มีการอัพเดทข้อมูลตัวเลขขยะอิเล็กทรอนิกส์ช่วงท้ายบทความ
ช่วงปลายปีที่ผ่านมา AIS ผุดโครงการ AIS E-waste ทำจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์จำพวกมือถือเก่าตาม AIS Shop เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี โครงการนี้ได้รับความสนใจจากสังคมไม่น้อย
Blognone สัมภาษณ์ คุณนัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าแผนกงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน AIS ผู้จัดทำโครงการ AIS E-waste เพื่อขยายผลเพิ่มเติมว่า นอกจากทำจุดรับทิ้งแล้ว กระบวนการอื่นนอกเหนือจากนี้คืออะไร ขยะอิเล็กทรอนิกส์ อย่างมือถือ หูฟัง เมื่อทิ้งแล้วมันถูกนำไปที่ไหนต่อ และการกำจัดอย่างถูกวิธี ต้องเป็นอย่างไร
คุณนัฐิยา บอกว่า ในฐานะที่ AIS เป็นคนขายมือถือ มองเห็นพฤติกรรมว่าคนยุคนี้เปลี่ยนมือถือกันบ่อยขึ้น บางคนเปลี่ยนทุกปีด้วยซ้ำ อาจเป็นเพราะรู้สึกว่าเครื่องเดิมการทำงานเริ่มช้าลง อยากได้เครื่องใหม่เพราะมีฟีเจอร์และเทคโนโลยีดีกว่า กล้องสวยกว่า
คำถามคือมือถือเครื่องเดิมไปอยู่ที่ไหน
"หากสภาพเครื่องยังส่งต่อได้ ผู้ใช้งานก็อาจส่งเครื่องต่อให้คนในครอบครัว หรือถ้าเอาไปขายก็ยังมีตลาดมือสองรองรับ แต่ถ้าตัวเครื่องผ่านการใช้งาน 4-5 ปีขึ้นไป มีโอกาสที่มือถือเครื่องนั้นไม่สามารถใช้งานต่อได้ ผู้ใช้งานไม่รู้จะเอาทิ้งที่ไหน หลายคนอาจเก็บไว้ในลิ้นชัก หรือบางคนทิ้งไปเลยกับขยะมูลฝอยทั่วไป ซึ่งอันตรายมาก" คุณนัฐิยา กล่าว
นิยามซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ WEEE (Waste from Electrical and Electronic Equipments) ตามที่ The European WEEE Directive หรือระเบียบของ EU ว่าด้วยเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ ระบุไว้ว่า มี 10 ประเภทคือ
แต่ขยะที่ AIS รับทิ้งจะจำกัดแค่มือถือ หูฟัง สายชาร์จ พาวเวอร์แบงค์ แบตเตอรี่ เท่านั้น ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือ เป็นธุรกิจของ AIS และเป็นผู้ขายสินค้าเหล่านี้ให้ผู้บริโภคโดยตรง จึงต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมด้วย
คนทั่วไปสามารถหาจุดรับทิ้งได้ตาม ร้านค้า Telewiz และ AIS Shop เป็นกล่องเล็กๆ มีช่องให้หยอดขยะเหล่านี้ลงไปทิ้งได้ แล้ว AIS จะรับไปกำจัดต่อให้อย่างถูกวิธี
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ถ้าทิ้งซากมือถือ, แบตเตอรี่ปนไปกับขยะมูลฝอย ส่วนเปลือกที่ห่อหุ้มของเครื่องโทรศัพท์และแบตเตอรี่จะเสื่อมสภาพหรือผุกร่อน สารเคมีที่เสื่อมสภาพภายในจะไหลออกมาสู่สิ่งแวดล้อม สารพิษนี้ก็จะเข้าสู่ระบบนิเวศน์และระบบห่วงโซ่อาหาร ผ่านทางดิน น้ำ และอากาศ ไม่ว่าจะเป็น ตะกั่ว แคดเมียม สารทนไฟ เบริลเลียมที่ใช้ในสปริงและตัวเชื่อม นิกเกิล ซึ่งเป็นองค์ประกอบของแบตเตอรี่ และเป็นสารก่อมะเร็งแทบทั้งสิ้น
คุณนัฐิยาบอกว่า จริงๆ แล้ว ในไทยมีชุมชนคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ 100 กว่าชุมชนใน 17 จังหวัด ในกรุงเทพเองก็มีอยู่แถวจตุจักร ในภาคอีสานก็มีอยู่หลายที่เหมือนกัน
แต่ในกระบวนการคัดแยกมันเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เคยมีการสำรวจสุขภาพของคนในชุมชนคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า ในเลือดมีสารปนเปื้อนตะกั่วในปริมาณสูง เนื่องจากในกระบวนการคัดแยกมันต้องแงะ แกะ ทั้งหมด เอาส่วนเฉพาะที่จะขายได้ออกไป ส่วนที่ขายไม่ได้ก็เอาไปทำลาย ในวิธีที่ทั้งถูกต้องและไม่ถูกต้อง
คุณนัฐิยาบอกว่า กระบวนการนี้ก็ยากเหมือนกัน เพราะในประเทศไทยมีโรงงานที่สามารถคัดแยก และกำจัดอย่างถูกวิธีและเป็น zero landfill น้อย ทาง AIS ต้องไปหาดีลกับพันธมิตรโรงงานหนึ่งที่สามารถการันตีได้ว่า มีกระบวนการคัดแยะขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี คือโรงงานในเครือบริษัท โทเทิล เอนไวโรเมนทอล โซลูชั่นส์ (TES)
กระบวนการคัดแยกของโรงงานคือ
คัดแยกส่วนประกอบต่างๆ ของโทรศัพท์มือถือออกจากกัน ได้วัสดุ เช่น พลาสติก Housing + Keypads, PCB Board, li-ion Battery เหล็ก อะลูมิเนียม และ ทองแดง
ส่งวัสดุหลักพวกเหล็ก พลาสติก และอะลูมิเนียม เข้าสู่โรงหล่อเพื่อเริ่มกระบวนการรีไซเคิล ขั้นตอนนี้สามารถทำที่เมืองไทยได้
แต่วัสดุอื่น เช่น PCB Board และ li-ion Battery จะต้องเข้าโรงหล่อที่ TES สิงคโปร์เพื่อสกัดโลหะมีค่าจากวัสดุนั้นๆ
ตัว PBC Board สามารถสกัดออกมาเป็น ทอง เงิน และพัลลาเดียม ทาง TES จะขายคืนกับให้ผู้ผลิตเพื่อผลิตเป็นสินค้าใหม่ต่อไป ส่วนทองและเงิน ยังสามารถขายร้านจิลเวลรี่เพราะเป็นทอง 99.99% เพื่อนำไปทำเป็นทองแท่ง ทองรูปพรรณ หรือเครื่องประดับต่างๆ
แบตเตอรี่ li-ion สกัดออกมาเป็นโคบอลต์และลิเทียมได้ สามารถขายกลับไปให้ผู้ผลิตเพื่อเป็นส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ต่อไปได้ หรือขายให้กับผู้ประกอบการที่ประกอบอุตสาหกรรมประเภทยา เซรามิก หรือแก้วก็ได้เช่นกัน
หลังจาก AIS E-waste เปิดบริการมาระยะหนึ่ง ตัวเลขขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2019 - มกราคม 2020 พบว่ามือถือมีเกิน 1,200 เครื่องแล้ว
ตัวเลขจาก AIS
คุณนัฐิยา พูดถึงเป้าหมายของโครงการ AIS E-Waste ว่า ต้องการร่วมมือกับพันธมิตรมากขึ้นเรื่อยๆ และหลากหลาย เพื่อให้แน่ใจได้ว่าจุดรับจากประชาชนจะมีสูงขึ้น เพราะลำพัง AIS ทำคนเดียวไม่เพียงพอ
และต้องทำควบคู่ไปกับการทำประชาสัมพันธ์ให้คนรับรู้ ถือเป็นส่วนสำคัญที่สุด เมื่อคนรับรู้ถึงอันตรายของขยะอิเล็กทรอนิกส์ว่ามันสามารถกลับคืนมาสู่เราผ่านอาหาร น้ำได้ พวกเขาจะรู้สึกอยากนำมาทิ้งให้ถูกวิธี
Comments
เป็นนโยบายที่ดีมากครับ ผมเอาไปทิ้งเหมือนกันทั้ง มือถือ แบตสำรอง หูฟัง สายชาร์ท ตอนไปทิ้งต้องบอกพนักงานก่อนแล้วเดี๋ยวเค้าจะคัดแยกให้
ก่อนเอาไปกำจัด อันไหนมันใช้งานได้เอาไปบริจาคให้คนที่ต้องการก่อนดีไหม?
ผมกลัวว่าก็จะเป็นขยะอีกที่นึงแทนน่ะครับ
แต่ผมก็คิดว่าเอาไปให้คนที่ต้องการ. แต่ก็นึกไม่ออกว่าใคร
พวกที่ยังใช้งานได้แต่ ให้ใครเขาก็ไม่เอา ขายก็ไม่มีคนซื้อ
ก็เลยอยากให้มีตัวกลางสะดวกรับเครื่องไปให้คนที่เขาจะเอาไปใช้ ดีกว่าเอาไปทิ้ง
สำหรับผมนะของที่ยังดีผมให้คนรอบตัวไปหมดแล้วครับ พ่อ แม่ พี่ น้อง เหลือแต่ของที่ไม่ดี คราวนี้ไม่มีที่ทิ้ง
ของที่ไม่ดีเอาไปคนอื่นผมว่าเดี๋ยวก็เสีย หรือไม่ก็ไม่เอาไปใช้งาน
ซึ่งผมพูดถึงแค่ อุปกรณ์ที่ ais เค้ารับนะครับ ไม่ใช่อุปกรณ์ it ทุกชนิด
ส่วนถ้ามีโครงการรับของดีๆ ผมกลัวว่าจะมีคนใจบุญซื้อเหมามาบริจาค ซึ่งผมมองว่าผิดวัตถุประสงค์เรื่องลดขยะ
ผมเข้าใจคุณนะ ข้างบนนั่นก็ความคิดเห็นผม ไม่ได้มีถูกมีผิด
เดี๋ยวนี้ก็มีพวกสินค้า Refurbish ที่เอาของเสียมาซ่อม เปลี่ยนอะไหล่ และขายอยู่ไงครับ แต่บ้านเราน่าจะมีน้อย
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
น่าจะมีหน่วยงานรับซื้อซากเลยดีกว่า จะได้กระตุ้นดีมาน
คนก็ยิ่งซื้อของกากๆ พังบ่อยๆ ใหญ่เลย เพราะทิ้งแล้วได้เงินอีก เป็นภาระหน่วยงานต้องรับผิดชอบทั้งๆ ที่ตอนนี้กำจัดแทบไม่ทัน
ผมว่าควรจะเก็บเงินมากกว่าเป็นค่ากำจัด ให้หัดคิดก่อนซื้อๆๆๆ แล้วก็ทิ้งๆๆ ที่เมกาบางเมืองคิดค่าเก็บขยะน้อยลงถ้าเจ้าของบ้านคัดแยก ทำให้ลดภาระหลุมกลบ ทำให้ขยะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลหรือทำเป็นปุ๋ยมากขึ้น
ตอนนี้อยากทิ้งแบต ups
ฝากร้านอมรทิ้งได้เลยครับ
ส่วนมากคือหายก่อนได้ทิ้ง ?
โครงการแบบนี้ผมว่าดีนะ
That is the way things are.
ปกติส่งให้โครงการที่ มอ จุฬา รีไซเคิ้ลให้ แต่พอ ais ทำดีเลย สนับสนุน
มือใหม่!! ใหม่จริงๆนะ
เคยเสนอในการประชุมหมู่บ้าน
ให้มีการจัดเก็บรวบรวมแบตเตอรี่
เพื่อส่งไปกำจัดอย่างถูกต้อง
แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน เลยไม่ผ่าน