Tags:
Node Thumbnail

คราวก่อนผมเปิดให้ฝากคำถามถึง กทช. ไป ปรากฎว่าพอไปร่วมงานแล้วมันไม่ใช่อย่างที่คาดไว้เท่าไรนัก (แต่ก็ได้คำตอบมาฝากกันบ้าง) เลยมารายงานประเด็นแบบสรุปๆ แทนละกันครับ

ปูพื้น

เรื่องที่เรากำลังคุยกันนี้มีชื่อเรียกว่า Broadband Wireless Access (ตัวย่อ BWA) อธิบายง่ายๆ มันคือ "อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ถึงบ้านแบบไม่ต้องมีสาย" ครับ มันจะถูกนำมาใช้แทน (หรือเติมเต็ม) ADSL นั่นเอง

เทคโนโลยีนี้มีอีกหลายชื่อเรียก เช่น Wireless local loop หรือ Fixed Wireless Access (FWA) เป็นต้น เทคโนโลยีตระกูล BWA กับเทคโนโลยีตระกูลมือถือ (mobile) มีความเหมือนกันตรงที่มันใช้คลื่นวิทยุไร้สาย แต่ความต่างอยู่ที่ BWA มักใช้กับอุปกรณ์ที่ไม่ต้องเคลื่อนที่ (เช่น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรืออุปกรณ์ขนาดใหญ่อื่นๆ) ในขณะที่มือถือก็อย่างที่เราเข้าใจกันดีว่าใช้กับอุปกรณ์ที่พกพาได้

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีสองตัวนี้เริ่มหลอมรวมกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในเชิงการใช้งานก็ไม่แปลกอะไรที่เราใช้เทคโนโลยีกลุ่มมือถืออย่าง 3G dongle มาเสียบกับอุปกรณ์พกพา เช่น โน้ตบุ๊ก ซึ่งจะเป็นประเด็นที่พูดถึงในภายหลัง

แต่ในมุมมองของการออกใบอนุญาต ใบอนุญาตในกลุ่มมือถือกับ BWA ถือเป็นคนละส่วนกัน และบทความตอนนี้เราจะสนใจเฉพาะ BWA เท่านั้น

เทคโนโลยี BWA แรกเริ่มนั้นคือ WiMAX หรือมาตรฐาน IEEE 802.16 แต่ภายหลังก็มีเทคโนโลยีคู่แข่งอื่นๆ ที่จัดเข้าเป็น BWA ได้อีกเช่นกัน เช่น TD-LTE ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากค่าย LTE

ทาง กทช. ประกาศชัดเจนว่าแผนการออกใบอนุญาต BWA ครั้งนี้จะไม่ระบุชื่อของเทคโนโลยีว่าเป็น WiMAX หรือ TD-LTE (ผู้ประมูลได้เป็นคนเลือกเองตามสะดวก) ดังนั้นในบทความนี้ผมจะใช้ BWA ซึ่งเป็นชื่อกลางๆ ไปตลอดนะครับ

การประชุมที่ผมไปเข้าร่วมคือการรับฟังความเห็นของ กทช. ในเรื่อง BWA จัดขึ้นที่สำนักงาน กทช. เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน มีตัวแทนภาคเอกชนเข้าร่วมครบทุกโอเปอเรเตอร์ รวมถึงผู้แทนจากส่วนราชการอื่นๆ อย่างกระทรวงไอซีที และฝ่ายความมั่นคงอีกจำนวนหนึ่ง มีนักข่าวไปเยอะพอสมควร สามารถอ่านรายงานข่าวได้จากหนังสือพิมพ์และสื่อทั่วไปประกอบได้ครับ

งานรับฟังความเห็น กทช.

No Description

งานนี้เรียกได้ว่า "รับฟังความเห็น" อย่างแท้จริง เพราะทีมของ กทช. นั้นมีแผนการในใจคร่าวๆ อยู่แล้ว และจัดงานนี้ขึ้นเพื่อ "รับฟังความเห็น" ที่มีต่อแผนอันนี้ ดังนั้นรูปแบบของงานจะไม่ใช่การนำผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคม มาเสนอว่าอยากได้อะไรบ้าง แต่จะเป็น กทช. เสนอประเด็นที่เตรียมมา แล้วให้ผู้ร่วมประชุมแสดงความเห็นไปทีละประเด็น

ฟังดูแปลกๆ ไปนิด (ผมก็เพิ่งรู้ตอนงานเริ่มขึ้นว่าใช้รูปแบบอย่างนี้) และอาจมองได้ว่า กทช. มุบมิบอะไรมาหรือเปล่า แต่เท่าที่ประเมินจากการนำเสนอและการตอบคำถามของ กทช. ผมพบว่าเตรียมตัวทำการบ้านมาดี ข้อเสนอผ่านการถกเถียงกันภายในทีม กทช. มาก่อนแล้ว จึงค่อยนำเสนอต่อสาธารณะ

แต่ข้อเสนอของ กทช. จะสมเหตุสมผล เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคและประเทศแค่ไหน อันนี้เป็นประเด็นที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์กันต่อไป ซึ่งขั้นตอนถัดไปคือ กทช. คงจะประชุมรับฟังความเห็นแบบเฉพาะกลุ่มอีกสองสามครั้ง จากนั้นจะเปิดรับฟังความเห็นต่อสาธารณะผ่านหน้าเว็บไซต์ เช่นเดียวกับ กรณีของ 3G ที่นำหน้า BWA ไปก่อนแล้ว ดังนั้นผู้บริโภคอย่างเราๆ จึงควรจะต้องตรวจสอบและส่งความเห็นไปยัง กทช. เพื่อประโยชน์ของเราทุกคนครับ

No Description

หัวหน้าทีมผู้ดูแลการออกใบอนุญาต 3G และ BWA ของ กทช. คือ พ.อ. ดร. นที ศุกลรัตน์ หนึ่งในกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (นั่งหัวโต๊ะในภาพ)

ที่น่าดีใจคือ พ.อ. นที ใช้ Twitter ด้วย (แถมขยันตอบคำถามมาก) ทุกคำถามและความเห็นสามารถส่งไปที่ @DrNatee39G อีกทางหนึ่งครับ

แผนการของ กทช.

กทช. มีแผนสำหรับการออกใบอนุญาต BWA เป็น 2 ช่วงความถี่ ดังนี้

  • ความถี่ 2.3-2.4 GHz เรียกสั้นๆ ว่า 2.3 GHz
  • ความถี่ 2.5-2.6 GHz เรียกสั้นๆ ว่า 2.5 GHz

หมายเหตุ: ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าความถี่ของ 3G ที่จะประมูลกันคือ 2.1 GHz ส่วนความถี่ของ Wi-Fi ที่เราใช้กันคือ 2.4 GHz ครับ

คลื่นสองช่วงความถี่นี้จะมีคุณลักษณะต่างกันอย่างชัดเจน และไม่มีความเกี่ยวข้องกันมากนัก ผมขอแยกเป็น 2 หมวดตามอย่าง กทช.

คลื่นความถี่ 2.3 GHz

คลื่นความถี่ 2.3 GHz เป็นช่วงคลื่นที่ประเทศส่วนมากนิยมใช้สำหรับ WiMAX โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย (มีข้อยกเว้นบ้าง เช่น อเมริกาใช้ 2.5 GHz ปากีสถานใช้ 3.5 GHz, อินเดียและอินโดนีเซียใช้ผสมหลายช่วงความถี่)

กทช. ต้องการนำความถี่ 2.3 GHZ ไปใช้ทำ BWA ในเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ (ซึ่งจะต่างจาก 2.5 GHz ที่ผมจะเขียนถึงในภายหลัง)

ความถี่ในปัจจุบัน

ปัจจุบันคลื่นความถี่ 2.3 GHZ ของไทย ถูกใช้โดยหน่วยงานเหล่านี้ (ขออภัยที่ผมจดลงในเอกสารเยอะไปนิด)

No Description

ฝั่งขวาสุดของความถี่ ช่วงกว้าง 30 MHz (2370-2400 MHz) ถูกใช้งานโดยฝ่ายความมั่นคง ซึ่ง กทช. ประกาศว่าจะไม่ยุ่งอะไรกับความถี่ส่วนนี้

อีก 70 MHz ที่เหลือ ถูกใช้งานโดย 6 หน่วยงานพลเรือน ได้แก่

  • TOT (ใช้เยอะสุด ส่วนมากเป็นไมโครเวฟสำหรับการสื่อสารในพื้นที่ห่างไกล)
  • CAT
  • การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
  • ปตท
  • ปตท สผ
  • SAMART

No Description

การคืนคลื่นความถี่-สิทธิ์ของรายเดิม

กทช. จะนำความถี่ก้อน 70 MHz นี้มาจัดสรรใหม่สำหรับงานด้าน BWA แต่เนื่องจากมีเจ้าของเดิมครอบครองอยู่แล้ว กทช. ต้องหาวิธีเอาความถี่ก้อนนี้กลับคืนมาเป็นของตัวเองก่อน (ซึ่งเป็นอำนาจเต็มของ กทช. ตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว)

แต่ กทช. เลือกใช้วิธีประนีประนอมกับเจ้าของคลื่นเดิม โดยมีนโยบายเบื้องต้น (ที่มาขอรับฟังความเห็น) ดังนี้

  • ผู้ครอบครองความถี่เดิม เลือกได้ว่าจะนำความถี่ที่มีอยู่ ไปให้บริการ BWA หรือไม่

    • ถ้าต้องการให้บริการ BWA สามารถดำเนินการได้เลย โดยไม่ต้องประมูลใหม่ โดย กทช จะกำหนดให้ครอบครองความถี่ได้ไม่เกินช่วงกว้าง 30 MHz (ซึ่งเป็นช่วงกว้างที่เหมาะกับการให้บริการ WiMAX)
    • ถ้าไม่ต้องการให้บริการ BWA ต้องคืนคลื่นแก่ กทช โดย กทช จะพิจารณาหาความถี่อื่นทดแทนให้ แล้ว กทช จะนำความถี่ช่วงนี้ไปเปิดประมูลแก่รายอื่นต่อไป

เงื่อนไขของใบอนุญาต

กทช. เสนอว่าใบอนุญาตของ BWA ควรมีเงื่อนไขดังนี้

  • อายุ 10 ปี (กทช. ประเมินระยะเวลาคืนทุนราว 6-7 ปี)
  • เป็นใบอนุญาตประเภท 3 (อ่านรายละเอียดของใบอนุญาต 3 ประเภทจากเว็บไซต์ กทช. นะครับ)
  • ต้องเปิดบริการภายใน 1 ปีหลังได้ใบอนุญาตไปแล้ว
  • ใบอนุญาตไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ทั่วประเทศ (แปลว่า เราอาจเห็นบริษัท A ให้บริการ WiMAX เฉพาะภาคเหนือ, บริษัท B ให้บริการ TD-LTE เฉพาะในภาคใต้)
  • ในกรณีที่มีบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ได้ใบอนุญาตครบทั้งประเทศ (เช่น ประมูลได้ทุกภาค) กทช จะมีเงื่อนไขว่าต้องบริการครบทุกจังหวัดภายใน 5 ปี

ความเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุม

  • มีข้อติติงว่า ความถี่ปัจจุบันที่ TOT ครอบครองอยู่ เป็นการให้บริการไมโครเวฟสำหรับพื้นที่ห่างไกล ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อ TOT เท่าไรนัก (ขาดทุน) การที่ กทช. เลือกจะให้ TOT ได้สิทธิ์เปลี่ยนมาให้บริการ BWA เลย อาจจะไม่เป็นธรรมต่อรายอื่นที่ต้องประมูลเท่าไร
  • ช่วงกว้าง 30 MHz เป็นช่วงสำหรับเทคโนโลยี WiMAX ซึ่งเทคโนโลยีอื่นไม่ใช่ช่วงกว้างนี้
  • ในการใช้งานจริง อาจต้องมี "ช่องว่าง" หรือ guardband ด้วย ทำให้เป็น 30++ MHz แทน 30 MHz
  • TRUE บอกว่าตัวเลข 6-7 ปีคือพื้นที่เมืองใหญ่เท่านั้น ถ้าครอบคลุมทั่วประเทศ จะมีระยะเวลาคืนทุนมากกว่านี้ แปลว่าระยะเวลาอนุญาตควรมากกว่า 10 ปี
  • TRUE บอกว่าระยะเวลาการเปิดใช้ภายใน 1 ปีแรก เป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ
  • Ericsson บอกว่า กทช. ไม่ได้ระบุเรื่องการต่อใบอนุญาตหลังจาก 10 ปีแรก ทำให้อาจเกิดปัญหาว่าช่วงปลายของ 10 ปีแรก บริษัทไม่ยอมลงทุนเพิ่มในการปรับปรุงบริการ เพราะไม่มีแรงจูงใจที่จะได้ทำต่อ
  • TOT บอกว่า เทคโนโลยี BWA จะทับกับ 3G คนอาจหนีไปใช้ 3G แทน ทำให้ความคุ้มทุนภายใน 10 ปีของใบอนุญาต BWA เป็นไปได้ยาก
  • TOT บอกว่า ปัจจุบันครอบครองอยู่ช่วงกว้าง 64 MHz ใช้ในบริการทางไกลชนบท โดยหมดค่าลงทุนไป 20,000 ล้าน และขาดทุนปีละ 2,000 ล้าน
  • ตัวแทนจาก CAT ยืนยันว่าทาง CAT ที่ครอบครองคลื่นช่วงนี้อยู่นิดหน่อย ต้องการให้บริการ BWA อย่างแน่นอน (TOT ยังไม่ฟันธง)

ข้อสังเกต

ผมมองว่า ประเด็นสำคัญของความถี่ 2.3 GHz แบ่งเป็น 2 ส่วน

  • กทช. จะเอาความถี่คืนมาจากผู้ครอบครองเดิม (โดยเฉพาะ TOT) ได้อย่างไรที่เป็นปัญหาน้อยที่สุด ตามอำนาจในรัฐธรรมนูญ กทช สามารถทวงคืนได้เลย แต่ในทางปฏิบัติถ้าทำอย่างนั้น TOT อาจฟ้อง กทช. (ด้วยข้อหาอะไรก็ว่าไป) และเรื่องจะไปค้างที่ชั้นศาลอีกนาน ทำให้การออกใบอนุญาตช้าเข้าไปอีก ทาง กทช. จึงมีแนวโน้มที่จะประนีประนอมกับ TOT แต่ TOT ย่อมเรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทน (เช่น ขอคลื่นช่วงอื่น) การเจรจาระหว่าง กทช. กับ TOT จึงมีความสำคัญมากต่อ 2.3 GHz
  • ในลำดับถัดไป หลังจากได้คลื่นมาแล้ว กทช. จะจัดประมูลความถี่ 2.3 GHz อย่างไร ความถี่มีว่างอยู่เป็นช่วงกว้าง 70 MHz แปลว่ามีผู้ให้บริการได้ 2 รายต่อพื้นที่เท่านั้น คำถามหลักคือ กทช. จะเลือกออกใบอนุญาตเป็นพื้นที่หรือทั่วประเทศ และมีเรื่องปลีกย่อยอื่นๆ เช่น อายุของใบอนุญาต การต่อใบอนุญาต ฯลฯ ประกอบอีก

สรุปอีกครั้งว่า กทช. มีแผนจะออกใบอนุญาต 2.3 GHz สำหรับ BWA เชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ ซึ่งเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตย่อมจะเริ่มวางโครงข่ายในจุดที่คุ้มทุน (เขตเมือง) ก่อน แล้วค่อยคืบไปในเขตชนบทที่มีความคุ้มทุนน้อยในภายหลัง

คลื่นความถี่ 2.5 GHz

คลื่นช่วงที่สองคือ ความถี่ 2.5 GHz นั้นซับซ้อนกว่า 2.3 GHz มาก เพราะมันมีเรื่องอำนาจของ กทช. มาเกี่ยวข้องด้วย

อำนาจ กทช. กับความถี่ช่วง 2.5 GHz

ความถี่ 2.3 GHz นั้นเป็นความถี่ที่ทางสากลใช้ในเรื่อง โทรคมนาคม (telecom) ซึ่งเป็นอำนาจของ กทช. อยู่แล้ว แต่ความถี่ 2.5 GHz มีบางส่วนที่ทางสากลใช้ในเรื่อง สื่อสารมวลชน (broadcasting) ได้ด้วย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ระบุว่าเป็นอำนาจของ กสช. (ที่ไม่สามารถตั้งได้ด้วยอุปสรรคมากมาย) และ กทช. ไม่มีสิทธิ์ไปจัดการ

ปัญหาเรื่องอำนาจระหว่าง กทช. กับ กสช. กำลังถูกแก้ไขอยู่ โดยรัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุให้ตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาองค์กรเดียวคือ กสทช. ซึ่งปัจจุบันนี้กฎหมายจัดตั้ง กสทช. (หรือชื่อจริงคือ พรบ. จัดสรรคลื่นความถี่) กำลังอยู่ในชั้นของรัฐสภา คาดว่าจะจัดตั้ง กสทช. ได้อย่างเร็วในปีหน้า (กทช. จะถูกรวมไปเป็น กสทช.)

เรื่องความถี่ส่วนไหนใช้ทำอะไร ลองดูในแผนภาพประกอบ

No Description

จะเห็นว่าส่วนกลางของความถี่ช่วงนี้ สามารถใช้ได้ทั้ง Broadcasting และ Telecom ซึ่งตรงนี้ต้องรอ กสทช. เกิดขึ้น ปัจจุบันมันถูกครอบครองโดย อสมท. และกรมประชาสัมพันธ์ (อนาคตถ้ามี กสทช. เราอาจนำความถี่ส่วนนี้มาทำอย่างอื่นแทน)

แต่ถ้าสังเกตดีๆ ความถี่ส่วนหัวและส่วนท้ายของช่วง 2.5 GHz ถูกระบุว่าใช้ในเรื่อง Telecom เพียงอย่างเดียว (คนกำหนดคือ ITU ซึ่งเป็นองค์กรระดับนานาชาติ) ความถี่ช่วงเล็กๆ ตรงนี้ กทช. มีอำนาจจัดสรรได้

และ กทช. อยากนำความถี่ส่วนนี้มาออกใบอนุญาต BWA เช่นกัน

BWA เพื่อคนยาก

ตามแผนการของ กทช. นั้น ความถี่ช่วง 2.3 GHz จะถูกใช้สำหรับ BWA ในเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ เช่นเดียวกับที่เราคุ้นเคยกันในมือถือหรือ ADSL ปัจจุบัน คือ ให้เอกชนดำเนินการ แล้วการันตีคุณภาพด้วยการแข่งขัน (เช่น รายหนึ่งลดราคา ที่เหลือก็ต้องลดตาม รายหนึ่งอัพความเร็วให้ฟรี อีกรายก็ต้องอัพตาม)

แต่ในทางปฏิบัติ มันจะมีบางกรณีที่ผู้ให้บริการทุกราย ไม่ลงไปทำตลาดอย่างแน่นอน เช่น พื้นที่ชนบทที่มีฐานลูกค้าน้อย ลงทุนยังไงก็ไม่คุ้ม (ผมคิดว่าพวกเราคงคุ้นเคยกันดีกับปัญหา คู่สายเต็ม, คู่สายไม่ถึงพื้นที่, สัญญาณไม่มี อะไรพวกนี้) และมันจะเป็นอย่างนี้เรื่อยไป

ในทางโทรคมนาคม เค้าจึงมีแนวคิดจะช่วยเหลือคนในพื้นที่เหล่านี้ รวมถึงคนที่ขาดโอกาสเข้าถึงบริการโทรคมนาคมในด้านอื่นๆ เช่น ยากจน รายได้น้อย หรือพิการในระดับที่ไม่สามารถใช้บริการแบบคนปกติได้) โดยเก็บเงินจากกำไรของผู้ให้บริการมาอุดหนุนแทน แนวคิดนี้เรียกว่า [http://en.wikipedia.org/wiki/Universal_service_obligation](Universal service obligation) หรือ USO

และ กทช. ต้องการจะนำคลื่นช่วง 2.5 GHz ที่ตัวเองมีอยู่นิดหน่อย มาให้บริการ BWA แบบ USO นั่นเอง

ข้อเสนอ กทช.

ตามแผนของ กทช. (แปลว่าเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต) กทช. ต้องการใช้ความถี่ 2.5 GHz เปิดบริการ BWA เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง (ซึ่งเป็นผู้ใช้ส่วนที่ผู้ให้บริการกลุ่ม 2.3 GHz เห็นว่าไม่คุ้มลงทุน)

กทช. เสนอให้บริการ BWA 2.5 GHz นี้ ครอบคลุมพื้นที่ภาคละ 5 จังหวัด รวมทั้งหมด 20 จังหวัด โดยจะพิจารณาจากจังหวัดที่มี GDP ต่ำที่สุดก่อน พูดง่ายๆ ว่าให้จังหวัดที่ยากจนนั่นเอง

เรื่องปัญหาขาดทุนแน่นอน เพราะอยู่ในพื้นที่ไม่คุ้มต่อการลงทุนนั้น กทช. ซึ่งมีเงินจากกองทุน USO ที่เก็บจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมทุกรายในไทย จะจ่ายเงินช่วยสนับสนุนผู้ใช้บริการ BWA ช่วง 2.5 GHz ด้วยอีกส่วนหนึ่ง (คือคนที่จะประมูล 2.5 GHz ขาดทุนแน่ แต่ กทช. จะจ่ายชดเชยให้)

วิธีการประมูลจะใช้แบบ reverse auction คือ เสนอแผนการไปยัง กทช. แล้วคนที่ขอรับเงินสนับสนุนจาก กทช. น้อยที่สุด จะเป็นผู้ชนะ (ต่างจากการประมูลปกติที่คนเสนอผลตอบแทนมากที่สุดชนะ)

ตามแผนของ กทช. ใบอนุญาตอันนี้ (มีใบเดียว รายเดียว) มีอายุ 10 ปี โดย กทช. จะช่วยเงินใน 5 ปีแรก และเอกชนต้องดำเนินการทั้งหมดเองใน 5 ปีหลัง โดยที่ 5 ปีแรก กทช. จะกำหนดราคาค่าใช้บริการขั้นสูง (เช่น เดือนละ 99 บาท) เพิ่มด้วย

ความเห็นจากผู้ร่วมประชุม

  • ความถี่ช่วงที่ กทช. มี (เป็น 2 เสี้ยว) ไม่เหมาะสมนักในเชิงเทคนิค ที่จะให้บริการ BWA
  • เอกชนทุกรายเป็นห่วงว่า ความถี่ 2.5 GHz เป็นความถี่ที่เหมาะสมกับการทำ 4G/LTE ในอนาคต ถ้า กทช. แบ่งบางส่วนมาใช้ก่อน อาจมีปัญหาเมื่อถึงคิวของ 4G ได้ (เช่น ความถี่ 4G คนละแบบกับประเทศอื่นๆ ทำให้หาอุปกรณ์ยาก)
  • AIS เสนอว่า ทางสายกลางอาจเป็น ออก BWA ในส่วนนี้ไปก่อนให้มีใช้ แล้วพอมี กสทช. ที่มีอำนาจในทุกความถี่ ค่อยย้ายในภายหลัง โดย กทช. ต้องระบุเงื่อนไขนี้ไว้ในใบอนุญาตตั้งแต่แรก
  • ประเด็นด้านความเร็วขั้นต่ำของ BWA 2.5 GHz ซึ่ง กทช. เสนอว่าที่ 1 Mbps อาจจะช้าไปสำหรับอนาคต
  • กทช. กำหนดราคาขั้นสูงไว้แค่ 5 ปี มีคนเป็นห่วงว่า 5 ปีหลัง ผู้ได้ใบอนุญาตไปจะขึ้นราคาแบบขูดรีด

ข้อสังเกต

ผมคิดว่า จุดมุ่งหมายของ กทช. ในเรื่อง USO นั้นดีมาก แต่ในทางปฏิบัติคงยากมาก เพราะเจออุปสรรคสำคัญหลายเรื่อง ได้แก่

  • อำนาจของ กทช. ที่ไม่ครอบคลุมทั้งหมดของช่วง 2.5 GHz แต่จะรอ กสทช. ก็ไม่มีใครรู้ว่าอีกนานแค่ไหน
  • การนำความถี่ 2.5 GHz บางส่วนมาใช้ก่อน อาจเกิดปัญหากับบริการ 4G ของฝั่งมือถือ (ดังนั้น ผู้ให้บริการมือถือย่อมค้านแน่)
  • เป็นบริการลักษณะที่มีโอกาสคุ้มทุนต่ำมาก แม้จะได้รับเงินสนับสนุนจาก กทช. ก็ตามที เราอาจเห็นกรณีมีคนชนะประมูลด้วยการขอเงินสนับสนุนต่ำๆ แล้วทิ้งงานกลางคันเพราะไปไม่ไหวก็ได้

สรุป

แผนการ BWA ของ กทช. ยังอยู่ในจุดเริ่มต้นเท่านั้น ต่อไปคงรับฟังความเห็นอีกหลายครั้ง ซึ่งพวกเราคงต้องช่วยกันเสนอความเห็นให้มาก เท่าที่ดูผมคิดว่า กทช. ชุดใหม่นี้ก็เร่งทำงานกันอย่างเต็มที่ คงจะพอชดเชยเรื่อง "ช้า" ในอดีตได้บ้าง

ความเห็นของผมต่อแผนการข้างต้นคือ BWA 2.3 GHz คงไปได้ (แต่ก่อนคลอดคงมีปัญหากับ TOT อยู่บ้าง) ส่วน BWA 2.5 GHz ตามแผนแรกเริ่มนี้ เอกชนไม่เอาด้วย กทช. ต้องกลับไปทำการบ้านมาใหม่พอสมควรถึงจะเดินหน้าได้ตามต้องการ

Get latest news from Blognone

Comments

By: tr
Writer
on 12 June 2010 - 13:52 #183452

ชอบที่เขามีการรับฟังความคิดเห็นมากขึ้นครับ หวังว่าชุดใหม่คงจะดันนโยบายใหม่ๆได้เร็วและทำได้จริงครับ

By: lastone
Android
on 12 June 2010 - 13:53 #183453

ดูแล้วกทช.ชุดนี้
จะมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีกว่าชุดเก่าๆ

By: latesleeper
Android
on 12 June 2010 - 17:57 #183490 Reply to:183453

ช่ายยย
อย่างน้อยการที่ @Drnatee39g ตอบคำถามและเล่าอะไรให้ฟังอยู่เรื่อยๆ มันก็ทำให้เรารู้สึกอย่างนั้นได้นะ ซึ่งดี ชอบๆ

By: F16
iPhoneWindows PhoneAndroidIn Love
on 12 June 2010 - 14:44 #183462

ผมไม่ได้อคตินะครับ
แต่ผมเห็นช่วงแรกที่เป็นข่าวก็กระตือรือล้นกันแบบนี้แหละ
พอซักพักข่าวเงียบ งานก็ไม่ค่อยเดิน แล้วก็กลับมาเริ่มต้นใหม่อีกรอบ
น่าเบื่อจริงๆ

By: boynoiz
AndroidSUSEUbuntuWindows
on 12 June 2010 - 15:00 #183466
boynoiz's picture

ผมไม่รู้ว่าผมเข้าใจถูกรึเปล่า แต่ดูเหมือน TOT เป็นตัวปัญหาที่ทำให้ล่าช้า?

By: pd2002 on 12 June 2010 - 17:40 #183486

เดี๋ยวทุกอย่างก็จะเงียบไป..เหมือนเดิม คอยดู...

By: lingjaidee
ContributoriPhoneAndroid
on 12 June 2010 - 19:47 #183507
lingjaidee's picture

ประเด็นตอนนี้ ยังเร็วไปที่จะวิพากษ์คาดการณ์กันว่า จะช้า หรือดีไม่ดีนะครับ แต่เป็น "โอกาส" ซึ่งมีไม่บ่อยที่จะให้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อจะได้ไม่เกิดข้อบกพร่องว่า "ช้า หรือไม่ดีพอ" แล้วมาต่อว่ากันโดยไม่ได้ร่วมให้ความเห็นแบบสร้างสรรค์นะครับ

ส่วนตัวคิดว่า ประเด็นหลัง 10 นั้น สำคัญพอๆ กับประเด็น 10 ปีในระหว่างทำสัญญาด้วยซ้ำ ซึ่ง กทช. น่าจะให้ความชัดเจนมากกว่านี้ เช่น ให้สิทธิ์ เป็นเจ้าแรกที่มีโอกาสได้ประมูลกันใหม่ ฯลฯ เพราะก็อย่างในข่าวว่า มันจะหมายถึงการลงทุน และการดูแลบริการให้ดีพอต่อไปแบบสม่ำเสมอ

ส่วนเรื่องที่ กทช. เข้ามาดูเรื่องราคาเพียง 5 ปี แล้วกลัวว่า 5 ปีหลังผู้ให้บริการจะคิดราคาแบบขูดรีดนั้น ผมว่าเป็นไปได้ยากนะ โดยรวมราคาค่าบริการมีแต่จะต่ำลงๆ ทั้งนี้คงไม่มีผู้ใหญ่บริการรายไหนทำสัญญากับลูกค้าแบบ 10 ปีแน่ ซึ่งถ้าราคาไม่เป็นธรรมผู้บริโภคก็คงยกเลิกสัญญาไปเอง แต่อาจจะลำบากหน่อย กรณีเป็นต่างจังหวัด ที่ยังขาดผู้ให้บริการลักษณะนี้หรอจำเป็นต้องใช้ แต่อย่างไรก็ดี ในช่วง 10 นี้นับจากเริ่มสัญญา เทคโนโลยีอื่นๆ เช่น 3G-4G ก็น่าจะช่วยทดแทนตรงนี้ได้บ้างนะครับ ;)


my blog

By: theoneox
Android
on 12 June 2010 - 20:37 #183518

TOT หึ หึ หึ

รายนี้ไม่ยอมอะไรง่ายๆแน่

By: pgbn
Windows Phone
on 13 June 2010 - 06:52 #183583

ผมว่าอย่าใช้คำว่า ชุดใหม่ เลยเพราะมีคนเก่าอยู่ 3 มีจาก ลทช. อีก 1 ก็เกินครึ่งเข้าไปแล้วที่เป็นคนเก่า อีกท่านมาจาก สำนักงบประมาณใช่ไหมครับ

ก็เห็นๆกันอยู่ว่าใครที่ใช้เทคโนโลยีเป็น จะไปกำกับดูแลเขาแล้ว ไม่เคยใช้เทคโนโลยีเลยมันก็ไม่เห็นภาพหรอก

แต่มันอาจจะเหมือนการแข่งขันเสรีก็ได้ พอมีกทช. ที่ตั้งใจ ทำงานรวดเร็ว เข้ามา แม้จะ 1 ท่าน ก็ทำให้คนอื่นๆต้องขยับตาม

By: neonicus
Android
on 13 June 2010 - 13:14 #183620

ผมว่าอย่างน้อยชุดนี้ ก็ยังมีข่าวให้เราติดตามบ้างนะ
ไม่ใช่เหมือนชุดก่อนๆที่เงียบแบบว่าไม่รู้ทำอะไรกันมั่ง

By: gonhvvjvo
AndroidUbuntu
on 13 June 2010 - 22:47 #183674
gonhvvjvo's picture

ขอบคุณ mk สำหรับข้อมูลที่นำมาฝากครับ