Tags:
Node Thumbnail

วันนี้ Red Hat มีการจัดงานพบกับสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง เพื่อรายงานถึงความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงในรอบปีที่ผ่านมา (ตัวอย่างเช่น การเข้าซื้อ CoreOS ที่นำเอาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ OpenShift) โดยผู้บริหารในระดับภูมิภาคและประเทศไทยครับ

Blognone จึงขอสรุปการพบปะกับสื่อมวลชนในครั้งนี้ให้ท่านผู้อ่านครับ

No Description

ผู้บริหารของบริษัท (จากซ้ายไปขวาของภาพ: คุณกวินธร ภู่ตระกูล, David Worthington และ Damien Wong)

โอเพ่นซอร์สยังคงเป็นแนวทางหลักของบริษัท

Damien Wong รองประธานและผู้จัดการทั่วไปกลุ่มประเทศเอเชียที่เติบโตและกำลังเกิดใหม่ (Asia Growth & Emerging Market: GEMs) ระบุว่า Red Hat ยังคงให้ความสำคัญกับการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ในกลุ่มโอเพ่นซอร์สเป็นสำคัญ เนื่องจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เทคโนโลยีโอเพ่นซอร์สหลายตัวมีความสำคัญในระยะยาวต่อการพัฒนาเทคโนโลยีในฝั่งองค์กร (enterprise) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บริษัทเองได้พิสูจน์ให้เห็นจากโมเดลของบริษัทว่า ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สเองสามารถที่จะทำกำไรได้ และนั่นทำให้บริษัทเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีสะดุด ขณะที่คู่แข่งจำนวนหนึ่งกลับต้องเจอกับสภาวะชะลอตัวในบางจุด หรือบางเจ้าก็ล้มหายตายจากไปเลย

No Description

ที่กล่าวว่าหลักการโอเพ่นซอร์สมีความสำคัญไม่ใช่แค่ความเชื่อ แต่เกิดจากหลากหลายมิติ ตัวอย่างเช่นการแข่งขันระหว่างมาตรฐาน Kubernetes กับ Cloud Foundry ในเทคโนโลยี container ที่สุดท้าย Kubernetes กลายเป็นกลุ่มที่ชนะไป และกลายมาเป็นเทคโนโลยีแกนหลักในยุคปัจจุบัน เนื่องจากกลไกที่เปิดกว่า ยืดหยุ่นกว่า และไม่ถูกควบคุมโดยผู้ผลิตบางเจ้านั่นเอง

หลักการที่บริษัทยึดมั่นนี้ ผสานเข้ากับวิสัยทัศน์ของบริษัทที่มองว่า ในโลกความเป็นจริงระบบคอมพิวเตอร์องค์กรที่อาศัยคลาวด์เป็นระบบทำงานนั้น มีลักษณะผสม (hybrid cloud) ระหว่างระบบคลาวด์สาธารณะทั่วไป (เช่น AWS, Azure) กับระบบคลาวด์ภายในองค์กร เพื่อเน้นความยืดหยุ่น การอยู่บนซอฟต์แวร์หรือเทคโนโลยีแบบโอเพ่นซอร์ส ทำให้ลูกค้าสามารถย้ายโหลดงานได้ดีขึ้น รวมถึงทำตามข้อกำหนดต่างๆ ได้ ไม่ต้องถูกยึดติด (lock in) กับระบบหรือแพลตฟอร์มของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ทำให้เวลาจะย้ายหรือปรับเปลี่ยนอะไร ต้องเจอข้อจำกัดต่างๆ มากมาย

No Description

ทั้งหมดนี้ บริษัทยังไม่ทิ้งผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท ซึ่งก็คือ Linux ที่เป็นระบบปฏิบัติการหลักของบริษัทแต่อย่างใด เพราะทุกๆ ส่วนก็จะเชื่อมต่อเข้ากับระบบปฏิบัติการอยู่แล้ว และในระยะหลัง OpenShift ก็เป็นแกนกลางอีกอันที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบริษัท เชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียว

No Description

แนวทางหลักเหล่านี้ มีผลในเชิงวัฒนธรรมขององค์กรด้วย ในปัจจุบัน Red Hat นอกจากจะสนับสนุนชุมชนโอเพ่นซอร์สที่สำคัญต่างๆ แล้ว ยังเชื่อมั่นในหลักการพัฒนาแบบ Agile ซึ่งทำให้พัฒนาซอฟต์แวร์ออกมาอย่างรวดเร็ว รวมถึงเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าในมิตินี้ผ่านบริการ Open Innovation Labs ด้วย

Open Innovation Labs กับการส่งเสริมลูกค้า

David Worthington ผู้นำ Red Hat Open Innovation Labs ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ระบุว่าแนวทางของ Open Innovation Labs (จากนี้จะเรียกว่า OIL) คือการทำให้องค์กรของลูกค้าที่ใช้ระบบของ Red Hat หรือต้องการทดลองผลิตภัณฑ์ของบริษัท ได้มาทดลองใช้งานจริงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ร่วมกันจากทุกฝ่ายในองค์กร แต่มากกว่านั้นคือการสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่วัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้าง เปิดรับความเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อนำผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ขององค์กรออกสู่ตลาดให้เร็วที่สุด

No Description

กระบวนการของ OIL จะเป็นเรื่องของการรับฟัง พัฒนาร่วมกัน และติดตามผล เพื่อทำให้ลูกค้าพัฒนาแอพหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาให้เร็วที่สุด และเป็นการเปลี่ยนแปลงองค์กรให้ทันกับสถานการณ์มากที่สุด เพราะแนวทางในการพัฒนาแบบ waterfall (รอเสร็จเป็นเรื่องๆ แล้วอนุมัติ) แบบเดิมๆ ไม่สามารถใช้และปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีพอ

แนวทางของ OIL คือการใช้แนวคิดพัฒนาแบบ Agile เป็นหลัก ผสมกับ DevOps และความเร็ว ซึ่งทำให้ผลงานจาก OIL ออกมาได้รวดเร็วขึ้น และสามารถเผยแพร่ออกไปสู่ตลาดได้ไวขึ้น

No Description

ตัวอย่างที่ David ยกขึ้นมาคือกรณีของ Heritage Bank หนึ่งในธนาคารเก่าแก่ของออสเตรเลียที่ขอให้ Red Hat มาทำ OIL ที่บริษัทของตนเอง เพื่อเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงาน วัฒนธรรมการทำงาน และทำให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาจากบริษัท เป็นตัวกระตุ้นนวัตกรรม (ดูวิดีโอด้านล่าง)

สำหรับ OIL นั้นมีศูนย์หลักอยู่ 3 แห่งในแต่ละทวีป ประกอบด้วยที่ เมืองบอสตัน สำหรับอเมริกาเหนือ, กรุงลอนดอน สำหรับยุโรปและตะวันออกกลาง และสิงคโปร์ สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และลูกค้าสามารถขอให้ Red Hat จัดตั้ง OIL แบบชั่วคราว (pop-up) ในบริษัทได้เช่นกัน เพียงแค่ขอให้มีห้องและอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ลูกค้าจะสามารถเข้าถึงซอฟต์แวร์ทั้งหมดของบริษัทและซอฟต์แวร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

No Description

นอกเหนือไปจาก OIL ตามที่ต่างๆ และแบบ pop-up แล้ว บริษัทจะมีการจัดกิจกรรมอื่นๆ เป็นระยะ รวมถึงการเปิดตัวในตลาดอย่างอินเดีย จีน และเกาหลีต่อไปในอนาคต

ความเคลื่อนไหวของภูมิภาคและไทย

ในเชิงการบริหารงาน Red Hat เพิ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้าง โดยยุบรวมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้ารวมกับไต้หวันและเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เรียกว่า GEMs เนื่องจากตลาดแต่ละแห่งมีขนาดไม่ใหญ่มาก สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ไม่ยาก เน้นไปที่กลุ่มลูกค้าหลัก 3 กลุ่มคือ บริการทางการเงิน โทรคมนาคม และภาครัฐ

No Description

สำหรับประเทศไทย นอกจากการตั้งสำนักงานอย่างเป็นทางการในปี 2016 (พ.ศ. 2559) แล้ว ก็มีการจัดกิจกรรมเป็นระยะ และเมื่อเดือนที่แล้วก็มีการแต่งตั้งคุณกวินธร ภู่ตระกูล ขึ้นเป็นผู้จัดการประจำประเทศไทยอย่างเป็นทางการคนแรก

ส่วนลูกค้าในประเทศไทย Ascend Money (บริษัทลูกในเครือ True) ถือเป็นลูกค้ารายสำคัญของบริษัทที่นำเอาเทคโนโลยีอย่าง OpenShift, Satellite และ Ansible Automation เข้ามาใช้งานจริง ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนงานได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสมกับโหลดของงานด้วย

Get latest news from Blognone

Comments

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 25 July 2018 - 13:49 #1062681
panurat2000's picture

Blognone จึงขอสรุปการพบประกับสื่อมวลชนในครั้งนี้

พบประ => พบปะ

ที่กล่าวว่าหลักการโอเพ่นซอรส์มีความสำคัญ

ซอรส์ => ซอร์ส