ช่วงโรคระบาด KBTG ในฐานะบริษัทเทคโนโลยีเครือธนาคารกสิกรไทย ปล่อยของออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น ขุนทอง แชทบ็อททวงเงินผ่าน LINE, Eatable แพลตฟอร์มช่วยร้านอาหารในยุคโควิด, Contactless Technology โซลูชั่นทำธุรกรรมโดยไม่ต้องใช้มือสัมผัสอุปกรณ์ ซึ่งทั้งหมดนี้สร้างขึ้นภายในเวลาเพียงแต่ไม่เกินสามเดือน
“เพราะโควิด เร่งการ transformation จากสองปี เหลือเพียงสองเดือน” เรืองโรจน์ พูนผล หรือ กระทิง ประธาน KBTG เคยกล่าวไว้เมื่อครั้งเปิดตัวบริการใหม่ๆ ในช่วงโรคระบาด
ล่าสุด Blognone ได้เข้าร่วมงานประชุมใหญ่ KBTG คือ ONE KBTG: The New Chapter of ONE ซึ่งเป็นการประชุมสำคัญ มีการเผยยุทธศาสตร์ของบริษัทในอนาคต และเป้าหมายที่ต้องการไปให้ถึง คือไม่สามารถอยู่รอดคนเดียวได้ แต่ต้องพาคนไทยและธุรกิจรายย่อยรอดไปด้วยกัน รวมถึงเป้าหมายระยะยาวคือการเป็นที่หนึ่งในอาเซียน
ขัตติยา อินทรวิชัย CEO หญิงคนแรกของ KBank เป็นสปีคเกอร์คนแรกที่ขึ้นพูดในงาน กล่าวว่า ไทยเจอความท้าทายตั้งแต่ก่อนโรคระบาดแล้ว ทั้งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ, ภัยแล้ง, ค่าเงินแข็งตัว จนโรคระบาดเข้ามาเร่งปฏิกิริยาทุกอย่างให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
แต่เป้าหมายของ KBTG ยังคงเดิม คือ Empower หรือเพิ่มอำนาจให้ลูกค้าและธุรกิจเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาเข้าถึงสินเชื่อ ทั้งนาโนและไมโคร รวมถึงประกันต่างๆ และบริษัทยังมีแผนจะนำของดีที่มีไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย
ยุทธศาสตร์ในองค์กรในระยะต่อไปก็คือ การสร้างนวัตกรรมด้วยต้นทุนที่ถูกลง และมี Productivity มากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการของ KBTG ได้ และต้องเข้าไปเป็นพาร์ทเนอร์กับคนอื่นให้มากที่สุด เพื่อจะได้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าในวงกว้างได้
คุณขัตติยาเน้นย้ำว่า ธนาคารไทย ยังแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ยังคงมีเงินกองทุนและสภาพคล่องสูงกว่าธนาคารในต่างประเทศ แต่ในขณะที่ธนาคารแข็งแกร่ง คนกลับจนลง อ่อนแอลง นั่นจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของ KBTG คือ พาทุกคนรอดไปด้วยกัน ทั้งลูกค้าทั่วไป เอสเอ็มอี ผ่านการทำโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อเถ้าแก่ใจดี, สินเชื่อโรงงาน, อัดฉีดเงินช่วยดูแลหมอ บุคลากรการแพทย์ เป็นต้น
เรืองโรจน์ พูนผล หรือ กระทิง ประธาน KBTG กล่าวว่า โควิดสร้างโอกาสใหม่ๆ และคว้านไส้เศรษฐกิจไทยออกมาให้เห็นในหลากหลายรูปแบบ เราเห็นปรากฏการณ์ค้าขายออนไลน์โต ฟินเทค, ประกันภัย, เดลิเวอรี่โตกระฉูด แต่มันก็มาพร้อมสิ่งที่น่าเศร้าคือ คนตกงาน ที่ผ่านมา KBTG จึงพยายามทำหลายอย่างเช่นเปิดคอร์สเรียนฟรี และทำโครงการสินเชื่อต่างๆ แต่ก็ยังไม่พอ เพราะการขายของยังคงเหนื่อย ธุรกิจเหนื่อย คนเหนื่อย และอนาคตหลังโควิดยังมีความท้าทายอื่นๆ รออยู่ และมีแนวโน้มว่าจะมีอีกหลายวิกฤตรออยู่อีกมาก
KBTG จึงต้องคิดใหม่ Reimagine Banking ใหม่ ไม่สามารถกลับไปเป็นธนาคารแบบเดิมที่ทุกคนรู้จักได้อีกต่อไปแล้ว เราต้องปฏิรูปใหม่เพื่อให้คนเข้าถึงความมั่นคงทางการเงินได้ ทั้งสินเชื่อ การลงทุน การออมเงิน
ภายในงาน ONE KBTG: The New Chapter of ONE ยังมีการเผยวัฒนธรรมในองค์กรที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น ความพยายามที่จะ Transform กระบวนการทำงานอีกเรื่อยๆ แม้ KBTG จะได้ชื่อว่าเป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมการทำงานและกระบวนการที่คล่องตัวมากอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่หยุดคิดพัฒนาต่อไป ทั้งลดขั้นตอนการโค้ด พัฒนาซอฟต์แวร์ กระบวนการประสานงาน ทำแพลตฟอร์มรวมศูนย์ข้อมูลไว้ในที่เดียว ลดขั้นตอนและเวลาการทำงาน ซึ่งเป็นโครงการที่คิดและสร้างโดยทีม KBTG ที่มองเห็นปัญหาโดยตรง