Tags:
Node Thumbnail

เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว Blognone เคยมีการรายงานสรุปการบรรยายเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการแพทย์โดย นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาแล้ว ในครั้งนั้น อาจารย์ระบุอย่างชัดเจนว่าในเรื่องของเทคโนโลยีกับการแพทย์จำเป็นต้องยึดคนไข้เป็นศูนย์กลาง ก่อนที่จะคิดถึงเทคโนโลยี (อ่านสรุปการบรรยายครั้งที่แล้วได้ที่นี่)

ผ่านมาวันนี้ ที่งานประชุมวิชาการบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ประจำปี พ.ศ. 2561 อาจารย์นวนรรนกลับขึ้นเวทีมาพูดอีกครั้งหนึ่งในหัวข้อ Digital Health Transformation: What's Next? ซึ่งผมมีโอกาสได้ไปร่วมฟังการบรรยายในครั้งนี้ตามคำเชิญของคณะทำงานการประชุมวิชาการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และโรงพยาบาลสมิติเวช จึงขออนุญาตถ่ายทอดมาเป็นสรุปสั้นๆ ให้ได้อ่านกันครับ

No Description
นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์

อาจารย์นวนรรนยังคงเริ่มต้นการนำเสนอด้วยการย้ำจุดยืนเดิมว่า การใช้เทคโนโลยีใดๆ จำเป็นที่จะต้องยึดคนไข้และบริบทสถานการณ์เป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่เรื่องของการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวตั้ง แบบที่ต้องการจะใช้เทคโนโลยีอย่างเช่น Blockchain เข้ามาจัดการกับผู้ป่วย เพราะสิ่งสำคัญที่สุดในทางการแพทย์ คือต้องนำเอาสุขภาพของผู้ป่วยขึ้นมาก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงตามมาด้วยการเพิ่มข้อมูลเข้าไป แล้วเทคโนโลยีจึงจะตามมาเป็นอย่างสุดท้าย

No Description

วิธีคิดที่ตั้งต้นด้วยเทคโนโลยีแต่แรก จึงเป็นแนวทางที่ผิด เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนไปตลอดเวลาเสมอ และเราคงไม่อยากไล่ตามเทคโนโลยีไปเรื่อยๆ อย่างแน่นอน

No Description

เทคโนโลยีเองก็มีช่วงขึ้นและลงของมันด้วย ช่วงในรอบหลายปีที่ผ่านมาเราผ่านเทคโนโลยีต่างๆ มาเยอะมาก ซึ่งนำมาสู่ความหวังต่างๆ แต่พอใช้จริงกลับไม่เป็นแบบนั้น

No Description

เมื่อเราตั้งต้นแบบนี้ สิ่งที่ตามมาคือการทำให้เรามองเทคโนโลยีได้ดีขึ้นกว่าเดิมว่าควรนำมาเพื่อแก้ไขปัญหาอะไรและเหมาะสมกับสถานการณ์มากน้อยเพียงใด ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา เราเห็นเทคโนโลยีจำนวนมากที่จะเป็นความหวังให้กับโลกของการแพทย์ได้ แต่ในที่สุดเมื่อใช้จริงยังคงมีขอบเขตที่จำกัดมาก เช่น IBM Watson ที่ยังคงใช้ได้จริงจังเฉพาะในการรักษาโรคบางอย่าง (ล่าสุด IBM Watson Health เพิ่งปลดวิศวกรออกไปจำนวนมาก - ผู้เขียน) เพราะการใช้เทคโนโลยีย่อมแลกมาด้วยการสูญเสียบางอย่างเสมอ โดยเฉพาะปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ (human interaction) การทำให้เป็นดิจิทัล (digitization) จึงไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกดิจิทัล (digital transformation) แต่อย่างใด

ศาสตร์และสาขาอย่าง Health Informatics จึงเกิดขึ้น เพราะเป็นการพยายามใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาของสถานพยาบาลและคนไข้ รวมถึงสาธารณสุขเป็นวงกว้างด้วย โดยในปัจจุบันมีคนที่จบปริญญาเอกสาขานี้เพียง 3 ท่านในประเทศไทย (ทำงานจริงเพียง 2 ท่าน เพราะอีกท่านกำลังอยู่ระหว่างการใช้ทุน) และกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเพียงท่านเดียว ทำให้สาขานี้เป็นศาสตร์ที่ขาดแคลนมากในประเทศไทย

No Description

ขอบเขตของสาขา Health Informatics คือความพยายามในการศึกษาทั้งตัวนโยบาย การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กร และการดูแลเกี่ยวกับสุขภาวะของผู้ป่วยและผู้บริโภคผ่านโลกของไอที ด้วยตัวสาขาและศาสตร์เองที่ไม่ได้มองเทคโนโลยีเป็นตัวตั้ง ทำให้วิธีมองและกรอบคิดมีความแตกต่างไปจากโลกทางวิศวกรรม ที่อาศัยเทคโนโลยีมาเป็นตัวแก้ไขปัญหาทุกอย่าง (techno-centric)

No Description

โลกของ Health Informatics จึงเป็นโลกที่เต็มไปด้วยเรื่องต่างๆ จำนวนมาก และล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่บนฐานของการยึดผู้ป่วยเป็นแกนหลัก ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปเท่าใดก็ตาม อาจารย์ยังยกตัวอย่างเรื่องการใช้แถบกระดาษสีในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินเป็นวงกว้างด้วย ที่ถึงแม้จะไม่ทันสมัย แต่สามารถได้ข้อมูลที่ชัดเจนและจัดการกับสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดี

ปัญหาที่เราเจอกันในทุกวันนี้ คือปัญหาที่เราพยายามตอบคำถามผิดไปหมด 2 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การบรรยายรอบที่แล้ว อาจารย์ชี้ให้เห็นว่าโลกเทคโนโลยีที่ซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม ทำให้ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมากกว่าเดิม ทั้งฝั่งคนไข้ที่เข้าไม่ถึงข้อมูล ความแม่นยำที่ต่ำของอุปกรณ์ไอทีแบบสวมใส่ การไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ฝั่งโรงพยาบาลที่ยังบริหารจัดการข้อมูลได้ไม่เต็มที่ รวมถึงปัญหาความปลอดภัยที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ และในโลกของสาธารณสุขและนโยบายรัฐที่ยังไม่มีมาตรฐาน เรื่องเหล่านี้ทวีความรุนแรงขึ้น และทุกคนควรตระหนักถึงในจุดนี้อย่างมากเวลาจะใช้เทคโนโลยีใดก็ตาม

No Description

การคิดที่ดีและรอบคอบ จึงต้องดำเนินไปในทุกระดับ เพราะทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Health Informatics ล้วนแล้วแต่สัมพันธ์กัน ในระยะหลังแม้ผู้ป่วยจะเป็นศูนย์กลาง แต่เราต้องคิดไปไกลถึงทั้งในระดับนโยบาย และระดับชุมชนที่สัมพันธ์กันไปด้วย การนำเทคโนโลยีใดมาใช้จึงควรคิดถึงเรื่องเหล่านี้

No Description

อาจารย์นวนรรน ทิ้งท้ายว่าสิ่งที่ควรพิจารณาจากนี้เป็นต้นไป และถือเป็นทิศทางในอนาคตที่น่าจะเกิดขึ้นมีจำนวนมาก เช่นความพยายามในการผลักดันโรงพยาบาลให้ทันสมัยมากขึ้น การคิดถึงผู้บริโภคมากขึ้น รวมไปถึงอุปกรณ์ที่ดีและแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะนำมาสู่สิ่งที่เรียกว่า "Precision Medicine" ที่เป็นความหวังอย่างมากในยุคปัจจุบัน รวมไปถึงความสำเร็จและความล้มเหลวของสตาร์ทอัพหลายรายด้านสุขภาพในอนาคต

No Description

ขอขอบคุณคณะทำงานการประชุมวิชาการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และโรงพยาบาลสมิติเวช ที่ได้อำนวยความสะดวกให้เข้าฟังการบรรยายในครั้งนี้

Get latest news from Blognone

Comments

By: zerocool
ContributoriPhoneAndroid
on 16 August 2018 - 00:08 #1065883
zerocool's picture

เห็นด้วยกับบทความครับ

IT เป็นแค่วิธีการไม่ใช่เป้าหมาย


That is the way things are.