ย้อนไปในปี 2014 ที่ พรรค BJP (Bharatiya Janata Party) ได้เป็นรัฐบาล ประเทศอินเดียมีนโยบายเปิดกว้างกับบริษัทเทคโนโลยีอย่างมาก พยายามดึงดูดต่างชาติให้มาลงทุนเต็มที่ นายกรัฐมนตรี Narendra Modi ก็เคยไปเยือนและพบผู้บริหารแทบจะทุกบริษัทในซิลิคอนวัลเล่ย์ Jeff Bezos ซีอีโอ Amazon เองยังเคยบอกว่าอินเดียเป็นตลาดที่ดีที่จะมาทำธุรกิจด้วย
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ปี 2019 ที่กำลังก้าวเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไป เรียกได้ว่าอินเดียมีนโยบายต่อบริษัทต่างชาติเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ
Narendra Modi
ภาพจาก Shutterstock
ปี 2019 กฎหมายห้ามอีคอมเมิร์ซขายสินค้าที่ตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสียมีผลบังคับใช้ กระทบ Amazon และ Flipkart เต็มๆ ต้องนำสินค้าออกนับแสนรายการ โดยจุดประสงค์ของกฎหมายนี้คือป้องกันการผูกขาดโดยบริษัทใหญ่ และยังมีการออกคำสั่งด้านกฎระเบียบที่กำหนดให้บริษัท payment สหรัฐฯจัดเก็บข้อมูลทางการเงินของผู้ใช้ชาวอินเดียไว้ในประเทศ ซึ่ง MasterCard และ Visa และบริษัทล็อบบี้ยิสต์ตัวแทนของ Google และ Facebook ก็พากันคัดค้านคำสั่งแต่ก็ไม่เป็นผล
และในเร็วๆ นี้ อินเดียยังออกกฎใหม่ให้ ตัวกลางของบริษัทอินเทอร์เน็ตที่มีผู้ใช้งานเกิน 5 ล้านคน ต้องตั้งสำนักงานท้องถิ่น และหัวหน้าทำหน้าที่ดูแลในประเทศ กรณีเกิดปัญหา เช่น การคุกคามออนไลน์ ความเกลียดชัง เนื้อหาที่เป็นอันตราย
บริษัทล็อบบี้ยิสต์ตัวแทนบริษัทอื่นๆ ในสหรัฐฯ ยังระบุด้วยว่า บรรยากาศการต้อนรับอันอบอุ่นของอินเดียนั้นหายไป มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ไม่เปิดโอกาสให้หารือต่อรองหรือขยายระยะเวลาเลย
Aruna Sundararajan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโทรคมนาคมของอินเดียกล่าวกับกลุ่มสตาร์ทอัพอินเดียว่ารัฐบาลกำลังทำงานเพื่อกำหนดนโยบายใหม่เพื่อสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของบริษัทอินเดีย และยังไม่มีการให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่านโยบายดังกล่าวจะทำอย่างไร
การประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรี Narendra Modi กับผู้บริหารบริษัทในสหรัฐฯ ทั้ง Google, Microsoft, Cisco ฯลฯ ในปี 2015
ภาพจาก Wikipedia
Mukesh Ambani ชายที่รวยที่สุดในอินเดียและเป็นเจ้าของ Reliance Industries และยังเป็นพันธมิตรของนายกรัฐมนตรี Narendra Modi เคยกล่าวกับบรรดาพ่อค้าว่า อินเดียต้องลุกขึ้นมาต่อต้านการล่าอาณานิคมของข้อมูล ซึ่งคล้ายกับการเคลื่อนไหวของมหาตมะคานธี ต้องทำให้ความมั่งคั่งของอินเดียกลับคืนสู่อินเดีย
สำหรับบริษัทต่างชาติ อินเดียอาจเป็นฐานลูกค้าใหญ่ แต่ในแง่รายได้ไม่ได้มากขนาดนั้น ในปี 2018 Google สร้างรายได้ 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐในอินเดียในปีที่แล้วสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2018 เทียบกับตัวเลขรายได้ทั่วโลก 110.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูลจาก Paper.vc บริษัทวิจัยในอินเดีย) ส่วน Facebook สร้างรายได้ได้ 78 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับรายได้ทั่วโลก 39.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วน Amazon ในอินเดียที่มีการลงทุน 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีรายได้ในอินเดัยอยู่ที่ 754.2 ล้านเหรียญสหรัฐเทียบกับรายได้ทั่วโลก 177 พันล้านเหรียญสหรัฐ
Prasanto K Roy นักวิเคราะห์เทคโนโลยีและนโยบาย เตือนว่า การเดินหน้านโยบายเช่นนี้ของอินเดีย จะเป็นผลเสียแก่บริษัทอินเดียเอง เพราะบริษัทต่างชาติก็จะเลี่ยงไม่ลงทุนในบริษัทอื่นด้วย โดยเฉพาะสตาร์ทอัพตั้งใหม่ที่มักได้เงินลงทุนจากบริษัทลงทุนต่างชาติมากกว่าจะเป็นบริษัทในอินเดีย
ที่มา - Venture Beat
Comments
น่าสนใจแฮะกรณีการเดินหมากเช่นนี้ ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะดีหรือเสียในระยะยาว
That is the way things are.
เหมือนมาบอกเล่าที่ต้องการจะบอกว่า อย่าลงทุนในอินเดียเพราะอินเดียไม่ได้เป็นประเทศเสรี ศิวิลัยเหมือนที่เคยจะเป็น... นั้นคือสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะบอกใช่ไหมครับ?
เรื่องกฎหมายห้ามอีคอมเมิร์ซขายสินค้าที่ตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสีย มันก็เหมือนกฎหมายที่บังคับให้ Boeing ต้องผลิตเครื่องบินเท่านั้น จากแต่เดิม Boeing ก็เป็นบริษัทขนส่งจดหมายทางอากาศและเป็นผู้ผลิตเครื่องบินด้วย รัฐบาลอเมริกาเลยออกกฎหมายอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรม และการผูกขาด(อะไรซักอย่างนี่ล่ะ ผมจำไม่ได้ อ่านเจอจากหนังสือครับ) บังคับให้ Boeing เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้ว Boeing ก็เลือกที่จะผลิตเครื่องบินมาถึงปัจจุบัน กฎหมายนี้ Standard Oil ก็โดนด้วยครับ เลยโดนแยกเป็น ExxonMobil(Esso), Chevron(Caltex), BP และ Marathon Petroleum เฉกเช่นในปัจจุบันนี้
อินเดีย เขาก็ชาตินิยมมาแต่ไหนแต่ไรแล้วนี่ครับ? แค่เจรจา FTA ยังเอาทุกเม็ด และอินเดีย ก็เป็นประเทศที่มีการเติบโตทาง GDP เป็นลำดับที่ 6 ของโลกในปี 2017 ถ้าไม่สนเงิน-รับไม่ได้กับนโยบายเจ้าของประเทศก็ถอยไป ยังมีอีกหลายบริษัทที่พร้อมจะกระโจนเข้าไปเล่นนะครับ
รัฐบาลอินเดียก็แค่ต้องการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล และสิทธิต่างๆ ของประชาชนอินเดียเท่านั้นครับ ไม่ได้มีอะไรมาก ถ้าคุณทำตามกฎหมาย ไม่สร้างเงื่อนไขให้ตัวเองเป็นปัญหามาก เขาก็จบครับ เพราะผมลงทุนและค้าขายกับอินเดียอยู่ครับ
ผมว่าเขาต้องการหนุน Startup ในประเทศนั่นแหล่ะ เป็นการกีดกันแบบกลายๆ เพื่อให้ Startup ให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ ด้วยจำนวนประชากรระดับอินเดีย แทบจะทำโมเดลเดียวกันจีนยังได้ แต่ก็คงไม่อยากหักกับฝั่งตะวันตกมาก ก็เลยใช้วิธีอ้างป้องกันการผูกขาดไป เพราะมันเป็นประเด็นที่ฝ่ายตะวันตกก็เถียงไม่ออก
เพื่อ ให้คน ในประเทศ เก่ง ขึ้น ไม่โดน แย่งงาน จาก ต่างชาติ
ที่อินเดียดำเนินนโยบายลักษณะนี้ได้ เพราะพวกชังชาติไม่ได้เยอะเหมือนบางประเทศครับ
มีหลักฐานตัวเลขมายืนยันเปรียบเทียบกันไหมครับ หรือว่าเหน็บเอาสนุกพูดลอย ๆ
That is the way things are.