Blognone Workplace ครั้งนี้ถือเป็นประสบการณ์พิเศษที่จะพาไปรู้จักบริษัทสัญชาติไทย ทีดี ตะวันแดง ผู้บริหารธุรกิจร้านถูกดี มีมาตรฐาน ร้านค้าปลีกมาตรฐานใหม่ที่จะอยู่ในชุมชนทั่วประเทศ ที่มาพร้อมพันธกิจที่ยิ่งใหญ่ สร้างโดยทีมเทคโนโลยีคนไทย มายกระดับร้านโชห่วยให้มีความสามารถในการแข่งขันในวงการค้าปลีกได้ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ที่จะได้เข้าถึงสินค้าและบริการที่ทันสมัยและมีคุณภาพ
บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด เริ่มพัฒนาร้านค้าปลีกภายใต้แบรนด์ “ถูกดี มีมาตรฐาน” ร้านค้าปลีกชุมชน เมื่อปี 2562 โดยทดลองเปิดกิจการสาขาแรกที่จังหวัดนครปฐม ก่อนขยายไปยังจังหวัดต่างๆ
โมเดลของร้านถูกดี มีมาตรฐาน คือการเข้าไปร่วมกับเจ้าของร้านขายของชำหรือโชห่วย เพื่อปรับปรุงพัฒนาร้านค้าให้มีระบบการบริหารจัดการที่ดี มีหน้าร้านที่สวยงาม มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของโลกธุรกิจยุคใหม่ ไม่ว่าร้านจะเปิดอยู่ที่ไหน ของชุมชนในประเทศ
คุณรุจ อัครพณิชสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) ผู้คร่ำหวอดในวงการสายงานเทคโนโลยีมามากกว่า 18 ปี ทั้งในไทยและต่างประเทศ เล่าจุดเริ่มต้นของบริษัทให้ฟังว่า คุณเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด มีประสบการณ์ทำธุรกิจร้านค้าปลีก CJ Supermarket ทำให้มีความรู้เรื่องการบริหารจัดการร้านค้าปลีก และได้มองเห็นว่าโชห่วยไทยตามชุมชนต่างๆ สู้ร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่ไม่ได้ จึงเป็นโจทย์ที่บริษัทต้องกลับมาคิดว่า ทำอย่างไรที่จะช่วยให้เจ้าของร้านโชห่วยอยู่รอด
สาเหตุที่ทำให้ร้านโชห่วยไทยแข่งขันได้ยากมี 3 ส่วน คือ ทุน เทคโนโลยี และองค์ความรู้
จากการพูดคุยกับร้านค้าพบว่า ร้านยังพอขายได้แต่มีรายได้น้อย เจ้าของร้านอยู่ลำบาก บริษัทจึงตั้งโจทย์ว่า ถ้าร้านค้ามาร่วมลงทุนไปกับเรา เขาจะขายได้มากขึ้นหรือไม่ นั่นจึงเป็นที่มาของร้าน ถูกดี มีมาตรฐาน
เราเปิดให้เจ้าของร้านค้าปลีกในชุมชนมาสมัครเป็นพาร์ทเนอร์ หลังจากนั้นบริษัทจะเป็นฝ่ายจัดหาสินค้า รวมถึงอุปกรณ์ชั้นวางในร้าน ตู้แช่เย็น, กล้อง CCTV, เครื่อง POS, ป้ายหน้าร้าน, เคาท์เตอร์ เพื่อให้ทุกร้านมีภาพลักษณ์ มีมาตรฐานที่เหมือนกัน รวมถึงมีทีมงานจากส่วนกลางเข้าไปช่วยให้คำปรึกษาการบริหารจัดการร้าน การทำโปรโมชั่น ส่งเสริมการขาย
นอกจากจะช่วยให้ร้านค้าจะขายดีขึ้นแล้ว ผู้ผลิตสินค้าก็ได้รับประโยชน์ในการกระจายสินค้า ไปยังท้องถิ่นในชุมชนทั่วประเทศอีกด้วย และชาวบ้านในชุมชนก็เข้าถึงสินค้าที่ดี มีมาตรฐาน และ ราคาถูก โดยไม่ต้องเดินทางไกล
เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ออกแบบให้คนไทยใช้งาน ทีดี ตะวันแดง จึงต้องสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ออกแบบให้ใช้งานง่าย เหมาะกับคนไทย
ทีมเทคโนโลยีที่ ทีดี ตะวันแดง ออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ใน POS ให้มี UX/UI ง่ายต่อการใช้งาน ตัวอักษรที่ใหญ่พอ การใช้งานไม่ซับซ้อน เพื่อให้เจ้าของร้านที่มีความเข้าใจในเทคโนโลยีที่แตกต่างกันใช้งานได้อย่างไม่ติดขัดระหว่างขายของ ช่วยสร้างประสบการณ์การดูแลร้านที่สะดวกสบาย และสามารถสื่อสารกลับมายังบริษัทได้ทันทีเมื่อเกิดปัญหา
การพัฒนาด้านเทคโนโลยียังครอบคลุมถึงการเรียนรู้พฤติกรรมการจับจ่ายของลูกค้า ที่ช่วยเจ้าของร้านคิดว่าควรคัดเลือกสินค้าประเภทไหนไปวางขาย หรือควรทำโปรโมชั่นอย่างไรเพื่อกระตุ้นยอดขาย
ความท้าทายของทีมเทคโนโลยีคือ Architecture โครงสร้างเทคโนโลยีที่บริษัทใช้ มีไม่เยอะในไทย เนื่องจากทำธุรกิจสเกลใหญ่ ต้องรองรับจำนวนร้านหลักหมื่นสาขา ผู้บริโภคนับล้านคน บริษัทจึงต้องออกแบบซอฟต์แวร์ที่รองรับ transaction จำนวนมหาศาล
“ดังนั้น แทนที่เราจะซื้อ product มาหลายตัวแล้วนำมาใช้ต่อๆ กัน สู้เราสร้างทีมเทคโนโลยีของตัวเองขึ้นมา และพัฒนาแพลตฟอร์มที่ customize ให้โดนใจเจ้าของร้านค้าแต่ละคนมากที่สุดดีกว่า เพื่อเป็นแพลตฟอร์มโดยคนไทย เพื่อคนไทย” นี่คือวิธีการทำงานของทีมเทคโนโลยี ทีดี ตะวันแดง
สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีร่วมกันคือ วิสัยทัศน์ ที่อยากจะส่งมอบงานที่ดีที่สุด ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะกับกลุ่มผู้ใช้งานมากที่สุด เฟ้นหาโซลูชั่นใหม่ตลอดเวลา
เป้าหมายระยะยาวของบริษัท ไม่ได้หยุดอยู่ที่ร้านโชห่วยในไทย แต่ตั้งเป้าเป็น World Class Retail Platform ที่สร้างโดยคนไทย มีศักยภาพเทียบเท่า Amazon และ Alibaba ดังนั้น แนวคิดที่ว่า “คนที่อยู่สายไอที ถ้าเราอยู่กับที่ แปลว่า เราถอยหลัง ต้องสร้างความท้าทาย และพัฒนาตัวเองแบบก้าวไปข้างหน้า” เป็นแนวคิดการทำงานที่ผู้บริหารพยายามส่งต่อถึงทีมงานตลอด
คุณปราการ อัศวชีวันธรกุล Head of Engineering เล่าเจาะลึกเชิงเทคนิคการทำงานของ ทีดี ตะวันแดง เพิ่มเติมว่าทีมเทคโนโลยีพัฒนาระบบ Retail Platform ของตัวเอง โดยมี ERP (Enterprise Resource Planning) ที่พัฒนาเองเพื่อให้ตอบโจทย์ทางธุรกิจ
ตัว ERP ยังเชื่อมต่อกับระบบจัดการคลังสินค้า ระบบ logistics และ 3rd party อย่างธนาคารเพื่อรองรับการชำระค่าสินค้า เชื่อมต่อกับโปรแกรม LINE สำหรับใช้ในการสื่อสารกับร้านค้าและการตลาด และยังมีส่วนเชื่อมต่อกับบริษัทในเครือ นอกจากนี้ยังพัฒนาระบบ POS และ applications บนอุปกรณ์ handheld สำหรับช่วยให้การขายสินค้าและบริการที่หน้าร้านสะดวกมากขึ้นอีกด้วย
“เราเลือกใช้เทคโนโลยีและ Architecture ที่ทันสมัยในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น Spring Boot, MongoDB, ElasticSearch, Kafka, Big Query, Airflow เป็นต้น เรารันทุกอย่างในลักษณะที่เป็น container based และอยู่บน cloud ทั้งหมด รวมถึงระบบ POS ของเราที่รันบนแอนดรอยด์ และใช้ Kotlin ในการพัฒนา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้รองรับปริมาณ transactions และข้อมูลมหาศาลที่จะไหลเข้า-ออก เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดให้ตอบโจทย์ธุรกิจ”
ทีมเทคโนโลยีทำงานร่วมกันในรูปแบบ Scrum พูดคุยอัพเดตงานทุกวันเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายในแต่ละวันที่วางเอาไว้ สร้างวัฒนธรรมการทำงานที่คล่องตัว ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทีม เครื่องมือ อุปกรณ์พกพาง่าย การจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ที่สามารถเข้าถึงได้ไม่ว่าจะทำงานอยู่ที่ไหน
ด้วยบรรยากาศการทำงานดังกล่าว ทีมงานจะได้เจอความท้าทายอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหา หรือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อตอบโจทย์ทั้งทางธุรกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคของร้านที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา
ปัจจุบัน ทีดี ตะวันแดง จำกัด มีทีมเทคโนโลยีที่ดูแล Data, Platform Support, Engineering, Infrastructure and Cloud, IT Support, Solution Architect, DevOps, Product owner และ UI/UX designer ทีมเหล่านี้กำลังสร้างผลงานที่ impact ในสเกลใหญ่ คือเจ้าของร้านทั่วประเทศ ซึ่งในปัจจุบันเปิดไปแล้วกว่า 700 สาขา และเตรียมความพร้อมจะเปิดอีกเป็นจำนวนมากภายในปีนี้ และนั่นหมายถึงทีมงานอีกเป็นจำนวนมากที่บริษัทเปิดรับสมัครงาน
ถือเป็นอีกโอกาสที่ดีของคนหางานสายเทคที่จะได้ทำงานกับบริษัท และจะได้ร่วมสร้างปรากฎการณ์ที่ยิ่งใหญ่ ที่มีผลต่อผู้คนทั้งประเทศ และได้ใช้งาน Technology Edge ที่รองรับสเกลใหญ่ และเป็นเทคโนโลยีใหม่
สมัครเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ได้ที่ Blognone Jobs
Comments
ไอเดีย เยี่ยม ทำได้นี้เปลี่ยนพื้นฐานค้าปลีกไทยได้เลย
ถ้าสามารถให้ร้านเพิ่มทุนได้ในรูปแบบสหกรณ์ท้องถิ่น จะยิ่งส่งเสริมความเข้มแข็งได้เยอะเลย
ขอให้ออกแบบแอปหรือโปรแกรมรองรับระบบ accessibility เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาเข้าถึงได้ด้วยนะครับ
เจ้าของจริงๆคือ คาราบาวแดง หรือเปล่าครับ?
ใช่ครับ
Coder | Designer | Thinker | Blogger
สิ่งที่ร้านโชว์ห่วยไม่มี หรือขาดก็คือ data นี่แหละครับ ผมเคยเห็น Makro เคยพยายามช่วยด้วยการให้ลิสรายการสินค้าขายดี ผังการวางประเภทสินค้า หรือแม้กระทั่งตารางการจัดเรียงสินค้าในชั้น แต่โชว์ห่วยก็คือโชว์ห่วยอ่ะนะ เขาไม่ได้เปิดใจรับองค์ความรู้สักเท่าไร พูดง่ายๆคือไม่นำมาปฏิบัตินั่นแหละ
ถ้าเป็นผู้ดูแลร้านรุ่นเก่า น่าจะเป็นแบบนั้นครับ ซึ่งเขาเคยทำอย่างไง หรือสะดวกใจที่จะทำอย่างไง ก็จะทำแบบนั้น แล้วอาจจะโทษปัญหาอื่นที่ทำให้เขาขายไม่ดีแทน
แต่ถ้าคนรุ่นใหม่ได้ดูแลร้านแทน ก็อาจจะสนใจเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ แต่ผมคิดว่า เรื่องจังหวะ และเวลาเข้าไปพูดคุยกับร้านโชว์ห่วยที่คนรุ่นใหม่ดูแล
ผมพูดจริง ๆ ว่า เด็กรุ่นใหม่ จะมีกี่คนที่ยินดีที่จะรับช่วงต่อร้านโชว์ห่วยโดยตั้งใจ และหวังจะพัฒนามันขึ้นไปอีก ผมมองว่าเด็กส่วนใหญ่ไม่อยากรับช่วงร้านต่อจากที่บ้าน หรือถ้ารับก็อาจจะไม่มีแรงบันดาลใจให้ทำอย่างอื่น จึงรับหน้าที่ไปแบบนั้นเอง หรือไม่ก็อาจจะทำอะไรอยู่ที่บ้านอยู่แล้ว และต้องรับหน้าที่ดูแลร้านด้วย ซึ่งคงไม่ตั้งใจดูแลก็ได้
ผมว่าเรื่องเทค เป็นอะไรที่น่าสนใจ แต่การจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ต้องหาทางแก้ที่ทัศนคติ แนวคิด วิถีปฏิบัติของคน หรือสังคมคนที่ทำโชว์ห่วยก่อนละครับ
ตอนที่มี COVID-19 ถือว่าเป็นอะไรที่ละลายพฤติกรรมพอสมควร ถ้าจะผลักดันแพลตฟอร์มกับร้านโชว์ห่วย ผมคิดว่าควรจัดการเต็มกำลังตอนนี้แหละครับ
เพจตัวอย่างผลงานถ่ายภาพ / วีดีโอ
เป็นอีก Solution สำหรับคนที่อยากเป็น สะดวกซื้อ แต่เงินลงทุนไม่ถึง
แต่ถ้าไปเจอ ร้านโชว์ห่วยลูกจบ หมอ วิศวะ ชิบปิ้ง นายธนาคาร รุ่นหลานทำ it เงินเดือนเป็นแสน up กันทุกคน ก็จะนั่งขายแบบหาอะไรทำตอนแก่ no สน no แคร์ ปรับตัวโดยการ เปิดร้านช้า ปิดร้านเร็ว
ซึ่งถ้าเจอไปสักทีก็จะruinความรู้สึกดีๆกับbrandไปเลย เจ้าใหญ่เขาเคยพูดไว้ว่าเป็นการปกป้องความล้าหลัง
สนใจมากครับ ไม่ได้สนใจร่วมทีมนะ แต่สนใจธุรกิจคุณเลย พอดีแม่เปิดร้านโชว์ห่วยมานานแล้ว (ตอนนี้ก็ยังเปิดอยู่) เจอเซเว่นเข้าไป ยอดขายลดฮวบไป 40% ทันทีเลย เป็นแบบนี้มา 5-6 ปีละ (ตั้งแต่เซเว่นเปิดจนถึงตอนนี้) ทุกวันนี้เหมือนเปิดขายไปขำ ๆ เพื่อให้ไม่ว่างเฉย ๆ ปัญหาคือแม่เป็นคน Low tech ขั้นสุด เมื่อก่อนแค่เปลี่ยนทีวี รีโมตเปลี่ยนตามนางก็งงละ ต้องสอนกันหลายวันกว่าจะใช้เป็น ผมว่าถ้าบริษัทสามารถทำให้แม่ผมใช้ POS คุณได้ แปลว่าคุณออกแบบมาดีมาก ใช้ได้กัคนทั่วโลกแน่นอน ๕๕๕๕
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
เซเว่นนี่ disrupt ทุกอย่างแม้กระทั่งเซเว่นด้วยกันเองครับ 555
สาขาไหนซื้อแฟรนไชส์ไปเปิดแล้วขายดีหน่อย CP จะมาเปิดเองข้างๆอีกสาขาเลย ใหญ่กว่า ของลงเยอะกว่า เจ้าแรกก็นั่งมองตาปริบๆ
ขึ้นอยู่กับเจ้าของร้านเดิมด้วยหรือเปล่า
เซเว่นหมู่บ้านผมขายดีมาก แต่ไม่มีร้านมาเปิดขายแข่ง เพราะร้านเดิมขยายบ่อยมาก เท่าที่จำได้คืออย่างน้อย 3 ครั้งแล้ว
คือร้านสะดวกซื้อที่ไม่สะดวก จะซื้อก็ต้องต่อคิวเยอะ ร้านแคบ ก็ไม่โอเคนะ
เหมือนกัน บ้านแม่ผมก็แค่เปิดเพื่อไม่ให้เหงาแล้วครับ โรงงานในซอยก็ปิดตัวจนเหลือโรงเดียว คนงานก็ถูกลด หอพักคนงานก็เริ่มว่าง เดี๋ยวนี้ได้แค่วันละเศษร้อย ไม่คุ้มในการลงทุนเท่าไหร่ เปิดไว้แค่ให้มีคนแวะซื้อของเล็กๆน้อยๆคุยกับแม่ครับ ให้ปิดร้านก็ไม่ยอมครับ
ซื้อออนไลน์อย่างเดียว (ส่งฟรี) ไม่เคยเข้าโชห่วยใกล้บ้านมาหลายปีแล้ว เปลี่ยนพฤติกรรมจากจากซื้อน้อยชิ้นเป็นซื้อมาตุนแทน อีกประเด็นของโชห่วยที่ซื้อมาจะมีเป็นของปลอมปนมาบ่อย พวกน้ำยาล้างจาน แชมพู รู้แต่ก็ทนใช้เพราะไม่มีตัวเลือก ถ้าหมดจริงต้องหาด่วนจะขับรถไปซื้อตามห้างแทน ส่วนตัวคิดว่าโชว์ห่วยที่เป็นโชว์ฺห่วยจริงๆ ไม่มีอนาคต
JBC กางเกงชั้นดี มีมาตรฐาน
//โพสดักแก่
เข้ามานึกถึง Foodland เลย ร้านอาหาร ถูกและดี
เงินตกแต่ง 2 แสน ค้ำประกัน 2 แสน