mk's picture

ผมเพิ่งรู้ว่ามี AT&T Business Solutions ด้วยแฮะ

By: javaboom
WriteriPhone
on 15 April 2009 - 13:08 #96427
javaboom's picture

AT&T สรุปได้ครอบคลุมดีครับ

My Blog / hi5 / Facebook / Follow me


My Blog

By: mk
FounderAndroid
on 15 April 2009 - 19:15 #96493
mk's picture

ผมคิดว่าการเปรียบเทียบ cloud computing กับ electric grid นั้นยังไม่ครอบคลุมมากนัก

ความเหมือนก็คือ มันเป็นการ "ขอใช้" บริการจากแหล่งอื่นๆ (ด้วยประโยชน์จาก economy of scale) เหมือนกัน

แต่ความต่างก็คือ สิ่งที่บริการเหล่านั้นจ่ายให้กับผู้ใช้

electric grid นั้นจ่ายพลังงานไฟฟ้า (เช่นเดียวกับ น้ำประปา, แก๊สหุงต้ม ฯลฯ) ซึ่งเป็น commodity คือเอาไฟจากที่ไหนมาให้ใช้ก็เหมือนกัน

cloud computing โดยเฉพาะ storage cloud นั้นมี data (ซึ่งแต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ใช้แทนกันไม่ได้) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ถ้าเราสนใจเฉพาะ processing cloud ยังไงเสียก็ต้องส่ง data ไปประมวลผลอยู่ดี (ถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่ persistence data ก็ตาม)

ดังนั้น cloud computing เลยจะมีปัจจัยเรื่อง data privacy, data locked-in มาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งก็ทำให้ cloud computing มีความซับซ้อนมากขึ้น และมีผลต่อการยอมรับในการนำมาใช้งานเช่นกัน

By: javaboom
WriteriPhone
on 16 April 2009 - 09:28 #96648 Reply to:96493
javaboom's picture

เห็นด้วยครับ

นอกเรื่องครับ ... ผมเพิ่งไปงาน GridAsia 2009 มาครับ ชื่องานคือ GridAsia แต่เนื้อหาดันเป็น Cloud Computing ซะงั้น ผมไปงานนี้หลายครั้งแล้ว ปกติหัวข้อหลักจะเป็นเรื่อง Grid Computing น่ะครับ ในปีนี้ ผมเห็นว่า ไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจที่สนใจเรื่อง Cloud เลย แต่ภาคการศึกษาก็เริ่มลุยงานวิจัยและพัฒนาไปพอควร เหมือน transition มันเดินไปข้างหน้าทีละนิดครับ

เป็นเรื่องน่าสนใจและผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่ว่า เขามีการสรุปว่า Cloud Computing ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ ไม่ใช่งานวิจัยใหม่ หากแต่เป็น Business model ใหม่ และยังสร้างความตื่นตาตื่นใจในวงการไอทีครับ และสรุปว่าต่อไป ซึ่งไม่ใช่เร็วๆนี้ Cloud มันคงเป็นเรื่องสามัญธรรมดาเหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วๆไป

My Blog / hi5 / Facebook / Follow me


My Blog

By: at on 16 April 2009 - 23:08 #96829 Reply to:96493

จริงครับ ตลาดของ processing power กับ data storage นั้นทำได้ยาก เพราะทำยังไงมันก็ไม่เป็น commodity เหมือนพวกน้ำมัน ข้าวสาร น้ำตาล ฯลฯ ที่คนซื้อคนขายรู้แน่ๆ ว่าของที่ซื้อขายกันนั้นคืออะไร มีมาตรฐานชัดเจน ในขณะที่สองอันนี้เป็นลักษณะ specialized asset ซึ่งทำให้เกิดกลไกที่ซับซ้อนกว่า และมี hidden cost ครับ

ใครที่สนใจเรื่องพวกนี้ แนะนำลองดูทฤษฎีที่เีรียกว่า Transaction Cost Economics นะครับ น่าสนใจทีเดียว