KBTG สร้างปรากฏการณ์ใหม่อีกครั้งด้วยการเปิดตัว Eatable บริการสั่งอาหารรูปแบบใหม่ ตอบโจทย์ทั้งกินที่ร้านและเดลิเวอรี่ ช่วยให้ร้านอาหารปรับตัวได้ในยุคหลังโควิด และให้ลูกค้ารู้สึกมั่นใจในความปลอดภัยถ้าจะกลับมากินที่ร้านอีกครั้ง
หลังจากเปิดตัว Eatable ก็สร้างความฮือฮาในวงกว้าง เพราะ Eatable มีจุดเด่นหลายอย่างที่อาจเป็นทางออกของร้านอาหารในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นระบบสั่งอาหารผ่านการสแกน QR Code ลดต้นทุนจ้างพนักงานร้าน ลดความผิดพลาดในการสั่งอาหาร ลดโอกาสสัมผัสเชื้อโรค, และยังรองรับการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ที่กลายเป็นทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค
ในขณะเดียวกันก็เกิดความสงสัยด้วยว่า เพราะอะไร KBTG บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทย ถึงหันมาพัฒนาแพลตฟอร์มร้านอาหารที่ดูไม่เกี่ยวข้องกับบริการธนาคารโดยตรง
คุณกระทิง เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน KBTG ระบุว่าเป้าหมายของ KBTG รวมถึงธนาคารกสิกรไทย คือต้องการมอบอำนาจทางการเงินและเทคโนโลยีสู่มือลูกค้า นำบริการและเทคโนโลยีของบริษัทเข้าไปอยู่ในทุก ecosystem ของผู้คน
อันจะเห็นได้จากที่ผ่านมา KBTG พัฒนาแอปพลิเคชั่นและบริการใหม่ให้แทรกซึมเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Contactless Technology ฉายภาพการทำธุรกรรมไร้สัมผัสแห่งอนาคต, ขุนทอง แชทบอทไลน์ช่วยให้การหารค่าข้าวในกลุ่มเพื่อนเป็นเรื่องง่าย, แอปพลิเคชั่น CU Nex แอปพลิเคชั่นใช้งานในภาคการศึกษาสำหรับนิสิต, อาจารย์และบุคลากรในรั้วจุฬาฯ, GrabPay อีวอลเลตที่ KBTG พัฒนาขึ้น, Loan Book บน Shopee เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า วงการร้านอาหารได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวงจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และการล็อกดาวน์ทั่วประเทศทำให้ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ร้านอาหารไม่สามารถเปิดให้ลูกค้าเข้าไปนั่งทานอาหารภายในร้านได้
และถึงแม้มีการคลายล็อกในภายหลัง ก็พบว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว พวกเขาหันมาสั่งเดลิเวอรี่มากขึ้น ส่วนการออกไปรับประทานอาหารข้างนอก แม้เริ่มกลับมาเป็นปกติ แต่ผู้บริโภคบางส่วนก็ยังรู้สึกกลัวว่าจะไม่ปลอดภัย รวมไปถึงมาตรการการเว้นระยะห่างที่ทำให้จำนวนที่นั่งในร้านลดลง ผลกระทบตกมาอยู่ที่ผู้ประกอบการร้านอาหารที่ต้องเร่งปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อความอยู่รอด
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ KBTG จึงได้ออกแบบและพัฒนาโซลูชั่นและร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนให้ร้านอาหารสามารถปรับตัวได้ในระยะยาว และยังสอดคล้องกับพันธกิจของ KBTG และธนาคารกสิกรไทยที่อยากสร้างผลิตภัณฑ์ให้แทรกซึมในทุก ecosystem ของคนไทย
คุณสุรศักดิ์ จันทศิริโชติ จาก KBTG เล่าว่าจากการเข้าไปศึกษาพฤติกรรมการทานอาหารของผู้บริโภค พบว่ายังไม่มีโซลูชั่นในไทยที่ช่วยให้การเข้าไปทานอาหารในร้านได้รับทั้งความสะดวกและปลอดภัย รวมไปถึงเลี่ยงการสัมผัสและลดโอกาสติดเชื้อ ในขณะเดียวกัน จากการลงไปเป็นพาร์ทเนอร์กับร้านอาหาร ทำให้ได้ทราบว่าร้านอาหารเองก็ต้องการโซลูชั่นที่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจของคนทานให้มากขึ้น และช่วยให้ร้านบริหารจัดการได้ดียิ่งขึ้นในยุคดิจิทัล ทาง KBTG จึงพัฒนา Eatable ขึ้นมาในรูปแบบ Web App เพื่อให้ร้านอาหารและลูกค้าสามารถเข้าใช้งานได้ง่าย
นอกจากนี้ Eatable ยังจะมาในรูปแบบมินิแอปบน WeChat ใช้ชื่อว่า Kai Tai Dian Cai จะสามารถใช้งานได้ภายในปีนี้ รองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะเข้ามาเที่ยวไทยในอนาคต
สำหรับร้านอาหารที่สนใจ สามารถลงทะเบียนใช้งาน Eatable ได้ที่ https://eatable.kasikornbank.com/
Comments
"เจ้าของร้านอาหารและผู้ประกอบการ ลงทะเบียนใช้งานฟรี ไม่มีค่าธรรมเนียม และไม่เสียค่าบริการ" นี่หมายถึงเฉพาะช่วงแรก ๆ รึเปล่าครับ นึกไม่ออกว่าไม่เก็บค่าธรรมเนียมซักอย่าง แล้วโมเดลธุรกิจคืออะไรหว่า?
ป.ล. แต่ชอบไอเดียใช้ webapp + QR + กดสั่งได้เลยไม่ต้องรอ แถมสั่งพร้อมกันได้ เห็นว่าเพื่อนโต๊ะเดียวกันสั่งอะไรบ้าง ไอเดียโคตรดี
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
คงหวังดึงลูกค้ามาอยู่ใน ecosystem ตัวเอง และข้อมูลทางการเงินของลูกค้าแบบฟรีๆเหมือนกัน
ไอเดียดี แต่ถ้าคิดแย่งส่วนแบ่งเจ้าตลาด อาจต้องใช้งบโปรโมทมหาศาลเลย
ลองคิดว่าธนาคารต้องการข้อมูลอะไรจากร้านอาหารถึงยอมแลกให้ร้านอาหารใช้แอพฟรี หร่ือใช้ระบบได้ฟรีกันแน่ เพื่อที่จะได้รู้ว่าร้านไหนขายอะไรดีเหรอ หรือว่าเพื่อที่จะได้ประเมินได้ว่าร้านไหนมียอดซื่้อเยอะน้อยเพียงใดอย่างงั้นเหรอ แล้ว จะเอาข้อมูลนี้ไปเพื่ออะไรกันต่อ เพื่อจะเอาไปสร้างรายได้รูปแบบไหนกันต่อจากธุรกิจหลักของธนาคารได้อย่างงั้นหรอ เป็นเรื่องที่แอบน่าคิดสำหรับร้านอาหารนะว่า ... มันมีอะไรหรือเปล่าที่จะให้ใช้กันฟรีๆเนี่ยะ ...
ก็ทั้งหมดที่ว่ามานั่นล่ะมั้งครับ
อีกอย่างผมว่าร้านค้าก็ส่วนนึง
นี่สามารถเอาไปทำ personalizes ของคนสั่งได้ด้วยนะ ถ้าเป็นลูกค้าธนาคาร ไม่รู้เรียกถูกป่าว
น่าจะไม่ต่างที่เรา Facebook หรือ Google นะ เขาคงเอา data ทั้ง 2 ฝั่งไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างแหละ
ยุคนี้มีคำพูดที่ว่า big data มีค่ากว่าทองคำ
สำหรับแอพนี้ ผลตอบแทนคงไม่ได้อยู่ที่รายได้ตัวเงิน
คิดเหมือนกันครับ ข้อมูลมีค่ามากกว่า
....จะครบปีละ