แม้จะรับตำแหน่งได้เพียง 6 อาทิตย์ สำหรับคุณปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด และรองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน ซึ่งใช้ประเทศไทยเป็นฐานดำเนินการหลัก แต่ความเคลื่อนไหวในระดับโลกของ ไอบีเอ็ม ถือได้ว่ามีมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการแถลงตัวเลขผลประกอบการที่ลดลงเล็กน้อยในไตรมาสที่ 3 ไปจนถึงข่าวใหญ่อย่าง ไอบีเอ็มเข้าซื้อ Red Hat
การมาดำรงตำแหน่งในครั้งนี้ของคุณปฐมา จึงอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของบริษัทพอสมควร ซึ่งในวันนี้ทางบริษัทได้มีการแถลงข่าวและเปิดเผยวิสัยทัศน์กับสื่อมวลชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่ง Blognone ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมฟังการแถลงในวันนี้ด้วย
คุณปฐมา จันทรักษ์
คุณปฐมาบอกว่า เธอเชื่อว่าสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดของไอบีเอ็ม อยู่ที่ระบบ Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์ซึ่งพัฒนามาอย่างยาวนาน และบริษัทเรียกว่า "Cognitive Computing" โดยมีแกนกลางอยู่ที่ระบบ IBM Watson นั่นเอง เนื่องจากในอนาคตบริษัทต่างๆ เอง ก็ต้องลงทุนในระบบเหล่านี้เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขัน (competitive advantage) และปัจจุบัน บริษัทมีผู้ใช้บริการ IBM Watson อยู่มากถึง 16,000 ราย กว่า 80 ประเทศ ครอบคลุม 20 กลุ่มอุตสาหกรรม
ในประเทศไทยเอง มีหลายบริษัทที่ใช้เทคโนโลยี ทั้งโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ธนาคารกสิกรไทย (ใช้ในการตรวจหาการโกงหรือฉ้อฉล) หรือ ปตท. (ใช้ในโรงแยกก๊าซที่ระยอง) และใช้ได้ผลดีอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม คุณปฐมาเชื่อว่าสิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือการรักษาสมดุล (balance) ระหว่างคนกับปัญญาประดิษฐ์ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก และควรไปด้วยกัน ไม่แยกจากกัน
นอกจาก AI แล้ว อีกหนึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เธอเชื่อว่าจะเข้ามาตอบโจทย์ได้ คือเรื่องของ Blockchain ซึ่งบริษัทมีการลงทุนและวิจัยไปเยอะมากในด้านนี้ หลายบริษัทเองก็มุ่งเข้าไปสู่ตลาดนี้ แต่สิ่งที่ทำให้บริษัทมีจุดแข็ง คือผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นที่รองรับกับเทคโนโลยีดังกล่าว รวมถึงสายสัมพันธ์ที่ดีต่อลูกค้าที่ใช้ผลิตภัณฑ์มาอย่างยาวนาน อีกทั้งช่วยแก้ปัญหาของลูกค้าได้จริง อย่างเช่น การตรวจสอบข้อมูล หรือติดตามสัญญาต่างๆ
ในกรณีประเทศไทย ไอบีเอ็มเข้าไปร่วมมือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain เพื่อใช้ในด้านต่างๆ เช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือการสร้างระบบหนังสือค้ำประกันบน Blockchain เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ของ ไอบีเอ็มโดยภาพรวมจึงเป็นการรวมเอาโซลูชั่นและบริการต่างๆ เข้ากับความชำนาญเข้าด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดอาศัย IBM Cloud เป็นฐานสำคัญ ที่ประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐาน ระบบ ซอฟต์แวร์ และการบริการของบริษัททั้งหมดเข้าด้วยกันนั่นเอง โดยยังคงเน้นเรื่องของความปลอดภัย และถือเป็นสิ่งพื้นฐานที่บริษัทให้ความสำคัญมาโดยตลอด
ผมสอบถามว่า ในกรณีที่รวมกับ Red Hat แล้ว ซึ่งตอนนี้ยังไม่เสร็จสิ้น ไอบีเอ็มจะได้อะไรบ้าง คุณปฐมาตอบว่า การรวมระหว่าง ไอบีเอ็มและ Red Hat ผลที่ออกมาคือบริษัทจะเป็นผู้นำในตลาด Hybrid Cloud ในทันที และนั่นจะตามมาด้วยโอกาสอีกมาก ซึ่งจะชัดเจนหลังการควบรวมกิจการเสร็จสิ้น
คุณปฐมาระบุว่า การกลับมาประเทศไทยในครั้งนี้ เป็นการกลับมาถาวร โดยขายบ้านที่สหรัฐอเมริกาไปแล้ว เหตุผลประการหนึ่งคือเรื่องของครอบครัวที่ต้องการกลับมาดูแล แต่อีกส่วนหนึ่งคือต้องการกลับมาผลักดันวงการเทคโนโลยีและทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาค ผ่านสองจุดที่สำคัญ คือการนำเอาโซลูชั่นระดับโลกของบริษัทเอาเข้ามาใช้ในประเทศ และการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอินโดจีนตอนเหนือ ที่ประกอบไปด้วย กัมพูชา ลาว และพม่า (ปกติจะต้องมีเวียดนามด้วย เรียกว่า CLMV แต่กรณีของไอบีเอ็ม เวียดนามมีการดูแลตลาดเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว)
สำหรับประเทศไทย นอกจากจะเป็นการนำเอาโซลูชั่นทั้งหมดกลับมาผลักดันเข้าตลาด (ผมถามเรื่องของ Watson Health ในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้มีเฉพาะโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ คุณปฐมาก็ระบุว่าในอนาคตคงมีเพิ่มต่อเนื่องแน่นอน) แล้ว ยังเป็นเรื่องของการช่วยเหลือองค์กรต่างๆ ให้เปลี่ยนผ่านไปสู่โลกดิจิทัลให้ได้ พร้อมกับส่งเสริมความร่วมมือระหว่างคู่ค้า (partner) รายต่างๆ ของบริษัทไปด้วยกัน ทั้งหมดจะถูกสนับสนุนโดยการสร้างคนผ่านโปรแกรมที่เรียกว่า PTECH
PTECH (Pathway in Technology Early College High School) ถือเป็นโครงการสำคัญของบริษัท ซึ่งตอนนี้กำลังมีการคุยกับองค์กรบางแห่งอยู่ ในการผลักดันและคัดเลือกให้นักศึกษาซึ่งเข้าข่ายโครงการ และศึกษาในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STEM: Science, Technology, Engineering, Mathematics) ได้รับโอกาสใหม่ๆ โดยบริษัทจะให้ทั้งการสนับสนุนทางการเงิน อาชีพ และการแนะนำ (mentor) ซึ่งทำให้เด็กที่จบไป สามารถมีงานทำได้ทันที โดยบริษัทเรียกคนกลุ่มนี้ว่า P-collar และปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 50 คนในสหรัฐอเมริกา
ความท้าทายอย่างหนึ่งคือในปัจจุบัน ลูกค้ามีตัวเลือกจำนวนมาก และเธอยอมรับว่า เป้าหมายคือการทำให้ไอบีเอ็ม เป็นตัวเลือกอันดับแรกของลูกค้านั่นเอง
นอกจากประเทศไทยแล้ว คุณปฐมายังตั้งเป้าให้ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอินโดจีนตอนเหนือทั้งหมดด้วย สอดคล้องกับตำแหน่งรองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน ที่เธอถือไว้อีกตำแหน่งด้วย เพราะที่ผ่านมาประเทศเหล่านี้มีผลิตภัณฑ์ของบริษัทเข้าไปใช้ แต่ยังไม่มีหน่วยงานหรือแผนกใดของบริษัทเข้าไปรับผิดชอบอย่างจริงจัง เช่น ไอบีเอ็มที่สิงคโปร์ เข้าไปขายโซลูชั่นในพม่า เป็นต้น นี่จึงเป็นการจัดระบบและโครงสร้างองค์กรใหม่ ซึ่งหวังว่าจะทำให้บริษัทเติบโตขึ้นได้ และแปลงให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในที่สุด
โดยตอนนี้ บริษัทเริ่มศึกษาตลาดประเทศเหล่านี้ และคาดว่าจะชัดเจนมากยิ่งขึ้นในปีหน้าเป็นต้นไป ซึ่งความสำเร็จทั้งหมดของบริษัทตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป จะขึ้นกับตลาดเหล่านี้ประกอบด้วย
Comments
สนใจประเด็น RedHat ครับ
สนใจด้วย
คิดว่าอาจได้เห็น RH บนเครื่องตระกูล Power หรือเอามาให้บริการใน Bluemix แหง
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว