สืบเนื่องจากเนื้อหาในข่าว Oracle บุกตลาดฮาร์ดแวร์ด้วย Oracle Database Machine ทำให้ผมสนใจอุปกรณ์เครือข่ายที่ใช้กับผลิตภัณฑ์ตัวนี้ นั่นคือ Infiniband (IB) อันเป็นเครือข่ายความเร็วสูงที่ออกแบบมาเพื่อคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง และ Infiniband เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของช่องทางการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์สำหรับจัดเก็บข้อมูลหรือ storage มาดูกันครับว่ามีผลิตภัณฑ์ storage ของเจ้าไหนบ้างที่ใช้ Infiniband
- Oracle Database Machine จาก Oracle และ HP รองรับความจุข้อมูลถึง 12 TB และสามารถขนส่งข้อมูลได้สูงสุดถึง 5 Gbps
- Galaxy Aurora IB จากบริษัท Rorke Data เน้นไปที่การบันทึกวิดีโอความละเอียดสูงและภาพยนตร์ ผลิตภัณฑ์นี้รองรับการขนส่งข้อมูลถึง 1,700 MBps (หรือ 1.7 GBps)
- Fusion-IO เปิดตัวผลิตภัณฑ์จัดเก็บข้อมูลชนิด SSD โดยจัดเตรียมช่องทางการเชื่อมต่อ 2 แบบด้วยกัน คือ 10 Gigabit Ethernet และ 40 Gbps Infiniband สำหรับขนส่งข้อมูลความเร็วสูง
- Voltaire จับมือ DataDirect ออกผลิตภัณฑ์จัดเก็บข้อมูลที่ใช้ Infiniband ของ Voltaire ที่ความเร็ว 20 Gbps ทำงานร่วมกับ storage จาก DataDirect ที่มีความเร็วในการอ่านและเขียนข้อมูลถึง 6 GBps พร้อมรองรับความจุข้อมูลสูงสุดถึง 1.2 PB
ที่มา - ITBUSINESSEDGE, MarketWatch (ข้อมูลของ Rorke), The Register (ข้อมูลของ Fusion-IO), และ HPCwire (ข้อมูลของ Voltaire และ DataDirect )
UPDATE: Voltaire และ DataDirect Networks ความเร็ว 6 GBps เป็นความเร็วในการทำงานของ storage เท่านั้น
Comments
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
* ข้อมูลจาก TOP500 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 รายงานว่าเครือข่ายตระกูล Infiniband ถูกใช้โดยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่อยู่ใน TOP500 ถึง 24.20% หรือถูกใช้มากเป็นอันดับ 2 รองจาก Gigabit Ethernet ที่มีถึง 56.80%
* Tera Cluster ที่ไทยกริด มี storage ประมาณ 5 TB และใช้ Infiniband กับ Gigabit Ethernet สำหรับเชื่อมต่อโหนด
* ช่องทางการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลมีอยู่หลากหลาย เช่น USB, IEEE 1394 (หรือ FireWire), Wi-Fi และ Gigabit Ethernet เป็นต้น บางผลิตภัณฑ์มีช่องทางการเชื่อมต่อมากกว่า 1 ชนิด
* Oracle Database Machine ใช้ Infiniband ของบริษัท Voltaire
* ขอเล่าถึงหน่วยวัดที่เขาใช้ในข่าวนะครับ มันมีทั้งสองแบบ คือ Bps กับ bps แต่เท่าที่ผมเคยทราบมา และจากอ้างอิง about.com (ผิดพลาดยังไงบอกผมได้นะครับ) ถ้าเป็น B (บีใหญ่) หมายถึง byte ส่วน b (บีเล็ก) หมายถึง bit ผมสงสัยตัว Fusion-IO จากแหล่งข่าวต้นฉบับ ITBUSINESSEDGE และ The Register ที่ผมไปอ่านมานั้นเขาใช้ 40 GBps (ถ้า 1 Byte = 8 bit ก็คิดได้ 320 Gbps) ซึ่งมันเร็วเกินความคาดหมาย และมาตรฐาน Infiniband ยังให้ความเร็วระดับนั้นไม่ได้ ผมจึงไปดูแหล่งข่าวที่ เว็บบริษัท Fusion-IO ผมเห็นเขาใช้ทั้ง 40 GBps และ 40 Gbps ปนกันเลย ? ถ้ามันใช้แทนกันได้ แล้วคนจะสับสนกันหรือเปล่าว่าอันไหน bit อันไหน byte ... ร่วมแสดงความคิดเห็นในส่วนนี้ได้ครับ เช่นเดียวกัน ข้อมูลของผลิตภัณฑ์ตัวสุดท้ายจาก voltaire ก็ดูขัดกับข้อเท็จจริงอยู่ เพราะเครือข่าย 20 Gbps มันจะขนส่งข้อมูล (throughput) ระดับ 6 GBps คงไม่ได้ จากแหล่งข่าวเขาบอกว่าเป็นการอ้าง (claim) ตามความคิดเห็นส่วนตัวมันน่าจะเป็น 6 Gbps ซึ่งสมเหตุสมผลกว่า พอๆกับของ Oracle Database Machine ที่ใช้ Infiniband แบบเดียวกัน
JavaBoom (Boom is not Java, but Java was boom) http://javaboom.wordpress.com
My Blog
ผมเห็นสูงสุดตอนนี้ 60 Gbps ก็น่าจะได้กับ 6 GBps แต่ถ้าแค่ 20 Gbps ยังไงก็ไม่ถึง
เห็นด้วยครับ จาก infinibandta.org รายงานว่าสูงสุดระหว่าง host คือ 20 Gbps ส่วนระหว่าง switch ก็ 60 Gbps
JavaBoom (Boom is not Java, but Java was boom) http://javaboom.wordpress.com
My Blog
ยังมีเรื่องของไดรเวอร์อีกนะครับ เท่าที่เคยทดสอบ 10Gbps จริงๆวิ่งได้ราวๆ 7-8Gbps ครับ ก็คือประมาณ 1GB/s ได้ แต่อย่างไรก็ตาม disk subsystem ที่รองรับมันต้องเขียนได้ระดับนั้นจริงๆ ไม่งั้น transfer file ไปก็ติดที่ disk อยู่ดี
งั้นแปลว่า ถ้าผลิตภัณฑ์ของ Voltaire กับ DataDirect (ในข่าว) มันใช้ 20 Gbps Infiniband ก็สามารถทำงานกับ storage ที่อ่านเขียนเร็วระดับ 6 GBps ได้สบายเลยใช่หรือเปล่าครับพี่
แล้วเรื่อง Fusion-IO ล่ะครับ ที่มันพูดถึง 40 Gbps กับ 40 GBps มันพิมพ์ผิด หรือเป็นวิธีการเขียนอีกแบบหนึ่งครับ ถ้าข่าวต้นฉบับจากเว็บ Fusion-IO เลย มันใช้พิมพ์ว่า 40GBps QDR แล้วในย่อหน้าเดียวกันมันก็เขียนว่า 40Gb/s quad data rate ซึ่ง QDR กับ quad data rate มันเป็นตัวเดียวกัน แล้วทำไม ตัวแรกดันใช้หน่วย GBps ตัวหลังกลับใช้ Gb/s (หรือ Gbps) สรุปเขาให้ข่าวผิดหรือผมเข้าใจผิดครับพี่
JavaBoom (Boom is not Java, but Java was boom)
http://javaboom.wordpress.com
My Blog