เมื่อสองปีก่อน Elon Musk เซ็งกับปัญหารถติดในนครลอสแอนเจลิสจึงได้ประกาศว่าจะขุดอุโมงค์ใต้ดินเพื่อให้รถลงไปวิ่ง หวังแก้ปัญหารถติด ต่อมาก็ได้ตั้งบริษัทชื่อ The Boring Company พร้อมเดินหน้าขออนุญาตขุดอุโมงค์จริงๆ โดยเริ่มจากลานจอดรถของ SpaceX ที่เมือง Hawthorne และเปิดเผยความคืบหน้าเป็นระยะ ล่าสุดวันนี้ Elon Musk ได้เปิดตัวอุโมงค์ต้นแบบและนำรถไปสาธิตวิ่งจริงแล้ว
อุโมงค์ต้นแบบดังกล่าวยาว 1.83 กิโลเมตร โดย The Boring Co. ได้ดัดแปลงรถ Tesla Model X ด้วยการติดล้อขนาดเล็กข้างล้อรถยนต์เพื่อให้รูดไปกับรางเหล็กของอุโมงค์ (คล้ายล้อตรงมุมรถทามิยา) ซึ่ง Elon Musk ได้เข้าไปนั่งในรถและมีคนขับให้ด้วยความเร็วราว 72 กม./ชม. ตั้งแต่ทางเข้าและออกมาพูดคุยกับสื่อที่ทางออกอุโมงค์
Elon ระบุว่าเมื่อเปิดใช้จริงรถจะใช้ความเร็วได้มากกว่า 160 กม./ชม. ต่อมาได้เปิดให้สื่อทดลองนั่งในรถ Tesla Model X ไปตามอุโมงค์ด้วย อย่างไรก็ตาม สื่อระบุว่ายังรู้สึกว่ารถสั่นอยู่มากและไม่นุ่มนวล ซึ่ง Elon บอกว่าทีมงานของ The Boring Co. มีเวลาไม่พอในการแก้ไขปัญหาเรื่องความนุ่มนวล
นอกจากนี้ Elon ยังบอกว่าในการใช้งานจริงก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นรถ Tesla เท่านั้น แต่ขอให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีระบบขับอัตโนมัติ เนื่องจากภายในอุโมงค์แคบมาก (เส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 3.66 เมตร) ซึ่งหากมีรถเครื่องยนต์สันดาปภายในมาวิ่งจะก่อให้เกิดมลพิษในอุโมงค์สูง ทำให้ต้องมีระบบระบายอากาศที่ดี อีกทั้งการที่อุโมงค์มีขนาดเล็กยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการขุดเจาะรวมถึงดินจากการขุดก็น้อยลงด้วย
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจจากงาน คือ Elon Musk ระบุว่าบริษัทกำลังพยายามทำให้เครื่องขุดอุโมงค์ทำงานได้เร็วขึ้นเพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายโดยการเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องขุดขึ้น 3 เท่าจากเครื่องขุดแบบเดิม รวมถึงปรับปรุงหัวขุดให้ดีขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ขุดอุโมงค์ได้เร็วกว่าปกติถึง 15 เท่า (ปกติใช้เวลา 3-6 เดือนขุดได้ 1.6 กม. พร้อมค่าใช้จ่าย 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยบริษัทได้ตั้งชื่อเครื่องขุดอุโมงค์ของตนว่า Line Storm
สุดท้ายหากโปรเจ็คนี้เกิดขึ้นจริง ก็จะมี “รถประจำทาง” วิ่งวนอยู่ในเครือข่ายอุโมงค์ด้วย ผู้โดยสารเพียงลงลิฟต์ไปใต้ดินและขึ้นรถได้ตามปกติ
ที่มา - Ars Technica, WIRED
รูปทั้งหมดโดย The Boring Company
Tesla in @boringcompany tunnel with retractable wheel gear that turns a car into a rail-guided train & back again pic.twitter.com/3a6i0NoSmi
— Elon Musk (@elonmusk) December 19, 2018
Comments
ดูจากรถน่าจะใช้มอเตอร์ดำ-แดง
เจ๋ง
15 เท่าของ 3 - 6 เดือน 1.6 กมใ นี่
แค่ 6 - 12 วันเองนะ...
สมมุติ ต้องการทำ highway สัก 80 km
ก็ใช้ เวลาขุดแค่ 300 - 600 วัน รวมโน่นนี่นั่นถือว่าไวมาก
อุโมงค์เล็กมากแต่ก็พอสำหรับรถไฟฟ้านะ
น่าจะมาสัมปทานรถไฟบ้านเรามั่ง ต้นทุนจะได้ลดลง
เงินจะได้เข้ากระเป๋าคนเซ็นต์เยอะขึ้น
ถ้ามีใครติดถ้ำอีก elon จะส่งหัวขุดมาแทน
น่าจะมีการจำกัดให้ใช้แค่รถไฟฟ้าแน่เลย เครื่องยนต์สันดาปไม่น่ารอด
ขอบคุณครับ
โอ้ จริงด้วยครับ
แอบสงสงสัย หวังว่าในอุโมงค์คงมีระบบหมุนเวียน ถ่ายเทอากาศ บ้าง เผื่อมีปัญหา
โปรเจคอื่นของ tesla ดูดีนะ แต่อันนี้ส่วนตัวมองว่าเป็นโปรเจคที่ไม่ค่อยสร้างประโยชน์ให้คนส่วนใหญ่ เพราะอุโมงค์เหมือนจะถูกดีไซน์ให้เหมาะกับรถยนต์ขนาดเล็กและไม่เหมาะกับรถไฟ หรือ mass transit
อารมณ์เหมือนสร้าง private tunnel ให้คนรวยใช้กันมากกว่า และต่อไปถ้าจะสร้าง network tunnel จริงคงหมดเงินไปไม่น้อย และพื้นที่ที่เสียไปในการขุดอุโมงค์ไม่รู้จะคุ้มหรือเปล่าเมื่อเทียบกับจำนวนคนที่จะได้ประโยชน์จากการขุด
ส่วนเทคโนโลยีก็ไม่ได้ดูว้าวอย่างที่โฆษณา
"สุดท้ายหากโปรเจ็คนี้เกิดขึ้นจริง ก็จะมี “รถประจำทาง” วิ่งวนอยู่ในเครือข่ายอุโมงค์ด้วย ผู้โดยสารเพียงลงลิฟต์ไปใต้ดินและขึ้นรถได้ตามปกติ" และตัวเทคเพิ่มความเร็วในการขุดลดต้นทุนมหาศาล แค่นี้ก็ผลิกโฉมวงการการขุดอุโมงค์ไปขนาดไหนแล้วครับ เราลงทุนเท่าเดิมได้ของเยอะขึ้น 15 เท่า ส่วนการทำทรานสปอร์ตขนาดใหญ่มันมีข้อเสียครับ รับคนได้มากแต่จัดการเชื่อมต่อก็ใหญ่ทำให้กระจายจุดได้น้อย ทำให้ให้คนจะใช้งานต้องเดินทางต่ออีก ถ้าทำเหมือนรถเมย์ที่เร็วได้เท่ารถไฟเวิร์คกว่าเยอะครับ
ที่ผมมองว่าเทคโนโลยีนี้ไม่ว้าว เพราะผมเคยดูสารคดีที่ทางญี่ปุ่นเค้ามีความพยายามจะขุดอุโมงค์ระหว่างเกาะฮอนชูกับฮอกไกโดเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งหน้าตาเครื่องขุดเจาะก็จะประมาณนี้แหละ และความเร็วในการขุดผมจำตัวเลขที่ชัดเจนไม่ได้ แต่จำได้ว่าได้ค่อนข้างเร็วมาก
แต่ปัญหาเรื่องนี้มันไม่ได้อยู่ที่ความยากหรือความเร็วในการขุด แต่มันอยู่ที่ว่าถ้ารถไฟวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด มันจะทำให้เกิดการบีบอัดอากาศปริมาณมหาศาลภายในอุโมงค์ นั่นหมายความว่า รถไฟจะวิ่งสวนกันไม่ได้เลยเพราะเป็นอันตรายมาก ถ้าจะทำก็ต้องทำอุโมงค์แยกต่างหาก แต่ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นมหาศาลด้วยเช่นกัน
ส่วนเรื่องรถประจำทาง ผมมองว่าถ้าจะทำจริง ทำบนดินก็ได้ครับ ให้ทำเลนแยกแบบรถรางแบบที่หลายประเทศทำกันก็น่าจะเพียงพอ ไม่ต้องลงทุนขุดไปทำในอุโมงค์ให้วุ่นวาย อย่าลืมว่าการวิ่งรถประจำทางที่กล่าวถึงนั้นต้องใช้ร่วมกับรถไม่ประจำทางหรือไม่ก็ต้องสร้างอุโมงค์แยกต่างหาก ซึ่งผมมองว่าค่าใช้จ่ายกับประโยชน์ที่ได้รับอาจจะไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่ครับ
ทำบนดิน ในไทยมีตัวอย่างคือ BRT ครับ ของเราจะแปลกตรงดันไปวิ่งรวมกันกับรถปกตินี่แหละ
ของประเทศอื่นเท่าที่จำได้ (หรือเคยได้ยินคนเล่ามา) ก็มีสร้างเป็นสถานีเหมือนรถไฟฟ้า แต่สร้างเป็นถนนธรรมดาไม่มีรางเลย ละเอารถบัสไปวิ่ง
อุโมงค์ของ The Boring Company น่าจะเป็นการผสมผสาน โดยสถานีจอดรถบัสอาจจะเป็นแค่ลูปหนึ่งออกมาหยุดรับคน จากนั้นก็วิ่งต่อเข้าเส้นทางเดิมไป ในขณะที่รถคันอื่นก็จะวิ่งด้วยเลนเดี่ยว ไม่มีการแซง ไม่มีไฟแดง ลักษณะคล้ายๆ กับทางด่วน (ที่ด่วนจริงๆ)
ที่น่าเป็นห่วงคือการเคลื่อนไหวบังคับทิศทาง เลี้ยวซ้าย/ขวา การแก้ปัญหาอุบัติเหตุภายในอุโมงค์ และความเสียหายต่อตัวอุโมงค์หากเกิดอุบัติเหตุ ถ้าเค้าปิดเรื่องพวกนี้ได้หมด ผมว่าเวิร์คครับ
พูดถึง BRT ทำไมเราไม่ทำแบบที่จีนอย่างที่พี่อธิบายจริงๆ โครงสร้างคล้ายรถไฟฟ้า แต่ไม่ต้องมีราง เป็นถนนให้รถบัสเดิน ผมว่าไอเดียนี้ดีมากเลยนะ ไม่ต้องนำเข้ารางและขบวนรถจากต่างประเทศ แค่ในไทยก็สามารถสร้างและต่อรถบัสได้เองอยู่แล้ว ข่อแค่มี Chassis ก็พอ พ่วงระบบนำทางและระบบเปิด-ปิดประตูอัตโนมัติ
ส่วนสถานีก็ทำแบบ BTS ที่มีกระจกกั้นกันคนเดินออกไป บ้านเราทำได้นะ แล้จะดีถ้าบังคับให้รถเมล์ทุกสายใช้ระบบนี้รวมกันไปเลย โดยเฉพาะถนนสายใหญ่ เส้นทางหลักๆ ในกรุงเทพ ช่วยลดรถติดได้เยอะเลย
ส่วน BRT ที่ตอนนี้มันสร้างไปแล้ว ผมว่าน่าจะทำการขุดให้รถลงลอดทุกแยกและแยกจากระบบถนนปกติไปเลย ไม่มีรถติด ตรงเวลาและมีประสิทธิภาพ จะดีกว่านะ
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
BRT เนี่ย กทม. ไปดูงานมาจาก Las Vegas ครับ (เคยเห็นตอนเค้านำเสนอทางทีวี)
ก็เป็นระบบที่ดีนะ แต่ที่ต่างคือ ที่ Vegas พื้นที่เค้าใหญ่เหลือเฟือ ถนนก็กว้างมาก
พอเอาแนวคิดนี้มาทำที่ กทม. ต้องไปเบียดที่ถนนเดิมที่เล็กอยู่แล้วซะอีก เลยกลายเป็นแบบนี้
ผมว่าจะดูงานประเทศไหนก็ไม่เหมาะกับไทย 555
เคยดู timelapse ถนนที่นอร์เวย์ bus lane นี่แทบไม่มีรถวิ่งเลย ยกเว้นรถบัสกับ EV ถึงอยู่ตรงทางเชื่อม รถก็เข้ามาแล้วก็เปลี่ยนเลน ถึงแม้เลนอื่นจะติดก็ไม่มีคนแทรกออกมา (ชั่วโมงเร่งด่วน)
ดูแล้วก็ อื้อหือ...
เห็นคำพูดแล้วรู้เลยว่าไม่เคยขึ้น BRT แน่นอน BRT ประเทศเรามีการกันถนนไว้ให้วิ่งโดยเฉพาะครับ จะใช้ถนนรวมกับรถอื่นๆ ก็เฉพาะเวลาขึ้นสะพานข้ามแยกกับสะพานข้ามเจ้าพระยา มีระบบซื้อตั๋วและประตูอัตโนมัติเปิดปิดเหมือนรถไฟฟ้า ส่วนที่เห็นมีรถอื่นเข้าไปวิ่งด้วยคือนิสัยมักง่ายของคนไทยบางคนครับที่เห็นมันว่างดีก็เข้าไปวิ่ง
ผมใช้บริการอยู่บ่อยครั้งก็สะดวกสบายดีนะครับ
ผมเคยใช้ บอกได้เลย รถเต็มตลอด ค่อนข้างช้าเพราะเจอรถติด แถมรถน้อย รอนานมากกว่าจะได้ขึ้น ยิ่งข้ามฝั่งธนยิ่งช่า เพราะไม่มีกั้นเลย ไปใช้ร่วมกับถนนปกติ มีเส้นขีดแต่ไม่มีใครสนใจแถมขับเข้าตามปกติ เหมือนไม่มีเลนนี้เลย
สะดวกสบายนะใช่ แต่มันไม่ตรงเวลาเท่าระบบปิดครับ แล้วระบบ BRT ควรเป็นระบบปิดตั้งแต่ต้นแล้วจากคนออกแบบ ไม่ใช่มาใช้คู่กับถนนปกติแบบนี้ รถก็ติดนะสิ อย่างน้อยก็ทำแบบจีนที่สร้างสะพานยกระดับคล้าย BTS แต่ให้รถวิงแทนไปเลย หรือสร้างลงใต้ดินตั้งแต่แรก หรือเสียเวลาหน่อยทำทางลอดทุกแยก แล้วปิดไม่ให้รถคันอื่นเข้าใช้งานเลยครับ
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
จริงๆ ถ้าเป็นเมืองนอกทำแค่ปัจจุบันนี้ก็พอครับ แต่ผมเห็นด้วยกับคุณเรื่องระบบปิดนะครับดูจะเหมาะกับเมืองไทยมากกว่า
แถวๆที่ทำ (California) เนี่ย ก็คงไม่สามารถไปสร้างบนดินได้เพิ่มมากนัก เพราะแค่นี้ก็เต็ม (และติดอยู่แล้ว) หรือถ้ามองอย่างกรุงเทพบ้านเรา สุขุมวิท จะไปทำตรงไหนครับ
แนวคิดที่ Boring บอกคือการสร้างใต้ดิน มันทำแนวตั้งลึกลงไปได้ คืออุโมงค์หลายๆอันซ้อนกัน ซึ่งอีกเป้าหมายนึงก็คือการลดต้นทุนในการขุดเนี่ยแหละ
รอดูว่าใช้จริง จะเอารถลงไปที่อุโมงค์ด้านล่างยังไง
มีจุดลงอุโมงค์มากน้อยแค่ไหน จัดระเบียบเส้นทางยังไง
ดูแล้วยังห่างไกลกับการนำมาใช้จริงไม่น้อยนะครัช
มีอุบัติเหตุจะขนคนออกมายังไง