Tags:

รายงาน OLPC Country Meeting ระหว่างวันที่ 20 - 23 พ.ค. 2551 ที่ MIT โดยอาจารย์อานันท์ สีห์พิทักษ์เกียรติ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้ประสานงาน OLPC ประจำประเทศไทย ผมขอมาลงใน Blognone เนื่องจากเห็นว่ามีประโยชน์ต่อผู้อ่าน และให้รายละเอียดของ OLPC ในเชิงลึกครับ - mk

OLPC Country Meeting

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อ นำเสนอความคืบหน้าของโครงการโดย Nicholas Nigroponte และทีมงาน ตลอดจนเปิดโอกาสให้ตัวแทนประเทศต่างๆ ได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตนเองแก่ประเทศอื่นๆ

วันแรกของงานจัดขึ้นเป็นกึ่งการประชาสัมพันธ์ จึงมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก จุดเด่นของวันอยู่รายงานความคืบหน้าที่นำเสนอโดย Nicholas Nigroponte ในช่วงเช้า และการเล่าสูกันฟังของตัวแทนจากเปรู และ อุรุกวัย ในฐานะที่เป็นสองประเทศแรกที่นำ OLPC ไปใช้ในระดับชาติ ส่วนอีกสามวันที่เหลือ เป็นการสัมมนาถึงความคืบหน้าเชิงเทคนิคของตัวเครื่อง และมีการพูดถึงการเรียนรู้อยู่บ้างแต่เป็นส่วนน้อย มีตัวแทนจากประเทศต่างๆ ที่กำลังทำโครงการนำร่องกับ OLPC มาเข้าร่วมประชุมประมาณ 50 คน

รายงานความคืบหน้าโดย Nicholas Nigroponte

ความมั่นคงของ OLPC - Nicholas เปิดการสัมมนาด้วยการย้ำถึงปรัชญาของโครงการว่าให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอันดับแรก การที่มีสมาชิกที่สำคัญหลายคนลาออก รวมทั้งการที่ตัวเขาเองหาคนมาทำหน้าที่ president ของ OLPC นั้น ไม่ได้เป็นเพราะ OLPC หันไปให้ความสำคัญกับอย่างอื่น OLPC ยังคงเป็น learning project ไม่ใช่ laptop project

Microsoft - Nicholas กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า XO จะสามารถใช้ Windows XP ได้ในราคาเครื่องละ $3 โดยในเครื่องจะมีทั้ง Windows XP และ linux มาให้ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะใช้งานตัวใด (dual boot) Nicholas เชื่อว่าการที่ XO ใช้งาน Windows XP ได้จะช่วยให้ภาครัฐในหลายประเทศมั่นใจมากขึ้นที่จะลงทุนซื้อเครื่องมาใช้งาน แต่ผู้เขียนมีข้อสังเกตุคือ เมื่อใช้ Windows XP จะไม่สามารถใช้งาน Sugar ได้ ซึ่งจะทำให้ XO กลายเป็นเหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไป (ที่ทำงานช้ามากๆ)

G1G1 - ทาง OLPC จะจัดทำโครงการ Give One Get One (G1G1) อีกครั้ง โดยจะเปิดโครงการประมาณเดือนสิงหาคม หรือ กันยายนเหมือนปีที่แล้ว แต่ปีนี้จะขยายโครงการไปยังยุโรปด้วย

XO 2.0 - Nicholas นำเสนอ concept ของเครื่อง XO รุ่นถัดไปซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2010 เครื่องจะมีลักษณะคล้ายหนังสือโดยมีหน้าจอสองด้าน หน้าจอจะเป็นแบบ multi-touch ซึ่งสามารถใช้งานเป็น keyboard ได้ ราคาของเครื่องจะอยู่ที่ $75 ซึ่งก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าเขาจะทำเสร็จได้ทันตามเวลาที่ว่าไว้ และด้วยราคาที่โฆษณานี้ได้หรือไม่

XO 2.0 จะเป็นเหมือนหนังสือมากขึ้น

หน้าจอทั้งสองจะใช้ระบบสัมผัส จึงสามารถใช้เป็นแป้นพิมพ์ได้ด้วย
[ ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ XO 2.0 ]

ประสบการณ์จาก อุรุกวัย

อุรุกวัย เป็นหนึ่งในสองประเทศแรกที่นำ OLPC มาใช้อย่างจริงจังในประเทศตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 และถือว่าเป็นประเทศที่ก้าวหน้าไปมากที่สุด ปัจจุบันได้แจกจ่าย XO ออกไปแล้วประมาณ 30,000 เครื่อง และ ณ เวลานี้เขากำลังแจกจ่ายเครื่อง XO โดยเฉลี่ยวันละ 1,300 เครื่องให้แก่โรงเรียนในประเทศ โดยคาดว่าจะแจกจ่าย XO ได้ประมาณ 220,000 เครื่องภายในสิ้นปี 2551 นี้ และคาดว่านักเรียนอายุระหว่าง 6-12 ปี และครูในทุกโรงเรียนจะได้รับ XO ภายในปีหน้า ซึ่งรวมเป็น 340,000 เครื่อง

อุรุกวัย มีทีมทำงานที่ค่อนข้างเข้มแข็ง เนื่องจากเป็นโครงการระดับชาติ จึงได้รับงบประมาณสนับสนุนที่ค่อนข้างดี

  • ทีมระบบเครือข่าย - ทุกโรงเรียนจะต้องต่อเชื่อมกับระบบ Internet ก่อนที่จะได้รับเครื่อง XO โดยทีมงานใช้หลายช่องทาง ทั้งทาง ADSL, ดาวเทียม, GPRS, ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีการใช้ระบบเสาสัญญาณ point-to-point เชื่อมโยงโรงเรียนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน (ระยะห่างไม่เกิน 20 กม) เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
  • ทีมอบรมครู - ทีมนี้มีทั้งจากส่วนกลาง และ ทีมอาสาสมัครในท้องถิ่น โดยจะรับผิดชอบอบรมครูและเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับการใช้งานเครื่อง
  • Call Center - ทีมนี้ (5-10 คน) มีหน้าที่คอยตอบคำถามทางโทรศัพท์ หรือ e-mail ซึ่งจริงๆ เขายอมรับว่าจำนวนคนไม่พอ และในระยะยาวควรพึ่งโครงสร้างอย่างอื่นที่ไม่รวมศูนย์เกินไป เช่น ใช้ mailing list ที่ผู้ใช้สามารถช่วยกันเองได้ในระดับหนึ่ง
  • ทีมพัฒนา - ทีมนี้มีหน้าที่ปรับปรุงความสามารถของเครื่อง XO ให้สอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งน่าจะคล้ายกับ NECTEC ในไทย เช่น เขาสร้าง network manager ในส่วนกลางเพื่อคอยตรวจสอบว่าเครือข่ายของโรงเรียนมีปัญหาหรือไม่, เขาพัฒนา school server เพื่อให้สามารถ backup ข้อมูลได้ง่าย, เขากำลังพยายามทำให้ sugar ทำงานบน Windows XP, ฯลฯ

ประสบการณ์ของเขาที่เอามานำเสนอ ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน เป็นประสบการณ์ในด้านบวกที่คัดมาจากโครงการนำร่องที่จัดทำขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ค. ปีที่แล้ว (2550) โดยไม่ได้พูดถึงปัญหามากนัก ซึ่งสรุปได้ตามนี้

การเตรียมครูเป็นส่งที่จำเป็น - การอบรมครูสามารถช่วยสร้างความั่นใจในการนำเครื่องไปใช้ในโรงเรียน ส่วนเรื่องทางเทคนิคนั้นส่วนใหญ่นักเรียนจะเป็นคนสอนครู

แรงต่อต้าน - แม้จะมีแรงต่อต้านอยู่บ้าง แต่สถานการณ์ดีขึ้นมาก เมื่อเครื่องไปถึงโรงเรียน และ ครูได้เห็นนักเรียนใช้งานเครื่อง XO อย่างมีความสุข

ความเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน - โรงเรียนกลายเป็นศูนย์กลางของชุมชุน นักเรียนและผู้ปกครองมาที่โรงเรียนเพราะอยากจะใช้คอมพิวเตอร์ และ อยากจะใช้ internet นอกจากนั้นยังเห็นการทำงานร่วมกัน ระหว่างนักเรีบน ครู ผู้ปกครอง และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ

กลุ่มอาสาสมัครเป็นสิ่งที่จำเป็น - การที่จะมีคนเพียงพอที่จะช่วยครูและนักเรียนเมื่อเขาต้องการได้นั้น จะต้องใช้คนในท้องที่ การจัดกลุ่มอาสานี้จะต้องทำอย่างเป็นระบบ มีวิธีบริหารได้จากส่วนกลาง แต่ก็ต้องแน่ใจว่าผลงานของอาสาสมัครเหล่านี้เป็นที่ประจักรด้วย

ข้อมูลทั่วไปของ อุรุกวัย

  • ประชากร 3.3 ล้านคน
  • GNP 5.8 per capita
  • 80% urban 20% rural
  • very strong public education (85%)
  • จำนวนนักเรียน = 350,000 คน

ประสบการณ์จากเปรู

เปรูเป็นอีกประเทศที่จะแจกจ่าย XO ให้กับนักเรียนทุกคนในประเทศ แต่เปรูดูจะมีอุปสรรค์มากกว่าอุรุกวัย เนื่องจากจำนวนนักเรียนที่มากกว่า (7 ล้านคน เทียบกับ 3 แสนคน) ระบบการศึกษาที่อ่อนกว่า และ งบประมาณที่ดูคล้ายจะได้รับไม่เต็มที่เหมือนอุรุกวัย

เปรู คุ้นเคยกับการเรียนรู้ตามแนว Constructionism มาตั้งแต่ยุค 1980s และทางกระทรวงศึกษาฯ ได้แสดงความจำนงในการนำ XO มาใช้งานในโรงเรียนในช่วงปลายปี 2007

สาเหตุ ที่เปรูรับหลักการของ OLPC เนื่องจากการศึกษาในประเทศเปรูค่อนข้างอ่อนเอ (ในความเห็นของตัวแทนจากกระทรวงศึกษาที่มานำเสนอ) ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนห่างไกล นักเรียนจำนวนมากอยู่ไกลโรงเรียน (เช่น ต้องเดิน 4 กม เพื่อมาโรงเรียน) การศึกษาไม่ได้ตอบสนองความต้องการในท้องถิ่น (lots of "hows" but very little "whys") สัดส่วนของครูต่อนักเรียนค่อนข้างแย่ อุปกรณ์การเรียนการสอนแย่ แต่ที่สำคัญคือ อาชีพครูเป็นอาชีพที่ไม่ได้รับความเคารพนับถือนัก ถูกสังคมมองว่าเป็นอาชีพทางเลือกสุดท้าย

เนื่องจาก ปัญหาการศึกษาของเปรูเป็นเรื่องซับซ้อน เขาจึงใช้แนวคิด massive systematic change โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ ซึ่งตรงกับแนวคิดของ Nicholas ที่เชื่อว่า เมื่อนักเรียนทุกคนมีเครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเอง จะสร้างแรงเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่หลวงจนระบบการศึกษาเดิมจำเป็นต้องปรับตัวตาม

เปรู จะเริ่มแจกจ่าย XO ให้กับนักเรียนในระดับประถมศึกษาก่อน โดยคาดว่าจะสามารถแจกจ่ายได้ 1 ล้านเครื่องภายในปี 2551 นี้ โดยจะมีการอบรมครู (40 ชั่วโมง) และ จะจัดทำกลุ่มอาสาสมัครคล้ายกับ อุรุกวัย เพื่อเข้าไปยังหมู่บ้านและให้คำแนะนำกับครูและนักเรียนในระยะยาว

ผล ที่เกิดนั้นยังไม่ชัดเจนเพราะต้องเร็วเกินไป แต่เขาก็สังเกตุได้ทันทีว่า OLPC สร้างความปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากทั้งในโรงเรียนและในชุมชุน นอกจากนั้นยังพบว่านักเรียนมาเรียนมากขึ้น และมีงานวิจัยที่วิเคราะห์ในเบื้องต้นพบว่า OLPC ช่วยให้นักเรียนอ่านและเขียนได้ดีขึ้นกว่าเดิม

ความคืบหน้าทางเทคนิค

โปรแกรม Sugar ยังมีการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่วนประกอบอื่นๆ เช่น เครื่องแม่ข่าย และ โปรแกรมต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้งาน โดยจะขอสรุปปสาระสำคัญดังต่อไปนี้

Sugar

การ พัฒนา Sugar ยังคงเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ โดยจะมีรุ่นใหม่ออกมาที่มีลักษณะต่างจากรุ่นปัจจุบันพอสมควร โดยขอสรุปประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

การสลับตำแหน่ง Activity List กับ Running Activity - ปัจจุบัน Activity ต่างๆ จะแสดงอยู่บริเวณขอบของจอภาพ และ activity ที่ใช้งานอยู่จะแสดงอยู่ในวงกลมล้อมรอบสัญลักษณ์ Xo กลางจอ แต่ Sugar รุ่นใหม่จะย้าย Activity มาวางไว้รอบสัญลักษณ์ XO และแสดง Activity ที่ใช้งานอยู่บนขอบของหน้าจอแทน

Sugar ในปัจจุบัน activity ต่างๆ ถูกวางไว้ที่ขอบล่างของจอ


Sugar ใหม่จะวาง Activity ไว้รอบสัญญลักษลัษณ์ XO

Journal - มีการปรับปรุงและเพิ่มความสามารถ มากพอสมควร เช่น interaction view เพื่อดูว่าเด็กทำอะไรกับใคร, สามารถดูรายละเอียดของโครงการได้, สามารถเปลี่ยนชื่อชิ้นงาน, สามารถดู thumbnail, ค้นหาโครงงานได้ดีขึ้นเป็นต้น

Interaction View ใหม่ซึ่งสามารถใช้ดูได้ว่าเด็กทำกิจกรรมอะไรกับใคร

[ดูรายละเอียดของ Sugar ใหม่เพิ่มเติมได้ที่ [http://wiki.laptop.org/go/Designs](http://wiki.laptop.org/go/Designs) ]

อายุถ่านและการชาร์จไฟ

การใช้งาน

  • เครื่อง XO ในตอนนี้กินไฟมากกว่าที่เคยได้ยินมา เดิมทีทาง OLPC กล่าวว่าเครื่องใช้ไฟเฉลี่ย 2 Watts แต่จริงๆ แล้วในตอนนี้ XO ใช้ไฟประมาณ 4-7 Watts และอาจขึ้นไปได้ถึง 9 Watts ถ้าใช้งานเครื่องหนักๆ เช่น เวลาเปิดใช้กล้อง
  • เครื่องใช้งานได้เฉลี่ย 4 ชั่วโมงต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง
  • เครื่องจะกินไฟน้อยลงเมื่อทาง OLPC พัฒนาระบบประหยัดพลังงานให้ทำงานได้ดีขึ้น
  • การชาร์จไฟใช้เวลา 1:45 นาทีถ้าเปิดเครื่อง และ 2:30 ชั่วโมงถ้าชาร์จขณะใช้งาน
  • การใช้พลังงานในสูงสุดในขณะที่ชาร์จถ่านคือ 17W

Solar Cell

  • มีขนาด 5/10/15 Watts โดยราคาจะอยู่ที่ $3 ต่อ Watt
  • Solar Cell จะเป็นเครื่องมือยืดเวลาการใช้งานเครื่อง แต่มันให้ไฟได้ไม่มากพอที่จะใช้เป็นอุปกรณ์ชาร์จไฟที่ดี
  • ทาง OLPC แนะนำให้ทางประเทศต่างๆ ช่วยหาแนวทางสร้างไฟฟ้าทางเลือกขึ้นมาด้วยตนเองด้วย

แผง Solar Cell ขนาด 5 Watts เมื่อนำมาต่อเชื่อมกันเพื่อเพิ่มพลังงาน

การซ่อมบำรุง

โดยรวมแล้วเมื่อเครื่องมีปัญหาทางด้านฮาร์ดแวร์ เช่น จอเสีย, แป้นพิมพ์ขาด ทาง OLPC ไม่สามารถรับผิดชอบเปลี่ยน หรือส่งชิ้นส่วนมาให้ เพราะขายเครื่องในราคาต้นทุนอยู่แล้ว ดังนั้นประเทศต่างๆ จะต้องพึ่งตนเอง อย่างไรก็ตาม OLPC จะช่วยโดยการส่งเครื่องอะไหล่ไปให้เพิ่มเป็นจำนวน 1% ของยอดสั่ง เช่น ถ้าสั่ง 1,000 เครื่อง OLPC จะส่งเครื่องเพิ่มไปให้อีก 10 เครื่องเอาไว้เป็นอะไหล่และทดแทนเครื่องที่มีปัญหา

ในเมื่อ OLPC ไม่สามารถรับผิดชอบการซ่อมบำรุงเครื่อง เราจำต้องพึ่งตนเองโดยส่งเสริมการซ่อมบำรุงในหลายๆ ระดับ เช่น

  • สนับสนุนกิจการท้องถิ่น เช่น ให้ร้านซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วม
  • สร้างศูนย์ซ่อม/อะไหล่ระดับภาค โดยอาจต้องมีการสั่งซื้อเครื่อง หรือ ชิ้นส่วนเข้ามา (การซื้อชิ้นส่วนยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่)
  • กลุ่มอาสาสมัคร เช่น มหาวิทยาลัย หรือ โรงเรียนเทคนิค ในชุมชน

ชิ้นส่วนที่มักจะเสียมีสองส่วนคือ หน้าจอ (แตก) และ แผงวงจรหลัก
ชิ้นส่วนที่จะเสื่อมตามเวลาและจะต้องเปลี่ยนในระยะเวลา 5 ปีคือ แป้นพิมพ์, ถ่าน, และ แผงไฟของหน้าจอ (LCD Backlight)

School Server

แม้ว่า XO สามารถเชื่อมต่อกันได้โดยตรงโดยไม่ต้องมีศูนย์กลาง ในทางปฏิบัติเมื่อมีเครื่องจำนวนมากๆ ทำงานร่วมกัน (มากกว่า 30 เครื่อง) การมีเครืืองคอมพิวเตอร์แม่ข่ายที่ช่วยกำกับการทำงานจะเป็นผลดีอย่างมาก หน้าที่หลักของเครื่องแม่ข่ายนี้คือ

  • ช่วยให้เครื่อง XO มองเห็นกันได้ดีขึ้น และทำการแบ่งกลุ่มทำโครงงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น
  • ทำหน้าที่เก็บข้อมูลขนาดใหญ่ที่เกินความจุของ XO
  • Backup ข้อมูลของเครื่อง XO
  • Web Cache เพื่อลดการใช้งานเครื่อข่ายที่ซ้ำซ้อน ทำให้สามารถใช้ช่องสัญญาณได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เครื่อง แม่ข่ายนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการออกแบบ และน่าจะใช้งานได้ดีประมาณปลายปี 2551 นี้ เราไม่จำเป็นต้องซื้อตัวเครื่องจาก OLPC เพราะเครื่องไม่ได้ต่างจากคอมพิวเตอร์ทั่วๆ ไป ดังนั้นการซื้อเครื่องที่หาได้ในประเทศแล้วมาติดตั้งโปรแกรมจาก OLPC อาจเป็นทางออกที่ดีและถูกกว่า

Spec ของเครื่องแม่ข่ายที่ OLPC แนะนำคือ

  • 1GH+ x86 CPU
  • 1G RAM
  • 300-500 GB disk
  • two 100-baseT network interface
Get latest news from Blognone

Comments

By: adamy
iPhoneAndroidBlackberryUbuntu
on 28 May 2008 - 02:23 #53017

มีใครพอที่จะตีโครงคร่าวๆของการศึกษาไทยได้หรือเปล่าครับ (ไม่เอาแบบประชดประชันนะครับ) อยากจะลองเทียบภาพรวมคร่าวๆของการศึกษาน่ะครับ ... อยากจะลองเปรียบเทียบว่า OLPC นั้นจะช่วยประเทศได้ในส่วนไหนและอย่างไรครับ

ขอบคุณครับ สวัสดีครับ

:: Take minimum, Give Maximum ::

By: iamfalan
iPhoneAndroidWindows
on 30 May 2008 - 12:01 #53221 Reply to:53017

ผมว่าในต่างจังหวัด (นอกเขตเมือง) ก็น่าจะคล้ายๆ เปรูนั่นแหละครับ
ส่วนในตัวเมืองอาจจะดีขึ้นหน่อย แต่ก็ยังเน้น How มากกว่า Why อยู่ดี
ส่วนเรื่อง การมองอาชีพครูเป็นอาชีพทางเลือกสุดท้าย บ้านเราก็คล้ายๆกัน
ซึ่งผมว่าเราสามารถดูจากเปรู เป็นฐานได้เลยนะนั่น

By: tr
Writer
on 28 May 2008 - 08:48 #53031

XO 2.0 เท่ห์ดีครับ

แต่อ่านแล้วผมติดนิดนึง...

GNP 5.8 per capita -> มีหน่วยรึเปล่าครับ ผมไม่มั่นใจ

1GH+ x86 CPU -> 1 GHz+ x86 CPU ?

By: Jedt3D
iPhoneAndroidUbuntuWindows
on 28 May 2008 - 23:10 #53078
Jedt3D's picture

อืม... เห็นทั่นนายกเอามาร้องเพลงออกข่าวคืนวันนี้แน่ะ.... ดูแล้วเสียดาย... ไม่มีใครรู้ว่าควรพูดถึงเจ้า olpc แต่กลับเอาแต่รูปทั่นร้องเพลงมาออกกันซะ..

--New Java Face In De Block--
--total eclipse--

By: ABZee on 29 May 2008 - 04:54 #53103

อยากให้สังคมพัฒนาไปได้พร้อมกับเท็คโนโลยีคอมพิวเตอร์เสียที
สู้ๆ สู้ตาย

PoomK

By: fatro
ContributoriPhoneAndroid
on 29 May 2008 - 17:23 #53153
fatro's picture

'lots of “hows” but very little “whys”' บ้านเราก็ประมาณนี้

By: chaow
Android
on 29 May 2008 - 21:57 #53179
chaow's picture

เห็นแบบเป็นหนังสือ แล้วน่าจะเอามาเป็นหนังสือเรียนจริงๆ

ครูพูด - "เอ้า นักเรียนทุกคน ดาวน์โหลดไฟล์ จากอาจารย์ แล้วเปิดดู หน้าที่ 37"

รู้สึกดีแฮะ

By: Mr.JoH
Writer
on 30 May 2008 - 01:28 #53193 Reply to:53179

อาจารย์ขา หนูเปิดไม่ได้ค่ะ ทำยังไงดีคะ ?

Lastest Science News @Jusci.net


Lastest Science News @Jusci.net

By: mrfreeman on 30 May 2008 - 10:46 #53211 Reply to:53193

เดี๋ยวน่ะ อืม ทำไงดี งั้น ไปดูกับเพื่อนก่อนแล้วกัน

(เจอบ่อย)

By: boonkhao
ContributoriPhoneBlackberryUbuntu
on 30 May 2008 - 21:12 #53243
boonkhao's picture

ผมขอแนะนำอย่างหนึ่งนะครับ คือถึงจะมีเครื่องมือที่ใช้สำหรับไว้ศึกษา แต่ว่าตัวความรู้ที่จะให้เด็กได้ศึกษานั้นยังคงมีน้อยอยู่ หนังสือ เอกสารทางวิชาการ ยังมีจำกัด เพราะฉนั้นถ้าจะแนะนำใ้ห้เด็กใช้เครื่องมือพวกนี้ก็น่าที่จะมีการสนับสนุนให้ผลิตองค์ความรู้ที่จะไว้ให้เด็ก ๆ ได้อ่านไปพร้อมกันด้วยนะครับ

By: ojazzy
iPhone
on 31 May 2008 - 01:04 #53258

อยากเห็น OLPC ประสบความสำเร็จในบ้านเราจัง