งาน Computex 2018 ที่ไต้หวันครั้งนี้มีคอนเซปต์หลักๆ คือฮาร์ดแวร์เกมมิ่ง และ Internet of Things โดยเฉพาะกลุ่ม Smart Home โดยปีนี้ยกให้ 1 ฮอลล์เต็มๆ ในการจัดแสดงงาน IoT โดยเฉพาะ บริษัทแทบทั้งหมดเป็นสัญชาติไต้หวัน แสดงให้เห็นว่าไต้หวันตื่นตัวเต็มที่มากๆ เรื่อง IoT
หนึ่งในสถานที่จัดงาน Computex 2018 คือ TWTC (Taipei World Trade Center)
มีโซนแยกเฉพาะสำหรับ IoT คือโซน SmartTex รวมเอาบริษัทที่ส่วนใหญ่ทำ IoT มารวมตัวกันถึง 145 แห่ง แม้จะมีบริษัทมากมายมาร่วมโชว์สินค้ามากมาย แต่จุดร่วมกันของอุปกรณ์กลุ่ม Smart Home ซึ่งอนาคตจะเป็นสิ่งที่มีทุกบ้าน และไปไกลกว่าแค่กล้องวงจรปิดธรรมดา ได้แก่
ธีมหลักของสินค้าที่พบเห็นในงาน มีดังนี้
บริษัท Airlive เสนอชุด Smart Home แบบกะทัดรัด ครอบคลุมการใช้งานเกือบทุกอย่างในบ้าน ประกอบด้วยเกตเวย์, เซนเซอร์จับความเคลื่อนไหว, เซนเซอร์ แบบ 3 in 1 จับอุณหภูมิห้อง ช่วยเรื่องเปิดปิดประตูหน้าต่าง และ เปิดปิดไฟได้ด้วยเซนเซอร์ตัวเดียว, สมาร์ทปลั๊ก (ควบคุมการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าจากระยะไกล เช่นเปิด-ปิด,ตั้งเวลาเปิด-ปิด วัดการใช้งานพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น) และ กล้อง Smart IP Cam ทำงานโดยอาศัยคลื่น Z-Wave สามารถติดตั้งได้เองแบบ DIY และสามารถทำงานร่วมกับลำโพง Google Home และ Amazon Echo ได้ด้วย
หากซื้อชุดนี้ไปใช้งาน เจ้าของบ้านจะสามารถควบคุมได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ ประตู, เครื่องใช้ไฟฟ้า, คุมการใช้ไฟฟ้าในบ้าน ความปลอดภัยในบ้าน คุมน้ำท่วม (น้ำรั่วจากระบบประปา) เครื่องซักผ้า เป็นต้น
SiMPNiC เป็นแบรนด์ที่ทำอุปกรณ์ครอบคลุมการใช้งาน Smart Home ที่หลากหลาย ครอบคลุมการใช้งานทุกอย่างในบ้าน จัดแสดงอุปกรณ์เป็นหมวด หมวดดูแลความปลอดภัยในบ้าน, หมวดอำนวยความสะดวก (เปิด-ปิด เครื่องใช้ไฟฟ้า) และมีอุปกรณ์ดูแลคนในบ้านประกอบด้วย ตัววัดความดัน วัดน้ำตาลในเลือด เซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว สำหรับตรวจจับการล้มกระแทก เป็นต้น
ในการใช้งาน ผู้ใช้สามารถควบคุมการใช้งานด้วยแอพพลิเคชั่นที่ออกแบบมาด้วยหน้าตาเรียบง่าย แบ่งเป็นหมวดการใช้งานชัดเจน
ผู้สาธิตประจำบูธ อธิบายวิธีใช้งานและชี้ตามจุดให้ดูว่า ถ้าเซนเซอร์ตรวจจับว่ามีแก๊สรั่ว ก็สั่งงานอุปกรณ์ที่ติดอยู่ที่วาล์วแก๊สให้ปิดเองได้ และถ้าพบว่ามีน้ำรั่ว ไม่ว่าจะรั่วมาจากเครื่องซักผ้า หรืออ่างล้างจาน เช่นอาจจะลืมปิด ระบบก็จะแจ้งเตือนและสั่งปิดได้
SiMPNiC ใช้ตัวเกตเวย์ S1 ที่น้ำหนักเบา รองรับมัลติโปรโตคอล เชื่อมต่อ Z-Wave และ Wi-Fi, Open API อ่านสเปกแบบละเอียดได้ ที่นี่
บริษัท Tashi มีอุปกรณ์ Smart Home ที่เน้นดูแลผู้สูงอายุ และการแพทย์ระยะไกลด้วย มีอุปกรณ์ 3-4 อย่างนำมาโชว์ในงาน คือ
สร้อยที่มาพร้อมอุปกรณ์ Emergency System มาพร้อมปุ่มกด ที่ไว้กดฉุกเฉิน
โทรศัพท์พร้อมหน้าจอสัมผัส มีประโยชน์ไว้สื่อสารกับหมอหรือพยาบาลไปด้วย กดดูข้อมูลไปด้วยเพื่อติดตามความคืบหน้าทางการรักษา สามารถทำวิดีโอคอลได้ กดควบคุมอุปกรณ์ Smart Home อื่นๆ ในบ้านได้ และแน่นอนว่ามีแอพพลิเคชั่นที่ควบคุมบนสมาร์ทโฟนเช่นกัน
เกตเวย์ MT101 มาพร้อมกล้อง และพอร์ทเชื่อม HDMI รองรับหลายเครือข่ายทั้ง ZigBee, WiFi, Bluetooth, Z-Wave เพื่อเป็นตัวเลือกในการตอบสนองเซนเซอร์อัจฉริยะในตลาดโลก มีกล้องในตัวคอยมอนิเตอร์ความเคลื่อนไหว และเชื่อมกับ smart doorbell ดูว่าใครมากดกริ่ง (แสดงภาพบนหน้าจอทีวี)
อีกเทรนด์ที่มองเห็นชัดเจนมากในงาน Computex คือ ขายอุปกรณ์เป็นชุดแบบสำเร็จรูปเป็นกล่อง หยิบไปกล่องเดียวติดตั้งได้ครบทุกการใช้งานในบ้าน เช่นบริษัท Airlive ที่เสนอกล่อง IoT แบบมินิ ซึ่งหลายบริษัทก็ทำคล้ายๆ กันนี้
บริษัทที่เล่นใหญ่หน่อยคือ Full ที่เพียบพร้อมสมชื่อ ที่บูธแสดงนำอุปกรณ์ IoT (รองรับ ZigBee) มาแสดงเป็นหลายสิบชิ้น และมีในแคตตาล็อกอีกเยอะมากที่ไม่ได้นำมาจัดแสดงหมด
Full เป็นบริษัทำไต้หวันอายุเก่าแก่ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1984 จากที่เป็นบริษัทเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ ก็อัพเกรดตัวเองเป็นบริษัทที่เน้น IoT มาตั้งแต่ปี 2012
Full แบ่งผลิตภัณฑ์เป็นกล่อง IoT แบบ smart package ขนาดใหญ่ ที่จัดมาให้สำหรับการใช้งานแต่ละประเภท เช่น ดูแลผู้สูงอายุ, ชุดสำหรับใช้ในครัว ร้านอาหาร, ใช้เพื่อความสะดวกสบายในบ้านทั่วไป เป็นต้น
ยังมีอีกหลายบริษัทที่ไม่ได้มานำเสนอในบทความนี้ แต่ภาพรวมของแต่ละบริษัทคือเน้น IoT ทั้ง Smart City และ Smart Home แบบครบวงจร ทั้งดูแลคนในบ้านและความปลอดภัยในบ้าน โดยเฉพาะภัยจากน้ำท่วม แก๊สรั่ว ไฟไหม้ ที่จะเป็นสิ่งที่แต่ละครัวเรือนจำเป็นต้องใช้ในอนาคต
สินค้ากลุ่มกล้องวงจรปิด เราในเมืองไทยคงเห็นวางขายกันเป็นจำนวนมากแล้ว แต่สินค้าที่มาแสดงในงาน Computex แสดงให้เห็นว่าทุกคนพยายามจะไปไกลกว่าการเป็นแค่กล้อง และต้องการสร้างแพลตฟอร์มให้ครบถ้วนทุกการใช้งาน
การแข่งขันของ IoT ในอนาคตจึงมีความเป็นไปได้ว่าอุปกรณ์แทบทั้งบ้าน จะผูกติดกับผู้ผลิตรายใดรายหนึ่งเพราะผู้ใช้ต้องการแน่ใจว่าอุปกรณ์เข้ากับเครือข่ายในบ้านได้ หากอุปกรณ์เป็นระบบปิดก็น่าสนใจว่าบริษัทเหล่านี้จะซัพพอร์ตอุปกรณ์ในระยะยาวได้หรือไม่ การดูแลซ่อมบำรุงทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จะเป็นอย่างไร เท่าที่รู้ตอนนี้คือในตลาด IoT ประเทศไต้หวันนั้นโดดเด่นมากจริงๆ
Comments
Wow มาก แต่คงไม่มีทุกบ้านหรอกครับ น่าจะใช้เวลาอีก 10 ปี
กลุ่มกล้องวงจรปิดในไทยผมยังไม่เห็นตัวไหน ok เลย ของเมืองนอกอย่างพวก netgear นี่ใช้ google assistance สั่งด้วยเสียง cast ขึ้นจอ tv ได้เลย ไทยเห็นมีแต่เดิม ๆ ธรรมดา ๆ
ส่วนตัวใช้ xiaomi gateway ก็โออยู่ไม่แพงทำได้หลากหลาย
แหม อนาคตที่จะมีทุกบ้าน (ทุกวันนี้บ้านผมยังไม่มีเตาแก๊สใช้เลยครับ)
Telehealth น่าเข้าไทยนะ