ใครที่เคยดูหนังเรื่อง Gravity คงจะยังจำกันได้ดีกับฉากที่ Sandra Bullock ต้องดิ้นรนใช้ถังดับเพลิงส่งตัวเองให้ไปถึงซากสถานีอวกาศ Tiangong ของจีน เพื่ออาศัยแคปซูลลงจอดในการเดินทางเอาชีวิตรอดกลับสู่พื้นโลก
วันนี้มีข่าวคราวความคืบหน้าของสถานีอวกาศ Tiangong-1 ของจริงที่กำลังค่อยๆ ถูกแรงโน้มถ่วงดึงดูดให้มันตกลงมาสู่พื้นโลกหลังจากหยุดการใช้งานมานาน โดยล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ได้ประมาณการว่ามันจะตกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศราววันที่ 1 เมษายนนี้
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าการประมาณการนี้อาจมีความคลาดเคลื่อน 4 วัน นั่นหมายถึงอาจเป็นวันใดวันหนึ่งในช่วงวันที่ 28 มีนาคม ถึงวันที่ 5 เมษายน โดยยังไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่าจะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ณ จุดไหนบนแผนที่โลก ทำได้เพียงคาดการณ์ตามความน่าจะเป็นว่า Tiangong-1 มีโอกาสเข้าสู่ชั้นบรรยากาศในบริเวณเส้นรุ้งที่ 43 องศาเหนือ หรือ 43 องศาใต้มากที่สุด (บริเวณสีเหลือง) โดยความเป็นไปได้ที่รองลงมาคือการเข้าสู่ชั้นบรรยากาศในตำแหน่งที่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมากขึ้น (บริเวณพื้นที่สีเขียว) ส่วนพื้นที่ด้านใกล้ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้นั้น (บริเวณสีฟ้า) เป็นบริเวณที่มีความเป็นไปได้น้อยที่สุด
ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่อาจประเมินได้ว่าจะมีชิ้นส่วนสถานีอวกาศที่เหลือรอดจากการเผาไหม้ในระหว่างที่มันเสียดสีกับอากาศหรือไม่ และแน่นอนว่าหากจะมีชิ้นส่วนใดก็ตามที่ตกลงมาถึงพื้นโลกจริง ก็ยังไม่อาจบอกได้อีกเช่นกันว่ามันจะตกลงบริเวณใด
ล่าสุดนักวิจัยจาก Fraunhofer FHR สถาบันวิจัยด้านเรดาร์และฟิสิกส์คลื่นความถี่สูง ได้เผยแพร่ภาพของ Tiangong-1 ที่จับได้ด้วยสัญญาณเรดาร์ เผยให้เห็นว่า Tiangong-1 ยังคงสภาพเป็นชิ้นส่วนเดียวกันอยู่
สถานีอวกาศ Tiangong-1 มีมวลรวม 8.5 ตัน มันถูกส่งขึ้นสู่ชั้นอวกาศตั้งแต่ปี 2011 เป็นส่วนหนึ่งในโครงการอวกาศ Tiangong ของ CNSA หน่วยงานด้านอวกาศของจีน เดิมทีมันถูกวางแผนมาเพื่อการใช้งานเป็นระยะเวลา 2 ปี และควรจะลดวงโคจรกลับสู่ชั้นบรรยากาศโลกตั้งแต่ปี 2013 เพื่อเปิดทางให้กับสถานีอวกาศ Tiangong-2 และ Tiangong-3 ที่จะถูกส่งขึ้นมาใช้งานแทนที่
ทว่า Tiangong-1 กลับลดระดับวงโคจรช้ากว่าที่วางแผนไว้มาก จีนได้ตัดสัญญาณสื่อสารกับสถานีอวกาศ Tiangong-1 ในเดือนมีนาคมปี 2016 หลังการขยายอายุการใช้งานเพิ่มเติม 2 ปีจากแผนเดิมที่วางไว้แต่แรก ก่อนที่เดือนกันยายนปีเดียวกันทางการจีนจะออกมายืนยันว่าพวกเขาสูญเสียการควบคุม Tiangong-1 โดยสมบูรณ์
รอติดตามข่าวในช่วงสัปดาห์ถัดจากนี้ น่าจะมีข้อมูลการทำนายเวลาและตำแหน่งการเข้าสู่ชั้นบรรยากาศที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น
ที่มา - Aerospace.org via CNET
Comments
กลัวว่าถ้ามันเผาไม่หมดมันจะหล่นใส่ใครเนี่ยแหละ
สงสัยครับ ประเทศอื่นที่มีสถานีอวกาศ (USA, Russia ?) ปกติแล้วถ้ามีการปลดระวาง
จะปล่อยทิ้งให้โหม่งโลกแบบนี้ไหมครับ ดูไม่ปลอดภัยยังไงชอบกล
วิธีที่ใช้กันในการทำลายยานอวกาศ ดาวเทียม หรือสถานีอวกาศ ก็คือให้ตกลงสู่ชั้นบรรยากาศและเผาไหม้หายไปครับ
อย่างปีที่แล้ว ยานแคสสินี ก็ได้พุ่งชนดาวเสาร์หลังเสร็จภารกิจ เพียงแต่เค้ามีการควบคุมและสั่งให้มันตกในจุดที่ต้องการ โดยปกติการทำลายสถานีอวกาศมักจะให้พุ่งลงบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก
สถานีอวกาศสกายแล็บ
MIR ของรัสเซียก็เคยตกลงมาครับ
วันก่อนผมอ่านของ Spaceth.co มาครับ
จริงๆ Tiangong-1 มันเล็กมากนะ เทียบกับ SkyLab และ Salyut 7 ที่ก่อนหน้าก็ทำลายโดยการปล่อยตกมาเช่นกัน ทั้งนี้เห็นหลายท่านกังวล (อย่างน้อยก็ในข่าวนี้) พูดถึงความรับผิดชอบและความเสี่ยง จริงๆ แล้วมันอาจจะไม่เป็นประเด็นอะไรนอกจากลูกไฟเล็กๆ เลยก็ได้นะครับ (มันอาจจะทำลายแบบนี้อยู่แล้ว)
แต่ถ้ามันมีส่วนทนทานการเผาไหม้ ก็คงไม่ต่างอะไรกับยิงปืนขึ้นฟ้าล่ะนะ (แรงกว่าเสียอีก) โดนหัวก็ตายแน่นอน ถ้าชิ้นใหญ่ก็ระเบิดดีๆ นี่เอง
ที่แชร์ๆ กันเนี่ยเพราะเป็นข่าวดาราศาสตร์มากกว่า เหมือน SpaceX Falcon Heavy ซึ่งจริงๆ มันก็มีบริษัทอื่นยิงกันอยู่บ่อยๆ แค่ไม่เป็นข่าวโซเชียล
ขอบคุณทุกท่านสำหรับสาระข้อมูลครับ
มันจะตกใส่บ้านใคร และใครจะเป็นผู้ชดใช้ และจะได้รับการชดใช้ที่สูงหรือไม่
ต้องลุ้นให้ตกทะเลกันไปครับ
แต่ถ้าจำได้กระสวยอวกาศโคลัมเบียที่ถูกเผาในชั้นบรรยากาศตอนเกิดเหตุ มันก็ไหม้ไม่หมดเกลี้ยงครับ ตกลงบนแผ่นดินอเมริกา แต่เศษกระจัดกระจายชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาก แบบว่า ไม่ได้มีรายงานใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียหาย
แต่อันนี้ใหญ่กว่ากันเยอะ ก็ต้องลองลุ้นกัน
http://blogs.discovermagazine.com/80beats/2012/06/19/look-at-this-side-by-side-comparison-of-humanitys-notable-spaceships/#.WrUqkojFKUk
tiangong-1 เล็กกว่า space shuttle อีกนะครับ แต่ไม่มีเกราะกันความร้อนด้วย
ขอบคุณครับ ความรู้ใหม่
ปกติเขาจะบังคับให้ไปตกแถว มหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนที่เรียกว่าเป็นสุสานยานอวกาศ
แต่เทียนกง 1 มันเจ๊ง บังคับไม่ได้
และกว่าจะคำนวนจุดตกที่ค่อนข้างแน่นอนได้ ก็ตอน 6 ชม. ก่อนถึงพื้น
ซึ่งก็ตามรูปบน พื้นที่อาศัยของมนุษย์เกินครึ่งโลกอยู่ในความเสี่ยง
http://www.n2yo.com/?s=37820 <<<<===== สำหรับคนที่อยากรู้ว่ามันอยู่ไหน
ให้ Tiangong ทำนายกัน ~
ของจีนจริงๆ เลย
มือใหม่!! ใหม่จริงๆนะ
ถ้ามันตกลงแถวที่มีประชากรหนาแน่นหรือเขตเมืองที่สำคัญจะกลายเป็น proof concept อาวุธ Kinetic bombardment ได้เลยนะครับเนี่ย
ว่าแต่ๆละประเทศมีแผนการรับมืออย่างไรถ้าสถานีอวกาศมันเผาไหม้ไม่หมดแล้วตกใส่เขตประเทศตัวเอง?
สถาบันที่เกี่ยวกับการอวกาศ น่าจะมีความรับผิดชอบมากกว่านี้.ไม่ควรยุติการควบคุม เพราะอาจเกิดอันตรายที่เป็นอุบัติเหตุได้
เขาก็บอกอยู่ว่า ขาดการควบคุมด้วยสมบรูณ์คือมันเสียแล้ว ควบคุมไม่ได้แล้วไงครับ
ถ้ามันตกลงมาในบริเวณที่อาจเป็นอันตรายต่อประชาชนก็คงต้องใช้ระบบต่อสู้อากาศยาน ทำลาย เอาแต่ ความเร็วมันสูงกว่า เครื่องบินรบหลายเท่านะสิ จะยิงทันหรือเปล่า
จะรับผิดชอบก็น่าจะได้ แต่คงเปลืองเงินเปลืองเวลา
จิตนาการได้อย่างเช่น ส่งจรวดไปลากจูงออกจากวงโคจร ส่งออกไปอวกาศ ลากไปดวงอาทิตย์ ลอยไปดาวพฤหัส
กว่าจะส่งจรวจขึ้นหา วงโคจรอาจจะเปลี่ยนไปแล้ว บินไปไม่เจอ
พอไปถึงถ้าซ่อมได้ก็สั่งมัน burn ขับไปตกที่ต้องการ ถ้าไม่ได้ ลากจูง อันนี้ยากเลยครับ เชิื่อมต่อเสร็จ burn ขับดันเสร็จต้องเหลือเชื่อเพลิงให้นักบินบินกลับมาตั้งหลักอีกนะครับ เปลืองน่าดูหรือสร้างยานใหม่ก็คงไม่ทันละ
ยากมากครับ ด้วยความเร็วของการโคจร อย่างตัวนี้ก็วิ่งด้วยความเร็ว 7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คงทำได้แค่ยิงให้เปลี่ยนเส้นทาง ลากจูงนี่ยังไม่น่าได้ในตอนนี้ครับ
7 กม ต่อชั่วโมงนี่ ผมวิ่งเร็วกว่าอีกนะ :p
จำได้ว่ามีกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการรับผิดต่อความเสียหายกรณีนี้ ผมไม่มั่นใจว่าฉบับไหนนะ อาจจะเป็นอนุสัญญาความรับผิดระหว่างประเทศต่อความเสียหายเนื่องจากวัตถุอวกาศ
ผมสงสัยว่าสถานี Tiangong-1 มี capsule ตามในหนัง Gravity อยู่หรือเปล่า ถ้ามีอยู่จริงๆ แล้วยังมีอยู่ใน Tiangong-1 มันเป็นชิ้นส่วนเดียว มันก็ควรจะไม่ถูกเผาไหม้หมดป่าวครับ
ไม่น่าจะมีแบบในหนังนะครับ
https://en.wikipedia.org/wiki/Tiangong-1
อารมรณ์เหมือน Skylab พอคนออก ก็นำยานกลับโลกไปด้วย ปล่อยสถานีเปล่าๆ ทิ้งไว้
แต่ถึงมี Capsule หนีภัยจริง ถ้าลงไม่ถูกมุมองศาก็เจอเสียดสีชั้นบรรยากาศร้อนเกินเกราะกันไหวก็ไหม้ ไม่แน่เจอแรงจีมากๆ ก็โครงสร้างเสียหายได้เหมือนกันอีก
อ่านข่าวนี้แล้วตื่นเต้นมาก
เพราะปกติเป็นคนชอบดูหนังอวกาศอยู่แล้ว
ยิ่งพอมารู้ว่า เทียนกง มีจริงแบบในหนัง ยิ่งตื่นเต้นกว่าเก่า ๕๕๕
ภาวนาให้มันถูกเผาไหม้ทั้งหมดจากชั้นบรรยากาศทีเถิด
นึกถึงในเกม Ace Combat ต้องส่งฝูงบินไปยิงถล่มดาวเทียมที่ตกลงมา
เทียนกง-1 ขนาดมันเล็กมากนะครับ มีลูกเรือได้สามคน ยาว 10.4 เมตร กว้าง 3.35 เมตร ปริมาตรรวม 15 ล.บ.เมตร หนักประมาณรถยนต์แปดคัน เผลอๆ ซึ่งน่าจะแยกชิ้นส่วนและไหม้ไปตอนเข้าชั้นบรรยากาศเกือบหมด