OpenStack โครงการโอเพ่นซอร์สพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ได้ออกเวอร์ชัน 18 โค้ดเนม Rocky แล้ว โดยในรุ่นนี้มีไฮไลต์สองอย่างคือเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานแบบโปรแกรมได้หรือ bare metal และ Fast Forward Upgrades
ไฮไลต์อย่างแรก คือ OpenStack Rocky ปรับปรุงความสามารถด้าน bare metal โครงสร้างพื้นฐานแบบโปรแกรมได้ เนื่องจากองค์กรบางแห่งต้องการดีพลอยคอนเทนเนอร์บน bare metal โดยตรงแทนที่จะดีพลอย VM เพื่อการใช้งานอย่างเช่น edge computing, network function virtualization (NFV) และ AI/machine learning โดยฟีเจอร์เหล่านี้อยู่ภายใต้โครงการ Ironic มีสิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเข้ามา เช่น
- การตั้งค่า BIOS แบบผู้ใช้จัดการเองได้ เพื่อความยืดหยุ่นในการใช้งาน
- เพิ่ม property ชื่อว่า conductor_group ใน Ironic เพื่อกำหนดว่าโหนดไหนจะให้ conductor (เครื่องมือที่ใช้ไดรเวอร์ในการ execute บนฮาร์ดแวร์) มีความสามารถในการควบคุมบ้าง
- อินเตอร์เฟสแบบใหม่สำหรับการดีพลอยแบบ diskless ใน Ironic ซึ่งมักจะได้ใช้ใน large-scale และ HPC
ถัดไปคือฟีเจอร์ Fast Forward Upgrade (FFU) ฟีเจอร์ใหม่จากโครงการ TripleO โดยฟีเจอร์นี้จะทำให้ผู้ใช้อัพเกรด OpenStack ไวขึ้น คือหากผู้ใช้ติดตั้งรุ่นปัจจุบันอยู่ ฟีเจอร์นี้จะช่วยให้การติดตั้ง OpenStack ที่ถัดไปอีก 3 รุ่นไปได้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้ใชัเทคโนโลยีต่าง ๆ ของ OpenStack รุ่นใหม่ ๆ ได้ไวขึ้น
ฟีเจอร์อื่น ๆ ที่น่าสนใจในแต่ละโครงการย่อย เช่น
- Cyborg: โครงการจัดการ lifecycle สำหรับตัวเร่งความเร็ว เช่น GPU, FPGA, DPDK และ SSD ซึ่ง Cyborg ที่มาพร้อม Rocky เปิดตัว REST API ใหม่สำหรับ FPGA ให้ผู้ใช้เปลี่ยนฟังก์ชันที่โหลดบนอุปกรณ์ FPGA แบบไดนามิกได้
- Qinling: โครงการใหม่พัฒนาระบบ function-as-a-service (FaaS) หรือ serverless บนคลาวด์ของ OpenStack เพื่อให้ผู้ใช้รันฟังก์ชันบนคลาวด์ของ OpenStack ได้โดยไม่ต้องจัดการเซิร์ฟเวอร์, VM หรือคอนเทนเนอร์
- Masakari: โครงการเพื่อการทำ high availability เพิ่มความสามารถในการมอนิเตอร์เพื่อตรวจสอบอาการล้มเหลวภายใน instance อย่างเช่น data corruption, scheduling failure หรืออื่น ๆ
- Octavia: โครงการพัฒนา load balancing เพิ่มการรองรับ UDP
- Magnum: โครงการเอนจินสำหรับประสานงานคอนเทนเนอร์และทรัพยากรใน OpenStack ผ่านการทดสอบความเข้ากันได้และได้เป็น Certified Kubernetes Installer แล้วใน Rocky
ที่มา - OpenStack