Tags:
Node Thumbnail

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว หนึ่งในข่าวที่สะเทือนแวดวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ทั่วโลก คือข่าวที่นักวิจัยจีนออกมายอมรับว่าได้ทำการวิจัยทดลองตัดต่อพันธุกรรมเด็กทารกหญิง 2 คน ก่อให้เกิดประเด็นถกเถียงกันในวงกว้างถึงความเหมาะสมในด้านจริยธรรมของงานวิจัยดังกล่าว มาบัดนี้องค์การอนามัยโลกได้ออกแถลงการณ์อย่างชัดเจนขอความร่วมมือหน่วยงานผู้มีอำนาจในทุกประเทศทั่วโลกสั่งห้ามการตัดต่อพันธุกรรมของเซลล์ต้นกำเนิดทั้งหมดจนกว่าเรื่องนี้จะได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเสียก่อน

การตัดต่อพันธุกรรมของเซลล์ต้นกำเนิดมนุษย์ (human germline engineering) หมายถึงกระบวนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของบุคคลซึ่งผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นจะถูกถ่ายทอดต่อไปยังรุ่นลูก ซึ่งโดยทั่วไปเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมของเซลล์สืบพันธุ์ (germ cell) ทั้งนี้เทคนิค CRISPR ที่นักวิจัยจีนใช้ในการตัดต่อพันธุกรรมเด็กทารกหญิง 2 คนเมื่อปีกลาย ก็เป็นกระบวนการแก้ไขรหัสพันธุกรรมของเซลล์สืบพันธุ์นี้เช่นกัน ซึ่งในแง่หนึ่งการตัดต่อพันธุกรรมมนุษย์ในลักษณะนี้ย่อมถูกมองได้ว่าเป็นการแก้ไขลบล้างรหัสพันธุกรรมของพ่อและแม่ที่ควรจะถูกส่งต่อไปยังรุ่นลูกตามกลไกธรรมชาติ

อย่างไรก็ตามการตัดต่อพันธุกรรมมนุษย์ในแวดวงการวิจัยและการพัฒนาเทคนิคทางการแพทย์นั้นก็ใช่ว่าจะมีแค่เทคนิคการแก้ไขรหัสพันธุกรรมของเซลล์สืบพันธุ์เท่านั้น ยังมีการรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยการแก้ไขพันธุกรรมที่เรียกว่า "พันธุกรรมบำบัด" (gene therapy) อยู่ด้วย โดยเทคนิคเหล่านี้จะใช้วิธีการตัดต่อแก้ไขพันธุกรรมของผู้ป่วยโดยจำกัดเฉพาะส่วนของ somatic cell เท่านั้น โดย somatic cell ที่ว่านี้หมายถึงเซลล์ที่ประกอบรวมกันเป็นเนื้อเยื่อ, เป็นอวัยวะ, เป็นร่างกายของคน โดยไม่นับรวมเซลล์สืบพันธุ์และเซลล์อื่นที่มีส่วนในการถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมต่อไปยังทายาทที่เกิดจากการสืบพันธุ์

แถลงการณ์ล่าสุดของ WHO นี้เป็นผลมาจากการหารือกันของคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมของ WHO จำนวน 18 คน ซึ่งได้เข้าพบหารือกันที่ Geneva เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พร้อมกันนี้คณะกรรมการที่ปรึกษาชุดนี้ยังได้ให้ข้อแนะนำให้ WHO เร่งจัดทำทะเบียนรายการทดลองที่เกี่ยวข้องกับการตัดต่อพันธุกรรมของมนุษย์ทั้งหมดเพื่อสร้างความโปร่งใสให้สามารถตรวจสอบได้ โดยในปัจจุบันนี้ทั่วโลกมีการทดลองทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการตัดต่อพันธุกรรมมนุษย์อยู่มากกว่า 20 งานที่ใช้เทคนิคการตัดต่อแตกต่างกัน

Margaret Hamburg หนึ่งในประธานร่วมของคณะกรรมการที่ปรึกษาของ WHO ชุดนี้ได้เคยให้สัมภาษณ์แก่ Science เมื่อเดือนมีนาคมว่าคณะกรรมการมีแผนที่จะร่างมาตรฐานกลางสำหรับนานาชาติเพื่อเป็นกรอบการทำงานสำหรับงานวิจัยทดลองที่เกี่ยวข้องกับการตัดต่อพันธุกรรมของมนุษย์ให้สามารถประกาศใช้งานได้ภายใน 18 เดือน

No Description

ที่มา - Wired, Science

Get latest news from Blognone

Comments

By: terdsak.s on 8 August 2019 - 06:44 #1123031

whattt?
บางการวิจัยสามารถควบคุมโรคประจำตัวได้เป็นร้อยๆชนิดก่อนให้กำเนิดได้เลยนะ

By: vameso
iPhone
on 8 August 2019 - 09:49 #1123063 Reply to:1123031

ถ้าทุกคนใช้เฉพาะด้านสวยงามของมันล่ะก็ใช่
แต่รับรองได้ ผู้มีอำนาจทั้งหลาย ได้เอามันไปทำอะไรหลังบ้านแบบที่เกินกว่าเราจะคาดการณ์ได้เยอะแยะมากมาย

หรืออย่าง นิวเคลียร์ก็เช่นกัน
ใช้งานดีๆ มันก็โอเค แต่ตอนนี้คนก็กลัวกันเพราะคนจะเอามันมาใช้ถล่มกันนี่แหล่ะ

By: l2aelba
iPhoneAndroid
on 8 August 2019 - 15:06 #1123126 Reply to:1123031
l2aelba's picture

ถ้ามองแค่ระยะแค่คนๆนั้นก็ถือว่าโอเค
แต่ถ้ามองในระยะยาว (ลูก หลาน ของคนๆนั้น) นี้ผมว่าเราไม่รู้อะไรเลยนะครับว่าจะเกิดอะไรขึ้น
และเราต้องคำนึงถึงปริมาณประชากรด้วยครับ เกิดและตาย ต้องสมดุลกัน
นี้ยังไม่พูดถึงเรื่องคนดี คนไม่ดี นะเนี้ย... 555+

By: Nozomi
ContributorWindows PhoneAndroidSymbian
on 8 August 2019 - 18:52 #1123157 Reply to:1123031
Nozomi's picture

มันเป็นแค่ความกลัวในสิ่งที่ยังไม่รู้จักดีครับ หรือบางคนคิดว่ามันเป็นพลังของพระเจ้ามนุษย์ไม่ควรแตะต้อง แต่เชื่อเถอะครับซักวันมันจะใช้กันทั่วไป เรื่องแบบนี้เกิดวนเวียนวนไปมา ไม่รู้กี่เรื่องต่อกี่เรื่อง วิวัฒนาการ, นิวเคลียร์ก็ครั้งนึง GMOs ก็ทีนึงแล้ว

By: IDCET
Contributor
on 8 August 2019 - 19:43 #1123162 Reply to:1123157

พูดถึง GMO ในไทยยังมีคนกลัวและต่อต้านอยู่เลยครับ


ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว

By: lllNoaHlll
iPhone
on 8 August 2019 - 08:46 #1123046

มันเป็นประโยชน์ก็จริงแหละ แต่อนาคตอาจจะเกิดอะไรแปลกๆขึ้นมาเพราะฝืนกลไกธรรมชาติ ตอนนี้ยังมองไม่เหนผลกระทบหรอก เหมือนที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ตอนนี้นี่แหละ

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 8 August 2019 - 14:10 #1123119
panurat2000's picture

ที่มีส่วนในการถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมต่อไปยังทายาทการสืบพันธุ์

ทายาทการสืบพันธุ์ ?

ที่เกี่่ยวข้องกับการตัดต่อพันธุกรรมของมนุษย์ทั้งหมด

เกี่่ยวข้อง => เกี่ยวข้อง

By: iDan
ContributorAndroidSUSEUbuntu
on 8 August 2019 - 17:47 #1123147

Coordinator GUNDAM Seed

By: karyonix on 8 August 2019 - 17:59 #1123151

ถ้าธรรมชาติให้ยีนที่ไม่ดีมา คนจะตัดต่อเปลี่ยนแปลง มันผิดตรงไหน ยอมตัดยีนที่เป็นโรค 2-3 ยีน แล้วยีนอื่นอีก 99.99% จากพ่อแม่จะได้เกิดมาในเด็กที่ไม่ป่วย แล้วถ้าเทคนิคการตัดต่อยีนได้รับการยอมรับใช้กันอย่างกว้างขวาง แล้วคนที่ให้กำเนิดตามธรรมชาติทำให้เด็กเกิดมาป่วยด้วยโรคพันธุกรรมที่สามารถป้องกันได้ จะผิดจริยธรรมหรือเปล่า

By: raindrop
ContributoriPhoneWindows PhoneWindows
on 13 August 2019 - 22:24 #1123807 Reply to:1123151

ปัญหาคือไม่ใช่ทุกคนที่มีสิทธิเลือกได้ครับ แม้จะเป็นในอนาคตอันไกลโพ้นก็เถอะ ผมก็เชื่อว่าปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านชนชั้นมันไม่มีทางหายไปไหน(ตราบใดที่มีมนุษย์) แบบนี้ในอนาคต คนที่ไม่มีปัญญาจ่ายตังตัดต่อยีน แต่ดันมีลูกก็ = ผิดศีลธรรม กันหมดเลยงี้หรอครับ? แว้กกก

By: zyzzyva
Blackberry
on 8 August 2019 - 19:28 #1123160

ไม่ได้กลัวการเกิดเทคโนโลยีใหม่ แต่เกิดจากการไม่เคารพจริยธรรมการวิจัย ทุกอย่างมันมีกลไกขั้นตอนของมัน อยู่ดีๆผมจะทำวิจัยแจกใบไม้ให้คนกินเพื่อรักษาโรคมะเร็งโดยอ้างว่าผู้ถูกวิจัยเซ็นยินยอมแล้วไม่ได้

By: TeamKiller
ContributoriPhone
on 8 August 2019 - 20:19 #1123165
TeamKiller's picture

เคยอ่านสักที่หนึงเห็นบอก ถ้าที่ตัดต่อในคนแบบมันอาจจะมีผลกระทบลูกโซ่งี้ เป็นโรคอื่นๆ แทน ซึ่งคาดเดายังไม่ได้

ถ้าตัดต่อไม่มีผลกระทบ แล้วตัดต่อให้คนแข็งแรงขึ้นแบบใน Gundam Seed

จะน่ากลัวเปล่าหว่า คนอ่อนแอถูกรังแก หรือคนแข็งแรงถูกใช้แรงงาน พอทนไม่ไหวก็แยกตัว เกิดสงคราม เกิดการแบ่งชนชั้น รับสมัครแต่คนแข่งแรงกว่างี้

By: StarGroup on 9 August 2019 - 08:53 #1123196

ถ้าปล่อยเสรี อนาคตคงนอกจากเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาแล้ว คงมีคนค้อยคุณภาพเพราะไม่ได้ตัดต่อพันธุกรรมเป็นประเด็นในการรบราฆ่าฟันกันจากคนที่มีคุณภาพเพื่อรักษาทรัพยากรอันมีจำกัดอีกแน่นอน