NASA อัพเดตข่าว Tiangong-1 ระบุว่าสถานีอวกาศร้างของจีนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานผู้พบเห็นขณะมันตกผ่านชั้นบรรยากาศ มีเพียงข้อมูลบางส่วนจากระบบเซ็นเซอร์เฝ้าระวังขยะอวกาศ ทั้งนี้การคำนวณของนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าหากมีเศษวัตถุหลงเหลือจากการเผาไหม้ในระหว่างที่ Tiangong-1 เสียดสีกับชั้นบรรยากาศจริง เศษวัตถุเหล่านั้นจะตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิก
ก่อนหน้านี้การคำนวณเวลาและตำแหน่งที่ Tiangong-1 จะตกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศนั้นทำนายได้ยาก เนื่องจากสภาพแวดล้อมทั้งจากชั้นบรรยากาศชั้นบนสุดเอง รวมทั้งผลกระทบจากอนุภาครังสีจากดวงอาทิตย์ ทำให้คำนวณและประเมินแรงต้านอากาศในระหว่างการตกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้ยาก แม้ในช่วงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่ Tiangong-1 จะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศจริง หน่วยงานด้านอวกาศทุกสำนักก็ยังไม่อาจระบุได้ชัดว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นเหนือพื้นที่ไหนของโลก
กระทั่งช่วงไม่กี่นาทีก่อนการเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของ Tiangong-1 ก็ยังมีรายงานออกจาก 2 หน่วยงานที่คลาดเคลื่อนกันเรื่องตำแหน่งที่ Tiangong จะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ (และบริเวณที่เศษชิ้นส่วนอาจตกลงถึงพื้นโลก) โดยทาง JFSCC (Joint Force Space Component Command) ของสหรัฐฯ ใช้ระบบเซ็นเซอร์สำรวจอวกาศและโปรแกรมคำนวณแนวโคจรช่วง 2-3 รอบสุดท้ายของ Tiangong-1 ได้ว่าการเข้าสู่ชั้นบรรยากาศน่าจะเกิดบริเวณเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก ในขณะที่ CSME (China Manned Space Engineering Office) ของจีนในตอนแรกระบุว่าเป็นบริเวณใกล้ Sao Paulo ประเทศบราซิล ก่อนจะปรับข้อมูลใหม่โดยระบุว่าเป็นตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก
แต่ในเวลาต่อมา JFSCC ได้เปลี่ยนรายงานและยืนยันตรงกันกับ CSME ว่า Tiangong-1 เข้าสู่ชั้นบรรยากาศบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกจริง โดยข้อมูลจาก CSME บอกว่า Tiangong-1 เข้าสู่บรรยากาศในเวลา 00.15 GMT ส่วน JFSCC ระบุเวลา 5.16 pm PST ซึ่งตรงกับเวลาประมาณ 7.15 น. เช้าวันที่ 2 เมษายนนี้ ตามเวลาประเทศไทย
UPDATE: #JFSCC confirmed #Tiangong1 reentered the atmosphere over the southern Pacific Ocean at ~5:16 p.m. (PST) April 1. For details see https://t.co/OzZXgaEX0W @US_Stratcom @usairforce @AFSpaceCC @30thSpaceWing @PeteAFB @SpaceTrackOrg pic.twitter.com/KVljDALqzi
— 18 SPCS (@18SPCS) April 2, 2018
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อโต้แย้งเรื่องตำแหน่งการเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของ Tiangong-1 ซึ่งแม้ JFSCC และ CSME ระบุตรงกันว่าเป็นบริเวณตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ Jonathan McDowell นักดาราศาสตร์จาก Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics อ้างว่าตำแหน่งที่แท้จริงที่ Tiangong-1 เข้าสู่ชั้นบรรยากาศนั้นแม้จะอยู่เหนือมหาสมุทรแปซิฟิก แต่เกิด ณ บริเวณใกล้เคียงทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตาฮิติ ไม่ใช่พื้นที่สุสานยานอวกาศแถวตอนใต้ของมหาสมุทร
NW of Tahiti - it managed to miss the 'spacecraft graveyard' which is further south! pic.twitter.com/Sj4e42O7Dc
— Jonathan McDowell (@planet4589) April 2, 2018
ทั้งนี้การรายงานข้อมูลเรื่องการเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของ Tiangong-1 อาศัยข้อมูลจากการติดตามตำแหน่งของสถานีอวกาศร้างในช่วงการโคจรไม่กี่รอบสุดท้ายกันเป็นหลัก ยังไม่มีรายงานผู้พบเห็นเหตุการณ์ หรือหลักฐานภาพถ่ายหรือชิ้นส่วนใดที่จะยืนยันเรื่องตำแหน่งการตกสู่โลกได้ นั่นจึงหมายถึงไม่อาจยืนยันได้ว่ามีเศษวัตถุหลงเหลือตกลงถึงผิวน้ำกลางมหาสมุทรจริงหรือไม่
เหตุการณ์สถานีอวกาศ Tiangong-1 ตกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศกลับสู่พื้นโลกนี้อาจไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิต หรือส่งผลใดๆ ต่อการเมือง, วัฒนธรรม หรือการประกอบธุรกิจขององค์กรหรือหน่วยงานใดโดยตรง แต่ข่าวนี้น่าจะสร้างความรู้ตระหนักเรื่องขยะอวกาศให้กระจายออกเป็นวงกว้างได้มากขึ้น เพราะในปัจจุบันนี้มีขยะอวกาศลอยคว้างอยู่นอกชั้นบรรยากาศโลกมากมายหลายหมื่นชิ้น
แม้ว่าขยะอวกาศพวกนั้นจะไม่ได้น่ากลัวในประเด็นที่ว่าจะตกสู่โลกแล้วมีวัตถุตกถึงพื้นจนก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของคน หากแต่มันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์หรือสถานีอวกาศที่โคจรอยู่นอกโลกได้ด้วย (ใครที่เคยดูภาพยนตร์ Gravity ก็คงจำฉากที่ขยะอวกาศพุ่งเข้าชนยานของเหล่าตัวเอกจนเสียหายย่อยยับได้) ถ้าวันหนึ่งขยะอวกาศที่ลอยคว้างเหล่านั้นโดยไม่อาจควบคุมทิศทางและอัตราเร็วได้พุ่งเข้าชนดาวเทียม หรือสถานีอวกาศที่ใช้งานอยู่ ความสูญเสียย่อมส่งผลกระทบต่อคนบนพื้นโลกอย่างแน่นอน
ที่มา - NASA Space Flight, BBC
Comments
แค่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ยังไม่ตกถึงพื้นโลกนะครับ
ขณะที่ตอบกระทู้ ยังอยู่ที่ความสูง 148 กม จากพื้นโลก (ข้อมูลจาก orbit tracker ของ satview.org)
ตกไปตั้งแต่เช้าแล้วครับ ใน satview เองขึ้นข้อความว่า
แปลง่ายๆ คือตกไปตั้งแต่ 00:16 UTC แล้ว แต่ยัง plot เส้นทางตามทฤษฎีไว้อยู่
ผมว่า คำว่าตก กับเข้าสู่ขั้นบรรยากาศโลก คนละความหมายนะครับ ประมาณว่ามันอาจจะเผาไหม้หมด ก่อนตกโดนพื้นโลกตกลงหรือมหาสมุทร
จะตกหรือเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ก็คือจุดจบของ Tiangong-1 เหมือนกันครับไม่ว่าจะถึงพื้นดินหรือไม่
ข่าวในวงการอวกาศของ Tiangong-1 ก็คือการหาจุดจบของมันนี่แหละครับนั่นคือการเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ (ถ้าเข้าสู่ชั้นบรรยากาศแล้ว การเผาไหม้ก็ใช้เวลาไม่กี่นาทีและความสูงจะร่วงลงมาอย่างรวดเร็ว ประดุจว่าตกได้เหมือนกัน แต่ถึงพื้นหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้)
ซึง่แม้ -> ซึ่งแม้