ตั้งแต่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลที่ถูกใช้งานมากว่า 28 ปี ทำให้เราได้เห็นภาพดวงดาว กาแล็กซี่และจักรวาลส่วนอื่นๆ มาศึกษา ทำให้เราได้รู้จักจักรวาลมากขึ้น แต่ข้อจำกัดของมันก็ยังมีอยู่ มันยังไม่สามารถถ่ายภาพหรือเก็บแสงช่วงต้นกำเนิดจักรวาลได้
กว่า 20 ปีที่ผ่านมา องค์การนาซ่าได้พยายามพัฒนากล้องโทรทรรศน์อวกาศใหม่ที่มีความสามารถให้เหนือชั้นยิ่งกว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า James Webb Space Telescope หรือ JWST ซึ่งเป็นกล้องที่ใช้กระจกทองขนาดใหญ่ถึง 25 ฟุต ที่มีความสามารถในการเก็บแสงอินฟราเรดที่ไกลและเก่าแก่ย้อนไปได้ถึงช่วงยุคแรกของการกำเนิดดวงดาวและกาแล็กซี่หลังจากเกิด Big Bang ซึ่งเป็นสิ่งที่นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ต้องการเห็นมากที่สุด
JWST ที่มีความสามารถมองไปไกลจนอาจได้เห็น First stars หรือ First galaxies ได้ (ภาพจาก NASA)
กล้องถูกออกแบบโดย National Academies of Sciences, Engineering and Medicine ที่เสนอให้กับองค์การนาซ่า โดยมีแนวคิดว่า “นี่จะเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศยุคใหม่” ที่ต้องได้รับจัดลำดับความสำคัญสูงสุด และผลสำรวจทุกๆ 10 ปีจากชุมชนเหล่านักวิทยาศาสตร์ก็ตอบรับว่า นี่ควรเป็นโครงการที่รัฐบาลต้องลงทุนเม็ดเงินให้เกิดโครงการอีกด้วย
”เหล่านักวิทยาศาสตร์เลือกโครงการนี้กัน เนื่องจากเป็นโครงการทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่และน่าตื่นเต้นที่สุด โดยปราศจากความเข้าใจในเรื่องต้นทุน” คำกล่าวของ Charles Miller ประธานบริษัทที่ปรึกษาโครงการอวกาศจาก NexGen Space LLC
และเป็นเรื่องน่าเศร้าจนถึงเดี๋ยวนี้ องค์การนาซ่ายังไม่สามารถสร้างมันเสร็จ ยิงมันขึ้นไปในอวกาศ และศึกษาในสิ่งที่นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์รอคอยได้
โดยแต่เดิมนั้น มีการกำหนดส่งกล้องโทรทรรศน์ JWST ขึ้นอวกาศประมาณเดือนตุลาคมปี 2011 แต่ก่อนหน้ากำหนดการยิงแค่ 4 เดือน องค์การนาซ่าก็แถลงเลื่อนการยิงออกไปยาวถึงปี 2021 และบอกว่าต้องใช้เงินลงทุนในการสร้างเพิ่มอีกหลายล้านดอลลาร์สหรัฐจากงบประมาณเดิมที่ตั้งไว้
โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 1996 ด้วยงบประมาณแรกที่ 1 พันล้านดอลลาร์ มีแผนการยิงในปี 2007 แต่เมื่อโครงการก่อสร้างได้ดำเนินไป ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างกลับเริ่มบานปลายมากขึ้น จนถึงปัจจุบันนั้น มันสูงกว่าที่ตั้งไว้ตอนแรกถึง 9 เท่าแล้ว ซึ่ง ณ ตอนนี้อยู่ที่ 9.66 พันล้านดอลลาร์ และเลยแผนการยิงมานานแล้ว
ตอนนี้กลายเป็นหนึ่งในโครงการอวกาศที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ยังจบไม่ได้ แผนการยิงยังเลื่อนออกไปอีก และเริ่มมีการหาผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายด้านงบประมาณที่เกิดขึ้น
ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีการโทษไปที่บริษัท Northrop Grumman ซึ่งเป็นคู่สัญญากับองค์การนาซ่าในการสร้างกล้องโทรทรรศน์ JWST ให้ ซึ่งตั้งอยู่ที่ South California มีการโทษกันไปถึงความผิดพลาดที่เกิดจากคนงาน (Human error) เช่น ความผิดพลาดในการแก้ไขวิธีทำความสะอาดวาล์วเชื้อเพลิง หรือมีบางคนป้อนค่าความต่างศักย์ไฟฟ้าผิดระหว่างทดสอบ ซึ่งความผิดพลาดเล็กน้อยต่างๆ กลับทำให้กระบวนการสร้างต้องล่าช้าออกไปมาก รวมไปถึงสัญญาของบริษัทที่ว่า เมื่อมีอะไรล่าช้าเกิดขึ้นจนเกิดต้นทุนเพิ่มหลายล้านดอลลาร์ ทางบริษัทสามารถไปเบิกคืนจากรัฐบาลได้ (เรียกว่าสัญญาแบบ Cost-Plus) เพราะรัฐบาลถือว่า นี่เป็นโครงการที่ต้องทำให้เสร็จและสำเร็จให้ได้ บริษัทจึงแทบไม่เดือดร้อนอะไรเลย
จากหลายๆ สาเหตุของบริษัท ทำให้ Dana Rohrabacher หนึ่งในสมาชิกรัฐสภาอเมริกา ต้องไปกล่าวโทษซีอีโอบริษัท Northrop Grumman ด้วยตัวเอง โดยกล่าวว่าบริษัทควรออกค่าใช้จ่ายในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเอง และความผิดพลาดในกระบวนการทำงานที่เกิดขึ้น มันโง่เง่าที่สุดที่เคยพบเห็นมา
แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกลับมองว่า บริษัท Northrop Grumman ไม่ได้ผิดฝ่ายเดียว โดยจริงๆ แล้ว ต้นตอของปัญหาก็มาจากองค์การนาซ่าเองเหมือนกัน และเป็นปัญหาตั้งแต่เริ่มโครงการแล้วด้วย
ปัญหาที่ว่าคือ การสร้างกล้องโทรทรรศน์ JWST นั้นยากมาก เพราะเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะและซับซ้อนมากๆ จนองค์การนาซ่าเองไม่สามารถประเมินงบประมาณและระยะเวลาในการสร้างได้ตั้งแต่ต้น เพราะยังไม่มีใครในโลกรู้เลยว่าจะสร้างมันได้อย่างไร นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรต้องเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ และไม่มีข้อมูลอะไรเลย ดังนั้นการตั้งงบประมาณครั้งแรกนั้น นาซ่าหวังแต่เพียงว่าจะเป็นการตั้งงบที่ถูกต้อง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครรู้เลยจนกว่าจะเริ่มสร้างมันขึ้นมา
องค์การนาซ่าเองเคยถูกตำหนิเรื่องการตั้งงบประมาณในโครงการต่างๆ โดยมักจะเกิดงบบานปลาย เช่น กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ที่เคยตั้งไว้ที่ 200 ล้านดอลลาร์ แต่สุดท้ายจบที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์
ปัญหาหลักขององค์การนาซ่าจากรายงานที่ออกมาระบุว่า องค์การนาซ่าเองมีปัญหาในการประเมินทุกอย่างต่ำเกินไป มองโลกในแง่ดีและเป็นแบบนี้ตลอดจนเรียกได้ว่าเป็นปัญหาเรื้อรังฝังในวัฒนธรรมองค์กร
Charles Miller กล่าวอีกว่า นาซ่าไม่เคยพิจารณาในการจัดประชุมเกี่ยวกับการวัดความสำเร็จจากต้นทุนการสร้างและตารางแผนการสร้างเลย แถมยังมีคติอีกว่า เมื่องบถูกใช้จนหมด ก็สามารถขอได้ใหม่เรื่อยๆ โดยเฉพาะเคสสร้างกล้องโทรทรรศน์ JWST ที่ยังของบใหม่ แม้ว่ารัฐสภาจะให้ทุนขีดสุดที่ 8 พันล้านดอลลาร์แล้วก็ตาม
ก่อนโครงการสร้างกล้องโทรทรรศน์นี้จะเริ่มขึ้น จากสาเหตุการออกแบบที่ซับซ้อนและเป้าหมายภารกิจที่ยิ่งใหญ่ และด้วยความรู้และวิทยาการสมัยนั้น วิศวกรของนาซ่าจึงจำเป็นต้องสร้าง “นวัตกรรมใหม่ 10 อย่าง” ด้วยกัน เช่น การหาวิธีให้โปรแกรมควบคุมการทรงตัวของกล้องให้นิ่งพอในการเก็บแสงในวิถีโคจรระยะไกล หรือวัสดุแบบใหม่ที่จะไม่ทำให้อุปกรณ์การทำงานร้อนเกินไปเมื่อเจอพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ ซึ่ง Charles Miller บอกว่า แค่นวัตกรรม 1 อย่างก็มีต้นทุนสูงจนไม่มีใครจินตนาการถึงได้ และกระบวนการสร้างทั้งหมดเป็นแบบนวัตกรรมย้อนกลับ หมายถึง เดิมทีคุณต้องมีนวัตกรรมในมือก่อน ถึงจะสร้างยานอวกาศหรืออะไรก็แล้วแต่ได้ แต่นี่ทำกลับกัน เริ่มสร้างก่อน พอรู้ว่าขาดนวัตกรรมอะไร ก็สร้างนวัตกรรมตามมาประกอบอีกที ทุกอย่างจึงล่าช้าและต้นทุนสูงไปหมด
จากกรณีศึกษาของโครงการสร้างกล้อง JWST ทำให้โครงการอวกาศต้นทุนสูงอื่นๆ ตกอยู่ในความเสี่ยง เช่น โครงการกล้องโทรทรรศน์อวกาศ WFIRST ที่กำลังเริ่มเผชิญหน้าคล้ายกับของกล้อง JWST โดยท่านประธานาธิบดี Donald trump ได้เสนอให้ยุติโครงการ WFIRST ลง แล้วเอาเม็ดเงินไปลงทุนกับโครงการอวกาศอื่นดีกว่า
อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมที่เหนือกว่างบประมาณบานปลายในการสร้างกล้องโทรทรรศน์อวกาศ 1 ตัวของนาซ่า จริงๆ แล้วองค์การนาซ่าได้รับเงินงบประมาณเพียงแค่ 0.5% ของงบประมาณภาครัฐทั้งหมด หรือได้ราวๆ 19 พันล้านดอลลาร์ และแบ่งส่วนให้ทางดาราศาสตร์ฟิสิกส์ 1 พันล้านดอลลาร์ แต่ถ้าหากเทียบกับฝั่งกระทรวงกลาโหมนั้น ฝั่งนั้นยิ่งหนัก เนื่องจากงบบานปลายจากการวิจัยและพัฒนาเครื่องบินรบ F-35 หนึ่งลำ นั้นเกินไปถึง 100 พันล้านดอลลาร์เลยทีเดียว
แต่หากลองคิดว่า มวลมนุษยชาติจะได้เห็นภาพช่วงต้นกำเนิดจักรวาล การกำเนิดดวงดาวและกาแล็กซี่ต่างๆ หรืออาจเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพิสูจน์ทฤษฎี Big Bang แล้ว ด้วยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด อาจจะคุ้มค่าก็ได้
ที่มา: TheVerge
Comments
จรวจ SLS ก็ยังสร้างช้าด้วยเลย ขนาด Reuse เครื่องเก่ามาแท้ๆ
เดาว่าที่ estimate cost ต่ำๆก็เพราะกลัวไม่ได้ approval.. ถ้าเป็น DOD อาจจะ estimate ได้ไม่จำกัด 555
ดอลล่าร์ => ดอลลาร์
แก้ละครับ ขอบคุณครับ
เป็นองค์กรที่น่าเข้าไปรับเหมางานด้วยเป็นอย่างยิ่ง