หลายคนอาจคิดว่าอีบุ๊กเป็นวงการที่ไปไม่รอด ทำอย่างไรก็ขาดทุนเพราะคนไทยไม่อ่านหนังสือเยอะขนาดนั้น แต่ MEB ผู้ให้บริการอีบุ๊กรายแรกๆ ของไทยที่ไม่ได้มีทุนมากมาย กลับสามารถเติบโตและทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ก่อนจะเข้าไปเป็นบริษัทในเครือเซ็นทรัลในเวลาต่อมา
ทุกวันนี้แม้จะอยู่ในเครือบริษัทใหญ่ แต่ MEB ก็ยังคงความเป็นสตาร์ทอัพเอาไว้ได้อย่างดี มีการบริหารงานที่อิสระ ขนาดทีมยังไม่ใหญ่และกำลังมองหาพนักงานใหม่มาช่วยให้บริษัทเติบโตมากขึ้นไปกว่านี้ด้วย
เรื่องราวของ MEB (Mobile E-Books) อาจจะคล้ายกับสตาร์ทอัพอีบุ๊กหลายเจ้าที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงหนังสือกำลังเฟื่องฟูในราวปี 2011 โดยคุณโก๋ กิตติพงษ์ แซ่ลิ้มและคุณไช้ รวิวร มะหะสิทธิ์ สองผู้ก่อตั้งที่เห็นข้อจำกัดหลายอย่างในอุตสาหกรรมหนังสือ ด้วยวิธีคิดแบบวิศวกร เลยต้องการหาโซลูชันระยะยาวที่จะเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในวงการหนังสือ
จุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงการหนังสือคือคุณไช้เป็นคนรักหนังสืออยู่แล้ว เคยเปิดสำนักพิมพ์ของตัวเอง จึงมีประสบการณ์ตรงว่าวงการหนังสือมีข้อจำกัดอย่างไร ทั้งในแง่ต้นทุนการพิมพ์, การสต๊อก, กระบวนการกระจายหนังสือ แต่ในขณะเดียวกัน คุณไช้ก็พัฒนาโปรแกรมช่วยสนับสนุนธุรกิจหนังสือเองด้วย อย่างเครื่องมือช่วยตรวจคำผิด, แก้ฟอนต์ เป็นต้น
คุณไช้ รวิวร มะหะสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง MEB
สถานการณ์ในปี 2011 (พ.ศ. 2554) มีปัจจัยหลายอย่างเอื้อให้อีบุ๊กเริ่มได้รับความนิยม จากทั้งเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ทำให้หนังสือจำนวนมากขึ้นราเสียหาย ขนย้ายลำบาก อีกทั้งสมาร์ทโฟนเริ่มเติบโตและได้รับความนิยมมากขึ้น ปีนั้นเป็นปีที่ iPhone 4s เปิดตัว และ iPad ก็เปิดตัวครั้งแรกในช่วงไล่เลี่ยกันคือปี 2010
ความท้าทายของ MEB คือไม่เคยเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพใดๆ ไม่เคยเปิดระดมทุนจากนักลงทุนหน้าไหน รวมถึงไม่ใช่ร้านหนังสือรายใหญ่ที่หันมาทำอีบุ๊คเพิ่มเติม ทำให้เงินทุนอาจไม่หนาเท่าคู่แข่งอื่นๆ ดังนั้นโมเดลการทำธุรกิจของ MEB จึงต้องทำในสิ่งที่คู่แข่งทุนหนาทำไม่ได้หรือไม่ทำ และพยายามเก็บเล็กผสมน้อย ไม่เผาเงินโดยไม่จำเป็น
รูปแบบการทำธุรกิจแบบนี้คุณไช้เรียกว่า "Cockroach Startup" ใช้กลยุทธ์ซอกแซกไปตามที่ที่คนอื่นไม่ไปหรือนึกไม่ถึง อย่างเช่น การสนับสนุนนักเขียน เพราะรับรู้อยู่แล้วว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีปัญหาในการขายหนังสือตัวเองอย่างไร ซึ่ง MEB ก็ได้กลายเป็นโซลูชันเต็มรูปแบบให้นักเขียนเหล่านี้ ซึ่งไม่ใช่แค่นักเขียน สำนักพิมพ์ในไทยส่วนใหญ่ก็ขายอีบุ๊คผ่าน MEB เหมือนกัน
จุดหลักของ MEB คือไม่เพียงแค่ติดต่อขอหนังสือมาขายแล้วจบกันไป แต่ทำงานร่วมกันเป็นพาร์ทเนอร์ระยะยาว ช่วยดูแลแก้ปัญหาต่างๆ ให้ รวมถึงเสนอช่องทางด้านการตลาดหรือการโปรโมทหนังสือให้ด้วย เมื่อนักเขียนและสำนักพิมพ์เหล่านี้ประทับใจทั้งกับบริการและส่วนแบ่งรายได้จาก MEB ทำให้พวกเขาเหล่านี้เลือกจะอยู่เป็นพาร์ทเนอร์กันต่อไป
โมเดลการหารายได้ของ MEB จะอยู่ในรูปแบบการแบ่งรายได้จากยอดขายที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการเปิดกว้างสำหรับผู้ที่สนใจนำผลงานมาเผยแพร่อย่างยิ่ง เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายในการนำผลงานมาลงขาย ทำให้บริษัททำกำไรได้ตั้งแต่ปีแรก และเติบโตในแง่ยอดขาย 2 หลักในทุกๆ ไตรมาสมาตั้งแต่ก่อตั้ง ที่สำคัญคือการเติบโตของ MEB เป็นการเติบโตแบบออร์แกนิค ไม่เน้นการ Growth Hack แต่อย่างใดด้วย
ปีล่าสุดบริษัทมียอดขาย 500 ล้านบาท จำนวนผู้ใช้ 2.2 ล้านคน Quarterly Active User ราว 4.76 แสนคน
ปี 2013 MEB มี COL (บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน)) บริษัทแม่ของ B2S และ Office Mate เข้ามาถือหุ้นใหญ่ นับเป็นนักลงทุนรายแรกและรายเดียวที่เข้ามาลงทุนกับ MEB ทำให้ปัจจุบันบริษัท MEB ถือเป็นบริษัทในเครือเซ็นทรัล แต่ยังมีอิสระในการบริหารเหมือนเดิม
ที่ผ่านมา MEB ถือว่าประสบความสำเร็จในฐานะปลายน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของคนทำหนังสือ ทำให้ปี 2017 MEB เปิดตัวบริการที่ 2 คือ readAwrite ที่ทำหน้าที่เป็นต้นน้ำ เป็นแพลตฟอร์มให้นักเขียนได้เขียนงานผ่านช่องทางออนไลน์โดยตรง โดยสามารถเลือกได้ว่าจะให้อ่านฟรีหรืออ่านแบบเสียเงิน ขณะที่คนอ่านก็สามารถสนับสนุนนักเขียนที่ชื่นชอบโดยเลือกบริจาคให้กับนักเขียนโดยตรงได้อีกด้วย
readAwrite ถือว่าประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน มีทราฟฟิคขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ในตลาดนิยายออนไลน์ โดย 2 อันดับแรกคือผู้ให้บริการเจ้าเก่าที่อยู่ในตลาดนี้มานานแล้ว ส่วนโมเดลรายได้จาก readAwrite ก็เหมือนกับ MEB คือเจ้าของผลงานสามารถลงงานได้ฟรี และมีรายได้จากส่วนแบ่งยอดขายที่เกิดขึ้น
เป้าหมายถัดไปของ MEB คือเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายใน 2-3 ปี โดยคุณไช้มองว่าการเข้าตลาดไม่ใช่การ exit แต่เป็นการพาบริษัทไปให้ไกลกว่าเดิมและมั่นคงมากขึ้น ตอนนี้รายละเอียดและเงื่อนไขในการเข้าตลาดถือว่าผ่านหมดแล้ว เหลือเพียงรอจังหวะและเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น
MEB ตอนนี้ถือเป็นองค์กรเล็กๆ มีพนักงานอยู่ราว 50 คนเท่านั้นโดยเป็นนักพัฒนากว่าครึ่ง อายุเฉลี่ยก็ไล่ๆ กันที่ราว 25-26 ปี ทำให้บรรยากาศการทำงานค่อนข้างสบาย พูดคุยกันได้ทุกเรื่อง โครงสร้างขององค์กรก็ถือว่าแบนราบมาก ระดับที่พนักงานทุกตำแหน่งกับผู้บริหารใกล้ชิดกันสุดๆ สามารถเข้าไปพูดคุย นำเสนอไอเดียได้โดยตรงทันที
กระบวนการทำงานก็ค่อนข้างมีความยืดหยุ่นสูง หลายๆ โปรเจ็กต์ก็มีการให้ลูกน้องขึ้นมานำทีมแล้วหัวหน้าก็เป็นแค่สมาชิกทีมก็มี เช่นเดียวกับเวลาเข้างานที่ถึงแม้จะกำหนดเอาไว้ราว 9.30 - 18.30 แต่ก็ยืดหยุ่นได้
MEB มีสวัสดิการแบบลูกผสมคือสวัสดิการแบบสตาร์ทอัพอย่างเช่นมีเลี้ยงอาหารบ้างบางครั้ง มีเครื่องดื่มและขนมเติมให้ไม่อั้น มีงบเทรนนิ่งสำหรับพนักงานให้ไปเรียนเพิ่มเติม มีงบสำหรับการออกกำลังกาย เช่น ค่าสนามฟุตบอล ร่วมสวัสดิการระดับองค์กรใหญ่ที่ได้รับมาจากการอยู่ในเครือเซ็นทรัลอย่าง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ประกันกลุ่ม, ประกันสุขภาพ, ค่ารักษาพยาบาล, ตรวจร่างกายประจำปี และได้รับส่วนลดพิเศษเมื่อซื้อของในเครือเซ็นทรัลด้วย
MEB อยู่ที่อาคาร Software Park ชั้น 8 ตรงข้ามเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ ข้อดีคือค่าครองชีพค่อนข้างถูก ที่พักราคาไม่แพง และมีความสะดวกสบายจาก facility ของห้างเซ็นทรัลที่อยู่ใกล้สุดๆ
คนที่มีความยืดหยุ่นแต่มีความรับผิดชอบ MEB ยินดีรับเด็กที่เพิ่งจบใหม่ การทำงานที่นี่จะไม่เพียงได้ประสบการณ์จากเนื้องานสายโปรแกรมมิ่งอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังได้สัมผัสประสบการณ์ด้านธุรกิจเองโดยตรงอีกด้วย
คุณสุพรชัย พิกุลงาม - Android Developer
ปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
คุณปัณณทัต ศุภรัตโนดม - Front-End Developer
ปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (นานาชาติ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
คุณธีรัช พัฒนรัชต์ - Front-End Developer
ปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
คุณจุฑามาศ ปิยะวารินราษฎร์ - Senior Web Developer
ปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ เอกวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ใครที่สนใจสามารถดูรายละเอียดและตำแหน่งงานที่เปิดรับได้ที่ Blognone Jobs
Comments
2019
bug เก่าๆ บนหน้าเว็ปที่ไม่แก้ยังเหมือนเดิม -.-"
-เลือกสินค้าเกิน 100 ชิ้นแล้วเอ๋อ
-หน้าจอเขียนกว่าอย่าเลือกเกิน 50 เล่ม แต่ยังกดเพิ่มได้เรื่อยๆ จบท้ายด้วยใส่ตระกร้าเกิน 100 ชิ้นแล้วกลับไปข้อแรก
-หากเลือกซัก 2 ซีรีย์ขึ้นไป ในตระกร้าเริ่มเรียงกันมั่ว
-App เจอ UI ขัดใจเลือกไปร้านค้า กดเข้าไปดูสินค้ามันกดเลือกไปได้เรื่อยๆ แต่เวลาจะกลับหน้าหลักต้องถอยหลังสุดซอยกด back รัวๆ เอา ถ้าเลือกดูของในร้านสลับไปมามากๆ เข้า กด back สนุกเชียว ทำไมไม่มีปุ่มกลับหน้าชั้นหนังสือ อ่ะ
UI ห่วยยังไงก็ยังงั้นจริงๆ แต่โตแล้วเลิกอ่านการ์ตูนแล้ว ไปดูเมะแทน 5 5 5
การไม่เผาเงินเพราะจะทำให้เกิดฝุ่นละออง และเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมธุรกิจ...
memeตบมือจงมา
กำลังจะมาเม้นท์เรื่องมุกที่แอบหยอดไว้พอดี
ปรบมือหรือไว้อาลัยดีครับ
"การทำงานที่นี่จะไม่เพียงได้ประสบการณ์จากเนื้องานสายโปรแกรมมิ่งอย่างเดียว แต่ยังไม่ได้สัมผัสประสบการณ์ด้านธุรกิจเองโดยตรงด้วย"
อันนี้คือข้อดีจริงๆ ใช่ไหม !? ได้แค่โปรแกรม แต่ไม่ได้สัมผัสธุรกิจ
ไมเน้น => ไม่เน้น
แต่ยังไม่ได้ => แต่ยังได้
ตั้งชื่อ folder มั่วๆ เพื่อที่จะไม่ให้เดาการเข้าถึงไฟล์ media ได้
โตเกินคาด
แต่ไม่คุ้น และไม่รู้จัก ฮา
"ความท้าทายของของ MEB คือไม่เคยเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพใดๆ ไม่เคยเปิดระดมทุนจากนักลงทุนหน้าไหน"
คือข้อดีใช่ไหมครับ
ไม่พูดถึงความท้าทายของงานบ้างละครับ เทคโนโลยีที่ใช้ ความก้าวหน้าสำหรับ career path
รายได้ 500 ล้านจริงอะ
se-ed ยักษ์ใหญ่ ขายทั้ง physical และ digital มี store สี่ร้อยกว่าสาขาทั่วไทย ขายหลายอย่างมากกว่าหนังสือ
ยังรายได้แค่ 3000 กว่าล้านเอง
ผมซื้อหนังสือใน MEB หมดปีหนึ่งเป็นหมื่นๆ อ่ะครับ และหลายคนก็มีหนังสือเป็นร้อยเล่มใน MEB
ผมว่าน่าจะถึงนะ ถ้าเอาตัวผมเป็นเกณฑ์ซื้อหนังสือทีหลักร้อยเล่ม ไม่งั้นคงไม่บ่นหรอกว่ามันกดแล้วเจอ bug
แต่ว่าก็ว่าเหอะ App ทำระบบโหลดหนังสือได้ห่วยจริงอะไรจริง ใช้ Single Trade โหลดทีละหน้ากว่าจะจบเล่มอย่างอืด หลายปีแล้วไม่ยอมทำ multitrade ซะที แถมสลับหน้าจออื่นก็ดับไม่ยอมทำ background load ขนาดคำสั่งให้เปิดจอขณะโหลดยังไม่ใส่มาเลย - -"
ของเจ้านี้ ซื้อแล้วหนังสือผูกติดกับแอปไหมครับ
ผูกติดไอดีครับ การ์ตูนและนิยายหลายๆเรื่อง ผมก็ซื้อผ่าน MEB นี่แหละเยอะดี
เทียบกับเจ้าอื่นแล้ว ผมเลือก MEB เป็นหลักเลยครับ แต่ด้วย UI ที่ล้าสมัยการเปลี่ยนหน้าที่ขัดๆ ไม่สมูธในแอนดรอยส์ทำให้ผมปันใจไป playbook เยอะอยู่ครับโดยเฉพาะพวก manga ค่ายหลักๆเริ่มลง Playbook แล้วนะครับ รีบปรับปรุงแอปด่วน(android)
ผมซื้อการ์ตูนอ่านใน MEB เยอะมาก อยากให้สำนักพิมพ์เอามาลงใน MEB ให้ครบทุกเรื่องครับ
ตามอ่าน kc.digi mag อยู่
UI/UX ทั้งเว็บ แอพฯ โปรแกรมฯ เข้าขั้นห่วยสุดๆ แต่ถามว่าซื้อไหม ผมก็ซื้อนะครับเพราะอยากอ่าน แต่เอาจริงๆคู่แข่งอย่าง Ookbee นี่กินขาดครับ
ผมเองอยากแนะนำให้ MEB หา UX Designer เก่งๆสักคนครับ รีบเข้าไปปรับภาพลักษณ์ก่อน ก่อนที่จะเดฟลงคลองไปมากกว่านี้ครับ
Concept เค้าครับ อ่านๆดูแล้วเหมือนจะ indi
ที่เลือกใช้ MEB ก็เพราะมีการ์ตูนสมัยเด็กๆขาย
เคยใช้ MEB อยู่พักนึง แต่หงุดหงิดกับระบบเหมือนกับที่ด้านบนๆ บ่นไว้ หลายเล่มก็เอา pdf มาแปะแบบดุ้นๆ ให้อ่านบนหน้าจอมือถือ - -'a
หนังสือหลายเล่มเลยยังกองอยู่ในชั้น อ่านไม่จบบ้าง ขี้เกียจเปิดอ่านบ้าง
หลายเรื่องนี่ราคาแพงกว่าหนังสือเล่มจริงตอนทำโปรลดซะอีก - -'a
ทุกวันนี้เลยกลายเป็นว่ากดหนังสือจาก Google Play Book กับ Amazon Kindle ซะมากกว่า
~ HudchewMan's Station & @HudchewMan~
นั่งอ่านอยู่หลายรอบ ยังไม่เข้าใจว่าจุดเด่นที่แท้จริงของ MEB คืออะไร จะบอกว่าตัวแอพมี UX ดีก็คงไม่ใช่ เพราะผมใช้เองก็ยังมีจุดที่หงุดหงิดและน่าติอยู่เยอะ บางอย่างที่มันไม่ควรมีก็ไม่รู้จะใส่มาทำไม เช่นเวลาใช้ในคอม แล้วเลื่อนไปชนหน้าแรกหรือหน้าสุดท้าย จะมีกล่องข้อความเด้งบอกให้รำคาญทำไมว่าหน้าแรกหรือหน้าสุดท้าย แค่การเลื่อนไปต่อไม่ได้มันก็บอกในตัวเองแล้วรึเปล่าว่าหน้าสุดท้าย พอไปต่อที่ UI ก็ดูล้าสมัยเหมือนแค่ตัดแปะแต่ละส่วนเข้าด้วยกันเฉย ๆ ไม่ได้รู้สึกน่าใช้เลย
จุดเด่นคือ สำนักพิมพ์มังงะแปลไทยใช้ meb เป็นแอปหลักในการขาย ebook ของเขา
แล้วทำไมพวกนั้นเขาไม่ใช้ Oookbee เหรอครับ พอจะทราบเหตุผลไหมครับ ?
That is the way things are.
ไม่ทราบค่ะ แต่ฉันเชื่อว่า MEB สายป่านยาวกว่า เพราะเป็น บ.ในเครือ CPN
ถึงบางอ้อ
Ookbee คงดีลธุรกิจไม่เก่งเท่าอ่ะครับ บางทีก็เป็นเรื่องส่วนแบ่ง การจัดการ ทำให้หนังสือฝั่ง Ookbee น้อยกว่า MEB มากทั้งที่เปิดให้บริการมาก่อน
ใช้ บริการ ของ se-ed นะ เสียตรง มี นิยายอีบุคน้อย ไไปหน่อย
ปรับปรุง ui ux หน่อยเถอะ อย่างน้อยให้ฝั่ง android ดีเท่า ios ก็ยังดี ส่วนบน pc นี่เลิกหวังไปแล้ว
สนับสนุนครับ คิดดูแถบ Scroll เลื่อนหน้ายังเป็นแบบ Android 2.3 อยู่เลย
สมัยนี้มันโหลดไฟล์ pdf ได้รึยังครับ? หรือต้องอ่านจากแอปอย่างเดียว?
ผมไปซื้อร้านอื่นอย่าง hytext, play book เพราะมันโหลด pdf ได้นี่แหละ
คงยาก ในไทย เป็นพวกขี้กลัว ถ้า DRM ไหนที่ปล่อยให้เรา แปลงหนังสือเป็น PDF DRM FREE สนพ ในไทยเป็นพวกขี้กลัว กลัวคนเอาไปแจก ไปแชร์ เราถึงเห็นไงว่า สนพ ส่วนใหญ่ ไม่ยินดีเอาหนังสือไปขายให้ ที่ว่ามากเหล่านี้เท่าไรนัก
ของผมไม่ต้องการแอพเลย ขอแค่มี Portal หน้าเว็บสำนักพิมพ์ แล้วซื้อเป็น PDF มาอ่านก็พอแล้ว
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
หลายปีก่อน หนึ่งในเหตุผลหลักที่ผมซื้อหนังสือกับ MEB เพราะว่า ณ ตอนนั้น MEB เป็นเจ้าเดียวที่มีแอพบนแมคครับ
แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ แอพไม่มีการพัฒนาหรือปรับปรุงอะไรให้มันดีขึ้นเลย
น่าสนใจนะเรื่องแอพมีแต่คนบ่น แต่ บ. ยังอยู่ดีมีกำไร แสดงว่า content ดี?
ภาวะจำยอมครับ ซื้อหนังสือไปเยอะแล้ว
UI แย่แต่คนไม่มีทางเลือกที่จะเข้าถึง content ที่ต้องการครับ
สมมติว่าอีกเจ้านึง UI/UX ดีกว่า แต่ไม่มี content ที่ต้องการ คนก็คงไม่ใช้อ่ะนะ
มีหนังสือให้อ่าน สำคัญว่า UI, UX ครับ
คือว่ากันจริงๆ มันก็แค่ไม่สวย แต่ถามว่ามันมีปัญหาเวลาใช้ไหม ก็ไม่ แอปเสถียรดี ซิงค์การอ่านข้ามอุปกรณ์ได้ มีให้อ่านในแทบทุกอุปกรณ์ แอปสำหรับเครื่อง e Reader ก็มี มันก็ตอบโจทย์ความต้องการในการอ่านได้แล้วนะ
ไม่ใช่ทำแอปสวยๆ แต่ค้างกระจาย หลุดตลอด อันนี้ก็ไม่รอด
ถ้าอ่านใน Kindle ได้นี่คงได้ผมเป็นลูกค้าอีกคนล่ะครับ
+1 มีหนังสือให้อ่านสำคัญที่สุดแล้วสำหรับแอพ e-book
แต่ไหน ๆ ก็ติดตลาดแล้ว ช่วยปรับ ui ให้ใช้สะดวกขึ้นหน่อยสิ
เรื่องGunnm last orderแปลช้ามากรอมานานตั้ง10ปีแล้วนะซื้อลิขสิทธิ์มาดองรึไงหว่า
ไม่เกี่ยวกับ MEB หรือเปล่า? มันเรื่องของสำนักพิมพ์ล้วน ๆ
แล้วรู้ใช่ไหมว่า License ไม่ได้อยู่กับ SIC มานานมากแล้วนะ ตอนนี้อยู่กับ VBK
+1
my blog :: sthepakul blog