Tags:
Node Thumbnail

ไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรี่ส์ Start-Up

ผู้อ่าน Blognone หลายคน อาจกำลังติดตามซีรี่ส์จากเกาหลีเรื่อง Start-Up ที่มีให้ชมทาง Netflix ซึ่งคืนวันนี้ซีรี่ส์ก็มาถึงตอนจบแล้ว Start-Up เป็นซีรี่ส์แนวดราม่าที่มีเนื้อเรื่องอยู่ในบรรยากาศของกลุ่มคนทำสตาร์ทอัพ นำเสนอประเด็นหลายอย่าง อาทิ การขอเงินทุนจาก VC ปัญหาระหว่างผู้ถือหุ้น ไปจนถึงประเด็นทางสังคมเมื่อนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหา

รูปแบบธุรกิจที่พูดถึงในซีรี่ส์เรื่องนี้ส่วนใหญ่อิงอยู่บนเทคโนโลยี AI ในด้านต่าง ๆ อย่างไรก็ตามในเกาหลีใต้นั้นมีสตาร์ทอัพที่ระดมทุนจนอยู่ในระดับยูนิคอร์น (มูลค่ากิจการมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์) อยู่ในปัจจุบัน 11 ราย และมีบางแห่งที่ exit ไปก่อนหน้าแล้ว บทความนี้จะพาไปรู้จักสตาร์ทอัพรายใหญ่ในเกาหลีใต้ว่ามีธุรกิจใดบ้าง

alt="Start-Up"

Coupang (มูลค่ากิจการ 9,000 ล้านดอลลาร์)

Coupang เป็นอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของเกาหลีใต้ ดำเนินกลยุทธ์แบบ Amazon คือเน้นสร้างศูนย์กระจายสินค้าหลายจุดทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถจัดส่งสินค้าได้รวดเร็ว รองรับการขายทั้งแบบ B2C และ C2C และมีธุรกิจสนับสนุนอย่างโฆษณาและระบบสมาชิก มีนักลงทุนรายสำคัญอาทิ SoftBank, Sequoia Capital, BlackRock พันธกิจองค์กรของ Coupang นั้นบอกว่าคือการสร้างโลกที่คนจะต้องพูดว่าเราจะอยู่อย่างไรถ้าไม่มี Coupang

การลงทุนด้านการขนส่งอย่างหนัก ทำให้คำสั่งซื้อของ Coupang ปัจจุบัน 99.3% สามารถจัดส่งได้ภายใน 1 วัน และมีคำสั่งซื้อเฉลี่ย 3.3 ล้านคำสั่งซื้อต่อวัน จนถึงตอนนี้ Coupang ยังมีผลประกอบการขาดทุนทุกไตรมาส อย่างไรก็ตามบริษัทมีแผนที่จะไอพีโอเข้าตลาดหุ้นภายในปี 2021

alt="Coupang"

Krafton (มูลค่ากิจการ 5,000 ล้านดอลลาร์)

Krafton เป็นบริษัทพัฒนาเกม มีสตูดิโอผู้พัฒนาเกมในเครือหลายแห่ง มีเกมดังซึ่งหลายคนรู้จักดีอย่าง PUBG และ TERA รวมไปถึงเกมที่ใกล้เปิดตัวแล้วอย่าง Elyon

นักลงทุนรายสำคัญใน Krafton ก็คือ Tencent ที่ถือหุ้นอยู่ 13.2% บริษัทมีแผนไอพีโอภายในครึ่งแรกของปี 2021

alt="Kranfton"

Yello Mobile (มูลค่ากิจการ 4,000 ล้านดอลลาร์)

Yello Mobile ถือเป็นกรณีศึกษาน่าสนใจของสตาร์ทอัพในเกาหลีใต้ บริษัทก่อตั้งเมื่อปี 2012 โดยตั้งเป้าเป็นบริษัทที่สนับสนุนสตาร์ทอัพด้วยกัน วางกลยุทธ์เติบโตผ่านการซื้อกิจการสตาร์ทอัพ เน้นบริษัทที่มีเทคโนโลยีบนสมาร์ทโฟน ใน 6 ปีแรกหลังก่อตั้ง Yello Mobile มีสตาร์ทอัพในมือถึง 94 แห่ง และเป็นสตาร์ทอัพรายแรกของเกาหลีใต้ที่มีมูลค่ากิจการในระดับยูนิคอร์น (ปี 2014)

อย่างไรก็ตาม Yello Mobile กลับมีสถานะทางการเงินที่เป็นปัญหา บริษัทเริ่มไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ให้เจ้าหนี้ได้ตามกำหนด สตาร์ทอัพหลายแห่งที่ซื้อมาไม่ทำเงิน หรือไม่เติบโตได้ตามแผนที่วางไว้ โครงการไอพีโอก็ถูกยุติไป ซีอีโอประกาศลาออก พร้อมกับมีคดีฟ้องร้องตามมา มูลค่ากิจการตามปัจจุบันของ Yello Mobile จึงน่าจะไม่เป็นยูนิคอร์นแล้ว แต่ตัวเลข 4,000 ล้านดอลลาร์ เป็นการอ้างอิงจากราคาเพิ่มทุนครั้งสุดท้ายนั่นเอง

Yello Mobile มีนักลงทุนหลักคือ Formation 8, SBI, Macquarie Capital

Viva Republica (มูลค่ากิจการ 2,600 ล้านดอลลาร์)

Viva Republica เป็นสตาร์ทอัพสาย FinTech มีบริการหลักคือ Toss ระบบโอนเงินหากันระหว่างบุคคล (P2P) ซึ่งเกิดจากผู้ก่อตั้ง Seunggun Lee มองเห็นว่าการโอนเงินระหว่างบุคคลในระบบการเงินเกาหลีใต้ มีความยุ่งยากมากเกินไป เขาจึงตัดสินใจลาออกจากอาชีพทันตแพทย์ เพื่อมาดำเนินงานสตาร์ทอัพนี้

ระบบการเงินแนวใหม่ย่อมมีข้อขัดแย้งกับหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่ง Toss ก็พบปัญหานี้เช่นเดียวกัน แต่เขาก็ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลในเกาหลีใต้ปรับเงื่อนไขสำเร็จ ตอนนี้บริการของ Toss มีผู้ใช้งานมากกว่า 14 ล้านคน ขยายไปสู่บริการทางการเงินอื่น อาทิ บริการเงินฝาก, บริการคะแนนเครดิต ไปจนถึงการลงทุนในกองทุนรวม

alt="Toss"

WeMakePrice (มูลค่ากิจการ 2,340 ล้านดอลลาร์)

WeMakePrice เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลคอมเมิร์ซ มีจุดเด่นที่เน้นสินค้าราคาถูกที่สุด รวมทั้งมีโปรแกรมคืนเงินส่วนต่างหากซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มอื่นได้ในราคาที่ถูกกว่า

Musinsa (มูลค่ากิจการ 1,890 ล้านดอลลาร์)

Musinsa เป็นอีคอมเมิร์ซที่เน้นสินค้าด้านแฟชั่นเครื่องแต่งกาย รวมทั้งมีหน่วยงานด้านคอนเทนต์เพื่อนำเสนอเทรนด์แฟชั่นอีกด้วย ความสำเร็จของ Musinsa ในฐานยูนิคอร์นรายแรกด้านอีคอมเมิร์ซแฟชั่น ยังทำให้บริษัทรายใหญ่ในเกาหลีใต้ ลงมาทำตลาดแฟชั่นออนไลน์มากขึ้นด้วย

alt="Musinsa"

GP Club (มูลค่ากิจการ 1,320 ล้านดอลลาร์)

GP Club ไม่ใช่สตาร์ทอัพสายเทคโนโลยี บริษัทเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าเครื่องสำอางแบรนด์ JM Solution ซึ่งได้รับความนิยมสูงในจากลูกค้าชาวจีน มีนักลงทุนหลักรายเดียวคือ Goldman Sachs

L&P Cosmetic (มูลค่ากิจการ 1,190 ล้านดอลลาร์)

L&P Cosmetic เป็นสตาร์ทธุรกิจเครื่องสำอางเช่นเดียวกัน มีสินค้าเด่นคือมาสก์หน้าและสกินแคร์ มีผู้ลงทุนรายสำคัญคือ Credit Suisse

Aprogen (มูลค่ากิจการ 1,040 ล้านดอลลาร์)

Aprogen เป็นสตาร์ทอัพสายไบโอเทค เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนายาจากแอนติบอดี้

Yanolja (มูลค่ากิจการ 1,000 ล้านดอลลาร์)

Yanolja เป็นแพลตฟอร์มจองห้องพัก ซึ่งเริ่มจากการเข้าไปร่วมมือกับเจ้าของห้องพักแบบชั่วคราว ที่ในเกาหลีใต้เรียกว่า Love Hotel ปรับภาพลักษณ์ให้เข้ากับตลาดคนรุ่นใหม่ หรือนักท่องเที่ยวที่มีงบไม่มาก

alt="Yanolja"

Socar (มูลค่ากิจาร 1,000 ล้านดอลลาร์)

Socar เป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นรายล่าสุดของเกาหลีใต้ ให้บริการแชร์รถโดยสาร ปัจจุบันมีรถยนต์ในระบบมากกว่า 120,000 คัน ผู้สมัครใช้บริการมากกว่า 6 ล้านคน

alt="Socar"

อ้างอิง:

ภาพประกอบ: tvN, Coupang, Krafton, Toss, Yanolja และ Socar

Get latest news from Blognone

Comments

By: KuLiKo
ContributoriPhoneWindows PhoneAndroid
on 6 December 2020 - 19:42 #1188752
KuLiKo's picture

ไม่อินเลย ยังไม่ได้ดูซีรีส์ ?